นิทานพื้นบ้านอีสาน
ศิลปะวัฒนธรรมในภาคอีสาน นอกจากการฟ้อนรำและเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีโดดเด่นเฉพาะด้าน คือ นิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน ซึ่งเป็นการเล่าสืบต่อกันมา บ้างเป็นนิทานที่ให้คติสอนใจ บ้างเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและขนบธรรมเนียม บ้างก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้มีนิทานพื้นบ้านอีสานมากมายนับไม่ถ้วน วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงได้คัดตำนานนิทานพื้นบ้านอีสานเด่น เป็นตัวอย่าง มาให้ได้อ่านกัน
นิทานพื้นบ้านอีสาน
ขูลูนางอั้ว"
ว่ากันว่ามีหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อว่า บ้านโคกกง และอีกหมู่บ้านหนึ่งชื่อ บ้านทุ่งมน สองหมู่บ้านนี้ติดกัน รักใคร่สามัคคีกันดี ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน 2 ครอบครัวสัญญากันไว้ว่า ถ้าใครมีลูกชายจะให้เป็นเพื่อนกัน หากอีกฝ่ายเป็นหญิงจะให้แต่งงานกัน โดยไม่มีเงื่อนไข
วันหนึ่งฝ่าย นางกาสี อยู่บ้านโคกกง ซึ่งมีสวนส้ม กำลังสุกเหลือง ส่วนฝ่ายบ้านทุ่งมน เกิดอยากกินผลส้มเลยชวนพวกมาขอผลส้มกินแต่ นางกาสีหวงไม่ยอมยกให้ จนเกิดผิดใจกันระหว่างเพื่อน ก็เลยเลิกคบค้ากัน ขนาดว่าจะไม่ให้ลูกหลานคบค้าสมาคมกัน และแค้นใจมาก
18 ปีต่อมา ฝ่ายนางกาสี มีลูกชายชื่อ ขูลู ส่วนอีกฝ่าย มีลูกสาวชื่อ นางอั้ว ทั้งสองเกิดรักใคร่ชอบกัน โดยที่ไม่ฟังคำคัดค้านจากฝ่ายพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเลยแม้แต่น้อย พ่อของนางอั้ว กลัวลูกสาวไปปล่อยตัวปล่อยใจจนเกินงามให้ ขูลู เลยออกอุบายให้นางอั้วแต่งงานกับ ขุนลาง หลานเจ้าสัว มหาเศรษฐีปล่อยเงินกู้ผู้กว้างขวางและเอารัดเอาเปรียบในหมู่บ้านทุ่งมน วันหนึ่ง ขุนลางกับน้าชาย ได้ทวงเรื่องหนี้สินที่พ่อนางอั้วเคยหยิบยืมไป แต่ก็ไม่มีให้ในที่สุด น้าชายของขุนลางบังคับให้นางอั้วแต่งงานเพื่อชดใช้หนี้ นางไม่ยินยอมเพราะมีใจให้ขูลูอยู่ จึงตัดสินใจ ในคืนก่อนเข้าพิธีแต่งงานหนึ่งวันกับขุนลาง มอบกายให้ขูลูจากนั้นก็ตัดสินใจผูกคอตาย พอขูลูรู้ข่าวการตาย จึงใช้มีดแทงตัวตายตามนางอั้วไป
ข้อคิด- ที่ใดมีรัก ที่นั้นจะไม่มีทุกข์ถ้า เราเปิดใจฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีเหตุผล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org/posts/251589
นิทานวรรณคดีอีสานเรื่อง "ท้าวก่ำกาดำ"
(เรื่องย่อ) ท้าวก่ำ มีรูปร่างอัปลักษณ์เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป แม้กระทั่งมารดาของตนก็เกลียดชัง จึงเอาไปลอยแพล่องน้ำ พระอินทร์บนสวรรค์มีความสงสารจึงเนรมิตส่งกาดำลงมาเป็นแม่นม คอยเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ท้าวก่ำจึงได้รับการขนานนามว่า "ท้าวก่ำกาดำ" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อท้าวก่ำกาดำเติบโตขึ้น ก็ได้อาศัยอยู่กับย่าจำนวน คนเฝ้าสวนของกษัตริย์ วันหนึ่ง ธิดาทั้งเจ็ดของกษัตริย์มาเที่ยวชมสวน ท้าวก่ำกาดำแอบดูนางทั้งเจ็ด แล้วเกิดผูกสมัครรักใคร่ นางลุน ธิดาคนสุดท้อง
ท้าวก่ำกาดำมีความสามารถพิเศษในการร้อยดอกไม้และเป่าแคน จึงได้ร้อยมาลัยดอกไม้เป็นสื่อความในใจแล้วมอบให้ย่าจำนวนนำไปถวายนางลุน พอถึงเวลากลางคืนก็เป่าแคนไปเที่ยวในเมือง เสียงแคนอันแสนไพเราะของท้าวก่ำกาดำในเวลากลางคืนที่เงียบสงัดนั้น ลอยลมไปไกล จนกษัตริย์และนางลุนได้ยินทุกคืน ด้วยเสียงแคนอันไพเราะนี้ กษัตริย์จึงได้รับสั่งให้ท้าวก่ำกาดำเข้าเฝ้าเพื่อถวายการเป่าแคน ท้าวก่ำกาดำมีความภูมิใจมากได้ตั้งใจเป่าแคนอย่างสุดฝีมือ เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์และนางลุน ซึ่งเป็นอานิสงฆ์ส่งให้ท้าวก่ำกาดำพ้นเคราะห์ กาดำได้ชุบร่างขึ้นใหม่ให้เป็นชายรูปร่างงดงาม และในที่สุดก็ได้นางลุนมาเป็นคู่ชีวิตสมดังปรารถนา
เพื่อให้เห็นจริงเห็นจังถึงความไพเราะของเสียงแคนที่ท้าวก่ำกาดำได้เป่าถวายกษัตริย์และนางลุนฟัง จึงขอนำคำกลอนลำอีสานที่ได้พรรณนาถึงความไพเราะของเสียงแคนมาบันทึกไว้ ดังนี้
ท้าวก็เป่า จ้อย จ้อย อ้อยอิ่ง กินนะรี
บุญมี เลยเป่าแถลง ดังก้อง
เสียงแคนดังม่วนแม่ง พอล่มหลูด ตายไปนั้น
ท้าวก็เป่า จ้อย จ้อย คือเสียงเสพ เมืองสวรรค์
ปรากฏดัง ม่วนก้อง ในเมือง อ้อยอิ่น
เป็นที่ใจ ม่วนดิ้น ดอมท้าว เป่าแคน
สาว ฮามน้อย วางหลามาเบิ่ง
เขาก็ปบ ฝั่งฟ้าว ตีนต้อง ถืกตอ
บางผ่อง ป๋าหลาไว้ วางไป ทั้งแล่นก็มี
บางผ่อง เสื้อผ้าหลุด ออกซ้ำ เลยเต้นแล่นไปก็มี
ฝูงคนเฒ่า เหงานอน หายส่วง
สาวแม่ฮ่าง คะนิงโอ้ อ่าวผัว
ฝูงพ่อฮ่าง คิดฮ่ำ คะนิงเมีย
เหลือทน ทุกข์อยู่ ผู้เดียว นอนแล้ง
เป็นที่ อัศจรรย์แท้ เสียงแคน ท้าวก่ำ
ไผได้ฟัง ม่วนแม่ง ใจสล่าง หว่างเว
ฝูง (คน) กินเข่า คาคอ ค้างอยู่
ฝูง (คน) อาบน้ำป๋าผ่า แล่นมา.... (นั่นละนา)
นี้คือความไพเราะของเสียงแคน ที่ปรากฏในวรรณคดีพื้นบ้านภาคอีสาน ซึ่งแม้จะเป็น เรื่องแต่งที่มีคติธรรมสอนใจให้เกิดคุณธรรม คุณงามความดี โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริง เท่าใดนัก แต่ถ้าหากพิเคราะห์ให้ดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า "เสียงแคน" นั้นยังมีมนต์ขลังอยู่เสมอ และขอจบบทนี้ด้วยกลอนลำกำเนิดของแคนด้วยครับ
(ลำ) แคนนี้เป็นของเลิศล้ำเก่าแก่ แต่เดิมมา
มื้อหนึ่งมีพระราชาเข้า ดงดอนนอนอยู่ในป่า
กับทั้งอำมาตย์ไท้ พวกหมู่มนตรี
ฝูงหมู่กวางฟานเม่น เห็นพระองค์โยงพ่าย
แม่งหนึ่งไปฮอดเกี้ย ตีนตาดผาสูง
เป็นขัวนัวคือเกี้ยว เขียมอารมณ์เป็นร่ม
พระองค์เลยสะมิ่ง ง่วงเหง่าเหงานอน
ฝูงหมู่เสนาเหง้า มนตรีน้อยใหญ
แต่นั้น พระหนึ่งต้น ตนผ่านพารา
ฟังยินเสียงกอย ๆ ร้องแกว ๆ กรวีก
พ้อมด้วยเสียงนกเอี้ยง เฮียงฮ้องออหอ
สัมมะปิเสียงห้าว วาวโวแววโว
ฟังแล้วเลยสะม้อย อ้อยอิ่นในพระทัย
ยินเสียงลมสะแวงต้อง นอนนันกรวีก
พระองค์คิดแม่นแม่ง มักใคร่ในเสียง
จึงได้หันตัดต้าน ถามขุนข้ามหาด
ไผจักตกแต่งตั้ง ทำสิ่งเป็นเสียงได้นอ?
