ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา
ผีปู่ตา เป็นผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าผีปู่ตาจะเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน และชาวบ้านที่จากไปทำงานนอกบ้านเป็นเวลานาน ๆ
วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับผีปู่ตา
๑. การบนบาน เพื่อให้ผีปู่ตาคุ้มครองในกรณีที่จะไปทำงานต่างถิ่น จะต้องนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปหาเจ้าจ้ำ (ตัวแทนผีปู่ตา) เพื่อให้เจ้าจ้ำเป็นผู้บอกกล่าวกับผีปู่ตา เมื่อกลับมาจากการทำงานก็จะต้องไปแก้บน โดยนำเหล้าไห ไก่ต้มสุก ๑ ตัว ดอกไม้ ขันธ์ห้า เงินตามกำลังศรัทธา ขวดน้ำ นำไปให้เจ้าจ้ำ เพื่อนำไปเลี้ยงผีปู่ตา
๒. การบนบาน เพื่อให้ผีปู่ตาคุ้มครอง เช่น ให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ บนบานเพื่อไม่ให้ติดทหาร และอื่น ๆ การปฏิบัติก็เช่นเดียวกับข้อ ๑
การเลี้ยงผีปู่ตาประจำปี
เป็นการเลี้ยงเพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข พิธีจะจัดขึ้นในเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ โดยเจ้าจ้ำจะเป็นประธานในการจัดเลี้ยงในครั้งนี้ พอใกล้ถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ เจ้าจ้ำจะแต่งตั้งคณะกรรมการในหมู่บ้านให้ไปขอบริจาคข้าวปลาอาหารหรือเงินจากชาวบ้านทุกครัวเรือน เพื่อนำมาจัดเตรียมข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ อันได้แก่ เหล้า ไก่ เทียน ดอกไม้ ธูป ขันธ์ห้า มหรสพต่าง ๆ พอถึงวันที่กำหนดชาวบ้านจะมาพร้อมกันในบริเวณหน้าหอผีปู่ตา ซึ่งบริเวณนั้นจะจัดเตรียมให้สะอาดเรียบร้อย เจ้าจ้ำก็จะนำข้าวปลาอาหารที่ใช้ในการเซ่นไหว้ แต่งใส่ถาดยกมาถวายให้กับผีปู่ตา พร้อมกับบนบานให้ผีปู่ตาคุ้มครองคนในหมู่บ้าน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่คุกคาม