ReadyPlanet.com
dot dot




ประเพณีเลี้ยงผีตาแฮก และเลี้ยงผีปู่ตา

 ประเพณีเลี้ยงผีตาแฮก และผีปู่ตา

ตาแฮก เป็นผีหรืออารักษ์ประจำนา เป็นความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในธรรมบท เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ชาวอีสานจะบอกกล่าวและเลี้ยง (เซ่นไหว้) ตาแฮกเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของไร่นา สถานที่ตั้งของตาแฮกมักจะอยู่ริมคันนาผืนใหญ่ที่อยู้ใกล้ต้นไม้ใหญ่หรือจอมปลวก กำหนดพื้นที่กว้างยาวด้านละศอก สำหรับดำข้าวแฮกและทำศาลง่าย ๆ เสาเดียวไว้ที่มุมใดมุมหนึ่ง

ประเพณีแฮกนาไถเอาฤกษ์พิธีผีตาแฮก ปลุกขวัญชาวนา

 ประเพณีแฮกนา ก็คือ การลงถือไถครั้งแรกของชาวนา เป็นประเพณีไทยภาคเหนือและภาคอีสานที่ถือปฏิบัติแต่เดิม ชาวนาจะคำนึงถึงพญานาคให้น้ำในวันปีใหม่สงกรานต์ว่า ปีนี้นาคที่ให้หันหน้าไปทางทิศไหน การเริ่มไถแฮกนาจะไถตั้งหัวนาคไปหาหางนาค จะเว้นจากการไถเสาะเกล็ดนาค คือ ทวนเกล็ดพญานาค 1 และไถค้างท้องนาค 1 หมายถึงการไถที่ตระกายท้องนาค ซึ่งการไถ 2 แบบนี้ไม่เป็นมงคลการไถนั้นจะเริ่มต้นด้วยการ “ผ่าฮิ้ว” คือไถแบ่งตอน แล้วจะไถ “พัดซ้าย” หมายถึง การไถด้านซ้ายให้ก้อนขี้ไถผลักมาทางขวา แล้วต่อไปให้ “พัดขวา” คือ การไถด้านขวา ผลักขี้ไถมาด้านซ้ายและไถเรื่อยไปจนกว่าจะหมดเนื้อที่ในนานั้น

     การแฮกนานั้น ถ้าถือตามประเพณีไทยที่ได้มาจากอินเดียโบราณเกี่ยวกับพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น เป็นพิธีที่นำมาประยุกต์ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ตะวันออก หลายชาติ เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น แต่ประเพณีแรกนาขวัญ ที่ยังปฏิบัติกันอยู่เวลานี้อยู่ในราชสำนักไทยเท่านั้น ซึ่งจะมีพิธีแรกนาขวัญ โดยถือเป็นราชพิธีมีรัฐบาลดำเนินการทุก ๆ ปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นกำลังใจแก่พลเมืองสร้างกำลังขวัญแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

     ประเพณีแฮกนา เป็นประเพณีตามความเชื่อที่มีความหมายเดียวกับแรกนาในภาษาไทยภาคกลาง การแฮกนา เป็นการเริ่มต้นลงมือทำนาโดยมีวัตถุประสงค์ในการบูชาแม่โพสพ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสี่ยงทายไปในตัวด้วย การแฮกนาในภาคเหนือนั้น มีทั้งการแฮกโดยรวมและการแฮกตามขั้นตอนการปลูกข้าว ซึ่งมี แฮกไถ แฮกหว่าน แฮกเกี่ยว และแฮกตี(นวด) พิธีกรรมในการแฮกมีรายละเอียด พอสังเขปดังนี้

    1 แฮกนา โดยรวมจะทำเป็นพิธีที่สำคัญยิ่งพิธีหนึ่ง ระยะเวลาที่นิยมจัดพิธีคือช่วงก่อนจะเริ่มไถนาในฤดูกาลนั้นๆ พ่อนาจะประกอบพิธีอ่านโองการบวงสรวงเทพารักษ์ที่ปกปักรักษาแดนนา พระแม่โพสพและพระแม่ธรณี เสร็จแล้วจะเป็นการเสี่ยงทาย เริ่มจากการสังเกตดูสร้อยสังวาล หากเห็นสร้อยสังวาลมีความยาวทายว่าปีนี้น้ำท่าสมบูรณ์ดี ถ้าเห็นสังวาลสั้นทายว่าน้ำจะน้อย ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงไปหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ใส่ทะนานในบริเวณพิธีมาเสี่ยงทายดูหากจำนวนเมล็ดข้าวเป็นจำนวนคู่ทายว่าข้าวกล้าในนาจะได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าเป็นจำนวนคี่ ทายว่าข้าวกล้าจะไม่ให้ผลดีนัก เสี่ยงทายเสร็จจะนำข้าวเปลือกในพิธีหว่านในปริมณฑลของราชวัตรนั้น จากนั้นนำต๋าแหลวไปปักไว้ตามมุมกระทงนาพร้อมนำต้นดอก “เอื้องหมายนา” ไปปลูกคู่กับต๋าแหลว เพื่อสัญลักษณ์แสดงอาณาเขต หลังจากนั้นจะหาวันที่แรกไถ แรกหว่าน แรกปลูก และแรกกระทำอื่นๆ บนผืนนาจนกว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการ

    2 แฮกไถ การเตรียมการแรกไถ ชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับการหันหัวของพญานาค โดยเชื่อกันว่าในแต่ละช่วงเดือนพญานาคจะหันหัวไปในทิศต่างๆ การแรกไถจะไม่ไถไปในทิศทางกับหัวพญานาค คือต้องไถไปทางทิศที่เป็นหางพญานาคเท่านั้น ดังนั้น ต้องหาทิศทางของนาคด้วย คือจะต้องไม่ไถทวนหรือย้อนเกล็ดพญานาคประจำเดือนดดยเด็จขาด ที่เรียกกันว่า “ไถเสาะเกล็ดนาค” หมายถึงการฝืนหรือต้านอำนาจของพญานาคผู้ดูแลดินและน้ำ และหากไถเสาะเกล็ดนาคเชื่อว่าจะทำให้มีอันเป็นไป เช่น ไถหัก วัวควายที่ใช้ไถตื่นกลัว คนไถได้รับอันตราย ตลอดจนข้าวกล้าเสียหายไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะทำให้การปลุกข้าวในฤดูนั้นประสบปัญหา หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ แก่นาข้าวของตนเอง สำหรับทิศที่พญานาคหันหัวตามการนับเดือนของล้านนาคือ (เดือนทางล้านนาจะเร็วกว่าภาคกลางไป 2 เดือน)เดือน 1-3 พญานาคหันหัวไปทิศใต้เดือน 4-6 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันตกเดือน 7-9 พญานาคหันหัวไปทิศเหนือเดือน 10-12 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันออก การแฮกไถเป็นการใช้ของมีคม คือผาลไถไปวอนไวกรีดลึก บนผืนดินที่พญานาคดูแลอยู่ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติต่อพญานาคอย่างนอบน้อม

   3 แฮกหว่าน ก่อนจะนำเมล็ดข้าวพันธุ์ไปหว่าน จะต้องมีการหาวันที่เหมาะสมกับการหว่านตามตำรา ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ในวันเหล่านี้วันพุธ ถือเป็นวันดีที่สุด รองลงมาคือวันศุกร์ สำหรับการหว่าน ท่านให้หันหน้าไปทิศตะวันตก แล้วหลับตาหว่านสัก 4-5 กำมือ จากนั้นก็ค่อยลืมตาหว่านต่อไป ด้วยถือเคล็ดที่ว่าสัตว์เป็นศัตรูข้าวพืชจะไม่สามารถมองเห็นข้าว กล้าที่หว่านและจะไม่มารบกวน เมื่อหว่านเสร็จจะประกอบพิธี “วางควักธรณี” คือวางกระทงใบตองที่บรรจุ “เข้าปั้นกล้วยหน่อย” (ข้าวเหนียวหนึ่งก้อน กล้วยสุกหนึ่งลูก) เพื่อบอกกล่าวพระแม่ธรณีเป็นการฝากฝีงให้ดูแลต้นกล้า ให้เจริญงอกงามดีไม่มีศัตรูพืชมาเบียดเบียน จากนั้นอาจนำต้นเอื้องหมายนามาปักเพื่อแสดงเครื่องหมายบอกความเป็นเจ้าของ พร้อมปักต๋าแหลว เพื่อป้องกันศัตรูพืชและนอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำเปลือกไข่ มาครอบปลายไม่เรียวที่ปักไว้ โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันศัตรูพืชประเภทเพลี้ยได้ด้วย

   4 แฮกหลก หลังจากเพระกล้าในแปลงระยะหนึ่ง ประมาณ 30-40 วัน ชาวนาจะ “หลกกล้า” คือถอนต้นกล้าไปปลูก ทั้งนี้การถอนก็ต้องตรวจหาวันที่ดีที่สุด ซึ่งตามตำราระบุว่าควรถอนกล้าในวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี

     5 แฮกปลูก ตามความเชื่อดังเดิม สำหรับชาวล้านนาได้ให้ความสำคัญ พิธีกรรมในการแฮกปลูก เริ่มต้นที่การหาวันดี สำหรับการปลูกโดยทั่วไปถือเอาวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ ทั้งนี้จะหลีกเลี่ยงวันที่เรียกว่า “วันถูกปากนก ปากจักแตน” และ “วันผีตามอย” วันถูกปากนก ปากจักแตน มีความหมายถือเป็นวันที่ไม่สมพงศ์กับปากนกและตั๊กแตน ซึ่งเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของสัตรูพืช วันดังกล่าวได้แก่ วันขึ้น 5 6 7 9 12 ค่ำ และแรม 2 6 10 14 ค่ำ ของทุกเดือน ส่วนวันผีตามอย ถือเอาวันขึ้น 1 2 6 7 9 10 11 12 13 14 ค่ำ และแรม 1 2 5 7 8 10 15 ค่ำ เชื่อกันว่าหากแรกปลูกข้าวในวันดังกล่าวผีตามอยจะมาเบียดเบียนให้ต้นกล้าได้รับความเสียหาย ด้านพิธีกรรมในการแฮกปลูก จะประกอบพิธีเซ่นสังเวยเหมือนแฮกนาโดยรวม เพียงแต่ไม้สำหรับเป็นที่แขวนสังวาลที่เรียกกันว่า “คันข้าวแฮก” จะต้องเป็นไม้ที่ขวัญข้าวสถิตย์อยู่ ซึ่งในแต่ละปีขวัญข้าวจะสถิตย์ในต้นไม้ต่างๆ ตามวันสังขานต์ลอง (มหาสงกรานต์) ในแต่ละปี

 ดังนี้สังขานต์ลอง วันอาทิตย์ ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่สังขานต์ลอง วันจันทร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้มะเดือสังขานต์ลอง วันอังคาร ขัญข้าวอยู่ไม้ซางสังขานต์ลอง วันพุธขวัญข้าวอยู่ไม้ข่อยสังขานต์ลอง วันพฤหัสบดี ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวางสังขานต์ลอง วันศุกร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทราสังขานต์ลอง วันเสาร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้รวกเมื่อประกอบพิธีเซ่นสังเวยแล้ว พ่อนาจะปลูกข้าวเอาฤกษ์ก่อน โดยจะเลือกมุมกระทงนาที่เคยหว่านข้าวแฮก ขณะลงมือปลูกจะกล่าวคำโฉลกกำกับลงไป เช่น ปลูกต้นที่ 1 ปลูกหื้องัวแม่ลาย ปลูกต้นที่ 2 ปลูกให้ความยแม่ว้อง ปลูกต้นที่ 3 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นเสียกู ปลูกต้นที่ 4 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นฮ้ายกูดี หรือ ใช้คำโฉลกว่า “สุข-ทุกข์” และพยานให้เหลือต้นสุดท้ายว่า “สุข”

 6 แฮกเกี่ยวข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงนี้ชาวนาภาคเหนือจะเอาเครื่องบูชาแม่โพสพซึ่งมี กระจก หวี แป้ง น้ำมันทาผม ปลาย่าง เนื้อยาง หมาก เมี่ยง บุหรี่ ธูปเทียน ดอกไม้ ของหอมนำไปบูชาแม่โพสพที่แท่นนา จากนั้นชาวนาจะหาวันดีก่อน ปล่อยให้นาแห้งเพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แล้วขอขมาแม่โพสพอีกครั้ง โดยของเซ่นประกอบด้วย ข้าว 1 ปั้น กล้วย 1 ลูก หมากเมี่ยง บุหรี่ น้ำดื่ม แล้วอธิษฐานขอเชิญแม่โพสพไปอยู่ที่ยุ้งฉางก่อน แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว

ที่มา วัฒนธรรมประเพณีไทย ภาคเหนือ สำนักวิจัย ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ pre.brrd.in.th/web

ขอบคุณที่มา : //www.siamtradition.com/2012/11/blog-post_12.html#.VrlSh_l9670

ประเพณีการเลี้ยงปู่ตา

          ปู่ตา   หมายถึง คนสองจำพวกที่เป็นบรรพชนของชาวอีสาน คำว่า ปู่ หมายถึง ปู่และย่า ที่เป็นพ่อแม่ของพ่อ ส่วนคำว่า ตา หมายถึง ตาและยายที่เป็นพ่อแม่ของแม่ เมื่อบรรพบุรุษสองสายนี้ล่วงลับไปหลายชั่วอายุคน จนไม่สามารถที่จะจำชื่อได้ ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ จึงเรียนเป็นกลาง ๆ ว่า ปู่ตา

ทำไมจึงมีการเลี้ยงปู่ตา

           การเลี้ยงปู่ตา เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปเพราะเมื่อปู่ตามีชีวิตอยู่นั้น ได้สร้างคุณงานความดีไว้กับลูกหลาน และสังคมมากมายหลายประการ เช่น ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี สะสมสาธารณสมบัติไว้เพื่อลูกหลาน เพื่อแสดงถึงกตัญญูกตเวที จึงมีการเลี้ยงปู่ตาสืบต่อไปเป็นประเพณี

          ประเพณีการเลี้ยงปู่ตาจะกระทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน กำหนดเวลาเลี้ยงปู่ตามักจะทำระหว่างเดือน ๖ - ๗ ชาวบ้านจะเลี้ยงปู่ตาก่อนที่จะเลี้ยงตาแฮก สถานที่เลี้ยงปู่ตาก็คือ "คอนปู่ตา" อันเป็นสถานที่ปู่ตาสิงสถิตย์อยู่ ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้านจะเลือกป่าไม้ใกล้หมู่บ้านเป็นที่ปลูกหอหรือโฮงให้ปู่ตาอยู่ ภายในหอปู่ตานั้น จะประกอบด้วยรูปปั้นปู่ตา แท่นบูชา ข้าทาสชายหญิง รูปปั้นช้าง ม้า วัว ควาย หอก พวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน ผู้ที่ดูแลรักษาหอปู่ตาเรียกว่า “ เฒ่าจ้ำ ” คำว่า "จ้ำ" มาจากคำว่า" ประจำ" เฒ่าจ้ำ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลศาลปู่ตาให้เรียบร้อยเป็นประจำอยู่แล้ว ยังมีหน้าที่ เป็นคนกลางในการติดต่อระหว่างปู่ตากับชาวบ้าน เฒ่าจ้ำจึงคล้ายกับทหารคนสนิทของปู่ตา ใครทำอะไรผิดประเพณี ปู่ตาโกรธก็จะบอกผ่านเฒ่าจ้ำไปยังบุคคลที่กระทำผิด ปู่ตาต้องการให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างไร ก็จะบอกผ่านเฒ่าจ้ำไป ชาวบ้านจะติดต่อกับปู่ตาโดนตรงไม่ได้

           "ดอนปู่ตา" นั้น จะเป็นบริเวณป่าสงวนที่ชาวบ้านเคารพเกรงกลัวมาก ใครจะไปตัดโค่นต้นไม้ ยิงสัตว์ในเขตดอนปู่ตาไม่ได้ ท่านจะโกรธเพราะถือว่าล่วงเกินบริวารท่าน ปู่ตาจะบันดาลให้ผู้ที่ล่วงเกินมีอันเป็นไป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ประกอบการงานไร้ผล ดังนั้น การที่ชาวบ้านเคารพปู่ตา จึงเป็นการอนุรักษ์ป่า และอนุรักษ์สัตว์ ในเขตดอนปู่ตาได้เป็นอย่างดี

 พิธีเลี้ยงปู่ตา

            ในระหว่างเดือน ๖ - ๗ เฒ่าจ้ำจะเป็นผู้กำหนดเอาวันใดวันหนึ่ง ในช่วงนี้เป็นวันเลี้ยงปู่ตา เมื่อกำหนดวันได้แล้ว เฒ่าจ้ำก็จะบอกชาวบ้านให้ตระเตรียมอาหารคาวหวานมาเลี้ยงปู่ตา พร้อมทั้งแนะนำให้ชาวบ้านสะเดาะเคราะห์ร้ายของครอบครัวตนเองไปให้พ้นด้วย พิธีสะเดาะเคราะห์นั้นทำได้โดยมีเครื่องสงเคราะห์ ซึ่งก็คืออาหารหวานคาวบรรจุลงในกระทงกาบกล้วยรูปสามเหลี่ยม วิธีทำกระทงกาบกล้วยให้มีรูปร่างตามที่ต้องการ ทำได้โดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครง ภายในกระทงจะคั่นให้เป็นช่อง ๙ ช่อง แต่ละช่องจะบรรจุ หมาก ๑ คำ บุหรี่ ๑ มวน เมี่ยง ๑ คำ ขนมต้ม ๑ ชิ้น ข้าวดำ ข้าวแดงอย่างละก้อน กระทงรูปสามเหลี่ยมจะเป็นเครื่องส่งเคราะห์ร้ายของครอบครัวไปให้พ้น