เฮ็ดให้เป็นของใช้ ดนตรีสีเป่า
ยังมีอำมาตย์ชั้น กวีเอกสาขา
สองก็วางคำมั่น สัญญาเด็ดขาด
พระองค็ก็พาไพร่โค้ง คืนสู่งกรุงสี
มีสนมนั่งเฝ้า เรียงปางข้างเสิ่อ
บัดนี้ จักกล่าวอำมาตย์เค้า ผู้รับอาสา
คิดจนใจหลายมื้อ บ่มีหวนเห็นหุ่ง
ลาวก็เข้าป่าไม้ ดงด่านอรัญญา
แม่ง หนึ่งถึงแดนห้วย สวยลวยกล้วยป่า
ได้ยินน้ำสะท้าน โตนตาดเสียงดัง
ยินสะออนฝูงกะเบื้อ บินเฟือแคมฝั่ง
พักหนึ่งลมล่วงเท้า อ้ออ่อนแคมชล
เลยสะออนใจเฒ่า เหงาไปเซือบหนึ่ง
แต่นั้นลมพัดป้าน อ้ออ่อนปลายกุด
ผ่องก็แจง ๆ แจ้ แวแววโว่หว่อ
อีกประสบครั้งนั้น วันบ่ายพอดี
นกเขาทอง เขาตู้ คูขันก้องสนั่น
ลาวก็สะส่วยหน้า ลุกนั่งฟังเสียง
เสียงตอยาวตอสั้น ปนกันน้อยใหญ่ ่
เฒ่าเลยคิดซวาดรู้ วิธีแต่งดนตรี
เดี๋ยวหนึงวันมัวค้อย ทดทะสูงแสงต่ำ
เลยเล่าหายเหตุร้อน นอนพ่างภรรยา
นกกาเวามันร้อง จองหองขายกอก
ตัดเอาต้นไม้อ้อ สามคู่พอดี
บ่อนหว่างทางกลางนั้น เจาะลงเป็นปล่อง
เมื่อนั้นเฒ่าก็หาเอาไม้ มาทำเต้าเป่า
พอเมื่อเฒ่าสร้างแล้ว ก็ลองเป่าฟังเสียง
ทังแลนแจน ลันแจ้ อยากคือ เสียงกรวีก
พอคิดแล้วเท่านั้น ตนพ่อเสนา
เอาดนตรีให้ถวาย ภูวนัยดั่งว่า
เฒ่าเลยนั่งตะแพยคู้ แล้งเป่าเอาถวาย
เสียงดนตรีดั่งได้ แกว ๆ ก้อง แก้วก่อ
พระราชาทรงตรัส " ใช้แคนแด่" เดี้ย
ให้ท่านทำดีขึ้น ทูลถวายรายใหม่
ในกาลครั้งนั้น คุณพ่อเสนา
ลาวจึงเพียรแปงสร้าง วางแปลนรูปใหม่
เฮ็ดไปถวายเทื่อนี้ 7 คู่ พอดี
เพราะมันมีเสียงแก้ว แกว ๆ แจ้วแน่นแน่
ขุนก็ทำอีกครั้ง เป็นเทื่อที่สาม
มีเสียงทองเสียงห้าว วาวแววแจ้วลั่นจั่น
ลูกมันมีหมดเกลี้ยง 8 คู่งามขำ
ทรงกระหายหัวย่าม เห็นงามแย้มพระโอษฐ์
มันได้มีแต่พุ้น สืบต่อกันมา
คันบ่มีคำเว้า แคนไคไกลมอ
อีกอย่างหนึ่ง ย่อน ดนตรีประเภทนี้ พาสว่างความอุก
ชื่อว่าแคน แคน แล้ว หมดทั้งมวลมีแต่หม่วน แต่ครั้งศาสนาพระวิปัดสีเจ้า
เที่ยวหาเซ็ดเนื้อในด้าวด่านไพร
จรลีไปถึงเขตขวางเขากว้าง
จนเวลาเที่ยงค้ายหายจ้อยเครื่องเสวย
มีหมู่ยูงยางดกดู่แดงดวงดั้ว
ลมพัดมาฮ่าว ๆ เย็นจ้าวหน่วงตึง
อรชรลมโรย ล่วงโชยมาเต้า
พร้อมอาศัยที่นั้นในฮั่นสู่คน
เลยนิทรานอนหลับเซือบไปคราวน้อย
จับอยู่เทิงหง่าไม้ไฮฮ้องส่งเสียง
เสียง ออ ๆ อีๆ วี่แววแจวจี้
มีทั้งโอ่และโอ้ โออ้อยอิ่นออย
ภูวไนยนอนหลับตื่นมาฟังแจ้ง
เลยกระสันสว่างเศร้า เบาเนื้อห่างแคน
ในสำเนียงของนก ที่บรรเลงนั้น
พร้อมประกาศบอกชี้เชิญมิ่งช่วยฟัง
ให้คือสำเนียงนกเป่าฟัง กันได้
เฮาพระองค์สิให้สินจ้างค่าพัน
เข้ารับบัญชาทำถวาย ดั่งใจจงอ้าง
ในโอกาสครั้งนั้น ตะเว็นส้วยอ่อนลง
จรลีถึงเมืองนั่งปองเป็นเจ้า
พระองค์กะยังอ่าวเอื้อเสียงนั้นอยู่บ่เซา
หาตรึกตรองปัญญาท่าใดสิทำได้
เลยมุ่งออกจากฮ่องเฮือนย่าวห่าวไป
เดินดุ่งคาคาวไกล เมื่อยแคนคาวแค้น
มีสาขาหน่ออ้อ ซ่อซ้องทั่วดาน
อยู่ในวัง มีแต่ปูปลาหอย ล่องลอยชมก้อน
เฒ่าก็นั่งจ้อก้อ ลงหั่นเมื่อยเซา
ปานคนกินสุราท่าเมาเยาย้อน
ใจคนึงบ่แล้ว วิธีสร้างแต่งการ
เสียงมันดัง วี วุด วู่ แวว แอว แอ้
เป็นเพราะปล้องไม้อ้อ ยาวสั้น บ่าข่ากัน
ฝูงแมงอีกาเลน เผ่นบินมาฮ้อง
ฝ่ายอำมาตย์ผู้นั้น นอนแล้วตื่นมา
ฟังสำเนียงลมพัด เป่าตอลำอ้อ
ทั้งเรไรต่างเชื้อ ประสมเข้าม่วนหู
ตามดั่งองค์ภูมี มอบหมายมานั้น
ลาวจึงไต่ต้าว คืนเข้าสู่นคร
จนเวลาสูนสาง สว่างมายามเช้า
ลาวก็ชอกได้พร้า ประดาเข้าสู่ไพร
ทั้งเหลา ซี แทง เลาะ ข้อเสียงหมดเกลี้ยง
เจาะรูแพงส่องแล้ว เลยเหน็บลิ้นตื่มแถม
เฮ็ดคือนมผู้เฒ่า เป็นเป้าอยู่กลาง
มีสำเนียง ออแอ วี่แวแววแว
คันว่าแม่น ผิด ก็มีเสียงเล็กน้อยพอสิได้ค่าพัน
เลยไววาเมือฮอด โฮงพระยาเจ้า
ทางมหาราชเจ้า จึงจำเฒ่าเป่าดู
ทำท่าไกวหัว หาง ย่างจำเอา ไว่ ๆ
เอาบ่น้อ สำนี้ พระองค์เจ้าว่าจั่งใด๋
ขุนเจ้ายังปุนแปงเฮ็ดเกิดเป็นปานนี้
เฮาก็ยังสิให้สินจ้างค่าพัน
ก็จึงอำลา คืนคอบเฮือน เร็วฟ้าว
ประดิษฐ์ใหญ่ขึ้นหน้า จะแจ้งยิ่งทว
องค์พระภูมี ตรัสว่า "แคน ๆ" แล้ว
เฮ็ดมาถวายอีกแม้ ให้ดีกว่าเทื่อหลัง
มีทั้งงาม จบดี ครบ กระบวน ควรย่อง
เสี้ยงทุ้มยู้ก็พ่องนั้น หันขึ้นวึ่นเสียง
ขุนเมือง นำเมื่อถวาย ทอดพระกรรวันท้าย
โปรดว่า "แคนแท้แล้ว" คราวนี้ท่านขุน
ย่อนว่าราชาตรัส ว่า "แคนแคน แล้ว"
ก็แม่นกรวีกร้อง ของแท้อีหลี
พาให้หายความทุกข์ ยากแคนแสนแค้น
เพิ่นจึงม้วนใส่หั่น คำนั้นว่า "แคน" .....
