ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




เลาะวัดแดนอีสาน

 

 

 เลาะวัดแดนอีสาน

 

วัดทุ่งศรีเมือง

อำเภอเมืองอุบลราชธานี  จังหวัดอุบลราชธานี

 

วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในอดีตเป็นวัดที่สอนวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่ชาวเมืองอุบลราชธานีโดยมีญาท่านพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นผู้นำการสอน  ภายในวัดมีศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ หอเก็บคัมภีร์ใบลานและพระไตรปิฎกที่เป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างไทย พม่า และลาว หอพระพุทธบาทที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นงานสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพื้นถิ่นอีสานและแบบไทยภาคกลาง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าโดยฝีมือช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ วิหารศรีเมือง และพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง

ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

        วัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2385 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จากสำนักวัดสระเกศวรวิหาร ที่ได้ขึ้นมาเป็นสังฆปโมกเมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด) และได้พำนักอยู่ที่วัดมณีวนารามหรือวัดป่าน้อย ท่านมีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนากรรมมัฎฐาน และมักจะไปเจริญสมณธรรม อยู่ที่ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้งเป็นประจำ เพราะเป็นที่สงบสงัด และที่นั่นคือ บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา

       เจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ท่านได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น ณ บริเวณที่เจริญสมณธรรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้ จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

       เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตรที่สระกลางน้ำด้วย โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หรือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ ที่ทางวัดมีอยู่มากมาย

     ภายหลังเห็นว่าเป็นการลำบากแก่พระเณรในการที่จะไปเฝ้ารักษาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงได้สร้างสร้างกุฏิขึ้นเป็นพำนักของพระภิกษุสามเณร และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่ชายทุ่งท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งศรีเมือง” ตามไปด้วย

     วัดทุ่งศรีเมืองในสมัยก่อนเป็นวัดที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่บุตรหลานชาวเมืองอุบลราชธานีทุกสาขาอาชีพ เช่น ช่างแกะสลัก ช่างหล่อ ช่างเงินทอง ช่างลวดลาย ช่างก่อสร้าง เป็นต้น โดยมีพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชา

 

  

 

หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก วัดทุ่งศรีเมือง

      หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎกของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกและหนังสือใบลานไม่ให้มดปลวกหรือแมลงต่าง ๆ มากัดกินและทำลาย หอไตรนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด และหอพระพุทธบาทหรืออุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง โดยมีพระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะของศิลปะผสม 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว

      หอไตรนี้เป็นหอน้ำ สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง

     ตัวอาคารหอไตรเป็นเรือนฝาไม้แบบเรียบเครื่องสับฝาแบบประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ขนาด  4 ห้อง ลูกฟักรองตีนช้างแกะสลักลาย ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างโดยรอบ 14 ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบปีกนกกว้าง 2 ชั้น ส่วนบนเป็นหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด 2 ชั้น ช่อฟ้า รวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง หน้าบันไม้จำลักลายแบบไทย (ลายดอก) ดอกพุดตาน ลายกระจังรวน ลายประจำยามก้ามปู มุงแป้นไม้ มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนกโดยรอบจำนวน 19 ตัว ด้านหน้าข้างประตูเข้าสลักหัวทวยแบบเทพพนม อีก 17 ตัวเป็นรูปพญานาค พญานาคซึ่งสวยงามตามแบบฉบับของสกุลช่างสมัยนั้น กรอบประตูหน้าต่างสลักลวดลาย ผนังและบานประตูหน้าต่างเขียนลายลงรักปิดทองโดยรอบ บานประตูเขียนรูปทวารบาล ภายในทำเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎกและใบลาน

      ส่วนของหลังคามีศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น แสดงถึงอิทธิพลของศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะลาวล้านช้าง ลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นศิลปะลาวที่มีฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์

      หอไตรนี้ได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

 

หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง

     หอพระพุทธบาท หรือพระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง มูลเหตุในการสร้างอุโบสถหลังนี้ คือ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ได้จำลองพระพุทธบาทมาจากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

      หอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหอไตรกลางน้ำ โดยมีพระสงฆ์จากเวียงจันทน์เป็นช่างในการดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะผสมระหว่างพื้นบ้านอีสาน (หรือศิลปะแบบเวียงจันทน์) กับเมืองหลวง(ศิลปะแบบไทยภาคกลาง, แบบรัตนโกสินทร์) ส่วนที่เป็นศิลปะแบบเวียงจันทน์ ได้แก่ โครงสร้างช่วงล่าง เช่น ฐานเอวขันธ์ บันไดจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า จะมีความคล้ายคลึงกับสิมอีสานทั่วไป ลวดลายหน้าบันลายรวงผึ้ง  ส่วนที่เป็นโครงสร้างช่วงบน หลังคาทรงจั่วมีชั้นลด 2 ชั้น รวยลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ทวยและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นแบบไทยภาคกลางหรือรัตนโกสินทร์ ส่วนลวดลายหน้าบันสาหร่าย รวงผึ้งมีลักษณะแบบอีสานผสมเมืองหลวงเหมือนหน้าบันของสิมวัดแจ้ง

       หอพระพุทธบาทหลังนี้ ้เป็นอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้าน เป็นงานจิตรกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของเมืองอุบลราชธานี ไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นช่างเขียนภาพเหล่านี้ แต่คาดว่าจะเป็นสกุลช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ

 

ภาพจิตรกรรมในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ปรากฏอยู่บนฝาผนังภายในทั้งสี่ของตัวอาคาร เหนือสุดขอบผนังเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ถัดลงมาเป็นลายหน้ากระดานมีลวดลายประจำยามรองรับเหล่าเทพชุมนุม จากนั้นจะเป็นอาณาบริเวณของงานจิตกรรมไล่ลงไปจนจรดฐานหน้าต่าง และรองรับด้วยลายหน้ากระดานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรอบภาพทั้งบนและล่างสุด ช่างแต้มมีความจงใจจะใช้ผนังทั้งสี่ด้านประดับประดาด้วยงานจิตกรรมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พุทธศาสนา แม้แต่เสาหลอกก็ยังมีการตกแต่งลวดลายและภาพปริศนาธรรม ตามประวัติกล่าวว่าภาพเขียนบริเวณเสาหลอกนี้เป็นฝีมือพระครูวิโรจน์รัตโนบล เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง

     งานจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่ตำแหน่งการวางภาพมิได้เคร่งอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม นอกจากนั้น ช่างแต้มยังได้สอดแทรกเนื้อหาเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวบ้านเข้าไปด้วย เช่น ภาพสะท้อนถึงสภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในรั้วในวัง ตลอดจนผู้คนที่มีบ้านอยู่ตามริมน้ำ ภาพอาคารสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

วิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

วิหารศรีเมือง ของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ผสมกับช่างพื้นบ้าน ผู้ออกแบบได้สร้างวิหารหลังนี้ในรูปลอยเหินตามจินตนาการของตนเอง โดยการยกอาคารให้สูงกว่าปกติ เน้นการเชิดของมุขหน้าขึ้นแล้วเสริมด้วยการยกลานรอบกำแพงแก้วให้สูงขึ้นจากพื้นลานวัดธรรมดา และเน้นถ้อยความอย่างมั่นคงโดยเสากำแพงแก้วแบบปลีพุ่มย่อไม้ ตามมุมกำแพงกับหัวบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง เป็นพระประธานที่ประดิษฐานในวิหารศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองอุบลระยะแรก ๆ  เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดเหนือท่า เมื่อวัดร้างไปพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในสมัยนั้น จึงนำญาติโยมไปอัญเชิญมาเป็นพระประธานในวิหารศรีเมือง และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเศียร

พระที่ชำรุดขึ้นใหม่โดยจำลองให้เหมือนกับพระเหลาเทพนิมิตที่อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ และพระบทม์ที่วัดกลางเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอุบลรุ่นแรก ซึ่งมีความงดงามมาก

