วัดสระเกตุ
อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ตั้งอยู่ตำบลน้ำคำ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2469 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วิหารและอุโบสถได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ อาคารที่สำคัญ โดยกรมศิลากรได้เข้าบูรณะซ่อมแซมสิมและวิหารของวัดสระเกตุเมื่อปี พ.ศ. 2543 ได้แก่ วิหาร (อาฮาม)และอุโบสถ (สิม)รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศิลปะลาวและศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นับเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาอันมากล้นของชาวบ้านที่มีต่อพระพุทธศาสนาวิหาร (อาฮาม) แต่เดิมเป็นอุโบสถ ต่อมาได้ถอนพัทธสีมาออกแล้วใช้เป็นวิหารโดยชาวบ้านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนตั้งอยู่คู่กันทางทิศเหนือ ขนาดของวิหารกว้าง 8.5 เมตร ยาว 9 เมตร หันหน้าทางทิศตะวันออก เป็นวิหารทึบ ฐานปัทม์ยกสูงแบบที่เรียกว่าฐานแอวขันมีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) และบันไดสำหรับพระสงฆ์ทางด้านข้าง (ทิศใต้)ใกล้กับฐานชุกชีมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ ที่ผนังด้านข้าง ด้านละ 1 บาน หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดปัจจุบันพังชำรุด ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงแทน หน้ามุขตกแต่งด้วยลายฮังผึ้ง (รวงผึ้ง)และไม้จำหลักลวดลายพรรณพฤกษา ภาพกลางเป็นภาพมาร (ราหู) อมจันทร์อุโบสถ (สิม)ตั้งอยู่คู่กับวิหารสร้างขึ้นในภายหลังระหว่างปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)หรือต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นสิมโปร่ง ฐานปัทม์ยกสูงแบบแอวขัน ด้านหน้าโล่ง ผนังด้านข้างและด้านหลังก่อด้วยอิฐ มีช่องหน้าต่างเล็กๆ ที่ผนังด้านข้างด้านละ 2 บาน หลังคาเดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเช่นเดียวกับวิหาร ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงคลุมอาคารเอาไว้ หน้ามุขสลักลวดลายเถาไม้ ลายพรรณพฤกษา และราหูอมจันทร์ ส่วนหน้าบันทำเป็นลายตาเวนหรือตะวัน สิมสร้างขึ้นภายหลังระหว่างปลายรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดสระเกตุ
สิมวัดสระเกตุ คือโบสถ์เก่าแก่ที่ชาวอีสานเรียกว่าสิม ปกติจะมีขนาดเล็กเพราะสร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อน มักจะมีอยู่หลังเดียวใน 1 วัด ส่วนสิมคู่ ที่อยู่ในวัดสระเกตุ บ้านน้ำคำ ต.น้ำคำ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หมายถึง โบสถ์ 1 หลัง และวิหาร 1 หลัง สร้างในลักษณะและขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก วัดสระเกตุสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช่วงที่กลุ่มชนวัฒนธรรมไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณเมืองท่ง หรือเมืองทุ่ง คืออำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน วิหารที่เห็นในปัจจุบัน เดิมใช้เป็นสิม (โบสถ์) เป็นอาคารทึบฐานเป็นแบบเอวขัน มุขหน้าทำเป็นเครื่องไม้ประดับ แกะสลักลวดลายรูปราหูอมจันทร์ และลายพรรณพฤกษางดงามตามแบบพื้นถิ่น ส่วนสิมตั้งอยู่ทางทิศเหนือคู่กับวิหาร สร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เป็นอาคารโปร่งฐานสูง มุขหน้าแกะสลักลายเหมือนกับวิหาร ต่อมากรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะวิหารและสิม วัดสระเกตุในปี 2543ด้วยเหตุที่วิหารเดิมทีเป็นโบสถ์มาก่อน ทำให้ทั้งสองหลังดูเหมือนกันมากอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ หลายๆ คนจึงเรียกว่า สิมคู่
วัดสระเกตุ เป็นวัดที่สะกดด้วย ตุ แค่แรกเข้ามาในวัดเห็นชื่อวัดก็แปลกใจนิดๆ ที่การสะกดคำไม่เหมือนกับวัดสระเกศ หรือ วัดสระเกษ ที่เราคุ้นเคย แต่ก็ทำให้เราจำชื่อวัดนี้ได้แม่น เข้ามาด้านในจะเห็นอาคารเก่าแก่เล็กๆ 2 หลังเรียงกัน
วิหาร สิม อันดับแรก มาดูวิหารที่อยู่ใกล้กว่ากันก่อน ด้านหน้ามีแผ่นไม้แกะสลักใหญ่ๆ ลายแกะสลักสวย ประดับด้วยอะไรหลายอย่าง เรียกว่า หน้าบัน ไม่ว่าจะเป็นวิหารหรือโบสถ์ที่อยู่ด้านข้างก็สร้างฐานสูงเหมือนกันทั้งคู่
ตามประวัติบอกไว้ว่าวิหารสร้างก่อนสิม และวิหารก็เคยใช้เป็นสิมมาก่อน หน้าบันที่สร้างดูใหญ่และสวยกว่าสิมหลังที่ 2
หลวงพ่อใหญ่ วัดสระเกตุ ตามธรรมเนียมของการสร้างวัด ไม่รู้ว่าเริ่มกันมาแต่ช่วงไหน หากว่าในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญๆ ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านมากๆ จะประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นไว้ในวิหาร มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะประดิษฐานไว้ในโบสถ์ และวัดที่ประดิษฐานพระศักดิ์สิทธิ์ไว้ในโบสถ์ มักจะไม่มีวิหาร ชาวบ้านเล่าว่าทุกคนศรัทธาเคารพพระพุทธรูปในวิหารหลังนี้เป็นอย่างมากเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อใหญ่ ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีเขียนไว้อย่างชัดเจน เลยไม่แน่ใจว่าสร้างขึ้นก่อนที่จะสร้างสิมหลังที่ 2 หรือเปล่า วัดสระเกตุเปิดให้เข้าไปไหว้พระทั้งในวิหาร และในสิม แต่ชาวบ้านจะคอยบอกนักท่องเที่ยวอยู่ตลอดว่าให้ไหว้พระหลวงพ่อใหญ่ในวิหารให้ได้
สิม วัดสระเกตุ หลังจากชมวิหารไหว้หลวงพ่อใหญ่ขอพรเป็นสิริมงคลแล้ว เดินมาอีกหน่อยเข้าสิม หรือโบสถ์ ที่สร้างในสมัย รัชกาลที่ 4 ดูแผ่นไม้แกะสลักหรือหน้าบันก็จะเห็นความแตกต่างของลายแต่ก็บ่งบอกว่า หน้าบันคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของโบสถ์ วิหาร และอาคารต่างๆ ในวัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด https://www.namkom.go.th/event-11.html
ภาพถ่ายโดย ประสม บุญป้อง