ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




ประเพณีสงกรานต์

 ตำนานสงกรานต์

ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดยย่อว่า

      มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า

ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด

ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด

     ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

      ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ

      พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่างๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร

       ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้

สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

    มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

      วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

     วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้

     วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

       ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว

       จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ

       ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์- การเตรียมงาน

วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้

       1. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน

       2. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิศษ ๒ อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ 

     นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ

       3. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง

       4. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย

อ้างอิงขอมูลจาก :

      สมชัย ใจดี,ยรรยง ศรีวิริยาภรณ์. ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2531.

       สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม ครอบครัว ศาสนา ประเพณี. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2534.

       สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สงกรานต์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533.

       เนื้อหารวมข้อมูลวันสงกรานต์ http://songkran.sanook.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.sanook.com/campus/948053/

ตำนานนางสงกรานต์

        สำหรับเรื่องราวความเป็นมาของนางสงกรานต์นั้น มีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล โดยบ้านของเศรษฐีคนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีที่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร แต่แม้ว่าเศรษฐีจะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร

      กระทั่ง วันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอไปถึงก็ได้นำข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานเทพบุตรให้องค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าเทพบุตรก็คลอดออกมา เศรษฐีจึงตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า "ธรรมบาลกุมาร" และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

      เวลาผ่านไป ธรรมบาลกุมาร โตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก และเมื่ออายุเจ็ดขวบ ก็ได้เรียนไตรเภทจบ ธรรมบาลกุมาล จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมาร เสีย ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน"

       เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม

       นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัว ผัวเมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนกสองตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะตอบปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

       เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมาร ได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม เมื่อท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้ แต่ปัญหาก็คือ พระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง

     ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็เชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุก ๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น นัยก็คือ พระอาทิตย์ เพราะกบิล หมายถึง สีแดง

       ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะต่าง ๆ กัน ดังนี้

นางทุงษะเทวี

         ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

คำทำนาย : ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ

 

นางโคราคะเทวี

         ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

       คำทำนาย : ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ

 

นางรากษสเทวี

        ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี

   คำทำนาย : ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล

 

นางมณฑาเทวี

      ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ

       คำทำนาย : ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ

 

นางกิริณีเทวี

     ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ

   คำทำนาย : ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม

 

นางกิมิทาเทวี

       ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

     คำทำนาย : ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก

 

นางมโหธรเทวี

        ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

     คำทำนาย : ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

      อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ ดังนี้

1. ถ้านางสงกรานต์ ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้

          2. ถ้านางสงกรานต์ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ

          3. ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข

          4. ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตาพระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://hilight.kapook.com/view/21050







Copyright © 2010 All Rights Reserved.