ReadyPlanet.com
dot dot




ประเพณีพิธีสู่ขวัญ

 ประเพณีพิธีบายศรีสู่ขวัญ

        พิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า “พิธีบายศรี” หรือ “บายศรีสู่ขวัญ” เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญจากคณะ ญาติมิตรและบุคคลทั่วไป

ผู้ได้ดีมีโชคหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือมาเยี่ยมเราก็ยินดีจัดพิธีสู่ขวัญให้ ประเพณีสู่ขวัญจึงเป็น ประเพณีทำกันอย่างกว้างขวาง คำว่า”ขวัญ”นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า “กำลังใจ” ก็มีคำว่า “ขวัญ” ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า “เมียขวัญ” หรือ “จอมขวัญ” เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า “ลูกขวัญ” สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า “ของขวัญ

ขวัญตามความเชื่อชาวอีสาน

ขวัญ” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีเก่า แก่ของชาวไทยเราแทบทุกภาค การทำพิธีก็ผิดเพี้ยนกันไปบ้างแต่ก็ยังยึดหลักใหญ่อยู่เหมือนกัน พิธีสุ๋ขวัญในบทความนี้ จะกล่าวถึงพิธีของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ การทำพิธีสู่ขวัญเราอาจทำได้ถึง ๒ วิธีพร้อม ๆ กัน คือวิธีทางพุทธศาสนาและวิธีทางพราหมณ์ศาสนา

วิธีทางพุทธศาสนา โดยการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถ้ามีศรัทธาพอจะถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลพระสงฆ์ด้วยก็ได้ ส่วนพิธีทางพราหมณ์ ก็คือการสู่ขวัญซึ่งจะได้อธิบายให้ละเอียดต่อไปนี้

พาขวัญหรือพานบายศรี

คำว่า “บายศรี” นี้น่าจะมาจากภาษาเขมร คือคำว่า บาย + ศรีข้าว (สุก) ที่เป็นมงคลข้าวนี้จะ เป็นส่วนประกอบของการจัดพานบายศรี จะขาดไม่ได้ การจัดพาขวัญนี้ ปกติต้องจัดด้วยพาน ทองเหลืองและมีสัมฤทธิ์ (ขันลงหิน) หลาย ๆใบ ซ้อนกัน มีใบตอง ดอกไม้สด ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ผูกแขน) ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอากระดาษสีต่างๆ แต่ก็ผิดธรรมเนียมของท้องถิ่นไป

พาขวัญ    อาจจัดเป็นชั้นๆ จะเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น แล้วแต่ความสามารถ แต่คนเก่าคนแก่ของเมืองอุบล ฯ กล่าวว่าพาขวัญ ๓ ชั้น ๕ ชั้น เป็นของบุคคลธรรมดา ส่วน ๗ ชั้น และ ๙ ชั้นนิยมจัดเฉพาะสำหรับเชื้อพระวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีบายศรี (ทำด้วยใบตอง) ดอกไม้ ข้างต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว ชั้น ๒ , , ๔ จะได้รับการตกแต่งด้วยใบศรี และ ดอกไม้ซึ่ง มักจะเป็นดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า อย่างสวยงาม ส่วนชั้นที ๕ จะมีใบศรี และด้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว (ทำด้วยขี้ผึ้ง) ของเจ้าของขวัญ นอกจากพาขวัญแล้วจะมีเครื่องบูชาและอื่นๆ เช่น ขันบูชา มีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า ๑ ผืน แพร ๑ วา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ

 

      ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ด้ายผูกแขน) นั้นต้องเป็นด้ายดิบนำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะพันรอบข้อมือได้ โบราณถือว่า คนธรรมดา วงละ ๓ เส้นผู้ดีมีศักดิ์ตระกูล ๕ เส้น (อาชญา ๕ ขี้ข้า ๓)เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือดึงให้ขาด เป็นเส้นๆห้ามใช้มีดตัดจะใช้มีดตัดได้เฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้น ถ้าเป็นพาขวัญงานแต่ง คนจะเริ่มจัดพาขวัญต้อง เป็นคนบริสุทธิ์ (ปลอด) คือเป็นคนดีผัวเดียวเมียเดียว ถ้าจัดไม่เป็นเพียงมาจับพอเป็นพิธีแล้วให้คนอื่นๆจัดต่อ ไปจนเสร็จต้องจัดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พาขวัญฝ่ายชายจะให้หญิงบริสุทธิ์ (เด็กหญิงยังไม่มีประจำเดือน) หาบด้วยไม้ม้วนผ้าทอหูกเพราะถือเคล็ดเอาความสามัคคีรักใคร่ของผ้าและไม้ และการสูตรขวัญต้องสูตรเวลา ค่ำประมาณ ๓ – ๔ ทุ่มหลังรับประทานอาหารค่ำเสร็จถือว่าเป็นเวลาหนูเข้ารู (ยามหนูเข้าฮู) พาขวัญงานแต่ง จะต้องมีอาหารคาวหวานเป็นส่วน ประกอบอีกด้วย

พาขวัญแต่งเสร็จแล้วจะตั้งวางไว้ในที่อันเหมาะสมก่อนพอได้เวลาสูตรขวัญ คือจะทำพิธีจึงให้ยกไป ตั้งท่ามกลางญาติมิตรบนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ ข้างๆพาขวัญนอกจากจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีแก้วน้ำเย็น แก้วใส่น้ำส้มป่อย (กระถินป่า) และแก้วเหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่ม หรือพ่นหรือจุ่ด้วยดอกไม้สลัดใส่พาขวัญซึ่งเรียกว่า “ฮดฟาย”