… จากบทความ หนังสือสูจิบัตร งานอนุรักษ์ส่งเสริมและถ่ายทอดวัฒนธรรมแคน
การประกวดเป่าแคนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ปี 2541
เขียนใน GotoKnow โดย ท.ณเมืองกาฬ
ใน มูลมังอีสาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org/posts/251935
ศิลปะวัฒนธรรมในภาคอีสาน นอกจากการฟ้อนรำและเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีโดดเด่นเฉพาะด้าน คือ นิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน ซึ่งเป็นการเล่าสืบต่อกันมา บ้างเป็นนิทานที่ให้คติสอนใจ บ้างเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีและขนบธรรมเนียม บ้างก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของสถานที่ต่าง ๆ จนทำให้มีนิทานพื้นบ้านอีสานมากมายนับไม่ถ้วน วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงได้คัดตำนานนิทานพื้นบ้านอีสานเด่น เป็นตัวอย่าง มาให้ได้อ่านกันจ้า
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : ตำนานผาแดงนางไอ่
(ท้าวพังคีกะฮอกด่อน)
นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่าง ๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย
ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้
ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน
อย่างไรก็ตาม ในตำรา อ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง 3 แห่ง หนองหาน ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องปู่ปะหลาน
ปู่กับหลานได้เดินทางไกลผ่านมายังทุ่งกุลาร้องไห้นี้ เดินข้ามอย่างไรก็ไม่พ้นสักที ปู่ก็จวนเจียนจะหมดแรงอยู่รอมร่อ ส่วนหลานนั้นก็ได้เอาแต่ร้องไห้งัวเงียด้วยความเหนื่อยล้า ทั้งยังกระหายน้ำจนดูท่าว่าจะเดินทางไปต่อไม่ไหว จนกระทั่งได้พลอยหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย (แต่ก่อนนี้ทุ่งกุลาร้องไห้นี้มีความทุรกันดารมาก ทั้งยังมีพื้นที่ที่กว้างใหญ่มีอาณาเขตติดต่อกันถึงห้าจังหวัด) ปู่จึงได้ใช้ผ้าขาวม้าห่อหุ้มหลานเอาไว้ แล้วนำไปไว้ยังโคนของพุ่มไม้แห่งหนึ่งเพื่อบังแดดให้แก่หลานน้อยนั้นไว้ ปู่จึงได้รีบเดินทางต่อโดยความหวังว่า จะได้พบกับหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดที่ซึ่งมีน้ำเพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่มได้
บริเวณนี้เรียกว่า บ้านป๋าหลาน เพราะคำว่าป๋านั้นหมายถึงการทิ้ง เช่น ผัวป๋าเมีย เป็นต้น ซึ่งในบริเวณจังหวัดมหาสารคามนั้น ก็มีชื่อหมู่บ้านนี้ว่าเป็นบ้านป๋าหลานอยู่ ในท้องที่ใกล้ ๆ กับอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามในปัจจุบัน
เมื่อปู่เดินทางจนมาถึงตีนบ้าน ปู่ก็ได้รีบเข้าไปขอน้ำดื่มจากชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น พร้อมกับได้รีบนำน้ำใส่บั้งทิง เพื่อที่จะนำไปให้หลานดื่ม
ส่วนหลานนั้น เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็ไม่พบปู่ ก็ร้องไห้ด้วยความเสียใจ และด้วยความกลัวตามประสาของเด็ก และจึงได้ออกวิ่ง ทั้งเดินเพื่อตามหาปู่ของตนว่าอยู่ไหน ทั้งยังพร่ำบ่นว่า ปู่นั้นได้ทิ้งตนเองไปแล้ว ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่าปู่นั้นไม่รักตนเอง ปล่อยทิ้งให้หลานนั้นอยู่เพียงลำพังคนเดียวด้วยความไม่ไยดีซึ่งมีปรากฏเป็นบทกลอนของการลำอยู่ ในที่สุดนั้นหลานก็ได้หมดแรง และล้มลง
ปู่นั้นเมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ได้รีบนำกลับมาให้หลานด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อมาถึงพุ่มไม้ที่ได้วางหลานเอาไว้ ก็กลับไม่พบหลานเลย ปู่จึงได้รีบออกค้นหาหลานไปทั่วบริเวณนั้น จนกระทั่งปู่ก็ได้มาพบหลานนอนตายอยู่กลางแดดจ้าของท้องทุ่งอันแสนกันดารแห่งนี้ มีทั้งมด แมลง ไต่ชอนไชอยู่ตามรูจมูก ใบหูและปากไปทั่ว
ครั้นเมื่อปู่เห็นสภาพหลานดังนั้นแล้วก็แทบใจขาด น้ำตาร่วงหล่นด้วยความสงสารในชะตากรรมของหลานที่ต้องมาตายอย่างทุกข์ทรมาน ทั้งยังโทษตัวเองว่าทำไมจึงได้ทิ้งหลานไว้ให้อยู่คนเดียว ปู่ได้ค่อย ๆ อุ้มศพของหลานขึ้นแล้วเดินพาหลานกลับไปยังตีนบ้านแห่งนั้น ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ดังกับว่าหัวใจของปู่นั้นจะแตกสลายเสียให้ได้
ต่อมาเมื่อมีความเจริญขึ้นตรงบริเวณนั้น บริเวณบ้านแห่งนั้นก็ถูกเรียกว่าเป็นบ้าน ปะหลาน ซึ่งหมายถึงบริเวณบ้านที่ปู่นั้นได้พบกับศพของหลานนั่นเอง
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องซิ่นสองต่อน
ซิ่นสองต่อน หมายถึง เนื้อคู่
ซิ่น หมายถึง เนื้อ
ต่อน หมายถึง ชิ้น
รวม คือ เนื้อสองชิ้น เนื้อสองชิ้น ก็คือ เนื้อคู่
ว่ากันว่า นานมาแล้ว เมื่อปี 2514 จำปารักกันกับบุญหลาย แต่พ่อแม่กีดกัน เพราะพ่อแม่เป็นศัตรูกันเมื่อ 20 ปีก่อน ทั้งสองถึงแอบคบกันลับ ๆ ตลอดมา จนวันหนึ่ง จำปี พี่ของจำปาซึ่งแอบรักบุญหลาย เห็นจำปากับบุญหลายคุยกัน จึงไม่พอใจ จึงนำความไปบอกพ่อแม่
พ่อแม่แค้นใจมาก จึงจับจำปาบวชชี เวลาผ่านไปหลายเดือน จำปาก็แอบหนีจากการเป็นชี หนีไปอีกหมู่บ้านหนึ่งกับบุญหลาย เมื่อจำปีทราบว่า จำปาหนีไปกับบุญหลาย จำปีก็ไปบอกพ่อแม่ของบุญหลาย ฝ่ายแม่ของบุญหลายก็ตรอมใจตาย ส่วนพ่อบุญหลายไม่เชื่อเลย จับจำปีขังไว้ที่บ้านของตน แล้วไปของพ่อแม่ของจำปา ว่าให้หาบุญหลายมาคืนแล้วจะเอาจำปีคืนให้ ทั้งสองจึงแสร้งมาเล่าความจริงว่าไม่ได้เอาไป มาพร้อมกับข้าวห่อหนึ่งใส่ยาพิษมาให้พ่อบุญหลายกิน พ่อบุญหลายก็กินแล้วตายไป พ่อแม่จำปีก็พาจำปีกลับบ้าน แต่ยังไม่ถึง โจรก็มาปล้นกลางทางแล้วฆ่าทั้ง 3 ทิ้งเสีย
ส่วนจำปากับบุญหลาย ครองรักกันไม่นานก็มีลูกแล้วแท้ง จำปาเลยเป็นบ้าบอสติไม่เต็ม วันหนึ่งเห็นมีดในครัว จึงถือมาฟันหัวบุญหลายตาย
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องขี้เหล้าเล่นหม้อ
นิทานพื้นบ้านหนองฮังกา (ปัจจุบันขึ้นกับบ้านแสงอินทร์) ต.กระเบื้อง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์
