ReadyPlanet.com
dot dot




ประเพณีถวายเทียนพรรษา article

ประเพณีถวายเทียนพรรษา

 

 

    งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี

 ก่อนสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียนแห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชา จำพรรษา ครั้นในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการที่ เมืองอุบล คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทนการแห่เทียนแต่เดิมไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ตามรอยต่อหากระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสีทอง) ตัดเป็นลายฟันปลาปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊ปน้ำมันก๊าด ฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นเป็นชั้นๆ ติดกระดาษ เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้นิยมใช้เกวียน หรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง การแห่ของชาวบ้านก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนานในระยะเวลาประมาณ พ.ศ.2480

        การทำต้นเทียนได้พัฒนาขึ้น ถึงขั้นใช้การหล่อออกจากเบ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจัง ตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน ช่างผู้มีชื่อเสียงในทางนี้คือ นายโพธิ์ ส่งศรี ลายที่พ่อใหญ่โพธิ์ทำขึ้นเป็นลายง่ายๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย ใบเทศ บัวคว่ำบัวหงาย พ่อใหญ่โพธิ์เป็นช่างทำต้นเทียน ให้กับวัดทุ่งศรีเมือง ต่อมา นายสวน คูณผล ได้นำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ และประดับฐานต้นเทียนด้วยรูปปั้นสัตว์และลายไม้ฉลุ ทำให้ดูสวยงามมากขึ้น ผลงานทำต้นเทียน ของนายสวน คูณผล จึงมักจะได้รางวัลชนะเลิศอยู่เป็นประจำในช่วงปี พ.ศ.2494 ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและเห็นความสำคัญ ในการทำและแห่เทียนพรรษามากขึ้น เมื่อทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปี แต่ต้นเทียนในขณะนั้นยังมีการจัดทำอยู่เพียง 2 ประเภท คือ ประเภทมัดเทียนรวมกันแล้วติดกระดาษสีและประเภทพิมพ์ลายติดลำต้นใน พ.ศ.2495 ได้มีการฟื้นฟูศิลปะการทำต้นเทียน และการแห่เทียนพรรษาของ จังหวัดอุบลราชธานี มีการประกวดเทียนพรรษา 2 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย และประเภท ติดพิมพ์

        ครั้น พ.ศ.2497 ช่างฝีมือรุ่นเยาว์ อันได้แก่ นายอารีย์ สินสวัสดิ์ นายประดับ ก้อนแก้ว ได้พัฒนาวิธีทำขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนพลาสเตอร์แกะเป็นแม่พิมพ์ลายต่างๆ แล้วหล่อด้วยเทียนออกมาเป็นดอกๆ ผึ้งที่ใช้หล่อดอกไม้คนละสีกับลำต้น จึงทำให้มองเห็นเป็นส่วนลึกของลายอย่างชัดเจน นายประดับ ก้อนแก้ว ได้ทำต้นเทียนติดพิมพ์ และตกแต่งขบวนต้นเทียนของวัดมหาวนารามได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศ

        ประมาณปี พ.ศ.2500 มีการจัดงานกึ่งพุทธกาลทั่วประเทศ งานด้านศาสนาจึงเฟื่องฟูมาก การแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ทั้งด้านการจัดขบวนแห่ และการจัดหาสาวงามสำหรับต้นเทียน

        พ.ศ.2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างสูงอายุคนหนึ่งได้คิดและแกะสลักต้นเทียนโดยไม่ต้องพิมพ์ดอกมาติด เหมือนเช่นที่ช่างรุ่นก่อนทำมา ทำให้ต้นเทียนแกะสลักที่นายคำหมาทำให้กับบ้านกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ มีความแปลกใหม่สวยงาม ดังนั้น ในปีต่อมา จึงได้มีการเสนอให้จัดประกวดต้นเทียน 3 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก ระยะต่อมา จึงตัดต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลายที่เป็นต้นเทียนแบบ เก่า ออกจากการประกวด ช่างแกะสลักต้นเทียนที่มีฝีมือในรุ่นต่อมา ได้แก่ นายอุตส่าห์ จันทรวิจิตร และนายสมัยจันทรวิจิตร ซึ่งเป็นพี่น้องกัน

       นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร มีการประกวดต้นเทียนประเภทต่างๆ ประกวด ขบวนแห่ และนางฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนอย่างรัดกุม มีการประชาสัมพันธ์งานกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวและชมงานเ ป็นจำนวนมาก

      การทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก

      ต้นเทียนประเภทแกะสลัก เป็นต้นเทียนสมัยใหม่ ทำเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 โดยนายคำหมา แสงงาม ต้นเทียนต้นหนึ่งจะใช้ขี้ผึ้งประมาณ 70-100 กิโลกรัม โดยใช้ขี้ผึ้งดีผสมกับขี้ผึ้งชนิดไม่ดี ในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 หลังจากหล่อและกลึงต้นเทียนแล้ว จะเริ่มแกะสลักต้นเทียนด้วยขั้นตอน ดังนี้

      ออกแบบลาย  ที่จะแกะสลัก โดยการ่างทั้งส่วนฐานลำต้นและยอดเทียน ใช้เครื่องมือแกะสลักซึ่งจะมีการเซาะ เจาะ ขีด และขูด ให้เป็นรูปสามมิติ เหมือนของจริง หรือรูปที่ร่างไว้ตามจินตนาการ แก้ไขส่วนที่บกพร่องในระหว่างการแกะสลัก อาจมีการผิดพลาดได้ เช่น รูปที่แกะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป หรือบางส่วนแตกหัก ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อย

     เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักต้นเทียน

       1. มีด มีรูปแบบและขนาดต่างๆ กันตามความต้องการใช้งานของช่างทำต้นเทียน เช่น มีดปลายแหลมชนิดคมเดียว มีดปลายแหลมชนิดสองคม มีดปลายแหลมชนิดคมเดียวและโค้งงอ มีดอีโต้ปลายแหลมคมเดียว