การสวดหรือการสูตรขวัญ

เจ้าภาพผู้จัดพิธีสู่ขวัญจะต้องจัดหาหมอนวดหรือสูตรขวัญซึ่งมักเรียกว่า “พราหมณ์” หรือ”พ่อพราหมณ์” ไว้ล่วงหน้า ปกตินี้พ่อพราหมณ์มักจะเป็นผู้ที่ทราบประเพณีสู่ขวัญเป็นที่นับถือของ ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น หมอสูตรขวัญสมัยก่อนๆ นุ่งห่มธรรมดาเพียงให้มีผ้าขาวหรือให้มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ก็พอปัจจุบันนิยมนุ่งขาวห่มขาว นับว่าเป็นการพัฒนาให้เหมาะ สมกับสังคมสมัยใหม่

   ก่อนลงมือสวด เจ้าภาพต้องเตรียม “ด้ายผูกแขนพราหมณ์” ไว้เป็นด้ายผูกข้อมือธรรมดาเป็นแต่เพียง มัดธนบัตรเป็นค่าบูชาพราหมณ์จำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร และเจ้าภาพจะเป็นคนผูกข้อ มือพราหมณ์ด้วยด้ายผูกแขนพิเศษนี้

     พราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งให้หันหน้าไปในทิศทางต่างๆ ตามตำรา เจ้าของขวัญนั่งลงแล้วยกมือไหว้ พราหมณ์เสร็จแล้วใช้มือขวาจับพาขวัญตั้งจิตรอธิฐานขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปดังหมอขวัญหรือพราหมณ์สูตร ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมเป็นวงด้านหลังตั้งจิตรอธิฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญ จงเกิดแก่เจ้าของขวัญแล้ว อ้อนวอนเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า “สัค เค กา เม จ รูเป” ? จบแล้วว่านโม ๓ จบแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ครั้นจบแล้วจะสู่ขวัญอะไรก็เลือกว่าเอาตามต้องการให้เหมาะกับงาน การสวดต้องให้เสียงชัดเจน สละสลวย ไพเราะฟังแล้วเกิดความดีใจ ศรัทธาอุตสาหะ ในการทำความดียิ่งขึ้นจึงจะเป็นสิริมงคลแก่เจ้าตัวถ้าป่วยไข้ ไข้จะหาย ถ้าได้ดีได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งก็จะรักษาความดีไว้ให้คงทนไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมจนลืมตัวเมื่อสวดเสร็จ จะว่า ” สัพพพุทธานุภาเวน สัพพธัมมานุภาเวน สัพพสังฆานุภาเวนสัพพโสตถี ภวันตุ เต ยถา สัพพี ภวตุ สัพ ” ฯลฯ การเข้านั่งล้อมพาขวัญถ้าเป็นการแต่งงานคู่บ่าวสาวพร้อมด้วยเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเข้าร่วมพิธีด้วย จะจัดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งชิดกันเวลาจับพาขวัญให้แขนเจ้าบ่าวทับแขนเจ้าสาวเพื่อนๆ เจ้าบ่าวจะ พยายามเบียดให้เจ้าสาวนั่งชิดกับเจ้าบ่าวให้มากๆ จะมีการแกล้งเจ้าบ่าวต่างๆ นานาเป็นที่สนุกสนาน

 

การมาร่วมพิธีสู่ขวัญนี้คนโบราณได้เล่าว่าเมื่อครั้ง ๗๐ ปีก่อนบ้านเมืองอุบลฯ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการเลี้ยงไหมของขวัญผู้มาร่วมพิธีขวัญจึงเป็นไหมเส้นเป็นไจๆนับว่าเป็นของขวัญที่พอ เหมาะพอควรและไม่เคยมีการนำเอาเงินมาเป็นของขวัญไหมที่เจ้าของขวัญรับไว้ก็จะนำไปทอเป็นผ้าได้ภายหลัง

    การเชิญขวัญ ก่อนสูตรขวัญถ้ามีเวลาพอก็ให้ว่าคำเชิญขวัญเสียก่อนทุกครั้งการเชิญขวัญเป็นพิธีที่ดีอย่าง หนึ่งคือเราขอความสำเร็จความศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดา อินทร์ พรหม ผู้มีอิทธิฤทธิ์มาประสิทธิ์ประสาทพรให้จะได้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้สวดและผู้ฟังไม่ใช่คนมีอิทธิฤทธิ์เมื่อ เราขอท่านท่านก็คงเมตตาประทานให้ตามคำขอ

     คำเชิญขวัญ คำเชิญขวัญนั้นมีหลายสำนวนไม่มีแบบตายตัว ต่างหมอต่างสรรหาสำนวนที่เห็นว่า เหมาะกับเหตุการณ์เช่น คำเชิญขวัญสำหรับบุคคลธรรมดา ก็อีกสำนวนหนึ่ง สำหรับเชื้อพระวงศ์ก็อีกสำนวน หนึ่งเป็นต้น