นานมาแล้วมีเศรษฐีผู้ใจบุญท่านหนึ่ง แกชอบทำบุญเป็นชีวิตจิตใจ ขอให้ได้ทำบุญแก่จะทำทุกอย่าง คนอีสานพูดไว้ว่า ?แฮงให้ แฮงรวย แฮงให้ แฮงได้หลาย? คือ ได้เยอะเพราะคนตอบแทนกับการให้ของเรา รวมคือรวยน้ำใจไปไหนคนรักคนอารีย์กับไมตรีจิตของเรา ยิ่งให้ก็ยิ่งได้มาก
เศรษฐีผู้ใจบุญมีลูกชายคนเดียว ไม่เอาถ่าน ลูกเมียก็ไม่มี ลูกชายเศรษฐี เอาอย่างเดียวคือ กินเหล้า กินแล้วก็กินอีก กินจนติด เพื่อนฝูงก็มาก เพราะรวย มีเงินเลี้ยงคนอื่น เพื่อต้องการความเป็นเพื่อนแค่นั้นเอง เพื่อนทั้งหลายก็หลอกกินฟรีไปวัน ๆ
หลายปีต่อมา เศรษฐีใจบุญตายลง ลูกชายเศรษฐีเป็นผู้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียว เขาไม่สนใจการบริหาร ไม่รู้จักรักษาทรัพย์ที่พ่อแม่ให้ไว้ ดื่มกินจนเมามาย ไม่นานฐานะความเป็นอยู่ของเขาก็จนลง ไม่มีที่อยู่อาศัย ขอทานเขากินไปวัน ๆ ความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสเริ่มเข้ามาแทนที่ เขาไปหาเพื่อนที่ไหนก็ไม่มีใครให้กิน ความทุกขเวทนามีมากยิ่งขึ้น ด้วยเดชะบุญกุศลของเศรษฐีผู้ใจบุญที่ตายไปแล้ว จึงได้ไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่ในสวรรค์ ด้วยความเป็นห่วงลูก จึงใช้ตาทิพย์มองมายังพื้นโลก เห็นลูกชายของตนได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก หัวอกผู้เป็นพ่อให้สลดหดหู่ยิ่ง ด้วยความเป็นห่วงลูก เทวดาผู้เป็นใหญ่นั้นจึงได้ลงมาหาลูกตน สอนให้ลูกรู้จักทำมาหากิน ให้รู้จักประหยัดเมื่อมีเงิน
ลูกชายเมื่อฟังแล้วก็รับปากว่า จะกลับตัวเป็นคนดี จะเลิกเหล้าเด็ดขาด เขาบอกกับเทวดาผู้เป็นใหญ่ซึ่งเป็นพ่อของเขาว่า เขาจะเริ่มต้นอย่างไร เขาไม่มีทุกรอนอะไร เทวดาผู้เป็นพ่อจึงส่งหม้อดินให้เขาใบหนึ่ง แล้วบอกว่า เจ้าจงรักษาหม้อดินนี้ให้ดี หากเจ้าต้องการเงินทอง เจ้าก็เอามือล้วงเข้าไปหยิบมาใช้ได้ดั่งใจคิด แต่มีข้อแม้ว่าอย่าทำแตก ลูกชายเศรษฐีก็รับคำพ่อ
เช้าของวันรุ่งขึ้น ลูกชายเศรษฐีขี้เหล้า ก็เอามือล้วงดูว่าที่พ่อบอกนั้นจะจริงหรือเปล่า เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก มือเขาสัมผัสกับเงินทองมากมาย เขาอดเหล้าได้เพียงครึ่งวันเท่านั้น ก็ลืมคำพ่อที่สั่งสอนเสียสิ้น เขากลับมาดื่มกินอย่างหนัก วันหนึ่งเขากินเหล้าแล้วก็เดินทางไปหาเพื่อน ระหว่างทาง เขานึกสนุกขึ้นมา จึงได้โยนหม้อขึ้นสูง ๆ แล้วก็วิ่งไปรับ ปากก็พูดว่า "โอะ ๆ โอะ?โอะร่วง" พอรับหม้อได้เขาก็โยนใหม่ แล้วก็วิ่งไปรับ ปากก็พูดว่า "โอะ ๆ โอะ โอะร่วง" เขาทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในระหว่างเดินทาง แล้วก็วิ่งไปรับ ปากก็พูดว่า "โอะ ๆ โอะ โอะร่วง" คราวนี้หม้อในมือเขาเกิดร่วงจริง ๆ หม้อใบนั้นจึงแตก ขี้เหล้าตกใจมาก เขาคิดถึงคำพ่อที่บอกไว้ เขารู้สึกเสียใจในการกระทำของตัวเองมาก เขาไม่มีโอกาสอีกแล้วในชีวิตนี้ เขาไม่ได้ล้วงเงินทองในหม้อเก็บไว้ เพื่อไว้ใช้จ่ายในวันข้างหน้าเลย เขาไม่ได้เก็บเงินไว้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลตนเองเลย เขาไม่มีเงินสำรองอะไรทั้งสิ้น หมดแล้วทุกอย่าง
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วที่บ้านตาดทอง ในฤดูฝนมีการเตรียมปักดำกล้าข้าวทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ ไม่ปรากฏชื่อหลักฐาน ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสาย ตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ
เขาจึงหยุดไถนาเข้าพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้าสายตาเหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูงแดดยิ่งร้อนความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้น
ทันใดนั้นเขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อย ๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนเสาแหรกคาน เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่ จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า
"อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก
ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อย ๆ กูจะกินอิ่มหรือ?"
ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า "ถึงก่องข้าวจะน้อย ก็น้อยต้อนเต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน"
ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใด ๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว กินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่ อนิจจา แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว..
ชายหนุ่มร้อยไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้ากราบ นมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด
สมภารสอนว่า "การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง"
เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ จึงให้ชื่อว่า "ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" จนตราบทุกวันนี้
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องพญาคันคาก
"คันคาก" ในภาษาอีสานที่แปลว่า "คางคก" เรื่อง "พญาคันคาก" อันเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นบุญเดือนหกในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสาน
ณ เมืองชมพู พระนางสีดา มเหสีของพญาเอกราชผู้ครองเมือง ได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก ซึ่งคันคาก แปลว่าคางคก
เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทพร้อมทั้งประทานนางอุดรกุรุทวีป ผู้เป็นเนื้อคู่ให้เป็นชายา ส่วนท้าวคันคากเอง ก็ถอดรูปกายคันคากออกให้ กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม
พญาเอกราชยินดีกับพระโอรส จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองเมืองต่อ ทรงพระนามว่า พญาคันคาก พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างมาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือพญาแถน ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้พญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถน จึงแกล้งงดสั่งพญานาคให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองจึงไปร้องขอพญาคันคากให้ช่วย
พญาคันคากจึงเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย ได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน โดยส่งมดปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ พญาแถนไม่มีอาวุธ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา กลบหมด เสกงูมากัดกินกบเขียด ก็โดนรุ้ง (แปลว่าเหยี่ยว) ของพญาคันคากจับกิน ทั้งสัตว์มีพิษก็ยังไปกัดต่อยพญาแถนจนต้องยอมแพ้ในที่สุด
พญาคันคากจึงเริ่มเจรจาต่อพญาแถน ขอให้เมตตาชาวเมือง ประทานฝนตามฤดูกาลทุกปี พญาแถนแสร้งว่าลืม พญาคันคากจึงทูลเสนอว่าจะให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟขึ้นมาเตือน พญาแถนก็เห็นชอบด้วย
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุก ๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบเขียดคางคกที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องยายหมาขาว
นิทานเรื่องยายหมาขาว เป็นนิทานสอนใจเยาวชนชาวอีสานมาช้านาน หมอลำหมู่นิยมเอามาแสดงเสมอ ในตอนจบเรื่องก็จะมีคำกลอนสอนใจให้ทุกคนกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่เฉพาะเป็นคนแม้เป็นสัตว์ที่ทำคุณให้กับตนยังต้องรู้จักบุญคุณด้วย
ยังมีสองผัวเมียอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจันทคาม ซึ่งฝ่ายเป็นเมียนั้นได้ท้องแก่จวนคลอดแล้วในตอนนั้นเกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก สองผัวเมียจึงอพยพหนีจากหมู่บ้านมาอยู่กลางป่า ต่อมาเมียคลอดลูกแล้วก็ตาย ผัวเห็นก็ตรอมใจตายตามด้วย ปล่อยให้เด็กทารกเกิดใหม่ร้องไห้อยู่ในป่าอย่างนั้น
ต่อมายังมีหมาขาวตัวหนึ่งเป็นตัวเมียออกมาหากิน มาเห็นเด็กทั้งสองก็เกิดสงสาร จึงเอาไปเลี้ยงเป็นลูก ให้กินนมของตัวและหาอาหารเลี้ยงมาจนเติบโตเป็นสาวสวย ทุกวันนางหมาขาวตัวนี้จะพาลูกสาวทั้งสองออกไปหากินในป่า
ในวันหนึ่งเกิดพายุพัดให้นางหมาขาวต้องพลัดพรากจากลูกไป ลูกสาวทั้งสองก็โดนลมพัดไปถึงเขตบ้านนายพราน เมื่อนายพรานเห็นหญิงสาวทั้งสองงดงามมาก อยากได้รางวัลจึงนำหญิงสาว ทั้งสองขึ้นถวายแก่พระราชาซึ่งยังโสด พระราชามีพระอนุชาซึ่งยังโสดเหมือนกัน ฝ่ายพระราชาก็ได้ผู้พี่เป็นมเหสี ฝ่ายอนุชาก็รับผู้น้องเป็นชายา
กล่าวถึงนางหมาขาว เมื่อพลัดพรากจากลูกแล้ว นางก็ติดตามหาลูก จนได้ยินข่าวว่านายพรานเป็นผู้อุปการะจึงมาหานายพรานเพื่อถามหาลูกสาว เมื่อนายพรานรู้ก็บอกความจริง นางหมาขาวจึงขอร้องให้นายพรานพาไปหาลูกสาวที่ในวัง เมื่อพามาถึงพระราชวัง นายพรานก็ทูลพระราชาตามความจริง แต่พระมเหสีนั้นอับอายขายหน้าเกรงว่าคนจะรู้ว่าตนเป็นลูกของหมาขาว จึงทูลเท็จต่อพระสวามีไปว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งขับไล่นายพรานและหมาขาวตัวนั้นไป แต่นางหมาขาวไม่ยอมไป นางจึงเอาน้ำร้อนเทสาดใส่กลางหลังนางหมาขาว นางหมาขาวถูกน้ำร้อนลงกลางหลังทำให้นางบาดเจ็บสาหัส นางก็ซัดเซพเนจรไปล้มลงที่วังของลูกสาวคนเล็ก เมื่อลูกสาวคนเล็กมาพบมารดา ก็จำได้ จึงอุ้มมารดามาเพื่อจะรักษา แต่นางทนพิษบาดแผลไม่ไหวจึงสิ้นใจตาย ก่อนตายนางบอกว่าห้ามเผาหรือฝัง ให้เก็บกระดูกไว้บูชาในวัง ลูกสาวก็ทำตาม
จากนั้นไม่นานก็เกิดเป็นทองคำ ข่าวนั้นเลื่องลือไปถึงผู้พี่สาว พี่สาวก็มาขอส่วนแบ่งทองคำ แต่น้องไม่ยินยอมให้จึงเกิดโต้เถียงกัน จนดังขึ้นไปถึงหูพระราชา พระราชาจึงได้เรียกทั้งสองเข้ามาถามความจริง ในที่สุดเรื่องจริงก็ปรากฏ พระราชาก็โกรธที่พระมเหสีของพระองค์นั้นทูลเท็จและอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ จึงตัดสินให้ประหารชีวิตเสีย...
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องกำพร้าผีน้อย
(ท้าวกำพร้าผีน้อย)
ที่เมืองแห่งหนึ่งมีเด็กน้อยคนหนึ่งกำพร้าพ่อและแม่ ได้เที่ยวขอทานเขากินจนโตเป็นหนุ่มแล้ว จึงออกจากเมืองมาทำนาทำไร่ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อข้าวพืชงอกงามขึ้น ได้มีสัตว์ต่าง ๆ มากิน แม้จะไล่อย่างไรก็ไม่ไหว เอาอะไรมาทำเครื่องดักก็ยังขาดหมด จึงไปขอเอาสายไหม จากย่าจำสวน (คนสวนของพระราชา) มาทำจึงจับได้ช้าง ช้างเมื่อถูกจับได้กลัวตาย จึงร้องขอชีวิตและบอกว่าจะให้ของวิเศษถอดงาข้างหนึ่งให้
ท้าวกำพร้าผีน้อย จึงปล่อยไปแล้วเอางาช้างมาไว้ที่บ้าน ต่อมาท้าวกำพร้าดักได้เสือ เสือก็ยอมเป็นลูกน้อง โดยบอกว่าถ้ามีเรื่องเดือดร้อนจะมาช่วย ต่อมาจับได้อีเห็น อีเห็นก็ยอมเป็นลูกน้อง เช่นเดียวกันกับเสือ ต่อมาจับพญาฮุ้ง (นกอินทรีย์) พญาฮุ้งก็ยอมเป็นลูกน้อง และตัวสุดท้ายจับได้คือ ผีน้อยที่มาขโมยกินปลาที่ไซ ผีน้อยก็โดนจับได้ และผีน้อย ก็ยอมเป็นลูกน้อง
ขณะที่ท้าวกำพร้าได้เอางาช้างมาไว้ที่บ้าน ในงาช้างนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อสีดอาศัยอยู่ นางได้ออกมาทำอาหารไว้รอท้าวกำพร้า ต่อมาท้าวกำพร้าจับนางได้จึงทุบงาช้างนั้น เพื่อจะไม่ให้นางหลบเข้าไปอยู่อีก นางจึงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่นั้นมา ความสวยงามของสีดา ได้ยินไปถึงพระราชา เมื่อพระราชาเห็นแล้วก็รักใคร่ จึงจะยึดเอาแต่ก็กลัวคนจะติเตียน จึงท้าท้าวกำพร้า พนันขันแข่งต่าง ๆ โดยถ้าท้าวกำพร้าแพ้จะยึดนางสีดามา ถ้าพระองค์แพ้จะยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง
การแข่งขันนั้นคือ ชนวัว , ชนไก่ , แข่งเรือ แต่ปรากฏว่าท้าวกำพร้าชนะทุกครั้ง เพราะในการชนวัวนั้น เสือแปลงเป็นวัวมาช่วยท้าวกำพร้า ชนไก่นั้นอีเห็นแปลงเป็นไก่มาช่วย กัดไก่ของพระราชาตาย ในการแข่งขันเรือนั้น พญาฮุ้งมาเป็นเรือและได้ทำให้เรือพระราชาล่มแล้วกินคนหมดทั้งเมือง
เมื่อพระราชาตายแล้วได้รวมหัวกับบ่างลั่วตัวหนึ่ง โดยให้บ่างลั่วร้องเรียกวิญญาณของนางสีดามา โดยร้องครั้งแรกนางก็ไม่สบาย ครั้งที่สองสลบไป ครั้งที่สามจึงตามวิญญาณของนาง จึงมาอยู่กับพวกผีพระราชา ส่วนท้าวกำพร้าปรึกษากับผีน้อย ผีน้อยบอกว่าอย่าเพิ่งเผา จะตามไปดูวิญญาณของนางอยู่ที่ใด
เมื่อผีน้อยตามจึงรู้เรื่องทั้งหมด ได้วางแผนจับบ่างลั่วตัวนั้น เข้าไปตีสนิทกับบ่างลั่วแล้ว สานข้อง (ที่ใส่ปลา) ครั้งแรกสานด้วยไม้ไผ่ แล้วให้บ่างลั่วเข้าไปข้างใน แล้วให้ยันดู ปรากฏว่าข้องแตก จึงสานด้วยลวด แล้วบอกให้บ่างลั่วเข้าไปดูแล้วบอกให้ยันดู ปรากฏว่าข้องไม่แตกจึงรีบหาฝามาปิด แล้วรีบเอามาให้ท้าวกำพร้า บังคับให้บ่างลั่วร้องเรียกเอาวิญญาณนางสีดากลับคืนมาไม่เช่นนั้นจะฆ่าเสีย บ่างลั่วจึงร้องเรียกเอาวิญญาณนางกลับมา โดยร้องครั้งแรกก็เคลื่อนไหว ครั้งที่สองฟื้นขึ้น ครั้งที่สามหายเป็นปกติทุกอย่าง พอทุกอย่างปกติแล้ว ท้าวกำพร้าจึงหลอกว่าขอดูไอ้ที่ร้องเอาวิญญาณคนได้ไหม บ่างลั่วจึงแลบลิ้นออกมาให้ดู ท้าวกำพร้าจึงตัดลิ้นบ่างลั่วนั้นเสีย เพราะกลัวมันจะร้องเอาวิญญาณไปอีก บ่างลั่วจึงร้องไม่ชัดตั้งแต่นั้นมา ส่วนท้าวกำพร้ากับนางสีดา ได้ปกครองเมืองแทนพระราชาที่ตายนั้น
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องปู่ตั๋วหลาน
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ขณะที่กุดจี่สองตัวผัวเมียกำลังช่วยกันกลิ้งเบ้า (ลูกดินกลม ๆ ที่ห่อหุ้มไข่กุดจี่) ไปตามทางผ่านหน้าหมาตัวหนึ่ง หมาสงสัยก็ถามว่าจะพากันไปไหน กุดจี่ตอบว่า จะไปเมืองลังกา (กรุงลงกา ในเรื่องรามเกียรติ์)
หมาก็ยิ่งสงสัยว่าไปทำอะไรหรือ กุดจี่ตอบว่า ได้ข่าวว่าเมืองลงกาถูกหนุมานเผาเมืองไหม้วอดวายหมด รวมทั้งครกที่ตำอาหารก็ไหม้ จะเอาเบ้าไปทำครกถวายพระเจ้าเมืองลังกา
หมายิ่งงงและถามไปอีกอย่างดูถูกดูแคลน ว่าจะไปถึงเหรอ? แล้วเบ้าแค่นี้จะทำครกได้อย่างไรกัน กุดจี่ตอบทันควันว่า นี่กะว่า จะไปให้ทันกินข้าวเช้า แล้วก้อนดินนี้จะปาดออกให้เป็นครก 3 ใบ ก็ได้
หมาได้ฟังก็ แปลกใจอย่างสุด ๆ ตั้งแต่นั้นมาหมาไม่กินกุดจี่เลย โดยถือว่ากุดจี่มีความสามารถมากกว่าตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหมาทุกตัวจะเมินไม่ยอมกินกุดจี่ ไม่ว่าจะตัวสด หรือ คั่ว ทอดจนสุกแล้วก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจริง ๆ แล้วจะเป็นเพราะหมาไม่ถูกกับกลิ่นขี้ควายหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน : เรื่องกุดนางใย
กุดนางใย เป็นชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญของเมืองมหาสารคาม มาตั้งแต่สมัยพระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืององค์แรก ซึ่งมาตั้งเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2408 ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคควบคู่กับแหล่งน้ำในหนองท่ม (กระทุ่ม) ที่เรียกว่ากุดเพราะเป็นที่สิ้นสุดของสายน้ำหรือเรียกว่าแม่น้ำด้วน ปัจจุบัน ตื้นเขินมากคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ใกล้กับกุดนางใยเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาสารคาม และริมกุดนางใย มีร่องรอยของวัตถุโบราณ สันนิษฐานว่าพระเจริญราชเดชสร้างไว้เมื่อครั้งตั้งเมือง ได้แก่เสาหงส์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิทักษ์เมือง
จากนิทานพื้นบ้านกล่าวว่า ครั้งโบราณที่บริเวณแหล่งน้ำนี้มีครอบครัวหนึ่งตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ มีแม่และลูกชาย ภายหลังได้ลูกสะใภ้มาอยู่ร่วมกัน มาวันหนึ่งลูกชายไปค้าขายทางไกล แม่และลูกสะใภ้อยู่ บ้านเพียง 2 คน คืนหนึ่งแม่ผัวสังเกตเห็นว่าที่ห้องนอนของ ลูกสะใภ้จุดตะเกียงตลอดคืน ซึ่งเป็นการผิดธรรมเนียมโบราณ กล่าวคือเมื่อเข้านอนต้อง ดับตะเกียง คืนหนึ่งแม่ผัวสงสัยจึงไปแอบดูว่าลูกสะใภ้ทำอะไรอยู่ในห้อง และเห็นว่า ลูกสะใภ้กำลังสาวใยไหม ออกจากปากตัวเองมาม้วนเข้าฝัก จึงเกิดความหวาดกลัวนึกว่า สะใภ้เป็นภูตผีปีศาจ จึงนำความไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟัง
คืนต่อมาแม่ผัวและเพื่อนบ้านจึงมาแอบดูเพื่อจับผิดลูกสะใภ้ ในที่สุดได้จู่โจมเข้าไปในห้องขณะที่ลูกสะใภ้กำลังสาวไหมออกจากปาก จึงซักถามว่าเป็นใครมา จากไหน เป็น ภูติ ผี ปีศาจ หรือเปล่า ทำให้ลูกสะใภ้อับอาย จึงหนีออกจากบ้านและโดดลงในลำน้ำนั้นหายไป เมื่อลูกชายกลับมาและรู้ความจริงว่าภรรยาโดดน้ำตาย ณ ที่แห่งนั้นจึงได้แต่ เศร้าโศกเสียใจ
เมื่อถึงคืน เดือนหงายจะไปนั่งริมลำน้ำแห่งนี้ และจ้องมองลงไปในสายน้ำ นาน ๆ เข้าก็มองเห็นภรรยาในสายน้ำนั้น และสาวใยไหมออกจากปาก ต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่ากุดนางใย (ใยหมายถึงใยไหม)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org , dek9.com , esanclick.com , gotoknow.org , pinyasakonsorn.igetweb.co
ขอขอบคุณข้อมูลจาก K@pook highlight https://hilight.kapook.com/view/81805
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/para_norkhai/?transaction=post_view.php&cat_main=3&id_main=167&star=0
ท้าวคัชนาม(คันธนาม) นิทานพื้นบ้าน
วรรณกรรมเรื่องท้าวคัชนาม จัดเป็นวรรณกรรมเด่นอีกเรื่องหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กวีผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะบันทึกเรื่องราวให้เป็นชาดก โดยเชื่อกันว่าเรื่องท้าวคัชนามเป็นเรื่องชาดก แต่ความจริงแล้วไม่ปรากฏอยู่ในนิบาตชาดก
ฉะนั้นเรื่องท้าวคัชนามนี้จึงจัดเป็นชาดกนอกนิบาต กล่าวคือ ตอนเปิดเรื่องได้เล่าถึงความเป็นมาเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น “คันธนโพธิสัตว์” ส่วนของเนื้อเรื่องในแต่ละตอนกวีได้สอดแทรกหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในรูปของปริศนาธรรมที่ลุ่มลึก เพื่อชี้ให้เห็นถึงบาป บุญ คุณโทษ โลภะ ตัณหา รวมทั้งบุพกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเชื่อของชาวอีสานในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ทั้งชาตินี้และชาติหน้าว่าเป็นผลบุญผลกรรมที่ได้กระทำไว้เพื่อได้ไปเกิดในภพใหม่ที่ดีกว่า นั่นคือ โลกของพระศรีอาริย์ ตอนจบเรื่องได้แจกแจงตัวละครว่า ผู้ที่สร้างกุศลผลบุญทำทานด้วยใบลานและเขียน (จาร) ใบลาน จะเป็นผู้มีปัญญาจะได้ถึงสุขทั้งโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ และนิพพาน
โย ปุคคฺโล อันว่าบุคคลผู้ใดแลมาได้ให้ใบลานเป็นทานแก่บุคคลผู้สร้าง ผู้เขียนยังหนังสือธรรมคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าแท้ดังนั้น
โส อันว่าบุคคลผุ้นั้นก็จักได้เถิงสุข 3 ประการแล สุขในเมืองคนก็จักได้เป็นพระยาจักรวัตติราช ได้เป็นอาชญ์กว่าทีปชมพูแท้แล คันว่าสุขในชั้นฟ้าก็จักได้เป็นพระยาอินทร์กินสองชั้นฟ้า ก็มีแล สุขในนิรพานเป็นที่แล้ว บรบวรณ์ควรที่ปัญญาอันได้ให้ยังใบลานเป็นทานแก่เจ้าภิกษุแลสามเณร แล้วให้ทาน สร้างเขียนเอาตามใจมักแท้ดังนั้น ส่วนอันว่าเจ้าทิพย์ปัญญาผู้นั้นก็หากจักได้เอาผละบุญมากนัก แท้ดังนั้น ส่วนอันว่าเจ้าทิพย์ปัญญาผุ้นั้นก็หากจักได้ผละบุญมากนัก แท้ดีหลีแล
เรื่องท้าวคัชนามนี้ ชาวอีสานนำมาเป็นนิทานอธิบายเชื่อบ้านนามเมืองอีกเรื่องหนึ่ง โดยอธิบายที่มาของชื่อภูเขาสำคัญชื่อสถานที่ในภาคอีสาน เนื้อเรื่องท้าวคัชนามเป็นเรื่องขนาดยาวหลายตอนจบ และบางตอนก็คล้ายกับเรื่อง “อ้ายเจ็ดทะนง” ของภาคกลาง และเรื่อง “อ้ายตะเลิ้กเคิ่ก” ของภาคเหนือ และเรื่อง “อ้ายเจ็ดจา” ของภาคใต้ มีเรื่องย่อดังนี้
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่เฒ่ายากจน อาศัยอยู่ที่เมืองศรีสาเกตุเพียงผู้เดียว ไร้ญาติที่พึ่งพา ชาวบ้านสงสารจึงแบ่งที่ดินให้ทำนา แม่เฒ่าก็ทำนาพอเลี้ยงชีพ
แต่ครั้งหนึ่งแม่เฒ่าไปดูข้าวที่ปลูกไว้พบว่า มีรอยเท้าช้างเหยียบย่ำข้าวในนาเสียหาย นางจึงติดตามรอยเท้าช้าง นางรู้สึกกระหายน้ำอย่างยิ่ง เห็นแต่มีน้ำอยู่ในรอยเท้าช้าง แม่เฒ่าจึงดื่ม ครั้นดื่มน้ำในรอยเท้าช้างแล้วรู้สึกมีกำลังเหมือนสาวๆ น้ำในรอยเท้าช้างนั้นเป็นน้ำปัสสาวะของช้างจำแลง ซึ่งพระอินทร์จำแลงมาเพื่อที่จะช่วยเหลือให้เทพบุตรมาเกิดในครรภ์ของนาง
ฉะนั้นเมื่อนางกลับบ้านก็ตั้งครรภ์ ประมาณสิบเดือนคลอด บุตรชาย มีรูปร่างแข็งแรง มีดาบศรีคันชัย(ศรีขรรค์ชัย) มาด้วย คัชนามช่วยเหลือแม่เฒ่าทำงานตั้งแต่เล็กๆ
วันหนึ่ง คัชนามถามถึงบิดา แม่เฒ่าก็เล่าให้ฟังและพาไปป่าเพื่อดูรอยเท้าช้างที่แม่เฒ่าดื่มน้ำ ขณะนั้นได้พบยักษ์ ยักษ์เข้าทำร้ายแม่เฒ่า คัชนามจึงต่อสู้กับยักษ์ใช้ดาบศรีคันชัยสู้กับยักษ์ ยักษ์ยอมแพ้จึงมอบน้ำเต้าวิเศษให้และบอกแหล่งช่อนขุมทอง ทั้งสองแม่ลูกไปค้นหาแหล่งขุมทองพบทองคำจำนวนมากจึงทำให้สองแม่ลูกมีฐานะดีขึ้นและแบ่งทองคำให้เพื่อนบ้านทุกคน
เมื่อท้าวคัชนามอายุ 16 ปี ข่าวเล่าลือเป็นคนมีกำลังมาก สามารถปราบยักษ์ได้ล่วงรู้ไปถึงพระยาศรีสาเกตฯ จึงเรียกเข้าเฝ้า สั่งให้ทดลองกำลังถอนต้นตาล 2 ต้น ที่ขวางทางเสด็จ ท้าวคชนามก็ถอนได้ แล้วเหาะไปในอากาศกวัดแกว่งต้นตาลด้วยกำลัง พระยาศรีสาเกต จึงแต่งตั้งให้เป็นอุปราชและสร้างปราสาทให้ประทับ ท้าวคัชนามก็พาแม่เฒ่ามาอยู่ด้วย และใช้น้ำเต้าวิเศษรดบนร่างกายแม่เฒ่า แม่เฒ่าก็กลับร่างเป็นสาวรุ่น
วันหนึ่ง ท้าวคัชนามก็ลาแม่ติดตามบิดา ท้าวคัชนามเดินตามรอยเท้าช้างไปยังเมืองอินทปัตถา ระหว่างทางไปพบชายร้อยเล่มเกวียนที่กำลังลากเกวียน 500 เล่มด้วยตัวคนเดียว ท้าวคัชนามจึงประลองกำลังโดยไปดึงเกวียนเล่มท้าย ชายร้อยเล่มเกวียนลากเกวียนไม่ไหวจึงหันมาดูข้างหลังพบท้าวคัชนาม จึงต่อสู้กัน ชายร้อยเล่มเกวียนสู้ไม่ได้จึงขอเป็นทาสติดตามไปด้วย ต่อมาพบชายไม้ร้อยกอกำลังลากไม้ร้อยกอ ท้าวคัชนามก็ประลองกำลังจับไม้ที่กำลังถูกลาก ชายไม้ร้อยกอโกรธจึงต่อสู้กัน ท้าวคัชนามชนะชายไม้ร้อยกอจึงยอมเป็นทาสติดตามไปด้วย ทั้งสามก็เดินทางไปตามหาบิดาท้าวคัชนาม
ทั้งสามเดินทางไปถึงป่าหิมพานต์จึงหยุดพักด้วยความหนื่อยและหิวอาหาร พอดีเห็นตัวจีนายโม้ (แมลงคล้ายจิ้งหรีด) กำลังขุดขุยดินกระเด็นข้ามแม่น้ำโขงไปตกใกล้เมืองเวียงจันทน์ ยังเห็นกลายเป็นก้อนหินจำนวนมากกองอยู่ ปัจจุบันเป็นค่ายทหารลาวเรียกว่า “ค่ายจีนายโม้” เพราะมีหินซึ่งหลายมาจากขี้ขุยดินที่ตัวจิ้งหรีดยักษ์ขุดกระเด็นมาตกไว้
เมื่อครั้งนั้น ท้าวคัชนามจึงให้ชายทั้งสองไปจับจิ้งหรีดยักษ์มากิน แต่ชายทั้งสองมีกำลังสู้จิ้งหรีดยักษ์ไม่ได้ ถูกดีดสลบกระเด็นไปไกล ท้าวคัชนามจึงลงไปในรูจับได้ขาข้างหนึ่ง ตัวจิ้งหรีดยักษ์พยายามดีดจนขาหลุดมาข้างหนึ่ง เมื่อท้าวคัชนามได้ขาจิ้งหรีดยักษ์ จึงหาเพื่อนทั้งสองเห็นสลบอยู่ไม่ไกลนัก ท้าวคัชนามเอาน้ำในลูกน้ำเต้ารดลงที่ร่างชายทั้งสองก็ฟื้นขึ้นมา ท้าวคัชนามจึงให้ไปขอไฟที่กระท่อมที่อยู่ไม่ไกลนัก เมื่อชายไม้ร้อยกอไปก็พบยักษ์ถูกยักษ์จับหักขาขังไว้ที่สุ่มเหล็ก ครั้นให้ชายร้อยเล่มเกวียนไปตามก็ถูกยักษ์จับหักขาเช่นเดียวกัน ท้าวคัชนามคอยอยู่นานจึงติดตามไปดูเห็นเพื่อนผู้มีกำลังถูกจับขังอยู่ในสุ่มเหล็ก รู้ว่ายักษ์ตนนี้มีฤทธิ์มากจึงใช้ดาบศรีคันชัย ยักษ์สู้ไม่ได้ร้องขอชีวิตไว้ ยักษ์ให้ไม้ท้าววิเศษ “กกชี้ตาย ปลายชี้เป็น” และพิณวิเศษแก่ท้าวคัชนาม ท้าวคัชนามได้ใช้น้ำในลูกน้ำเต้ารดเพื่อนทั้งสอง ทั้งสองก็หายจากขาหัก ทั้งสองจึงย่างขาจิ้งหรีดยักษ์กินเป็นอาหารจนอิ่ม แล้วจึงเดินทางต่อไป
ทั้งสามเดินทางเข้าเมืองขวางทะบุรี พบว่าเป็นเมืองร้างไม่มีผู้คนอยู่เลย พอถึงกลางเมืองพบกลองใบใหญ่ใบหนึ่ง จึงตีกลองเพื่อเรียกให้ผู้คนออกมาพบ ครั้นตีกลองก็ได้ยินเสียงผู้หญิงร้อง จึงใช้มีดกรีดหน้ากลอง พบหญิงสาว จึงช่วยออกมาแล้วถามความเป็นไป