      2. สิ่ว เช่น สิ่วใบใหญ่ปลายตัดตรง สิ่วใบใหญ่ปลายตัดเฉียง สิ่วใบใหญ่ปลายปากโค้ง สิ่วใบเล็กปลายตัดตรง สิ่วใบเล็กปลายตัดเฉียง สิ่วใบเล็กปลายปากโค้ง

       3. ตะขอเหล็กและเหล็กขูด เช่น ตะขอเหล็กมีคมคล้ายเคียวแต่ปลายงอน ตะขอเหล็กเป็นห่วงโค้งเป็นวงรีหรือรูปน้ำเต้า และเหล็กขูดมีคมทั้งสองด้าน

       4. แปรงทาสีชนิดดี

      การทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์

      การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มีขั้นตอนและวิธีการคล้ายกันกับการหล่อต้นเทียนประเภ ทแกะสลักทุกขั้นตอน แต่มีความแตกต่างกัน 2 ประการ คือ

        การหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพพอใช้ได้ซึ่งมีราคาถูก แต่การหล่อต้นเทียนประเภทแกะสลัก ใช้ขี้ผึ้งคุณภาพดี และราคาแพงกว่า ทั้งนี้ ก็เพราะว่า หากขี้ผึ้งคุณภาพไม่ดี เมื่อแกะสลักลึกและซับซ้อนหลายขั้น ขี้ผึ้งจะแตกหัก

 

        ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มักหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าต้นเทียนประเภทแกะสลัก เพราะการหล่อต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ จะต้องนำไปกลึงให้เป็นรูปและขนาดเล็กลงบางส่วน แล้วจึงติดดอกเสริมโดยรอบให้หนาขึ้น ส่วนต้นเทียนประเภทแกะสลัก ต้องทำให้มีขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อที่จะแกะสลักหรือขูดออก

         งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี นอกจากจะเป็นงานที่แสดงออกถึง การยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพระพุทธศาสนา อย่างเคร่งครัดของชาวเมืองอุบลฯ แล้ว ยังเป็นงานที่แสดงออกถึงวิวัฒนาการด้านศิลปะของสกุลช่างเมืองอุบลฯ อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก บรรดาช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายแขนง และผลิตงานด้านศิลปะอย่างต่อเนื่องตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะร่วมสมัย งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานก่อสร้างตกแต่งโบสถ์วิหารต่างๆ จะใช้โอกาสในช่วงเทศกาลนี้กลับมาทดสอบ ทดลอง และประลองฝีมีเชิงช่าง โดยผ่านต้นเทียนพรรษา ดังนั้น ผู้ที่มาร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี จึงสามารถชื่นชม และศึกษากิจกรรมของงาน ทั้งในด้านการสืบสานจารีตประเพณีพื้นเมือง และในด้านศิลปะการตกแต่งต้นเทียนกิจกรรมภายในงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่

       1.เยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมการตกแต่งต้นเทียน

          การไปเยือนชุมชน หรือ คุ้มวัดต่าง ๆ ในช่วงที่กำลังเตรียมการตกแต่งต้นเทียน คือในช่วงประมาณ 2-3 วัน ก่อนวันแห่นั้น นอกจากผู้มาเยือนจะได้ศึกษากรรมวิธีและขั้นตอน การตกแต่งเทียนอันเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศการร่วมแรงร่วมใจ ของชุมชนในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญของชาวอุบลฯ สำหรับคุ้มวัดที่น่าสนใจ เช่น วัดบูรพา วัดหนองบัว วัดสว่างอารมณ์ วัดศรีประดู่ทรงธรรม วัดสุทัศวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และวัดผาสุการาม เป็นต้น

        2. การเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชาที่วัดงามในเมืองอุบลฯ

            การเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชาจัดขึ้นในช่วงค่ำ ของ ตามวัดต่างๆ โดยทั่วไปกิจกรรมนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่จะได้ชื่นชมเอกลักษณ์ ทางสถาปัตยกรรมพื้นเมือง อันงดงามตามวัดต่างๆ ในอีกมิติหนึ่ง

      3. การตั้งแสดงต้นเทียนรอบทุ่งศรีเมือง

           ในช่วงค่ำของวันอาสาฬหบูชา จะเป็นเวลาที่ต้นเทียน พรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ กว่า 30 ต้น จะถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งไว้ ณ บริเวณถนนรอบๆ ทุ่งศรีเมือง เพื่อเตรียมการเข้าร่วมขบวนแห่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ในช่วงนี้ ต้นเทียนจะได้รับการตกแต่งอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับสถานที่ตั้ง จะได้รับการจัดเตรียมไว้อย่างดี เช่น การเตรียมแสงไฟ ไว้สาดส่องต้นเทียน การประดับประดาบริเวณงาน อย่างเป็นระเบียบ ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็น ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการชื่นชมศิลปะการตกแต่งเทียนอย่างละเอียดละออ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงศิลปะตกแต่งเทียนที่งดงาม และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย

       4. กิจกรรมขบวนแห่เทียนพรรษา

 

            จะจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น คือวันเข้าพรรษา ตั้งแต่เวลา ประมาณ 08.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนอุปราช ผ่านหน้าศาลากลาง ไปถนนชยางกูร เป็นระยะทางประมาณ2-3 กม. จึงสลายขบวน รูปแบบของการจัดขบวนประกอบด้วย ขบวนเทียนหลวงพระราชทาน ขบวนต้นเทียนของคุ้มวัดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละขบวนจะประกอบด้วยการแสดง การละเล่น การฟ้อนรำ การบรรเลงดนตรีในรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การเข้าชมขบวนแห่ ่คณะกรรมการจัดงาน จะจัดเตรียมอัฒจันทร์นั่งชมไว้บริการ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด อัตราค่าบริการประมาณท่านละ200 บาท ส่วนการเข้าชมขบวนตามจุดอื่นๆ นั้นสามารถชมได้ตามอัธยาศัยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ขบวนดังกล่าวปกติจะเสร็จสิ้นในช่วงบ่าย