การผูกแขนหรือข้อมือ

เมื่อพราหมณ์สูตรขวัญจบแล้วญาติพี่น้องจะเอาข้าว ไข่ กล้วย ใส่มือเจ้าของขวัญมือซ้ายหรือมือขวา ก็ได้ให้พราหมณ์ผูกข้อมือให้ก่อนปกติจะผูกข้อมือซ้ายเพราะแขนซ้ายถือเป็นแขนขวัญ เป็นแขนที่อ่อนแอใช้งาน หนักไม่ได้ เป็นแขนที่น่ารักทะนุถนอม ในเวลาผูกข้อมือนั้นทุกคนยื่นมือขวาออกไปพยุง (โจม) แขนของเจ้าของ ขวัญที่พราหมณ์กำลังทำพิธีผูกข้อมือให้ถ้าอยู่ห่างก็ยื่นมือจับแขนหรือแตะตัวกันต่อๆ มาเป็นเส้นสายเหมือน เชือกส่อแสดงถึงความสัมพันธ์ทางกายและใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วตั้งจิตอธิฐานขอให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญมีความ สุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญประนมมือไหว้ผู้ให้พร เป็นการรับเอาพร เมื่อพราหมณ์ผูก เสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นโอกาสของญาติมิตรทั่วๆไปจะเข้ามาผูกข้อมือให้กับเจ้าของขวัญ

ด้ายผูกแขน (ด้ายผูกข้อมือ) ถือเป็นของดี ของศักดิ์สิทธิ์ควร รักษา ไว้อย่าพึ่งดึงทิ้ง ให้ล่วง ๓ วันเสียก่อนจึงดึงออกเวลาทิ้งอย่าทิ้ง ลงที่สกปรก เพราะด้ายผูกแขนเป็นของขาวของบริสุทธิ์ เป็นจุดรวมแห่งจิตใจบริสุทธิ์หลาย ดวงจึงควรรักษาไว้ให้ดี ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟังว่าด้ายผูกแขนที่เก็บรักษา ไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันอันตรายได้เช่น มีโจรมาปล้น อธิฐานขอให้จิต ทุกดวงช่วยก็ปลอดภัยจากอันตรายได้และเป็นเสน่ห์ดึงดูดจิต ใจให้คนรัก-ใคร่ชอบ พอได้

การผูกแขน (ผูกข้อมือ) การผูกแขนที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่เจ้าของ ขวัญควรประกอบ

ด้วยองค์ ๔ คือ :-

- ผู้ผูก หรือพราหมณ์

- ผู้รับผูก หรือเจ้าของขวัญ

- ผู้เกี่ยวข้อง คือญาติมิตร

- คำกล่าวขณะที่ผูก

คำกล่าวขณะที่ผูก   เป็นคำเรียกร้องเชิญขวัญซึ่งเป็นคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน สุภาพ เรียบร้อยมีความหมาย ไปในทางที่ดีงาม

 

โอกาสจัดพิธีสู่ขวัญ มีหลายโอกาสเช่น คารวะพระพุทธรูป บายศรีพระสงฆ์ สู่ขวัญแม่ออกกรรม (คลอดบุตรออกไฟ) สู่ขวัญเด็กน้อย สู่ขวัญเฮือน สู่ขวัญคนธรรมดา สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญหลวง สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญขึ้นเล้า (ยุ้ง) สู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญวัวขวัญควาย

      จะเห็นได้ว่าพิธีสู่ขวัญนี้เป็นประเภท “ขนบประเพณี” คือประเพณีชาวอีสานได้เคยตั้งหรือร่างเป็นระเบียบแบบ แผนขึ้นไว้เป็นธรรมดาของประเพณีที่อาจมีส่วนปลีกย่อย แปลก แตกต่างกันออกไปบ้างในลักษณะของการพัฒนาเป็นลักษณะของความเจริญให้เหมาะสมกับกาลสมัยแต่ส่วนสำคัญ อันเป็นมูลฐานของประเพณีนี้ก็ยังคงอยู่และเป็นหน้าที่ของพวกรุ่นต่อไปจะเป็นผู้รับช่วงระวังรักษาไว้ให้มรดก อันสำคัญนี้ยั่งยืนสืบไป เพื่อแสดงความเก่าแก่ของชาติบ้านเมืองเรา…ฯ

 

คำสูตรขวัญคู่บ่าวสาว

ศรี ศรี มื้อนี้แม่นมื้อดี มื้อเศรษฐีอะมุตตะโชค โตกใบนี้แหม่นโตกไม้จันทน์ ขันอันนี้ แหม่นขันวิเศษ ผู้เหนือเกษป่อนลงมา เทวดาเอามาสู่ เอามาอยู่ในเคหา สองสามีภรรยาจักได้เกิด พระอินทรเปิดส่องพระแจ พระพรหมแลเผยพระโอษฐ์ ว่ามื้อนี้หายโทษทั้งมวล บรบวรทุกอย่าง ผู้เป็นช่างแต่งพาขวัญ มีทั้งมวนหมากเหมี่ยง พาขวัญเที่ยงใบศรี งามแสนดีเจ็ดชั้น แถนพ่อปั้น แต่งมานำ มีเงินคำพันไถ่ เอามาใส่พาขวัญ บรบวรถ่วนถี่ งามเอาหนี่จั่งเมืองแมน