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน วัดทุ่งศรีเมือง

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง มีพระพุทธลักษณะ คือ พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเล็กละเอียดแบบหนามขนุน มุ่นพระเมาลีเป็นต่อมเตี้ย ๆ พระเกตุมาลาหรือส่วนรัศมีเป็นรูปเปลว มีแฉกยอดกลางสูงเด่น ส่วนล่างที่ติดกับมุ่นพระเมาลีเป็นกลีบบัวซ้อนดุจดอกบัวรองรับพระรัศมี ระหว่างพระนลาฏกับแนวเม็กพระศกมีแถบไรพระศกเป็นเส้นนูน ยาวทอดลงมาตามแนวพระกรรณทั้งสองข้างคล้ายจอนหู ตัวพระกรรณใหญ่ ขอบใบพระกรรณเป็นเส้นนูนแบน มีปลายด้านบนด้านล่างม้วนโค้ง ติ่งพระกรรณเป็นแผ่นกว้างขนาดเดียวกับตัวพระกรรณ ยาวลงมาเป็นแผ่นแบน ปลายมนอยู่เหนือพระอังสะ

ส่วนพระพักตร์มีพระขนงเป็นเส้นนูนโก่งดุจคันศร หัวพระขนงและหางเรียวแหลม พระนาสิกเป็นสัน ปลายพระนาสิกกว้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม พระโอษฐ์แย้มพระสรวล มุมพระโอษฐ์เรียวแหลม พระหนุแหลมมน พระศอกกลมกลึง ลักษณะเป็นปล้องต่อกัน 3 ปล้อง ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาซ้าย ขอบจีวรเป็นแนวเส้นตรงจากใต้พระถันไปจรดแนวขอบผ้าสังฆาฏิที่พาดบนพระอังสา ซ้าย และปรากฏเส้นขอบจีวรที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย ที่ต้นพระเพลา และที่ข้อพระบาท เป็นเส้นนูนทั้งสองข้าง ชายสังฆาฏิเป็นแนวกว้าง ปลายสังฆาฏิจรดที่พระนาภี ขอบปลายสังฆาฏิโค้งมนอยู่เหนือพระนาภี พระเพลาผาย พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำอยู่บนพระเพลาขวาตรงแนวขาพับ แสดงการชี้ลงเบื้องธรณี นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ และนิ้วทั้งสี่อวบชิดยาวเสมอกัน ปลายนิ้วมนแบบคนธรรมดา คล้ายพระหัตถ์พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ตั้งอยู่บนฐานเขียงซึ่งฝังอยู่ในฐานชุกชีปูนปั้นที่ตกแต่งเป็นฐาน บัวผ้าทิพย์ ฐานหน้ากระดานตกแต่งด้วยลายดอกประจำยามก้ามปู อยู่เหนือแนวลายกลีบบัวขาบหรือบัวแวง ตรงกลางฐานด้านหน้าพระเพลามีผืนผ้าพาดยาวลงมา และตกแต่งลวดลายอย่างสวยงามตามแบบศิลปะท้องถิ่นไม่ปรากฏการสร้างที่แน่นอน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างภายหลังการสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว และถูกนำมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในหอพระพุทธบาท คู่กับรอยพระพุทธบาทจำลอง

ที่ตั้ง วัดทุ่งศรีเมือง

ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=250

 

 

 

 

วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว)

อำเภอสิรินธร   จังหวัดอุบลราชธานี

 

            วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว  หรือนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่  อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ  บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า  จุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพคือ ตั้งแต่เวลา 6.00.19.30 น. ซึ่งหากโชคดีก็จะได้เห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้า อีกด้วย  แต่ภาพเรืองแสงนี้หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่เห็นเป็นสีเขียวชัดเจนเท่ากับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวบางท่านที่มาเก็บภาพความงดงามผ่านสายตาต้องเผื่อใจไว้เล็กน้อย

  

             นอกจากความมหัศจรรย์ของพระอุโบสถแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์ซึ่งเป็นวิวลำน้ำโขง และบริเวณด้านหลังพระอุโบสถเป็นจุดชม วิวทิวทัศน์ของฝั่งประเทศลาวและมองเห็นด่านสากลช่องเม็กอย่างสวยงามรวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่ อยู่บริเวณเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาป  โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดินเราเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงโตซึ่งเป็นบรรยากาศที่สวยงามมาก สำหรับต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคุณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร โดยใช้สารเรืองแสง หรือ สารฟลูออเรสเซนต์รอบต้น  คุณสมบัติของสารฟลูออเรสเซนต์จะรับแสงพระอาทิตย์ ในตอนกลางวัน พร้อมกับที่ศิลปกรรมชิ้นนี้ ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือหันข้างไปทางทิศตะวันตก ก็เลยเหมือนเป็นฉากกั้น พลังงาน ในช่วงเวลาตอนกลางวัน แล้วจะฉายแสงออกมาในตอนกลางคืน คือเป็นการคายพลังงานออกมา  ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจาก วัดเชียงทอง ประเทศลาว เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ทางเข้าเป็นต้นสาละ

 

  

            ส่วนตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นลง ลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า หัวใจหลักของการทำพุทธศิลป์ คือ การนำเสนอ งานศิลปะที่เกิดจากความสงบ ความเพียร ความอดทน และวิสัยทัศน์ งานแต่ละชิ้นต้องคิดจากความคิดอันวิจิตรและขบคิดมาก่อนทั้งสิ้น อย่างแนวคิดการจำลองให้วัดเป็นเขาพระสุเมรุ  ตรงกลางของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของพระประธาน แต่เดิมที่คล้ายกับพระพุทธชินราช ในจังหวัดพิษณุโลก แต่มีการนำเพียงส่วนรัศมีออกไป เพื่อให้แลดูกลมกลืนกันยิ่งขึ้น พร้อมกับได้ทำฉากหลังเป็นต้นโพธิ์ โดยเบื้องบนติดด้วยแผ่นพระทอง

 

  

         ส่วนการสร้างวัดนั้น ท่านพระอาจารย์บุญมากเป็นผู้ริเริ่ม ท่านเป็นคนฝั่งลาวจำปาสักเข้ามาเผยแพร่อบรมสมาธิทางฝั่งไท และได้ปักกลด ที่ภูพร้าวแห่งนี้ในปี 2497-2498 ต่อมาปี 2516ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการอ.พิบูลมังสาหาร ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า วัดสิรินธรวราราม หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม หลังจาก พระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญาก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป อย่างต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสงเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ส่วนพระอุโบสถยังมีการแต่งเติมอยู่เรื่อยๆ

      การเดินทาง

      รถยนต์ส่วนตัว

จากตัวเมืองอุบลไปยังอำเภอสิรินธรใช้เส้นทางเดียวกับทางไปด่านช่องเม็ก จนเลยเขื่อนสิรินธรก่อนถึงช่องเม็กประมาณ 2 กม.จะเจอ ที่กลับรถ สังเกตุด้านซ้ายมือจะเห็นป้ายวัด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  เวปไซด์  ไปด้วยกันhttps://www.paiduaykan.com/province/Northeast/ubonratchathani/watsirintorn.html

 

 

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

อำเภอธาตุพนม  จังหวัดนครพนม

          พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน

   

          องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๙ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น

        พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม จ ครั้ง ที่ถือเป็น อานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก

ที่มา : หนังสือไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ๗ วัน ๘ พระธาตุ โครงการพัฒนาและส่งเสรฺมการท่องเที่ยวพระธาตุสำคัญจังหวัดนครพนม

           พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีเกิดแห่งเดียวบนแผ่นดินที่ราบสูง และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ เนื่องด้วยตามตำนานบริเวณที่ตั้งของพระธาตุพนมในอดีตเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าได้ขึ้นมาหมุน แล้วมองลงไปรอบๆ ก่อนจะประกาศก้อง ว่า พื้นที่ทั่วบริเวณนี้จะเป็นที่สืบทอดและเป็นจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนา เสมือนกับวันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้นของวันอื่นในสัปดาห์ ทั้งตั้งพัน ไปทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศประจำของ “พระราหุล” และยังเป็นองค์เจดีย์ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินอีสาน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะ ของเทวดาประจำวันอาทิตย์ที่มีพละกำลังที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น

ที่มา : หนังสือไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ๗ วัน ๘ พระธาตุ โครงการพัฒนาและส่งเสรฺมการท่องเที่ยวพระธาตุสำคัญจังหวัดนครพนม

ขอขอบคุณข้อมูล  จากเวปไซด์  สำนักงานจังหวัดนครพนม

 

http://www2.nakhonphanom.go.th/travel/detail/8/data.html

 