ประเพณีถวายเทียนพรรษา

         เทียนพรรษาในปัจจุบันใช้ประโยชน์เพียงจุดบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีชาวพุทธนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างไปถวายแก่พระสงฆ์แทนเทียนพรรษาซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าใช้จุดบูชาเท่านั้น

       มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

     การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วยด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย

     ในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียนมีการพระราชทานถวายพุ่มเทียนรวมพึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน

    การถวายเทียนพรรษาโดยแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ นั้น มีมาแต่โบราณ เดิมเป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่าง ๆ สำหรับเทียนแกะสลักที่ปรากฏว่ามีการจัดทำประกวดกันเป็นเรื่องราวใหญ่โตในปัจจุบันนั้น พึ่งเริ่มมีเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายโพธิ์ ส่งศรี ได้เริ่มทำแม่พิมพ์ปูนซีเมนต์เพื่อหล่อขี้ผึ้งเป็นทำลวดลายไทยไปประดับติดพิมพ์บนเทียนพรรษา นับเป็นการจัดทำเทียนพรรษาแกะสลักของช่างราษฏร์เป็นครั้งแรก และนายสวน คูณผล ได้ทำลวดลายนูนสลับสีต่าง ๆ เข้าประกวดจนชนะเลิศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงเริ่มมีการทำเทียนพรรษาติดพิมพ์ประกวดแบบพิสดารโดยนายประดับ ก้อนแก้ว คือทำเป็นรูปพุทธประวัติติดพิมพ์จนได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปี จนปี พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างแกะสลัก ได้ทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักมาประกวดเป็นครั้งแรกจนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นจึงได้มีการแยกประเภทการประกวดต้นเทียนเป็นสองแบบคือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก จนในช่วงหลังปี พ.ศ. 2511 นายอุตสาห์ และนายสมัย แสงวิจิตร ได้เริ่มมีการจัดทำเทียนพรรษาขนาดใหญ่โต ทำเป็นหุ่นและเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน

     ในอดีต การหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน (ก่อนเข้าพรรษา)

    ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบงจีวรสังฆาฏิเข็มบาตรรัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏสาเหตุความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝนในพระไตรปิฎกดังนี้

      ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่

    พอดีกับนางวิสาขามหาอุบสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา) ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว จึงได้โอกาสอันควรทูลขอพร 8 ประการต่อพระศาสดา

พระศาสดาทรงอนุญาตพร 8 ประการ คือ

    ผ้าอาบน้ำฝนมีเพื่อใช้ผลัดกับผ้าสบงปกติ เพื่อปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ (ปกติตามพระวินัย พระสงฆ์จะมีไตรจีวรได้เพียงรูปละ 1 สำรับเท่านั้น)

1.       ขอถวายผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่พระสงฆ์เพื่อปกปิดความเปลือยกาย

2.       ขอถวายภัตแต่พระอาคันตุกะ เนื่องจากพระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง

3.       ขอถวายคมิกภัตแก่พระผู้เตรียมตัวเดินทาง เพื่อจะได้ไม่พลัดจากหมู่เกวียน

4.       ขอถวายคิลานภัตแก่พระอาพาธ เพื่อไม่ให้อาการอาพาธกำเริบ

 

5.       ขอถวายภัตแก่พระผู้พยาบาลพระอาพาธ เพื่อให้ท่านนำคิลานภัตไปถวายพระอาพาธได้ตามเวลา และพระผู้พยาบาลจะได้ไม่อดอาหาร

6.       ขอถวายคิลานเภสัชแก่พระอาพาธ เพื่อให้อาการอาพาธทุเลาลง

7.       ขอถวายยาคูเป็นประจำแก่สงฆ์

8.       ขอถวายผ้าอุทกสาฎก (ผ้าอาบน้ำ) แก่ภิกษุณีสงฆ์เพื่อปกปิดความไม่งามและไม่ให้ถูกเย้ยยัน

     โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว ดังนั้น นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์

  ผ้าอาบน้ำฝน จึงถือเป็นบริขารพิเศษที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์ได้ใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยปิฎก มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะต้องอาบัตินิคสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องทำผ้ากว้างยาวให้ถูกขนาดตามพระวินัย คือ ยาว 6 คืบพระสุคต กว้าง 2 คืบครึ่ง ตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว 4 ศอก 3 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียดเศษ ถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้ พระสงฆ์ต้องตัดให้ได้ขนาด จึงจะปลงอาบัติได้

    นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ด้วย หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัติ โดยพระพุทธเจ้ายังได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ว่า หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาใช้ได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ กล่าวคือ ทรงวางกรอบเวลาหรือเขตกาลไว้ 3 เขตกาล คือ

      เขตกาลที่จะแสวงหา ช่วงปลายฤดูร้อน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ถึงวันเพ็ญเดือน 8 รวมเวลา 1 เดือน

      เขตกาลที่จะทำนุ่งห่ม ช่วงกึ่งเดือนปลายฤดูร้อน ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญเดือน 8 รวมเวลาประมาณ 15 วัน

       เขตกาลที่จะอธิษฐานใช้สอย ช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 รวมเวลา 4 เดือน

        ด้วยกรอบพระพุทธานุญาตและกรอบเวลาตามพระวินัยดังกล่าว เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน พุทธศานิกชนจึงถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการจัดหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระสงฆ์ จนเป็นประเพณีสำคัญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษามาจนปัจจุบัน

ประเพณีถวายผ้าจำนำพรรษา (หลังออกพรรษา)