     ฝ้ายผูกแขนห้อยระย้า มาจากฟ้าเมืองพรหม มาเชยชมสององค์อ่อน เข้าบ่อนนอนหมูน หมอน สองเนานอนแขนก่าย ทั้งสองฝ่ายตกลง สองอนงค์ลูกของแม่ มาแหนแห่เฮือนหอ โคตรวงศ์ ยอขันโตก ถึกโฉลกเหลือตา ยกลงมาตั้งใส่ ขันโตกใหญ่ทองคำ เพชรมานำพลอยต่อ นิลมาก่อ ประดับนำ เงินและคำเต็มถาด หลายแสนบาทสินดอง เอามาฮองตกแต่ง บ่ได้แบ่งปันไผ สองหัวใจ มาอยู่ฮ่วม มาอยู่ร่วมเป็นหนึ่งแผ่นทอง คนทั้งสองสมเผ่า เป็นคู่เก่านำมา สองขวัญตามาพบพ้อ จั่งให้พ่อมาขอ จั่งได้ยอขันหมาก ไขคำปากว่าตกลง สมประสงค์ทั้งสองฝ่าย เอาขาก่ายเมียแพง

ผู้เป็นผัวอย่าแข็งคำเว้า เห็นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าให้ยำเกรง ผู้เป็นเขยอย่าเสงเสียงปาก อย่า ไปถากคำจา คันไปไฮ่กะให้มา คันไปนากะให้ต่าว ฝั้นเชือกข่าวงัวควาย อยาตื่นสายลุกยาก อย่าได้ ปากเกินตัว ผู้เป็นผัวให้ฮักเมียจนแก่ ให้คือแม่ของโต อย่าพาโลเลาะบ้าน อย่าขี้คร้านนอนเว็น อย่า ไปเห็นสาวแก่ อย่าไปแก่กว่าวงศ์ อย่าไปโกงใส่โคตร อย่าเว้าโพดคันเห็น เฮ็ดบ่เป็นให้ถามไถ่ อย่า ไปใหญ่กว่าลุง อย่าไปสูงกว่าป้า อย่าไปด่าวงศ์วาน อย่าไปพาลพี่น้อง อย่าไปฟ้องซุมแซง

ผู้เป็นเมียอย่าแข็งปากเว้า ตื่นแต่เช้าก่อนผัวโต อย่าเสียงโวสุยเสียด อย่าไปเคียดไววา คันไปไฮ่กะ ฮีบมา คันไปนากะฮีบต่าว เห็นผู้บ่าวอย่าแซนแลน แซนแลน ยินเสียงแคนอย่าไปฟ้อน อย่าไปย้อนใส่เสียง กลอง อย่าจองหองใส่ปู่ย่า อย่าไปด่าอาวอา คันไปมาให้คมเขี่ยม อย่าให้เสื่อม ซุมแซง อย่าไปแฮงฟืดฟาด อย่า ประมาทปู่ย่าโต อย่าไปโสความเก่า อย่าไปเล่าความเดิม อย่าไป เสริมผู้อื่น อย่าไปตื่นเสียงคน อย่าไปวนของ เผิ่น คันเผิ่นเอิ้นจั่งขาน คันเผิ่นวานจั่งส่อย

ให้ไปค่อยมาค่อย เห็นโคตรเห็นวงศ์ อย่าไปโกงเถียงพ่อเถียงแม่ เห็นคนแก่ปากเว้าจาไข อย่าจัญไร ป้อยผีป้อยห่า อย่าไปด่าพี่น้องทั้งผัว อย่าเมามัวสุราเบี้ยโบก ยามขึ้นโคกหาฟืนหาตอง อย่าเสียงหองร้องเพลง แอ๋นแอ่น อย่าได้แล่นป๋าหมู่ป๋าฝูง คันเห็นลุงให้ว่ากะบาด อย่าได้ขาดความ เว้าขานไข ไปทางได๋อย่าได้ช้า คันเห็นป้าให้ว่าคือลุง อย่าหัวสูงไปหมอบมาหมอบ อย่าว่าปอบผีห่า ผีภู อย่าซูลูเอาของบ่อบอก อย่ากลับกลอกปู่ ย่าวงศา ยามไปมาให้วนเวียนแว่ ฮักคือพ่อคือแม่ปู่ย่า ของโต อย่าพาโลต๋อแหลหลอนหลอก อย่าไปบอกใช้สิ่งเอาของ ผิดูธรรมนองครองของลูกใภ้ กว่าสิได้ลูกเผิ่นมาแยง อย่าเว้าแข็งคำหวานโอนอ่อน

    ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญสองเจ้าให้มาถ่อนมาอยู่นำกัน อย่าไปปนคนธรรพ์ในป่า อย่าไป ท่าน้ำหลากไหลแฮง อย่าไปแยงผาชันพันยอด ว่ามาเยอขวัญเอย สองเจ้าจ่งมากอดเป็นมิ่งสาย แนน เอาสองแขนจับกันไว้แน่น ขวัญเจ้าแล่นไปไกล ขวัญเจ้าไปในป่า ขวัญเจ้าหนีลงท่าไปเฮือ ขวัญเจ้าไปเมืองเหนือและเมืองลุ่ม ขวัยเจ้าไปอยู่พุ่มเฟือยหนาม ขวัญเจ้าไปนาทามนาฮ่อง ขวัญ เจ้าไปหลงป่องทางมา ขวัญเจ้าไปตามหาสาวบ่าว ขวัญบ่ต่าวคืนมา ขวัญไปคาอยู่ในเงื้อม อยู่ใน เหลื่อมผาชัน กะให้มาสามื้อนี้วันนี้

