วัดทุ่งศรีเมือง
อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
วัดทุ่งศรีเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดทุ่งศรีเมือง ตามประวัติระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ โดยพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ในช่วงสมัยพระพรหมราชวงศา (กุทอง สุวรรณกูฎ) เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี ลำดับที่ ๓ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ได้แก่
. หอไตร ตามประวัติระบุว่าสร้าง พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยญาคูช่าง ลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งอยู่กลางสระน้ำ โครงสร้างอาคารใช้เสาไม้ จำนวน ๒๕ ต้น รับน้ำหนักตัวอาคารและชุดหลังคาจั่วแบบลดชั้นแล้วต่อหลังคาปีกนกโดยรอบซ้อนกัน ๒ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา หลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แบบภาคกลาง ส่วนหน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายดอกพุดตาน ลายดอกประจำยาม มีคันทวยไม้แกะสลักรูปเทพพนมและนาค ผนังอาคารเป็นแผ่นไม้ฝาปะกนแบบเรือนเครื่องสับในภาคกลาง สลักลวดลายรูปสัตว์ในกรอบสี่เหลี่ยมมุมมน มีหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ยกเว้นผนังด้านหน้าเป็นช่องประตูทางเข้า ๑ ช่องและหน้าต่าง ๒ ช่อง ภายในอาคารแบ่งพื้นที่การใช้สอยออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนห้องเก็บคัมภีร์ในตอนกลางอาคาร และระเบียงโดยรอบ ห้องเก็บคัมภีร์ตั้งบนฐานเอวขัน ผนังตีไม้ทึบ ตกแต่งด้วยลายราชวัตรและตัวละครในวรรณคดีไทย บริเวณมุมเสาประดับกาบพรหมศร ไม่มีหน้าต่าง มีประตูทางเข้า ๑ ทางในตอนกลางด้านหน้า บานประตูเขียนภาพทวารบาลทรงศรประทับยืนบนแท่นมีวานรแบก พื้นหลังเขียนลายก้านต่อดอก ซุ้มประตูเป็นซุ้มลด เสาประดับกรอบประตูประดับกาบพรหมศร ลายประจำยามอก ลายกาบบน และกาบบัวหัวเสา กรอบประตูด้านบนเป็นไม้สลักลายพรรณพฤกษา หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ใช้เก็บคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
อุโบสถ (สิม) หรือ หอพระพุทธบาท พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ให้สร้างสำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ใช้เป็นอุโบสถด้วย ลักษณะอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานเป็นชุดบัวเอวขันแบบอีสาน มีบัวงอนประดับทั้งสี่มุม บันไดด้านหน้าทางทิศตะวันออก ราวบันได้ทำเป็นรูปนาคบนหลังจระเข้ ส่วนตัวอุโบสถตลอดจนเครื่องหลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นแบบภาคกลาง ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุม พุทธประวัติ ทศชาติชาดก และนิทานพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ด้านท้ายอาคารทำฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สิมวัดทุ่งศรีเมือง ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และเป็นปูชนียสถานที่พุทธศาสนิกชนเคารพกราบไหว้ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี
โบราณสถานวัดทุ่งศรีเมือง ประกอบด้วย หอไตรกลางน้ำและหอพระพุทธบาทหรืออุโบสถ (สิม) สร้างขึ้นในสมัยพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) เป็นเจ้าคณะเมืองอุบลฯ และเป็นผู้ก่อตั้งวัดทุ่งศรีเมือง ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานหอไตร วัดทุ่งศรีเมือง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอน ๑๐๔ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๔ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา และประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง ในราชกานุเบกษา เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕๙ง วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา
----------------------
+++อ้างอิงจาก+++
. กองพุทธศาสนสถาน, กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๔. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,๒๕๓๘. หน้า ๑๐๐
. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, ๒๕๔๔.หน้า ๑๓๘,๒๘๒
. สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี(เล่ม ๑ : จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร). อุบลราชธานี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๖๓.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่
https:// www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/34035-วัดทุ่งศรีเมือง