    ผ้าจำนำพรรษา หรือ ผ้าวัสสาวาสิกสาฎกเป็นผ้าไตรจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ที่ผ่านวันปวารณาไปแล้ว หรือที่ผ่านวันปวารณาและได้กรานและอนุโมทนากฐินแล้ว ซึ่งผ้าจำนำพรรษานี้พระสงฆ์สามารถรับได้ภายในกำหนด 5 เดือน ที่เป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

 

แต่สำหรับพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และผ่านวันปวารณาไปแล้ว ซึ่งไม่ได้กรานและอนุโมทนากฐิน ก็สามารถรับและใช้ผ้าจำนำพรรษาได้เช่นกัน แต่สามารถรับได้ในช่วงกำหนดเพียง 1 เดือน ในเขตจีวรกาลสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐินเท่านั้น

     การถวายผ้าจำนำพรรษาในช่วงดังกล่าว เพื่ออนุเคราะห์แก่พระสงฆ์ที่ต้องการจีวรมาเปลี่ยนของเก่าที่ชำรุด พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายผ้าจำนำพรรษามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในประเทศไทยก็ปรากฏว่ามีพระราชประเพณีการถวายผ้าจำนำพรรษาแก่พระสงฆ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งปัจจุบันแม้ทางราชสำนักได้งดประเพณีนี้ไปแล้ว แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงมีอยู่สำหรับชาวบ้านทั่วไป โดยนิยมถวายเป็นผ้าไตรแก่พระสงฆ์หลังพิธีงานกฐิน แต่เป็นที่สังเกตว่าปัจจุบันจะเข้าใจผิดว่าผ้าจำนำพรรษาคือผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งความจริงแล้วมีความเป็นมาและพระวินัยที่แตกต่างกันสิ้นเชิง

ประเพณีถวายผ้าอัจเจกจีวร (ระหว่างเข้าพรรษา)

     ผ้าอัจเจกจีวร แปลว่า จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน คือผ้าจำนำพรรษาที่ถวายล่วงหน้าในช่วงเข้าพรรษา ก่อนกำหนดจีวรกาลปกติ ด้วยเหตุรีบร้อนของผู้ถวาย เช่น ผู้ถวายจะไปรบทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ชีวิต หรือเป็นบุคคลที่พึ่งเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ควรรับไว้ฉลองศรัทธา

     อัจเจกจีวรเช่นนี้ พระวินัยอนุญาตให้พระสงฆ์รับเก็บไว้ได้ แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน 10 วัน (คือตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 11) และต้องนำมาใช้ภายในช่วงจีวรกาลผ้าอัจเจกจีวรนี้ เป็นผ้าที่มีความมุ่งหมายเดียวกับผ้าจำนำพรรษา เพียงแต่ถวายก่อนฤดูจีวรกาลด้วยวัตถุประสงค์รีบด่วนด้วยความไม่แน่ใจในชีวิต ซึ่งประเพณีนี้คงมีสืบมาแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันไม่ปรากฏเป็นพิธีใหญ่ เพราะเป็นการถวายด้วยสาเหตุส่วนตัวเฉพาะรายไป ส่วนมากจะมีเจ้าภาพผู้ถวายเพียงคนเดียวและเป็นคนป่วยหนักที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า

การประกอบพิธีทางศาสนาในช่วงพรรษากาลในประเทศไทย

     แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยการจัดเตรียมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ที่จะจำพรรษา การตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีล 8 และตั้งใจบำเพ็ญความดี เข้าวัดฟังธรรมตลอดพรรษากาล ซึ่งไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษาของพระสงฆ์เป็นอย่างมากเช่นกัน

                พระราชพิธี

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเทียนพรรษาที่จะทรงอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัยและพุทธเจดีย์สถาน ตามพระอารามหลวงต่าง ๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

    การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา   ซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากที่ทางคณะสงฆ์มีการกำหนดให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง (ก่อนหน้าวันเข้าพรรษา 1 วัน) ในปี พ.ศ. 2501 แล้ว สำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอาสฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยอีกวันหนึ่ง   รวมเป็นสองวัน

   การพระราชพิธีนี้โดยปกติมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล     และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน[ โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดบวรนิเวศวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง การสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ซึ่งรับอาราธานามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ในวันเข้าพรรษาทุกปี    เป็นต้น ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

         พิธีสามัญ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี

     เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน โดยมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุสามเณร หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ โดยนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งพอสรุปกิจที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในพรรษากาลได้ดังนี้

1.       ร่วมกิจกรรมทำเทียนพรรษาหรือหลอดไฟถวายแก่พระสงฆ์

2.       ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร

3.       ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล ตลอดพรรษากาล

4.       อธิษฐานตั้งใจทำความดี หรืองดการทำชั่วอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น งดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นต้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียกเทียนพรรษา,ผ้าจำนำพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน

     ในปัจจุบันปรากฏว่ามีการเรียกสิ่งของที่ถวายทานเนื่องด้วยการเข้าพรรษา โดยใช้คำเรียกที่ผิดอย่างกว้างขวางเช่น เรียกเทียนที่ถวายแก่พระสงฆ์ว่า เทียนจำพรรษา หรือเทียนจำนำพรรษา หรือเรียกผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าสบง) ที่ถวายแก่พระสงฆ์ว่าเป็นผ้าจำนำพรรษา ซึ่งทั้งสองคำข้างต้นเป็นคำเรียกที่ผิด โดยสาเหตุอาจมาจากการเรียกสับสนกับผ้าจำนำพรรษา ที่ปรากฏความในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ซึ่งผ้าจำนำพรรษานั้นเป็นผ้าจีวรที่ปกติจะถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำครบพรรษาและออกพรรษาแล้ว โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาแต่ประการใด