 

วัดพุทธวนาราม หรือวัดป่าวังน้ำเย็น

บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม

 

ประวัติความเป็นมาวัดป่าวังน้ำเย็น

           "วัดพุทธวนาราม" หรือ วัดป่าวังน้ำเย็น ตั้งอยู่ที่บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม พื้นที่กว่า 30 ไร่ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2555 สังกัดสงฆ์มหานิกาย

 

ปัจจุบัน พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ พระเกจิชื่อดัง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น

         ความเป็นมาของการสร้างวัดป่าวังน้ำเย็น สืบเนื่อง จากในปี พ.ศ.2549 ขณะที่พระอาจารย์สุริยันต์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบูรพาเทพนิมิต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน ทำให้ญาติโยมชาวมหาสารคามมีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคที่ดินบริเวณที่ตั้งวัดป่าวังน้ำเย็นในปัจจุบัน ให้พระอาจารย์ สุริยันต์ สร้างวัด ซึ่งพระอาจารย์สุริยันต์ก็รับนิมนต์ โดยร่วมแรงร่วมใจกับญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ พัฒนาที่รกร้างว่างเปล่าผืนนี้ จนกลายสภาพเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรือง

  

          พุทธศาสนิกชนที่ผ่านเข้าไปในเขตวัดแห่งนี้ จะพบถาวรวัตถุ อาทิ ศาลาปฏิบัติธรรมไม้สักทองขนาดใหญ่เสา 112 ต้น ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างจากไม้เนื้อแข็งประกอบด้วยไม้แดง ไม้ประดู่ ตกแต่งด้วยไม้สักทอง มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และหอระฆังสร้างจากไม้สักขนาดใหญ่ เป็นต้น

             ขณะเดียวกันวัดอยู่ระหว่างการก่อสร้างอุโบสถไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 30 นี่คือจุดเด่นของวัดป่าวังน้ำเย็นที่ถาวรวัตถุภายในวัด ล้วนก่อสร้างจากไม้ ด้วยฝีมือช่างด้วยความวิจิตรบรรจง จึงเป็นวัดที่มีความสวยงามอลังการ ญาติโยมทั้งใกล้และไกลที่มาเห็น มักถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก

  

            นอกจากนี้ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญคู่วัดป่าวังน้ำเย็น ที่พุทธศาสนิกชนที่มาเยือนไม่ควรพลาดชมและกราบนมัสการขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง หน้าตักขนาด 5 นิ้ว 3 องค์ สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนักรวมกว่า 12 กิโลกรัม พระพุทธรูปทองคำทั้ง 3 องค์ วัดจะนำออกแห่รอบเมืองในงานทอดกฐินทุกปี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา

              วัดป่าวังน้ำเย็น นอกจากเป็นศูนย์รวมใจของพุทธ ศาสนิกชนในพื้นที่แล้ว ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองมหาสารคาม ด้วยในแต่ละวัน พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล เข้ามาชมถาวรวัตถุอลังการงานไม้ภายในวัด พร้อมกราบขอพรพระพุทธรูปทองคำ เพื่อความเป็นสิริมงคล

                พระอาจารย์สุริยันต์กล่าวว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมที่เดินทางมาร่วมทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องน้ำ ห้องสุขา ให้สะอาดน่าใช้ถูกสุขอนามัย เป็นต้น และเมื่อมีการขยายพื้นที่วัดออกไป ทำให้พื้นที่วัดด้านข้างทิศใต้พื้นที่จอดรถ แบ่งเป็น 2 แปลง เพราะมีลำห้วยกั้น หากญาติโยมลงจากรถแล้วก็ต้องเดินอ้อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ทางวัดจึงได้จัดสร้างสะพานคอนกรีตเชื่อมที่ดินของวัด 2 แปลงเข้าหากัน โดยขออนุญาตจากทางชลประทานจังหวัด และธนารักษ์พื้นที่มหาสารคาม ซึ่งก็ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

               ขณะนี้ วัดได้ลงมือก่อสร้างสะพานคอนกรีตพญานาคเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ญาติโยมที่มาทำบุญและปฏิบัติธรรม รวมทั้งมาเที่ยวชมวัดได้รับความสะดวกมากขึ้น และธนารักษ์จังหวัดมหาสารคาม ประกอบพิธีมอบเอกสารการใช้ประโยชน์ที่ดินให้วัด โดยมี นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี

                 ด้าน นายนิลวัฒน์ สุนทรนิพัทธ์ ธนารักษ์พื้นที่มหาสารคาม กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีหน้าที่ปกครองดูแลและจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุรวมทั้งให้บริการส่วนราชการใช้ประโยชน์ รวมทั้งใช้ประโยชน์ทางศาสนา ได้มีการอนุญาตให้วัดใช้ประโยชน์ไปแล้วหลายแห่ง และล่าสุด วัดป่าวังน้ำเย็น ขอใช้ที่สาธารณะสำหรับสร้างสะพานข้ามลำห้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด จึงให้การสนับสนุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม สามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นนี่คือผลพลอยได้ที่ตามมา

                    จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ หากมีโอกาสผ่านเข้ามาในพื้นที่เมืองมหาสารคาม ไม่ควรพลาดแวะเยือนวัดป่าวังน้ำเย็น

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  https://sites.google.com/site/wadpawangnayenms/prawati-khwam-pen-ma 

 

 

วัดพุทธนิมิตภูค่าว

บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์  อำเภอสหัสขันธ์  จังหวัดกาฬสินธุ์

       วัดพุทธนิมิตรภู่ค่าว (Wat Phuttha Nimit Phu Khao) จ.กาฬสินธุ์ เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวแกะสลักบนแผ่นผาผายุนับพันปีอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวกาฬสินธุ์ อุโบสถไม้ที่วิจิตรงดงามก่อสร้างจากไม้ขนาดใหญ่นำขึ้นมาจากใต้เขื่อนลำปาว และหอพระเครื่องที่มีพระเครื่องประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนหลายแสนองค์ ท่ามกลางบรรยากาศสงบร่มรื่นภายในวัด

ประวัติ

         วัดพุทธนิมิตภูค่าว  ตั้งอยู่บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวความยาว 2 เมตร มีทองคำเปลวปิดอยู่ทั่วองค์ บ่งบอกถึงความเคารพศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ พุทธลักษณะของพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวคือ พระเศียรหนุนทับต้นแขน โดยท่อนแขนที่หนุนพระเศียรไม่ได้ตั้งขึ้น และพระหัตถ์ไม่ได้รองรับพระเศียร ลักษณะพิเศษขององค์พระคือ เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ตะแคงซ้ายไม่มีเกตุมาลา โดยตำแหน่งที่องค์พระไสยาสน์ประทับอยู่จะอยู่บริเวณหน้าปากถ้ำกว้างประมาณ 5 เมตร สูงจากพื้นระดับเพดานถ้ำประมาณ 3 เมตร ผู้รู้ได้สันนิษฐานว่าพระไสยาสน์ตะแคงซ้ายองค์นี้ เป็นสัญลักษณ์ของ "พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้า" พระอัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ภายในวัดวัดพุทธนิมิตภูค่าว มีโบสถ์ที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และวิหารสังฆนิมิตที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเครื่องจำนวนมาก โดยวิหารหลังนี้จะอยู่บนยอดเขาใกล้ทางไปชมพระพุทธไสยาสน์ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมากแล้ว บริเวณผนังเรื่อยขึ้นไปถึงเพดานยังมีพระเครื่องนับพันองค์ประดับอยู่อย่างสวยงาม

            นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถไม้หลังวิจิตรงดงามสร้างจากไม้ขนาดใหญ่นำขึ้นมาจากใต้เขื่อนลำปาว โบสถ์ไม้หลังนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านซ้ายของถนนก่อนถึงบริเวณวัด เป็นอาคารไม้ทรงไทยตั้งบนฐานลวดบัวปูนปั้น หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้น มีชายคาปีก นกทั้งสี่ด้าน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับในป่าทึบแวดล้อมด้วยสิงสาราสัตว์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักเรื่อง พุทธชาดกและมีการประดับไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาทั่วโบสถ์ ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร เป็นพระประธานปางตรัสรู้หรือปางสมาธิสีทองสุกอร่าม บริเวณโดมเพดานเหนือองค์พระตกแต่งด้วยประติมากรรมไม้แกะสลักนูนต่ำ เรื่องพุทธประวัติ ทาสีทอง

