ReadyPlanet.com
dot dot




พิธีกรรมขี้นบ้านใหม่อีสาน

                                                                                 พิธีกรรมขี้นบ้านใหม่อีสาน

ตามั่นคำทอง ค้ำคูณเฮือนใหม่ไทอีสาน (พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่)

ตามั่นคำทอง เป็นความเชื่อและพิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ของชาวไทยอีสาน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านใหม่อยู่เย็นเป็นสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง โดยสมมุติให้ตามั่นผู้มาจากเมืองที่มีความมั่งคั่งสมบูรณ์มาค้ำคูณให้เป็นสิริมงคลในวันที่มีฤกษ์งามยามดี อุดมสมบูรณ์พร้อมทั้งข้าวปลาอาหารคาวหวาน ข้าทาสและบริวาร เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านมาร่วมแสดงความยินดีอำนวยอวยพรให้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กันและกัน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในชุมชน

      ความเชื่อและพิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ของชาวอีสาน

การสร้างบ้านปลูกเรือนของชาวไทยอีสานในสมัยก่อนนั้นจะออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการดำรงชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ปัจจุบันมีความแตกต่างไปมากตามวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ชาวอีสานส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อและพิธีกรรมในการสร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ เช่น การดูฤกษ์ยามและพิธีกรรมในการปลูกบ้าน การขึ้นบ้านใหม่ กล่าวคือยังให้ความสำคัญและยึดถือวิถีปฏิบัติตามแบบประเพณีโบราณไว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เมื่อสร้างบ้านปลูกเรือนเสร็จแล้ว พิธีกรรมที่สำคัญก่อนจะเข้าอยู่อาศัยในบ้านนั้น คือ พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ หรือ พิธีขึ้นเฮือนใหม่ ซึ่งชาวอีสานจะนิยมทำพิธีกรรมให้ตามั่นคำทองเป็นผู้มาค้ำคูณบ้านหลังใหม่ให้  (“ค้ำคูณ” ในภาษาอีสาน หมายถึง ดี, เป็นมงคล, ศิริมงคล, เจริญก้าวหน้า)

       พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่จะเริ่มขึ้นด้วยการหาฤกษ์งามยามดี โดยพระมหาปรีชา ปริญญาโณ กล่าวว่า การทำพิธีขึ้นบ้านใหม่นั้นให้เลือกเอาวันพุธ พฤหัสบดี หรือวันศุกร์ เมื่อกำหนดวันแล้วเจ้าของบ้านจะไปบอกกล่าวหรือเรียนเชิญที่เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่เคารพนับถือ ตลอดจนลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมงานเพื่อความเป็นสิริมงคลและมาค้ำคูณบ้านให้มีความเจริญรุ่งเรือง หนึ่งในผู้ร่วมพิธีกรรมที่สำคัญ คือ ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นตามั่นคำทอง (ผู้ที่ถูกสมมติว่ามาจากเมืองมั่นคำทอง หรือเมืองมั่นคำพอง เมืองที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในสมัยโบราณ) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ และรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีกรรม

        สิ่งของในพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่แบบชาวอีสาน

ก่อนเริ่มงานเจ้าบ้านจะต้องเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อใช้ในพิธีกรรม ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องครัว และเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่ม แห จาน ชาม หม้อ ข้าวสาร เกลือ น้ำปลา ปลาร้า พริก หอม กระเทียม กล้วย อ้อย มะละกอ สมุด หนังสือ เป็นต้น ใบตองกล้วย ก้อนหิน หม้อน้ำ กุบเกิ้ง(หมวก) ถง(ถุง)หรือย่าม สิ่ว ค้อน เขา(เขาวัว เขาควาย) นอ(นอแรด-ถ้ามี) งา(งาช้าง-ถ้ามี) แก้วแหวน เงินทอง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งของที่จะมอบให้เจ้าของบ้าน หรือที่เรียกว่าของจะมาค้ำคูณบ้านให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน

      ขั้นตอนในพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่แบบอีสาน

เมื่อถึงวันพิธีตามที่กำหนด เครื่องครัวเรือนทั้งหลายให้จัดนำไปวางไว้บนเรือนให้เรียบร้อยก่อนเริ่มพิธี นำใบตองกล้วยวางไว้หน้าบันได และเอาก้อนหินทับไว้ พร้อมทั้งขันน้ำหอม (น้ำผสมกับว่านที่ให้ความหอม ส่วนใหญ่จะใช้เปราะหอม หรือว่านหอม หรือว่านเสน่ห์จันทร์ นำมาหั่นบาง ๆ ผสมลงไปในน้ำ ทำให้เกิดกลิ่นหอม) ผู้ที่ถูกเชิญมาร่วมพิธีจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

       กลุ่มที่ 1 จะมีผู้เฒ่าหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้นำ เรียกว่า “ตามั่นคำทอง” และมีบริวารที่จะช่วยกันถือเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นของมาค้ำคูณแก่บ้าน

       กลุ่มที่ 2 ฝ่ายเจ้าของบ้าน

เมื่อได้เวลาตามฤกษ์ทุกฝ่ายพร้อมแล้ว กลุ่มที่ 1 จะให้ตามั่นคำทองสวมหมวก (กุบเกิ้ง) สะพายถุง ซึ่งในถุงจะมีสิ่ว ค้อน และของมงคลสำหรับค้ำคูน ได้แก่ เขา นอ งา คนในกลุ่มจะตั้งแถวเดินตามตามั่นคำทอง เมื่อมาถึงบ้านให้เดินเวียนขวารอบบ้าน 3 รอบ ระหว่างเดินเวียนก็จะโปรยเงินไปด้วย เมื่อเดินครบ 3 รอบแล้วหยุดยืนตรงบันไดหรือทางเข้าบ้าน ฝ่ายเจ้าของบ้านก็จะออกมาทักทายปราศรัยถามไถ่กับผู้ที่มาถึง โดยมีข้อความการสนทนากัน โดยฝ่ายเจ้าของบ้านจะเป็นผู้ถาม ดังนี้

     ถาม : “เฮ้ย..พวกนี้หาบกระดอนคอนกะต่า ขนสิ่งของมาแต่ไสน้อ” (เฮ้ย…คนพวกนี้หาบตะกร้าขนสิ่งของมาจากไหน)

     ตอบ : “โอย…พวกข้าน้อยมาแต่เมืองมั่นคำทอง ได้ยินว่าลูกหลานปลูกเฮือนใหม่ใส่หญ้าเต็ม ว่าซิมาค้ำมาคูณ ให้อยู่ซุ่มกินเย็น ให้อยู่ดีมีแฮง ความเจ็บบ่ให้ได้ความไข้บ่ให้มี บ่ให้อึดให้อยาก บ่ให้ขาดบ่ให้เขินทุกอันทุกแนวแล้ว จึงได้พากันมาดอก” (โอย..พวกเรามาจากเมืองมั่นคำทอง ได้ยินว่าลูกหลานจะขึ้นบ้านใหม่ ว่าจะมาค้ำคูณเพื่อเป็นสิริมงคล ให้อยู่เย็นเป็นสุข ความเจ็บไม่ได้ความไข้ไม่ให้มี ไม่อดไม่อยาก ไม่ขาดตกบกพร่องทุกสิ่งอย่าง จึงได้มาพากันมาในวันนี้)

    ถาม : “เออ…คันซิมาค้ำมาคูณ อยู่ดีมีแฮง ให้อยู่ซุ่มกินเย็น ความเจ็บบ่ได้ ความไข้บ่มีก็ดีแล้ว เพิ่นได้หยังมานอ” (เออ..ถ้าจะมาค้ำมาคูณให้อยู่เย็นเป็นสุข ความเจ็บไม่ได้ ความไข้ไม่มีก็ดีแล้ว แล้วได้อะไรกันมาบ้างล่ะ)

     ตอบ : “ได้มาพร้อมทุกอันทุกแนวหั้นแล่ว” (ได้มาพร้อมทุกสิ่งอย่างเลย)

     ถาม : “กุบส่องฟ้า ผ้าส่องดาว ได้มาพร้อมบ่น้อ” (กุบส่องฟ้า ผ้าส่องดาวได้มาด้วยไหม)

     ตอบ : “ได้มา”