     ขวัญเจ้าไปอยู่ลี้เมืองหงสา ขวัญบ่มาอยู่พม่า ขวัญไปค้าอยู่เมาะลำเลิง ขวัญไปเหิงบ่ต่าว กะให้มาสามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปอยู่ถ้ำเมืองแกวไม้ล้มแบ่ง ขวัญเจ้าไปแห่งแห้งทางก้ำฝ่ายเขมร กะให้มาสามื้อนี้วันนี้ ขวัญเจ้าไปทางก้ำเมืองเชียงตุงจีนตาด ขวัญเจ้าไปชมตลาดกว้างกวางตุ้ง ให้ดุ่งมา ขวัญเจ้าไปหาค้นแพรลาย ๆ พายถงย่าม เห็นงาม ๆ อย่าได้ใกล้ไปแล้วให้ต่าวมา ว่ามา เยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปทางใต้เมืองสุไหงตัดท่ง เมืองเบตงอยู่หย่อน ๆ อย่านอนค้างให้ต่าวมา

    ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญแข่งให้เจ้าย่างลีลา ขวัญขาให้เจ้ามาลีล้าย ๆ มานอนนำอ้าย ผู้เป็นผัว มากินนัวจ้ำป่น ผัวพาก่นขุดตอ ผัวพายอเงินล้าน มาอยู่บ้านดอมกัน ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญสองเจ้าเฮ็วพะลันมาด่วน พากันชวนฮ่วมห้องนอนซ้อนหน่วยหมอน มาอยู่ซ้อนซอนห่มลม หนาว ว่ามาเยอขวัญเอย เมียนอนต่ำ ผัวให้นอนสูง เตียงไม้ยูงพ่อแม่แต่งไว้ เผิ่นแต่งให้ม่านใส่ทั้ง สอง หมอนมาฮองเฮียงกันเป็นคู่ เผิ่นให้อยู่นำกันอย่าหนี หลายนานปีจนแก่จนเฒ่า ขวัญหมู่เจ้าให้ แล่นมาเยอ

    ว่ามาเยอขวัญเอย มาอยู่เฮือนหลังใหญ่ เผิ่นปลูกใส่เป็นเฮือนหอ เผิ่นปลูกยอเป็นของ อ่อน ปลูกไว้ก่อนคอยบุตตา พากันมาอย่าชักช้า มาอยู่ห่มเฮือนงาม มาอยู่ผามหลังอาจ แม่ปูสาด ทั้งหมอนลาย ของกินหลายเหลือหลาก บ่อึดอยากแนวใด๋ ว่ามาเยอขวัญเอย มาไว ๆ มาหาพ่อ มาหาแม่ พวกเฒ่าแก่อาวอาเผิ่นกะมาคอยอยู่ มาฮอดปู่คอยหลาน ว่ามาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไป อย่าอยู่นาน อย่าไปพาลกับหมู่ จงมาอยู่ดอมกัน จวงจันท์หอมตกแต่ง กาบบัวแบ่งอยู่ซอนลอน ตาออนซอนเตียงตั่ง มีบ่อนนั่งเซามีแฮง คอยจอมแพงสองหน่อ ปานแถนหล่อแถนลอ มาโฮงหอ อย่าได้ช้า ทั้งช้างม้าแลงัวควาย ตาเว็นสวยมันสิฮ้อน ให้มาก่อนอย่าไปไกล อย่าไปใสตาเว็นค่ำ ตกใต้ต่ำมัวเมา

ว่ามาเยอขวัญเอย จงมาเซานำพ่อ จงมาก่อแบ่งสาน มาอยู่ซานอย่าห่าง อยู่ตะหล่าง เฮือนโต ว่ามาเยอขวัญเอย มาเชยชมในห้องเตียงทองบ่อนเผิ่นแต่ง สองจอมแพงให้ต่าวโค้ง มา ถ่อนอย่าสุนาน จงสำราญด้วยคาถาว่า อเนกเตโช ไชยะตุ ภะวัง ไชยะมังคะลัง สุขังพะลัง อาวาหะ วิวาโห สุมังคะโล โหตุ สาธุฯ

คำผูกแขนแต่งงาน

 

ผูกแขนฝ่ายชาย ศรี ศรี วันเดือนปีข้ามล่วงแล้ว จนลูกแก้วใหญ่สูง ฝูงป้าลุงและพ่อแม่ ทั้งเฒ่าแก่และตายาย มากันหลายพร่ำพร้อม มาโอบอ้อมจัดแต่งงาน ตามกาลเวลาแถน กำหนดไว้ แต่งแล้วให้ประพฤติธรรม จั่งสินำครอบครัวไปม้มฝั่ง ให้มีใจดุจดังแม่น้ำในนที อันมีคุณสมบัติ 4 ข้อ

ข้อ 1. นั้น น้ำสะอาดบริสุทธิ์ คันแม่นเฮาลงมุด สะอาดดีโดยแท้

ข้อ 2. นั้น น้ำหากปรับโตได้ เป็นหยังได้ทุกอย่าง ฮูเล็ก ๆ น้อย ๆ ไหลเข้าได้สู่แจ

ข้อ 3. นั้น น้ำหากเย็นแท้ แก้หอดหิวกระหาย กินลงไปหอดหิวหายจ้อย

ข้อ 4. นั้น น้ำหากสามัคคีแท้รวมกันโดยง่าย เอามีดตัดซ๊วบแล้วประสานเข้าได้ ง่ายดาย

ทั้ง 4 ข้อ ดีงามยอดยิ่ง ขอให้ใจพวกเจ้าคือน้ำจั่งแม่นครอง อุ อะ มุ มะ มูล มา มหา มูลมัง สะวาหุมฯ