   อย่างไรก็ดี คำว่าจำนำนั้น สามารถหมายถึง ประจำ หรือก็คือสิ่งของที่ถวายเป็นประจำเฉพาะการเข้าพรรษา ซึ่งก็คือ ผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การใช้คำเรียกผ้าจำนำพรรษาโดยหมายถึงผ้าอาบน้ำฝนนั้น อาจสร้างความสับสนกับผ้าจำนำพรรษาตามพระวินัยปิฎกได้ ซึ่งควรเรียกให้ถูกต้องว่า ผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก), ผ้าจำนำพรรษา (วัสสาวาสิกสาฏก) และเทียนพรรษา ตามลำดับ

การถวายเทียนพรรษา

   ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำ ทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็น การกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว ตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหน รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา ๓ เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมี การแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น

    กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

๑. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

๒. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร

๓. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

๔. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ

คำถวายเทียนพรรษา

 

ยัคเฆ ภันเต,สังโฆ ปะฏิชานาตุ , มะยัง ภันเต, เอตัง ปะทีปะยุคัง, สะปะริวารัง, เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ, อิมัสสะหมิง อะโปสะถาคาเร, นิยยาเทมะ, สาธุ โน ภันเต, อะยัง เตมาสัง , พุทธัสสะ , ปูชะนัตถายะ, ปะทีปะยุคัสสะ,ทานัสสะ , อานิสังโส , อัมหากัญเจวะ,มาตาปิตุอาทีนัญจะ,ปิยะชะนานัง, ทีฆะรัตตัง,หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ.

      ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่ เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ

อานิสงส์ถวายเทียนพรรษา

    การ ถวายเทียนพรรษานี้เป็นโบราณประเพณีที่ทำสืบๆ มาเป็นเวลาช้านาน

 

เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา ภิกษุทั้งปวงต้องจำพรรษาในอาวาสของตน 3 เดือน พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงได้จัดทำให้เป็นกุศลพิธีขึ้น เมื่อได้นำเทียนไปถวายพระสงฆ์แล้ว ท่านก็จะได้จุดบูชาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงค์ คือ

    1.ทำให้เกิดปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน

    2.ทำให้สว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมทำให้มีความรุ่งเรืองด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ

    3.ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาให้ร้ายกลายเป็นดี

    4. เจริญไปด้วยมิตรบริวาร

    5.ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย

    6.เมื่อจากโลกนี้ไปย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว

    7.เมื่อลาลับโลกนี้ไปย่อมไปสู่สุคติสวรรค์

    8.หากบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

           ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นประเพณีมาตั้งแต่โบราณกาล ในครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ และทรงอนุญาตนุ่งหุ่มได้ตั้งแต่ แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไป และห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้านุ่งห่มเลยไปจากทรงอนุญาตไว้

            เมื่อทรงกำหนดไว้ดังนี้แล้วครั้งถึงเวลาบรรดาพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันบริจาคทรัพย์ของตน และจัดหาผ้าอาบน้ำฝนนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด ทั้งนี้เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องกังวลในเรื่องการแสวงหา จะได้ตั้งหน้าประพฤติสมณธรรมโดย มิต้องกังวลจึงเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งที่ควรจะประกอบ เพื่อจรรโลงศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป

           ผ้าอาบน้ำฝน เป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีพของสมณะทั้งหลาย ดังนั้น ผู้ที่นำไปถวายจึงได้ชื่อว่าได้เกื้อกูลพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง

       ในอดีตกาลก็มีเรื่องเล่าว่า

   เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ที่พระเชตวนารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายในนครสาวัตถี

   กาลครั้งนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกา อัครสาวิกาได้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาถวายอภิวาทแล้วนั่งในที่อันสมควรข้างหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้นางวิสาขาฟังพอสมควรแล้ว นางวิสาขาได้กราบทูลพระพุทธเจ้า พร้อมพระภิกษุสงฆ์ให้เข้าไปรับบิณฑบาตที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้นเช้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์

 

    ครั้นแล้วนางวิสาขา จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมกลับออกไป

เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว พอรุ่งขึ้นก็เกิดฝนตกหนัก สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนที่ได้ตกในพระเชตวันวิหารนี้เช่นใด ก็ได้ตกตลอดไปจนทั่วถึงในทวีปใหญ่ทั้ง 4 เช่นนั้นเหมือนกัน พวกเธอจงเปลือยกายอาบน้ำเถิดเพราะมี เม็ดใหญ่ จะยังฝนให้ตกตลอดทั่วถึงทวีปใหญ่ๆ ทั้ง 4 เช่นนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว”

   พระภิกษุทั้งหลาย ได้รับอนุญาตจากพระพุทธองค์เช่นนี้แล้ว ก็ได้พากันเปลื้องผ้าจีวร และสบงออกแล้วอาบน้ำฝนในบริเวณพระเชตวนารามนั่นเอง

   เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ตกแต่งโภชนียาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงใช้ให้นางทาสีไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ว่า ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว เมื่อนางทาสีได้ไปถึงบริเวณพระเชตวนารามวิหาร ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์พากัน เปลือยกายอาบน้ำฝนกันอยู่ นางทาสีมีความสำคัญว่าไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ เพราะเคยเห็นแต่พวกอาชีวกนิครนถ์เท่านั้นที่ได้เปลือยกาย นางจึงกลับมาแจ้งแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา

  นางวิสาขาจึงคิดว่า ชะรอยพระภิกษุทั้งหลายคงจะเปลือยกายอาบน้ำฝนเป็นแน่ จึงให้นางทาสีกลับไปนิมนต์อีก

    เมื่อนางทาสีไปถึงก็เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์อาบน้ำกลับที่อยู่ของตนแล้ว นางทาสีไม่เห็นพระภิกษุที่พระอารามเห็นแต่พระอารามว่างเปล่าจึงกลับมาบอก นางวิสาขาอีก นางวิสาขาจึงคิดว่าชะรอยพระภิกษุจะอาบน้ำเสร็จเเล้ว จึงแยกย้ายไป สู่ที่อยู่ของตน นางจึงให้นางทาสีไปอีกวาระหนึ่ง

   ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอจงพากันตระเตรียมบาตรจีวรไว้ให้พร้อม เวลานี้เป็นเวลาภัตตาหารแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มพระสุคตจีวร ทรงถือเอาบาตรและพุทธบริขารมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จโดยพุทธานุภาพถึงประตูบ้านนางวิสาขามหาอุบาสิกาในเวลาชั่วพริบตาเดียว โดยพระบาทมิได้เปียกน้ำซึ่งกำลังนองอยู่โดยทั่วไป

    เมื่อเสด็จไปถึงแล้ว ก็ประทับบนพุทธอาสน์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย นางวิสาขาจึงคิดในใจว่า

โอ้หนอ พระพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้านี้ช่างเป็นที่อัศจรรย์จริง เมื่อห้วงน้ำท่วมพื้นแผ่นดิน เพียงเข่าบ้างเพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้แต่สักรูปหนึ่งก็มิได้เปียกเลย

เมื่อนางวิสาขาได้เห็นพุทธานุภาพเช่นนั้น ก็มีความปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่ง จึงถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์จนอิ่มแล้ว นางวิสาขาจึงทูลขอพร 8 ประการ ต่อสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า

นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า

      เมื่อหม่อมฉันได้ให้นางทาสีไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์นั้น นางทาสีได้เห็นพระภิกษุสงฆ์เปลือยกายอาบน้ำในพระเชตวนาราม หม่อมฉันได้ทรงทราบก็เกิดสลดใจ และคิดว่าพระภิกษุสงฆ์อัตคัดขัดสนนัก แม้แต่ผ้านุ่งอาบน้ำฝนก็มิได้มีจึงเป็นที่ไม่สะอาดตาแก่ผู้ได้พบเห็น หม่อมฉันจึงกราบทูลขอ

 

พรข้อที่ 1 ว่า

ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝน แก่ภิกษุจนตลอดชีวิต

พรข้อที่ 2 ว่า

เมื่อพระภิกษุมาจากที่อื่น ยังไม่รู้จักทางที่จะเที่ยวบิณฑบาต ย่อมจะเป็นที่ลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ขอให้ภิกษุพระอาคันตุกะนั้นได้ฉันอาคันตุกภัตรอยู่ พอได้รู้ว่ามีที่จะโคจรบิณฑบาตแล้ว ก็จักไม่มีความเดือดร้อน จักได้เที่ยวบิณฑบาตได้โดยสะดวก หม่อมฉันเห็นประโยชน์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 2 เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตอาคันตุกภัตรแก่ภิกษุบริษัทให้ได้บริโภคตามเวลาอันเหมาะสม

พรข้อที่ 3 ว่า

พระภิกษุที่จะไปยังประเทศไกล เมื่อมากังวลด้วยเรื่องการที่จะหาเสบียงอยู่ ภิกษุนั้นก็จะไปไม่ทันหมู่พวกเดินทาง หรือจักไปถึงสถานที่ที่ตนมุ่งหมายในเวลาวิกาล เมื่อขาดอาหารร่างกายก็จะบวมช้ำในการที่ต้องเดินทางไกล ครั้นเมื่อภิกษุนั้นได้รับคมิกภัตรแล้วก็จะได้ไปทันหมู่พวกเดินทาง และจะได้ไปถึงสถานที่ที่ตนมุ่งหมายจะไปทันกับกาลเวลาจักไม่ลำบากในการเดินทางหม่อมฉันได้เล็งเห็นอำนาจประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 3 เพื่อให้พระองค์ทรงอนุญาตคมิกภัตรให้แก่ภิกษุบริษัทได้บริโภคในเวลากาลอันสมควร

พรข้อที่ 4 ว่า

 เมื่อภิกษุผู้เป็นไข้ ถ้าไม่ได้บริโภคโภชนะอันเป็นที่สบาย อาพาธความป่วยไข้ของภิกษุนั้นก็จักกำเริบขึ้นหรือจักถึงซึ่งกาลมรณภาพได้ เมื่อภิกษุนั้นได้บริโภค คิลานภัตร อันเป็นที่สบายแล้วอาพาธของภิกษุนั้นก็จะเสื่อมคลายหายได้ง่าย หม่อมฉันได้เห็นอำนาจประโยชน์ประจักษ์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 4 เพื่อให้พระองค์ทรงอนุญาตคิลานภัตรเพื่อให้ภิกษุเป็นไข้บริโภคในเวลาอันสมควร

พรข้อที่ 5 ว่า

ภิกษุผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก เมื่อมัวแต่กังวลด้วยการแสวงหาอาหารบิณฑบาตเพื่อตนจะได้บริโภคอยู่ ภิกษุไข้ก็จะได้บริโภคภัตรในเวลาสายบ้างหรือไม่ได้บริโภคบ้าง เมื่อภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้บริโภคคิลานุปัฎฐากภัตร์ ภิกษุไข้ก็จักได้บริโภคแต่ในเวลาเช้ามิได้ขาด หม่อมฉันจึงเล็งเห็นประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ทูลของพรข้อที่ 5 ขอให้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคิลานุปัฏฐากภัตรเพื่อให้ภิกษุผู้ปฏิบัติภิกษุไข้ได้บริโภคในเวลาอันสมควร

พรข้อที่ 6 ว่า

เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้บริโภคเภสัชที่สบาย อาการของภิกษุไข้นั้นก็จะกำเริบ อาจทำให้ภิกษุไข้นั้นทำกาลกิริยาตายได้ เมื่อภิกษุไข้นั้นได้บริโภคคิลานเภสัช อันเป็นที่สบายอาพาธก็จักเสื่อมคลายหายได้ หม่อมฉันได้เห็นอำนาจประโยชน์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 6 ขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคิลานเภสัชเพื่อให้ภิกษุได้บริโภคในเวลาอันสมควร