     ถาม : “ข้อยข้าหญิงชายได้มาพร้อมบ่นอ” (บริวารชายหญิงได้มาด้วยไหม)

     ตอบ : “เออ…ได้มา คือว่า ข้อยหญิง ข้อยชาย ผ้าผ่อน ท่อนสไบ เข้า (ข้าว) น้ำ ซ้ามปลา มีดพร้า แหลน หลาว แก้ว แหวน เงิน คำ ได้มาพร้อมเหมิดทุกอัน” (ได้มา…ทั้งบริวารชายหญิง ผ้าผ่อน ข้าวปลา อาหาร มีดพร้า แหลน หลาว แก้วแหวนเงินทอง ได้มาพร้อมทุกอย่าง)

      ถาม : “ช้าง ม้า วัว ควาย ได้มาบ่” (ช้าง ม้า วัว ควายได้มาไหม)

      ตอบ : “ได้มา”

      ถาม : “ของอยู่ของกิน เป็นเนื้อเถิกเอิกลายได้มานำบ่” (เครื่องเรือน เครื่องครัว อาหารการกิน ได้มาด้วยไหม)

     ตอบ : “ได้มา”

     ถาม : “แหลูกทอง มองลูกกั่ว ได้มาบ่” (แห มอง (ตาข่ายจับปลา) ได้มาไหม)

     ตอบ : “ได้มา”

      ผู้ถามก็จะบอกต่อไปว่า : “เออ คั่นเพิ่นได้มาทุกสิ่งทุกอัน เพิ่นมาค้ำมาคูณให้ลูกหลายอีหลี เพื่อให้อยู่ดีมีแฮงได้มาทุกอันทุกแนวแล้ว ก็ขอเชิญขึ้นมาถ้อน” (ถ้าท่านได้มาทุกสิ่งอย่าง จะมาค้ำมาคูณให้ลูกหลานจริง ๆ เพื่อให้อยู่ดีมีสุข ก็ขอเชิญท่านขึ้นมาบนบ้านได้)

ก่อนที่ตามั่นคำทองจะเข้าบ้านหรือขึ้นบ้าน ก็จะเดินมาเหยียบหินที่วางอยู่บนใบตองกล้วยก่อน เพื่อให้เจ้าของบ้านล้างเท้าให้ด้วยน้ำอบน้ำหอมที่เตรียมไว้ และบริวารผู้ที่หาบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาก็จะนำมาวางรวมกันไว้ที่กลางห้อง ตามั่นคำทองก็จะเอาสิ่งและค้อนออกมาจากถุง ตอกสิ่วลงที่เสาขวัญ แล้วห้อยถุงที่บรรจุของมงคลต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลจำนวน 7 วัน คำตอกสิ่งที่พระมหาปรีชา ปริญญาโณได้กล่าวไว้ คือ

 “ตอกบาดหนึ่ง ให้ได้ฆ้องเก้ากำ (ตอกครั้งที่ 1 ให้ได้ฆ้อง)

 ตอกบาดสอง ให้ได้คำเก้าหมื่น (ตอกครั้งที่ 2 ให้ได้ทองคำ)

 ตอกบาดสาม ให้ได้เล้าข้าวหมื่นมาเยีย (ตอกครั้งที่ 3 ให้ได้ข้าว)

 ตอกบาดสี่ ให้ได้เมียสาวมานอนพ่างข้าง (ตอกครั้งที่ 4 ให้ได้สาวมานอนแนบข้าง)

 ตอกบาดห้า ให้ได้ช้างใหญ่มาโฮง (ตอกครั้งที่ 5 ให้ได้ช้างใหญ่)

 ตอกบาดหก ให้ได้ชายโถงมานอนเฝ้าเล้า (ตอกครั้งที่ 6 ให้ได้ชายโสดมานอนเฝ้ายุ้งข้าว)

 ตอกบาดเจ็ด ให้ได้ผู้เฒ่ามานอนเฝ้าเรือน (ตอกครั้งที่ 7 ให้ได้คนแก่มานอนเฝ้าบ้าน)

 โอมอุอะมุมะมูนมามหามุนมังฯ”

        จากนั้นจะช่วยกันปูที่นอนให้ตามั่นคำทองนอน ขณะที่นอนจะห่มผ้าคลุมหัว คลุมเท้า และนอนกรน ผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านก็จะนอนอยู่ข้าง ๆ ด้วย แล้วผู้ร่วมพิธีคนหนึ่งก็จะทำเสียงไก่ขัน 3 ครั้ง เสมือนว่าถึงเวลารุ่งเช้าที่จะต้องตื่นแล้ว ทุกคนก็จะตื่นขึ้นมา แล้วตามั่นคำทองก็จะบอกว่าเมื่อคืนฝัน โดยมีการเล่าความฝันตามที่พระมหาปรีชา ปริญญาโณ กล่าวไว้ว่า

 “เมื่อคืนฝันหลดฝันประหลาด ฝันว่าเพิ่นนี้จูงแขนเข้าพาขวัญเกาะก่าย ฝันว่าเพิ่นนี้จับไข่ป้อนให้แก่เฮา เหมิดกระบวนแล้วคนเมือเกลี้ยงอ่อยห่อย ฝันว่าน้องพี่จับจ่องนิ้วเอาอ้ายเข้าบ่อนนอน”

 (เมื่อคืนฝันประหลาด ฝันว่าคนผู้นี้มาจูงขาเข้าพาขวัญ (บายศรีสู่ขวัญ) แล้วป้อนไข่ให้กับเรา เสร็จแล้วคนก็กลับกันหมด ฝันว่าพี่น้องจูงแขนเราเข้านอน)

 เมื่อเล่าความฝันแล้ว ตามั่นคำทองก็จะให้พรว่า

 “นอนหลับให้เจ้าได้เงินหมื่น นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แปมือมาให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ โทษฮ้ายอย่ามาพาน ฝูงมารอย่าได้มาข้องฝูงพี่น้องมิตรหมู่สหาย โอม สหมฯ”

  (เมื่อนอนหลับก็ขอให้ได้เงินหมื่น เมื่อนอนตื่นก็ขอให้ได้เงินแสน แบมือมาก็ขอให้ได้แก้วมณี สิ่งเลวร้ายหมู่มารอย่าได้มาแผ้วพานญาติพี่น้องทั้งหลาย)

ตามั่นคำทองก็จะผูกด้ายหรือฝ้ายที่ข้อมือให้กับเจ้าของบ้าน เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าของบ้าน จากนั้นผู้ร่วมพิธีที่มาร่วมงานก็จะทยอยผูกข้อมือให้กับเจ้าของบ้านเช่นกัน เป็นอันเสร็จพิธี ผู้ร่วมพิธีก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน

ในพิธีขึ้นบ้านใหม่ บางครั้งก็จะจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับเจ้าบ้าน พิธีทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ร่วมไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับความสะดวกและความต้องการของเจ้าของบ้าน ในพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่แบบดั้งเดิมตามประเพณีอีสานนี้ บางพื้นที่พิธีกรรมนี้ก็ได้หายไปแล้ว หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนไปบ้างเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย บางที่อาจจะมีเพียงการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อย่างไรก็ตาม ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองให้กับตนเองและครอบครัว

     สิ่งที่ได้จากการทำพิธีกรรมนี้ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่มีให้แก่กันและกันของคนในชุมชน การอวยพรและแสดงความยินดีให้การเริ่มต้นเข้าไปอยู่ในบ้านหลังใหม่นั้นมีความพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง และมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป การให้ความเคารพนับถือผู้เฒ่าผู้แก่ที่เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรให้ยึดเหนี่ยวจิตใจ การรวมญาติมิตรพี่น้องที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือค้ำจุนกัน การใช้หลักจิตวิทยาที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กันและกันของคนในชุมชน เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

    บรรณานุกรม

ปรีชา พิณทอง. (2540). ประเพณีโบราณไทยอีสาน. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซต.

 สมพงษ์ ทุมมากรณ์. (2560). สัมภาษณ์ 21 ธันวาคม 2560

 สุวิทย์ จิระมณี. (2542). ขึ้นเฮือนใหม่, พิธี ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย

ขอขอบคุณ http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=3891  เจ้าของข้อมูล







Copyright © 2010 All Rights Reserved.