            รวมทั้งยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ที่สร้างด้วยหินทรายแกะสลักทั้งองค์ ฐานเจดีย์แกะสลักเป็นรูปลิงแบกฐานพระพุทธรูป ตัวมหาธาตุเจดีย์สูง 80 เมตร ความกว้างของมหาธาตุเจดีย์ ขนาด 45x45 เมตร ประตูแต่ละด้านสูง 7 เมตรภายในประกอบด้วยเสาใหญ่ 32 ต้นด้านผนังมีระเบียง ด้านบน ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณต่างยุคต่างสมัยส่วนด้านล่างประดิษฐานพระพุทธรูปหินสลัก 129 องค์ ยอดมหาธาตุเจดีย์ทำด้วย ทองคำหนัก 30 กก.และยังบรรจุอัญมณีมูลค่ามหาศาลจากผู้มีจิตศรัทธา และที่สำคัญไปกว่านั้นบริเวณกลางเจดีย์ด้านในมีมณฑป ไม้โลงเลง เป็นไม้เนื้อหอมชนิดหนึ่งจากส.ป.ป.ลาว ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และพระอริยสงฆธาตุ ด้วยซึ่งความสวยงามและบรรยากาศที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของวัดพุทธนิมิตภูค่าวนี้เอง จึงทำให้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ขาด เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ควรค่าแก่การเดินทางไปเยี่ยมชม โดยในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปีทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์ภูค่าวที่วัดแห่งนี้ด้วย

    - รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกาฬสินธุ์ มีระยะทาง 520กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง 20 นาที   

       จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่มีเส้นทางรถไฟตัดผ่าน และยังไม่มีสนามบิน สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟและเครื่องบินนิยมนั่งไปลงที่จังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเดินทางโดยรถยนต์หรือรถโดยสารประจำทางต่อมาที่จังหวัดกาฬสินธุ์

        การเดินทางไปวัดพุทธนิมิตรภูค่าว

               วัดพุทธนิมิตรภูค่าว อยู่ที่บ้านนาสีนวล ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 41 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 45 นาที ไม่มีรถสาธารณะไปถึง หากไม่ได้เดินทางโดยรถส่วนตัวนักท่องเที่ยวต้องเหมารถให้ไปส่ง

            เวลาทำการเปิด – ปิด

         เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=285

วัดถ้ำขาม

วัดถ้ำขามหรือภูขาม (เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์) ตั้งอยู่ที่ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บนสันเขาภูพาน มีบรรยกาศร่มรื่นงดงาม เป็นอนุสรณ์ว่า หลวงปู่เทสก์ ได้เคยมาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสถาปัตยกรรม แบบเจดีย์จตุรัสมุข ตามแนวศิลปกรรมอีสานผสมกับอยุธยา ภายในประดิษฐานรูปหล่อสำริดหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในวัดมีกุฏิเดิมหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งหลวงปู่เทสก์ ได้มาจำพรรษาจนกระทั่งละสังขาร ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันได้ทำหุ่นเหมือนหลวงปู่เทสก์ หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ในอิริยาบถนั่งเก้าอี้ในกฎิเพื่อจำลองเหตุการณ์ประหนึ่งว่าหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ตำนานของวัดถ้ำขามมีมากมายตั้งแต่สมัยที่เรายังเด็กสมัยหลวงปุฝันยังมีชีวิตอยู่เราจำได้ตอนที่เราตามคุณย่าไปจำศิลในวันพระและได้ช่วยขนหินขนทรายขึ้นไปทำกุฎิพระในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังตอนที่หลวงปู่ฝันเดินธุดงมาอยู่ใหม่ๆมีเสือแม่ลูกอ่อนอาศัยอยู่ในถ้ำอยู่แล้วแต่ด้วยบูญบารมีหรืออะไรก็ไม่รู้เสือแม่ลูกอ่อนยอมสละถ้ำให้หลวงปู่อยู่และได้สร้างเป็นที่ปฏิบัติธรรมเป็นวัดถ้ำขามมาจนทุกวันนี้







Copyright © 2010 All Rights Reserved.