พรข้อที่ 7 ว่า

 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่อันธกวินทวิหารทรงเห็นอานิสงส์ 10 ประการ จึงได้ทรงอนุญูาตข้าวยาคูแก่ภิกษุสงฆ์ให้รับบริโภคได้ หม่อมฉันเห็นอนิสงส์เหล่านี้เห็นประจักษ์ด้วยตนแล้ว หม่อมฉันจึงขอถวายข้าวยาคูเป็นนิตย์แก่ภิกษุสงฆ์ตลอดชีวิตของหม่อมฉัน

พรข้อที่ 8 ว่า

     ครั้งหนึ่งนางภิกษุณีทั้งหลายได้พากันเปลือยกายอาบน้ำที่ท่าน้ำแห่งเเม่น้ำอจิรวดีแห่งเดียวกับหญิงแพศยา หญิงแพศยาเหล่านั้นก็ได้พากันเยาะเย้ยพวกภิกษุณีเหล่านั้นว่า พระแม่เจ้าทั้งหลายก็เพิ่งจะเเรกรุ่นเจริญวัยไหนจึงได้พากันมาประพฤติพรหมจรรย์อดกลั้นกิเลสอยู่ฉะนี้เล่า ควรที่พระแม่เจ้าทั้งหลายจะบริโภคกามารมณ์มิใช่หรือ เมื่อแก่แล้วจึงค่อยพากันประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อนางภิกษุณีทั้งหลายเหล่านี้ถูกพวกหญิงแพศยากล่าววาจาเยาะเย้ยเช่นนั้นก็มีความละอายเก้อเขิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขึ้นชื่อว่ามาตุคามเปลือยกายอาบน้ำฉะนี้เป็นสิ่งที่ดูไม่งามช่างปฏิกูลนัก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แจ้งประจักษ์ฉะนี้ จึงได้ทูลขอพรที่ 8 เมื่อหม่อมฉันจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดอายุของหม่อมฉัน

   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า ดูก่อนวิสาขา ก็เธอได้เห็นอานิสงส์อย่างไรเล่าจึงได้ทูลขอพร 8 ประการต่อเรา

นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็จะพากันมาสู่สาวัตถีเพื่อจะเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วภิกษุเหล่านั้นก็จะพากันกราบทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้ทำกาลกิริยาลง คติและสัมปรายภพของเธอจักเป็นไฉน แล้วพระองค์ก็จักทรงพยากรณ์ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคตมิผล หรือในพระอรหันต์ฯ หม่อมฉันก็จะเข้าไปถามภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า ท่านที่ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นนั้น เคยมายังประเทศสาวัตถีบ้างหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายจะกล่าวว่าเคยมา หม่อมฉันก็จักตกลงใจว่าพระผู้ เป็นเจ้านี้คงจะได้รับผ้าอาบน้ำฝน และฉันอาคันตุกภัตรเป็นต้นของเราแล้วเป็นแน่แท้เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลอันนี้แล้ว ก็จะบังเกิดความปราโมทย์ เมื่อได้บังเกิดความปราโมทย์ขึ้นแล้ว ปีติความอิ่มกายอิ่มใจก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อใจประกอบด้วยปกติแล้ว กายก็จะสงบระงับ ผู้ที่มีกายสงบระงับก็จักได้เสวยความสุข ก็จักตั้งมั่นแน่วแน่ในสมาธิ ต่อแต่นั้นอินทรีย์ภาวนา การอบรมอินทรีย์และโพชฌงค์ ก็จักบังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันเป็นลำดับไป หม่อมฉันได้เล็งเห็นประโยชน์ดังนี้ จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการต่อพระพุทธเจ้า พระเจ้าข้า

เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกากราบทูลฉะนี้จบลงแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสรรเสริญว่า ดีแล้ววิสาขาฯ เธอได้แลเห็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงได้ขอพร 8 ประการต่อเราตถาคตเราตถาคตอนุญาตพร 8 ประการนี้แก่เธอ

ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าจำนำพรรษานี้จึงมีประวัติและทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งทุกวันนี้

การถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นไม่มีกำหนดแน่ลงไปว่าต้องถวายวันไหน เพียงแต่ให้อยู่ในระยะ 1 เดือนก่อนเข้าพรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องแล้วแต่ทายกจะพึงกำหนดวันถวายพร้อมกัน การถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ จึงไม่ตรงกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างเดือน 7 ข้างแรม จนถึงวันเพ็ญเดือน 8 โดยมากมักถวายกันในวันพระ เพราะเป็นวันที่ได้ประชุมพร้อมเพรียงกัน บางวัดถวายในวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน

1 . เมื่อถึงวันกำหนดแล้ว พึงประชุมพร้อมกันตามสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ จะเป็นพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ นำผ้าอาบน้ำฝน 1 ผู้นำและของถวายอย่างอื่นเป็นบริวาร เช่น ร่ม พุ่มเทียน ไม้ขีด สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ฯลฯ

2 . เมื่อพระสงฆ์ลงประชุมเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวคำถวาย

3 . เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว เจ้าของผ้าประเคนผ้าแก่พระภิกษุผู้จับได้ฉลากของตนเป็นราย ๆ ต่อไป

4 . เสร็จการประเมินแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ทายกกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไป แล้ว

การกรวดน้ำและรับพรพระ

  ในการกรวดน้ำให้ปฏิบัติดังนี้

1 . จัดเตรียมภาชนะใส่น้ำ และภาชนะรองรับน้ำ

2 . เมื่อพระเริ่มอนุโมทนาว่า ยถา ... ให้ยกภาชนะที่ใส่น้ำมันลงในภาชนะที่รองรับ อย่าให้น้ำขาดสายพร้อมทั้งกรวดน้ำ

เมื่อพระขึ้น สัพพี… ให้รินน้ำให้หมดและประนมมือตั้งใจรับพร (การกรวดน้ำนี้ใช้ได้ในทุกพิธี)

