ปราสาทบ้านพันนา
ประเภท สถานที่ท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์
ข้อมูลติดต่อ
อีเมล :phannacity@hotmail.com เบอร์โทร :+66 4272 9392
ข้อมูลทั่วไป
ตั้งอยู่บ้านพันนา ตำบลพันนา เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม เพื่อใช้เป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาล หรือที่เรียกว่า “อโรคยาศาล” ปราสาทบ้านพันนาประกอบด้วย ปราสาทประธาน ทรงสี่เหลี่ยมก่อมุข มียอดเดียว ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือทางทิศตะวันออก และมีวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ รอบปราสาทล้อมด้วยกำแพงศิลาแลง มีโคปุระหรือซุ้มประตูขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีสระน้ำขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กรุด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ มีน้ำขังตลอดทั้งปี จากการขุดค้นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2542 พบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ เศียรพระวัชรธร ชิ้นส่วนพระโพธิสัตว์วัชรปราณีทรงครุฑ พระยมทรงกระบือ และชิ้นส่วนพระกรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประติมากรรมเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบายน ปราสาทบ้านพันนาจึงนับเป็นปราสาทขอมโบราณที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่ไม่น้อย เป็นแหล่งศึกษาศิลปะเขมรได้เป็นอย่างดี สอบถามข้อมูลเทศบาลตำบลพันนา โทร. 0 4272 9392
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ททท. https://thai.tourismthailand.org/Attraction
ปราสาทขอมบ้านพันนา
รายละเอียด : ประวัติบ้านพันนา บ้านพันนา มีประวัติยาวนานกว่า 800 ปี คนกลุ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกก่อตั้งบ้านเรือนมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยพระวอ พระตา และเหล่าทหารที่เดินทางรอนแรมมาเพื่อหาแหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์ พอมาถึงบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พระวอ พระตา จึงตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น ส่วนทหารที่ตามขบวนมานำโดยนายพรานนา ได้แยกตัวมาทางทิศตะวันออกและพบแหล่งพืชพันธุ์ ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์จึงตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านผ้าขาวพันนา ซึ่งความอุดมสมบูรณ์นั้นเปรียบได้ดังนี้ "บ้านผ้าขาวพันนา หัวปลาเฮ็ดก้อนเส้า ข้าวเก่าเอาใส่หม่อน" หมายถึง ในน้ำมีปลาชุกชุม ปลามีตัวขนาดใหญ่ จนสามารถนำหัวปลาที่เหลือกินแล้วมาทำเป็นเตาที่ตั้งหม้อ (ก้อนเส้า) ข้าวในนาก็อุดมสมบูรณ์ ในยุ้งฉางมีข้าวเก็บไว้รับประทานอย่างล้นเหลือ จนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ ข้าวเก่า ในปีที่ผ่านมายังรับประทานไม่หมด จึงนำไปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวหม่อนเพื่อนำเส้นใย ไปถักทอเป็นเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เทศบาลตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร