ปราสาทบ้านเบ็ญจ์ ศาสนสถานขอมแห่งเมืองอุบลราชธานี
การสร้างศาสนสถานตามลัทธิพราหมณ์-ฮินดู เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพีกรรมตามหลักศาสนา เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นมุ่งมานะผนวกถึงความเชื่อความศรัทธาอันแรงกล้าของกษัตริย์ ที่ทรงพยายามจะจำลองสวรรค์ตามแบบคตินิยมไว้บนพื้นบรมพิภพโลก เพื่อเป็นเครื่องเสริมสร้างพระราชฐานะ พระราชอำนาจประดับรัชกาลให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วสกลจักวาล
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่พรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ประเทศกัมพูชา ถึงแม้ในปัจจุบันผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว (หรือกลุ่มวัฒนธรรมหมอลำ-หมอแคน) แต่พื้นที่ส่วนนี้ในอดีตเคยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรโบราณค่อนข้างที่จะชัดเจน ซึ่งศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมขอมโบราณส่วนใหญ่ในภาคอีสาน มักจะกระจายอยู่บริเวณทางฝั่งขวาของแม่น้ำมูล ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมากมายหลายแห่ง อันเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า พื้นที่แถบนี้ในอดีตเคยมีความรุ่งเรืองด้วยอิทธิพลขอมโบราณ ส่งผ่านเป็นภาพประวัติศาสตร์สะท้อนเรื่องราว เหตุการณ์ ผ่านยุคสมัยมาอย่างยาวนาน สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปราสาทบ้านเบ็ญจ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่บ้านเบ็ญจ์ ตำบลหนองอ้ม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ศิลปะลพบุรีร่วมสมัยศิลปะขอมแบบเกลียง ลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐจำนวนสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับแสงอรุณอัมรินทร์ตามหลักศาสนา มีแนวกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ และมีบารายหรือสระน้ำอยู่นอกกำแพงแก้วเป็นรูปตัว U ตรงประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ปรากฏร่องรอยของฐานศาลาจัตุรมุข หรือศาลาเปลื้องเครื่อง สำหรับใช้เปลื้องศิราภรณ์ออกก่อนเข้าไปประกอบพิธีกรรมของผู้คนในอดีต และบริเวณซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระ มีเสาประดับกรอบประตูแกะสลักอย่างส่วยงาม และมีทับหลังสลักจากหินทรายเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และทับหลังเทพนพเคราะห์ (ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี)
ปราสาทบ้านเบ็ญจ์ ถือได้ว่า เป็นปราสาทที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี หลักการสร้างศาสนสถานด้วยศิลา ถือเป็นเทคโนโลยีโบราณที่แสดงให้เห็นถึง เทคนิคด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ขั้นสูง ที่คนโบราณได้สั่งสมบูรการณ์ จนเป็นที่ตั้งประเด็นของคนในยุคปัจจุบันว่า คนโบราณ รู้จักใช้เทคโนโลยีนี้ ได้อย่างไร รับมาจากไหน แล้วทำไมไม่มีการถ่ายทอดเทคนิคส่งผ่านมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน นี้ยังเป็นปริศนาให้กับเหล่านักวิชาการ และผู้คนที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ที่จะต้องทำการศึกษาและหาคำตอบต่อไป
การเดินทาง
ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 63 กิโลเมตร บนเส้นทางถนนเดชอุดมม-น้ำยืน ตามทางหลวงหมายเลข 2192 เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2214 ก่อนถึงอำเภอทุ่งศรีอุดม (ตั้งอยู่ติดกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้ม)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://travel.trueid.net/detail/QYwNN35XXkLR