นางเล่าว่า นางชื่อ “กองสี” เป็นธิดาเจ้าเมือง เจ้าเมืองนำตนมาช่อนไว้ให้พ้นจากงูซวง (งูผีของพระยาแถน) ส่วนเจ้าเมืองและไพร่พลถูกงูซวงของพระยาแถนกินหมดแล้ว เนื่องจากเจ้าเมืองและชาวเมืองประพฤติตนไม่อยู่ในจารีต เจ้าเมืองไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม และชาวเมืองยิงนกตกปลา ฆ่าสัตว์ ทำบาป พระยาแถนจึงปล่อยงูซวงออกมากินคนจนหมดเมือง นางบอกว่าถ้าหากก่อไฟงูซวงเห็นแสงไฟก็จะลงมาอีก ท้าวคัชนามจึงก่อกองไฟใหญ่ให้แสงส่องถึงเมืองพระยาแถน ครั้นงูซวงลงมาจำนวนมากก็ถูกท้าวคัชนามและสหายช่วยกันฆ่าตายหมด ท้าวคัชนามจึงช่วยชีวิตชาวเมือง ขวางทะบุรี โดยใช้ไม้เท้ากกชี้ตายปลายชี้เป็น ชี้ไปยังกระดูกคน ผู้คนชาวเมืองก็ฟื้นคืนชีพทุกคน ส่วนกระดูกงูนั้นไหลตามน้ำไป เมื่อฝนตกใหญ่พัดพาไปติดที่ดักปลาของยักษ์ซึ่งนำก้อนหินใหญ่ๆ มาทำลี่ดักปลายอยู่กลางน้ำโขง เมื่อกระดูกงูลอยมาติดจำนวนมากจึงเรียกว่า “แก่งลี่ผี” และเพี้ยนเสียงเป็น “แก่หลี่ผี” ส่วนกองไฟที่ท้าวคัชนามก่อนั้นเมื่อถูกฝนตกใหญ่จึงดับ กลายเป็นภูเขาเรียกว่า “ดงพระยาไฟ” แล้วเปลี่ยนเป็น “ดงพระยาเย็น” ภายหลัง เมื่อเจ้าเมืองขวางทะบุรีฟื้นแล้วก็ดีพระทัย จึงยกเมืองให้ท้าวคัชนามพร้อมทั้งนางกองสี ท้าวคัชนามให้ชายร้อยกอเป็นอุปราช และชายร้อยเล่มเกวียนเป็นแสนเมือง
อยู่ไม่นานท้าวคัชนามก็ต้องเดินทางติดตามบิดาของตนต่อไป โดยฝากเมืองให้เพื่อนทั้งสองดูแล ท้าวคัชนามไปอยู่กับแม่เฒ่าที่เมืองจำปานคร ได้นางสีไวธิดาเศรษฐีเป็นภรรยา มีบุตรคนหนึ่งชื่อ “คัชเนก” วันหนึ่งพระยาจำปาเสด็จประพาสป่าพบยักษ์ ยักษ์จับพระยาจำปาได้ พระยาจำปาขอชีวิต ยักษ์จึงแลกเปลี่ยนให้หามนุษย์ให้ยักษ์กินวันละคน พระยาจำปารับคำแล้วเสด็จกลับเมือง พระยาจำปาก็ทำตามสัญญาโดยสั่งให้นำนักโทษไปไว้ที่หอผีกลางเมืองตามที่ยักษ์สั่งไว้ ครั้นเมื่อหมดนักโทษพระยาจำปาคิดว่าคงไม่สิ้นเวรกรรม หากนำคนที่ไม่ผิดไปให้ยักษ์กิน จึงคิดว่าตนเองควรจะไปเป็นอาหารยักษ์เสีย จะได้สิ้นเวรสิ้นกรรม ข่าวรู้ถึงนางสีดาธิดาคนเดียวของพระยาจำปา นางจึงอาสาพระบิดาไปเป็นอาหารยักษ์แทน พระบิดาจำใจต้องยินยอมนาง เพราะนางมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้ว นางขอเบิกเงินในท้องพระคลังทำบุญและแจกทานแก่ไพร่ฟ้าประชาชนก่อนที่จะอาสาไปเป็นอาหารยักษ์ ชาวเมืองทราบข่าวต่างอาลัยพระธิดาร่ำไห้กันทั้งเมือง ท้าวคัชนามเห็นประชาชนเมืองจำปาร่ำไห้จึงถามแม่เฒ่า แม่เฒ่าจึงเล่าเรื่องให้ฟัง พอตกดึกท้าวคัชนามจึงเหาะไปที่หอผีกลางเมืองเปิดประตูเข้าหานางสีดา นางสีดาคิดว่าเป็นยักษ์ ท้าวคัชนามจึงแสดงตนทันที แล้วกล่าววาจาปลอบนางไม่ต้องกลัวยักษ์ ครั้นเมื่อยักษ์มาถึงท้าวคัชนามฆ่ายักษ์ตาย แล้วนำซากไปทิ้งไว้ที่หนองน้ำ ท้าวคัชนามกลับมาหานางสีดาที่หอผี นางขอร้องให้พานางไปส่งตำหนัก ท้าวคัชนามกล่าวว่าไม่บังควร ผู้คนจะนินทาว่านางทำมายาคบชู้ ท้าวคัชนามจึงลานางกลับด้วยความอาลัย ท้าวคัชนามจึงตัดผ้าแสนคำให้นางสีดาดูต่างหน้า ส่วนางสีดาให้แหวน ทั้งสองก็ลาจากกัน
ครั้นรุ่งเช้าชายหาหญ้าไปพบซากยักษ์ที่หนองน้ำ ก็ร้องประกาศว่ายักษ์ตายแล้ว พระยาจำปาจึงให้ไปรับนางสีดากลับวัง นางสีดาเล่าเรื่องชายผู้มีอิทธิฤทธิ์ให้ฟัง พระยาจำปาจึงให้ประกาศหาชายผู้มีฤทธิ์ สั่งทหารไปเกณฑ์ชายหนุ่มให้นำผ้ามาต่อชายกับผ้าที่ระลึกของนางสีดา มีผู้อาสามากมาย แต่ก็ไม่มีใครมีผ้าเป็นผืนเดียวกัน ทหารจึงทูลว่ามีชายหนุ่มที่อาศัยอยู่กับแม่เฒ่าในสวนไม่ยอมมา พระยาจำปาให้ทหารไปตามถึงสามครั้ง ครั้งหลังพระยาจำปาจะฆ่าทหารถ้านำตัวมาไม่ได้ ท้าวคัชนามเห็นดังนั้นจึงมาที่ท้องพระโรง และนำผ้าแสนคำมาต่อกับผ้าของนางสีดา
พระยาจำปาเห็นเช่นนั้นก็ดีพระทัย ที่เห็นท้าวคัชนามบุรุษผู้มีฤทธิ์ และมีบุญญาธิการมาช่วยปราบยุคเข็ญ จึงยกพระธิดาให้และให้ครองเมืองจำปาต่อไป พระยาจำปาจัดงานสมโภชการครองเมืองของท้าวคัชนาม ส่วนซากยักษ์นั้นท้าวคัชนามนำไปทิ้งในหนองน้ำเรียนกว่า “หนองแช่” ในปัจจุบัน กระดูกยักษ์ส่วนหนึ่งกลางเป็นนาค 5 ตัว ในแม่น้ำโขง และกระดูกชิ้นเล็กๆ กลายเป็นปลาบึก ปลาเลิม ในเม่น้ำโขงนั่นเอง (ต้นฉบับจบเท่านี้)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/para_norkhai/?transaction=post_view.php&cat_main=3&id_main=167&star=0
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง ท้าวก่ำกาดำ (ท้าวกินรี)
อักษรธรรม ๑ ผูก วัดศรีคุณเมือง บ้านาจาน ต.ระเว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
แต่ก่อนนานมาแล้ว มีผัวเมียที่ยากจนมากครอบครัวหนึ่ง แต่งงานมา ๗ ปี ไม่มีลูกจึงขอลูกจากพระอินทร์ พระอินทร์จึงประทานลูกให้เป็นชาย ก่อนท้องแม่ฝันว่าลูกแก้วสีดำตกเข้าปาก ลูกแก้วลอยหนีไปส่งแสงสว่างไปทั่ว เมื่อตั้งท้องเกิดลูกเป็นชายตัวดำเหมือนกา รูปชั่วตัวดำใครๆ ก็หัวเราะเยาะ แม่ไม่ยอมเลี้ยงเพราะอับอายจึงเอาไปล่องแพทิ้ง เด็กดำลอยไปอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ก็มาถึงหาดทรายแห่งหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นว่าลำบากเลยให้กาดำมาช่วยพาไปไว้เมืองเบ็งจาล กินรีเลยหาผลไม้กินเป็นอาหาร เจ้าของสวนมาพบเข้าจึงเอาไปเลี้ยงไว้
วันหนึ่งกินรีช่วยยายเจ้าของสวนร้อยดอกไม้มาลัยได้สวยงามมาก ยายเอาไปถวายธิดากษัตริย์ชื่อนางลุน นางลุนก็อยากเห็นตัวคนร้อยมาลัย วันหนึ่งกินรีทำอุบายให้ยายพานางมาชมสวน เมื่อได้พบนาง ก็หลงรัก กินรีมีความสามารถในการเป่าแคนได้ไพเราะ จึงเป่าแคนให้ผู้คนฟัง เสียงเล่าลือว่ากินรีเป่าแคนได้ไพเราะไปทั่วเมือง วันหนึ่งกินรีได้ถอดรูปร้ายกลายเป็นคนร่างงามสง่าไปหานางลุนบอกนางว่ามาจากเมืองอินทปัฐ และได้นางเป็นเมีย เจ้าเมืองฝันว่าช้างมาไล่คน กินอ้อยกล้วยของเมือง จึงให้หมอมาทาย กาดำได้เฝ้ากษัตริย์ เพราะชื่อเสียงว่าเป่าแคนเพราะ กลางคืนกินรีไปหานางและได้ขอแหวนและผ้าสไบมาไว้เป็นที่ระลึก กลับมาบ้านให้ยายไปขอให้ เจ้าเมืองเรียกสินสอดเงินแสนชั่ง ทองแสนชั่ง ช้างพันตัว มีคนขับขี่พร้อม คนใช้พันคน สะพานเงิน สะพานทอง จากบ้านยายไปหาพระราชวัง พระอินทร์พระยานาคมาช่วยทำสะพาน หาสินสอดในที่สุดกินรีกับนางลุนก็ได้แต่งงานกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.doesystem.com