      อานิสงส์ถวายผ้าอาบน้ำฝน

    ....การถวายผ้าอาบน้ำฝนมีผลานิสงส์อย่างไร เป็นใจความว่า ในสมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถีในวันนั้นเป็นวัน ๘ ค่ำ นางวิสาขาได้ถือเครื่องสักการะ พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากไปสู่สำนักพระพุทธเจ้าถวายเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยแล้ว บังเอิญฝนตก พระภิกษุทั้งหลายได้เปลือยกายอาบน้ำฝนกันมากมาย นางวิสาขาเห็นเช่นนั้นแล้วก็เกิดความละอาย และคิดในใจว่าพระภิกษุไม่มีผ้าสำหรับอาบน้ำฝน ก็บังเกิดมีจิตศรัทธา คิดจะสร้างผ้าอาบน้ำฝนถวายเป็นทานแล้วก็กลับไปสู่กรุงสาวัตถี จัดแจงหาผ้าได้พอสมควรแล้วพอตอนเย็นก็พาบริวารและผ้านั้นมาสู่สำนักพระพุทธองค์แล้วถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้น แก่องค์พระศาสดาพร้อมทั้งภิกษุทั้งหลายแล้วกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้มีผลานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า

      พระองค์ได้ตรัสเทศนาว่า ดูกรนางวิสาขา ถ้าบุคคลใดมีจิตศรัทธานำผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระภิกษุ ในพุทธศาสดาจะมีผลานิสงส์เป็นอเนกประการแล้วพระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่าในศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง มีนามว่า อมัยทาสีอยู่มาวันหนึ่งนางได้เห็นคนทั้งหลาย นำผ้ากาสาวพัตรไปสู่สำนักภิกษุสงฆ์ให้เป็นทาน โดยกระทำให้เป็นผู้อาบน้ำฝน นางอมัยทาสีก็มีศรัทธาอยากจะทำบุญกับเขาบ้าง นางก็คิดว่าจะทำอย่างไรดีหนอ ที่เราจะได้ทำบุญในคราวนี้บ้าง พิจารณาผ้าที่จะให้ทานก็ไม่มี รีบไปหามารดา แล้วบอกความจำนงของตนให้มารดา มารดาก็ตอบว่า เราจะเอามาแต่ที่ไหน เราก็เป็นทาสเขาอยู่ นางอมัยทาสี เมื่อได้ยินดังนี้น้ำตาก็ไหลด้วยความเสียใจ มารดาของนางก็มีจิตสงสาร จึงแนะนำให้นางอมัยทาสีไปขึ้นค่าตัวกับนายนางได้รับคำแนะนำเช่นนั้นแล้วก็มีความยินดีจึงรีบไปหานายของนาง ฝ่ายเศรษฐีผู้เป็นนายก็ปฏิเสธไม่ยอมให้นางอมัยทาสีขึ้นค่าตัว นางไม่มีความสบายใจนางมาคิดว่าเมื่อชาติก่อนนี้เราไม่ทำบุญให้ทาน มาชาตินี้เราจึงได้ตกระกำลำบาก ถึงเวลาจะทำบุญกับเขาบ้างก็จะไม่ทำกับเขาคราวนี้จะเป็นตายอย่างไรจะต้องขอทำบุญให้ได้ในครั้งนี้ ด้วยจิตศรัทธาแรงกล้านางอมัยทาสีทนความอับอาบขายหน้า ได้สละผ้าห่มแล้วนำใบไม้มาเย็บกลัดพอปกปิด บรรเทาความอายแล้วเอาผ้าซักฟอกให้หมดความสกปรกแล้วนำดอกไม้ธูปเทียนพร้อมด้วยผ้าไปสู่ธรรมศาลาถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ก่อนเข้าพรรษาพร้อมกับมหาชนทั้งหลาย แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ที่ตนได้กระทำบุญในคราวครั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์อย่าได้มีในชาติต่อ ๆ ไป จนถึงพระนิพพาน และขอให้พบพระศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ เมื่อคำปรารถนาของนางจบลงแล้ว เทวดาทั้งหลายก็ซ้องสาธุการสนั่นหวั่นไหว

        ด้วยอานิสงส์ของนางอมัยทาสีทำบุญในคราวครั้งนั้น อยู่มาได้ ๗ วัน พระเจ้าพันธุมหาราช ได้เสด็จไปพบนางกำลังหาบฟืนมาในระหว่างทางก็เกิดความปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวนางมาก จึงตรัสปราศรัยไต่ถามความตลอดแล้วจึงยกนางขึ้นราชรถนำเข้าไปสู่พระนคร อภิเษกนางให้อยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี ครั้นทำลายขันธ์แล้วนางได้ไปเกิดบนสวรรค์มีวิมานทองสูง ๑๕ โยชน์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร ๓ พัน

          ครั้นเสวยทิพย์สมบัติแล้วจนในชาติสุดท้ายนางจะได้เกิดในศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ได้บรรลุธรรมพิเศษดังนี้แล พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ชนทั้งหลายก็ได้ดวงตาเห็นธรรมส่วนนางวิสาขาก็ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย

คำถวายผ้าอาบน้ำฝน

 

...........อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ ภิกขุสังฆัสสะโอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อังหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

 

คำแปล

 

...........ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

 




ประเพณีอีสาน

เลาะเบิ่งพระธาตุแดนอีสานเหนือ article
เลาะเบิ่งแดนอีสาน article
ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก
ประเพณีบุญเข้ากรรม
ประเพณีการลำผีฟ้า (แถน)
ประเพณีพิธีสู่ขวัญ
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ประเพณีการผูกเสี่ยว
ประเพณีกินดอง (การแต่งงาน)
ผาชะนะได
ประเพณีเข้ากรรม
ภูลังกา
พระธาตุเรืองรอง
ประเพณีฮดสรง
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ทุ่งดอกกระเจียว article
หม่องนั่งเซาเหมื่อย
วรรณกรรมอีสาน
ธรรมชาติแดนอีสาน



Copyright © 2010 All Rights Reserved.