เครื่องเซ่นปู่ตา

      ได้แก่ น้ำหอม ดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าโรง ไก่ต้ม ไข่ต้ม เมื่อถึงวันเลี้ยงปู่ตา ในตอนเช้าชาวบ้านจะร่วมกันบูรณะดอนปู่ตาให้เป็นระเบียบ เช่น ช่วยกันถางหญ้า จัดแท่นบูชา เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม หรืออาจจะซ่อมแซมหอปู่ตาให้ดีกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนเสามุงสังกะสีใหม่ เป็นต้น เมื่อจะเริ่มพิธีเลี้ยงปู่ตา เฒ่าจ้ำก็จะนำเครื่องเซ่นและกระทงสงเคราะห์วางบนแท่นบูชา เสร็จแล้วเฒ่าจ้ำจะแบ่งอาหารที่ชาวบ้านนำไปเซ่นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้ลูกหลานเอากลับไปบ้าน อีกส่วนหนึ่งมอบให้ปู่ตา หลังจากเซ่นปู่ตาเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำน้ำหอมที่บูชาปู่ตามาสาดกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ปู่ตาประทานความร่มเย็นมาให้แล้ว เมื่อถึงเวลาบ่าย เฒ่าจ้ำจะเข้าไปในหมู่บ้าน เพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้านแต่ละครัวเรือน เจ้าของบ้านที่เฒ่าจ้ำไปเยี่ยมก็จะสรงน้ำแก่เฒ่าจ้ำ...

  ประเพณีเลี้ยงผีตาแฮก

  ศาลผีตาแฮก

      เป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี จึงมีการเซ่นไหว้ผีตาแฮกทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนลงมือปักดำ และหลังการเก็บเกี่ยว ฉะนั้นในที่นาของแต่ละคนจะมีที่ที่ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งบางคนอาจปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ บางคนจะปักเสาเป็นสัญลักษณ์ว่าที่ตรงนี้คือ ที่อยู่ของผีตาแฮก หรือบางแห่งจะทำรั้วถี่ ๆ ล้อมบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ซึ่งชาวบ้านจะทราบดีถึงที่อยู่ของผีตาแฮกนี้

  พิธีกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับผีตาแฮก

  การเลี้ยงผีตาแฮก เลี้ยง ๒ ครั้ง คือ

๑. เลี้ยงก่อนทำการปักดำ

๒. เลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยว

สิ่งที่จะนำไปเลี้ยง หรือเซ่นไหว้ มีดังนี้

๑. เหล้า ๑ ขวด

๒. ไก่ต้มสุกพร้อมเครื่องใน ๑ ตัว

๓. ดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู บุหรี่

๔. น้ำ ๑ ขวด แก้ว ๒ ใบ

๕. กระติ๊บข้าว ๑ กระติ๊บ

        วิธีเลี้ยงผีตาแฮก

เมื่อเตรียมสิ่งที่จะเลี้ยงไว้เรียบร้อยแล้ว เอาใส่ตะกร้านำไปในที่ที่เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก แล้วจัดแต่งสำรับที่นำมา จัดใส่ถาด เหล้าเปิดฝา กระติ๊บข้าวเหนียวเปิดออก น้ำและเหล้ารินใส่แก้วคนละใบ จุดเทียน ตั้งไว้พร้อมกับกล่าวเชิญชวนให้ผีตาแฮกมารับ หรือมากินของเซ่นไหว้ที่นำมาพร้อมกับบนบานให้ข้าวกล้าในนาของตนอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากเลี้ยงหรือเซ่นไหว้หลังการทำนาก็จะเป็นการกล่าวคำขอบคุณผีตาแฮกที่ทำ ให้การทำนาประสบผลสำเร็จด้วยดี กะเวลาพอประมาณก็นำสำรับที่เตรียมไปเลี้ยงคนในครอบครัวที่ไปเลี้ยงผีตาแฮ กด้วยก็เป็นอันเสร็จพิธี...

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org/posts/361171







Copyright © 2010 All Rights Reserved.