ผูกแขนฝ่ายหญิง โอมแม่คนดียอดแก้ว ผู้เลิศแล้วชื่อว่าแม่ธรณี เป็นผู้มีฤทธีอานุภาพ แม่ หากปราบพญามาร ได้ร่วมบุญสมภารของพระพุทธเจ้า มื้อพระเจ้าตรัสส่องสรญาณ ฮีดผม เป็นน้ำท่วมพญามารจมจุ่ม น้ำทุ่มท่วมมารล้มท่าวตาย

อันหนึ่งนั้นแม่หากมีใจกว้างเปรียบแผ่นธรณี แม่นสิมีผู้ขี้ผู้ขุดผู้ก่น เหยี่ยวใส่พร้อม น้ำลายซ้ำถ่มแถม แม่บ่ได้เคียดคล้อยชังเกลียดคนใด ขอให้เจ้าคือแม่ธรณี จั่งสิเป็นคนดี ครอบครองสมบัติได้ จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ สาธุ

คำผูกแขนบ่าว ขันติโก เมตะวา ลาภี ยะสะสี สุขะสีละวาปิโย เทวะมะนุสสานัง มะนาโป โหติ ขันติโก ฝ้ายอันนี้บ่อแม่นฝ้ายเมืองคน พระอินทร์โยนมาแต่ฟากฟ้า เผิ่นบอกว่าผูก แขนชาย ผู้เป็นนายของหมู่ ทุกคนอยู่ในครอบครัว หวังเผิ่งผัวผู้ออกหน้า เจ้าอย่าได้ตามหลังเมีย เฮ็ดเอียเคีย เอียเคียคือผู้แม่ ชายบ่แท้ครอบครัวจน ให้เจ้าเป็นคนชายแท้ ให้ผาบแพ้ทุกประการ ใจห้าวหาญคือจอมปราชญ์ สร้างเคหาสน์ให้ฮุ่งเฮือง สิบหัวเมืองมาช่วยค้ำ ทุกค่ำเช้าให้เจ้าอยู่ สวัสดี เป็นเศรษฐีบ่ไฮ้ ให้เจ้าได้ดังคำปรารถนา ชะยะสิทธิ ชะยะสิทธิ ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง อุ อะ มุ มะ มูลมา มะหามูลมัง สะวาหุมฯ

คำผูกแขนสาว สะขี ภะริยา สะทา โหตุ สัพพะ โภคา จะระตะนา สัพพะทา ภะวันตุ โว ฝ้ายอันนี้แม่นฝ้ายอินทร์แปลง เผิ่นแบ่งมาแต่ภูเขากาด เอามาพาดแขนเจ้าทั้งสอง สมบัตินองไหลมาบ่อขาด อย่าประมาทชายที่เป็นผัว ให้เกรงกลัวคือพ่อคือแม่ อย่าข้องแหว่ชายอื่น บ่ดี หน้าที่มีให้เจ้าตกให้แต่ง ให้เจ้าแต่งภาชน์แลงภาชน์งาย อย่าเบิ่งดายนิสัยขี้คร้าน ให้ชาวบ้าน ติฉินนินทา สมบัติมาหนีไปเหมิดจ้อย ให้เจ้าค่อยสู้อดสู้ทน อยู่บ่ดนเจ้าสิเฮืองสิฮุ่ง ให้เจ้าเฮืองฮุ่ง คือแสงตาเว็น เคราะห์อย่าได้เห็น เข็ญอย่าได้พ้อ ให้มีอายุมั่นขวัญยืน ฮ้อยขวบพันวสา.

สู่ขวัญแบบอีสาน

 

       การสู่ขวัญ  ชาวอีสานของเราจะมีความเชื่อว่าในร่างกายของคนเรานั้นประกอบด้วยอวัยวะครบ 32 ส่วน  และแต่ละส่วนก็จะมีขวัญอยู่ประจำ หากเกิดเหตุเภทภัยอะไรขึ้นที่ได้รับความกระทบกระเทือนตกใจไม่ว่าดีใจหรือเสียใจก็จะทำให้ขวัญนั้นออกไปจากร่างกาย จะเกิดให้มีการเจ็บป่วยบางครั้งก็จะถึงกับเสียชีวิตในที่สุด

        ดังนั้นเพื่อเป็นการเรียกขวัญให้กลับคืนมาสู่ร่างกาย ชาวอีสานจึงได้มีพิธีกรรมโดยญาติพี่น้องจะจัดทำพานบายศรขึ้นซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ อาหารการกิน ฝ้ายผูกแขน ประดับตกแต่งให้สวยงาม  และจะเชิญหมอขวัญหรืบางพื้นถิ่นเรียกว่าพราหมณ์มาทำพิธีกล่าวคำเชิญขวัญหรือคำสู่ขวัญ   ซึ่งเรียกกันว่าสูตรขวัญ เป็นทำนองร่าย –กาพย์  เนื้อหาก็จะเป็นการกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวเหตุนั้นๆพร้อมให้กำลัง ตลอดจนเป็นอบรมสั่งสอนการปฏิบัติตนของผู้ที่ทำพิธีให้หรือเรียกว่า  “เจ้าขวัญ” หลังจากนั้นก็จะมีการผูกแขนโดยจะมีญาติพี่น้องมาร่วมพิธีนำฝ้ายผูกแขนนำมาผูกที่ข้อมือทั้งข้างซ้ายหรือข้างขวา

       เจ้าขวัญก็จะรับพรจากคนผูกแขนโดยจะยกมือข้างหนึ่งขึ้น  แบมือไว้ด้านหน้าระดับเหนืออก เหมือนกับไหว้แต่ปล่อยมือลงข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งก็จะยื่นออกไปข้างหน้าแบมือ  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมือด้านขวาและมือนั้นก็จะข้าวเหนียวนึ่ง ไข่ไก่ ข้าวต้ม ไก่ ฯลฯ มาวางบนมือที่แบรับ  ลำดับแรกก็จะให้หมอเชิญขวัญผูกก่อน ตาด้วยผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วมพิธี แล้วก็ตามด้วยญาติมิตรคนอื่นๆต่อไป

       การรับขวัญหรือรับพรของญาติพี่น้องที่สนิทของเจ้าขวัญ อาจจะเป็นพ่อแม่ ลุงป้าน้า อา สามี ภรรยา หรือทุกคนที่มาร่วมพิธีพอคนหนึ่งผูกแขนก็จะยื่นมือข้างขวาแบโดยหงายฝ่ามือขึ้น จับด้านล่างแขนของเจ้าขวัญเหนือข้อแขนเรื่อยไปจนถึงข้อศอกในกรณีหลายคน  หรือคนที่อยู่ห่างออกไปจะจับต่อคนที่จับเจ้าขวัญต่อกันไปก็ได้

           มีบางพื้นถิ่นปฏิบัติยังคลาดเคลื่อนในการรับขวัญโดยคิดว่า “ถ้าสู่ขวัญกินดองคนที่เป็นสามี หรือเจ้าบ่าวเวลาญาติพี่น้องผูกผู้รับพรที่เป็นเจ้าบ่าวต้องคว่ำมือจับข่มแขนเจ้าสาวไว้ด้านบน หากจับรับด้านล่างจะเป็นคนที่หมดอำนาจ ภรรยาจะข่ม ซึ่งข้อนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง  เพราะผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้รู้หลายๆท่านแล้ว

   การสู่ขวัญไม่ใช่การจะมาแข่งขันอำนาจซึ่งกันและกันเป็นพิธีมงคลเป็นสิริมงคลให้กับคู่บ่าวสาว    การรับขวัญหรือรับพรก็ต้องแสดงถึงความเคารพรับเอาพรที่ผู้ผูกแขนมอบให้โดยการ “หงายฝ่ามือขึ้นรับ” เพื่อให้พรนั้นเข้าไปสู่ตัวเรา   การจับคว่ำมือเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้ให้พร เป็นการข่ม ไม่ให้เกียรติ หรือเป็นการไม่ยอมรับคำอวยพรของผู้ให้พร ไม่มีความอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่งจึงห้ามกระทำโดยเด็ดขาด

         สำหรับการสู่ขวัญตามประเพณีภาคอีสานนั้น เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการเตือนสติอบสั่งสอนฮีตคลองของชาวอีสานในเหตุการณ์ต่างๆในช่วงชีวิตของแต่คละคน อาทิ  เมื่อเติบโตขึ้นถึงอายุที่จะบวชก็จะมีพิธีกรรมการสู่ขวัญก่อนจะนำไปบวชเรียกว่าสู่ขวัญนาค ซึ่งคำสู่ขวัญก็จะกล่าวถึงการกำเนิด การเลี้ยง ความรักของพ่อแม่ก็คือสร้างจิตสำนึกให้คนที่จะบวชได้รับรู้เรื่องราวความรัก การเอาใจใส่ ความเพียรพยายาม ความยากลำบากของพ่อแม่ที่เฝ้าเลี้ยงดูลูกจนเติบใหญ่ จึงอยากให้ลูกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหลักธรรมคำสอนเพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีวิตให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข โดยจะมีญาติพี่น้อง ผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะอวยพรและนำมาว่ากล่าวให้ในขณะผูกแขน

        พอหลังจากบวชเสร็จก็จะมีการสู่ขวัญพระใหม่ซึ่งก็เป็นการปฐมนิเทศพระที่บวชใหม่ให้ประพฤติปฎิบัติตนให้เหมาะสมตามจารีตประเพณีตามกิจของสงฆ์นั่นเอง   จึงนับได้ว่าการสู่ขวัญของชาวอีสานนั้นผูกพันตลอดชีวิตในแต่ละช่วงตอนของชีวิต  หากเกิดการเจ็บป่วยก็จะให้กำลังใจ  ดีใจได้รับตำแหน่งใหม่ เลื่อนยศตำแหน่ง แม้แต่การแต่งงาน  ตกอกตกใจก็จะจัดพิธีสู่ขวัญให้ สรุปก็คือเป็นการแสดงความปรารถนาต่อกันในชุมชน ให้มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันของญาติพี่น้อง  รวมทั้งการแสดงถึงความห่วงใย ความผูกพันหวังดีของผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเดียวกัน หรือหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีต่อลูกหลาน หวังให้เป็นคนดีเป็นศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูล ตลอดจนเป็นชื่อเสียงของหมู่บ้าน ชุมชน   ตลอดจนเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนและประเทศชาติในระดับต่อไป.

           ประเพณีการสู่ขวัญจึงเป็นพิธีที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงควรที่จะนำมาศึกษาถึงวัตถุประสงค์ ขั้นตอนพิธีกรรม ให้เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์  นำมาเผยแผ่ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งในการปฏิบัติตามพิธีกรรม ไม่ใช่เป็นการกระทำเล่นๆมักง่ายไม่ได้ให้ความสำคัญ  ขาดการสืบสานอนุรักษ์ก็จะทำให้ผิดวัตถุประสงค์เป้าหมายของบรรพบุรุษที่ได้อุตส่าห์พยายามค้นคิดแนวปฏิบัติสิ่งที่ดีงามไว้ให้ลูกหลาน แต่ลูกหลานกลับไปหลงระเริงในสิ่งที่เป็นเรื่องบันเทิงเริงรมย์ ความสะดวกสบาย มักง่าย เห็นแก่ตน จนลืมนึกถึงความเป็นและเหตุผลในการดำรงชีวิตซึ่งก็จะนำความหายนะมาสู่ตนเองในที่สุด

หมายเหตุ  คำสู่ขวัญจะได้หามานำเสนอในโอกาสต่อไป   ขอบคุณครับ

คำให้พรเวลาผูกแขน

คำให้พรเวลาผูกแขนผู้หญิง

         ให้ขวัญเจ้าอยู่เฮือนแผ่นแป้นหญ้าแฝกมุงหนา   ให้ขวัญเจ้าอยู่เฮือนแผ่นแป้นหญ้าคามุงถี่

ให้ขวัญเจ้านุ่งซิ่นหมี่ใส่ฟืมซาวฯ

คำให้พรเวลาผูกแขนผู้ชาย

        ผูกแขนซ้ายให้ขวัญมา   ผูกแขนขวาให้วัดถังยืนย้อน   ค่าคำพรพอแสน  หัวแหวนทองเทศน์

ทุกขอบเขตหงสา    ให้ทรัพย์ไหลมาเทมาอย่าให้ขาด   เหมือนดังน้ำอโนมานที   กินอย่าได้บก

จกอย่าได้ลง  นอนหลับให้ได้เงินพัน  นอนฝันให้ได้เงินหมื่น  นอนตื่นให้ได้เงินแสน  แบนมือไปให้เจ้าได้แหวนค่าล้าน  ครันเจ้าย้ายจากบ้านให้เจ้าพบแต่ขุมเงินขุมคำฯ

คำให้พรเวลาผูกแขนคนทั่วไป

       เอ้อ.....มาเดอขวัญเอย  ขวัญนาง  ขวัญนาย..... ขวัญแขแข้ง  ขวัญขา ขวัญตา  ขวัญเนื้อ ไปไฮ่กะให้มา  ขวัญไปนากะให้มาอยู่บ้าน  ขี้คร้านนอนอยู่เฮือน  ให้เจ้าอยู่ดีมีแฮง  ใหญ่เพียงตออย่าหัก  ใหญ่เพียงหลักอย่าโค่น  อย่าได้หม่นเมืองตอง  อย่าได้หมองเมืองเก่า  อย่าได้เศร้าเสียศรี  ให้เจ้าอายุมั่นขวัญยืน  ให้พ่อแม่ได้เพิ่งได้พิง  สาธุ อายุ วัณโณ  สุขัง  พลังฯ

คำให้พรเวลาผูกแขนคนทั่วไป

      สิทธิชะโย  สิทธิชะโย  ขอให้มีชัยชนะผาบแพ้(ชนะ) ข้าเศิกศัตรู  ผู้หลักให้เอาสินมาให้  ผู้ใบ้ให้เอาเงินมาปัน เจ้าเนอ  นอนหลับให้ได้เงินพัน  นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น  นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบนมือไปให้เจ้าได้แก้วมณีโชติ  โทษฮ้ายให้หายเสีย  ทางใต้ให้มีผู้ซ่อยเฮือเจ้าเนอ          ทางเหนือให้มีผู้ซ่อยช้างเจ้าเนอ  สองฟากข้างให้มีผู้มาซ่อยดอกไม้เงินคำ อุอะ  มุมะ  มูลมา   มูลัง โหตุ ฯ

หมายเหตุ  คำอีสานคำว่า “แพ้” หมายถึงชนะ   คำว่า”ผาบ” หมายความว่า “ปราบ




ประเพณีอีสาน

เลาะเบิ่งพระธาตุแดนอีสานเหนือ article
เลาะเบิ่งแดนอีสาน article
ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก
ประเพณีบุญเข้ากรรม
ประเพณีการลำผีฟ้า (แถน)
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา
ประเพณีถวายเทียนพรรษา article
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ประเพณีการผูกเสี่ยว
ประเพณีกินดอง (การแต่งงาน)
ผาชะนะได
ประเพณีเข้ากรรม
ภูลังกา
พระธาตุเรืองรอง
ประเพณีฮดสรง
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ทุ่งดอกกระเจียว article
หม่องนั่งเซาเหมื่อย
วรรณกรรมอีสาน
ธรรมชาติแดนอีสาน



Copyright © 2010 All Rights Reserved.