วัดมโนภิรมย์
วัดมโนภิรมย์ หมู่ ๑ บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

วัดมโนภิรมย์ หมู่ ๑ บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร วัดมโนภิรมย์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยท้าวคำสิงห์และญาติพี่น้องรวมทั้งบริวารที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งลาว พร้อมกับการตั้งบ้านชะโนด เดิมชื่อวัดใช้ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้านและชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านพื้นที่ทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขงทางทิศตะวันออก แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมโนภิรมย์ ส่วนวิหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ นับเป็นแม่แบบของงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นที่สำคัญสำหรับใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ศิลปะท้องถิ่นอีสาน สิ่งสำคัญที่ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร

วิหาร ตามประวัติระบุว่า สร้างขึ้นราว พ.ศ.๒๒๙๖ โดยอาจารย์โชติ อาจารย์ขะ และอาจารย์โมข ช่างจากเวียงจันทร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๙.๔๕ เมตร ยาว ๑๖.๓๕ เมตร สูงประมาณ ๙.๖๓ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวงอนลูกแก้วอกไก่เตี้ย ๆ ตัวอาคารแบ่งออกเป็น ๕ ช่วงเสา โดยช่วงเสาแรกเป็นมุขโถงด้านหน้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้าง ๒ ข้าง ราวบันไดประดับปูนปั้นรูปสัตว์ศิลปกรรมท้องถิ่น ห้องวิหารมีขนาด ๔ ช่วงเสา ประตูทางเข้าเป็นบานไม้ เหนือกรอบประตูประดับลายปูนปั้นสวยงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกปางมารวิชัยเป็นประธานบนฐานชุกชี

ส่วนภายนอก หน้าบันด้านหน้าประดับไม้สลักลวดลาย เสาวิหารทาสี หัวเสาประดับบัวปูนปั้น ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผา กลางสันหลังคาประดับเจดีย์จำลอง มีโหง่ว(ช่อฟ้า)รูปหัวหงส์ ใบระกาและหางหงส์ม้วนงอนประดับ ทุกช่วงเสาทั้ง ๒ ด้าน ประดับคันทวยหูช้างเป็นไม้สลักลายรองรับชายหลังคา ผนังด้านข้างทำช่องแสงลูกมะหวด ๓ ช่วงเสา ส่วนช่วงเสาท้ายวิหารทำเป็นประตูทางเข้า-ออกด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ผนังด้านหลังวิหารก่อปิดทึบ ส่วนหน้าบันด้านหลังทำช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมไม่ประดับลวดลายปูนปั้น

กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี (สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้ดำเนินการบูรณะวิหารและศาลาการเปรียญวัดมโนภิรมย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ และกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดมโนภิรมย์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๓๐ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๕ ระวางแนวเขตโบราณประมาณ ๑ ไร่ ๓๔ ตารางวา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง-
https://www.finearts.go.th/nlttrang/view/34030-วัดมโนภิรมย์
ภาพโดย ประสม บุญป้อง



วัดป่าถ้ำผึ้ง ร่มรื่นกับธรรม
อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

วัดป่าถ้ำผึ้ง(ดาวดึงส์) อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอภูสิงห์ พุทธสถานวัดป่าถ้ำผึ้ง(ดาวดึงส์) เปิดให้นักท่องเที่ยวไหว้สักการะพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายใต้หน้าผา

สีทององค์ใหญ่
บรรยากาศร่มรื่นเหมาะสำหรับผู้แสวงบุญและรักธรรมชาติ ไม่ห่างจากวัดไพรพัฒนา วัดชื่อดัง
เหมาะกับสายมู
เปิดทุกวัน ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Trip.com
https://th.trip.com/moments/detail/si-sa-ket-province-24554-119956626
ภาพโดย ประสม บุญป้อง

.jpg)
วัดยอดแก้วศรีวิชัย
อำเภอเมืองฯ จังหวัดมุกดาหาร

วัดยอดแก้วศรีวิชัย หรือ ที่ชาวเมืองมุกดาหาร เรียกว่า “วัดกลาง”
ตั้งอยู่ที่ 📍 18 ไทยยานนท์ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
วัดยอดแก้วศรีวิชัย ตั้งอยู่ถนนสำราญชายโขง ได้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2369 วัดเก่าแก่กว่า 200 ปี สร้างโดยพระยาจันทร์สุริยวงษ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร
วัดติดริมแม่น้ำโขง อยู่ข้างๆตลาดอินโดจีน ด้านหน้าวิหารมีพระธาตุเจดีย์ 2 องค์ มีรูปทรงและลักษณะลวดลายสวยงามเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้
ที่จอดรถในวัดกว้างขวาง เพราะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่สามารถนำรถมาจอดได้ เมื่อจะมาเดินตลาดอินโดจีน มีค่าจอด 20 บาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Trip.com
https://th.trip.com/moments/detail/mukdahan-1447163-124773273
ภาพโดย ประสม บุญป้อง


เลาะวัดแดนอีสาน
ศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุงสาขา 9
วังน้ำเขียว นครราชสีมา

ประวัติและสถานที่น่าสนใจ ภายในศูนย์ปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุงสาขา 9 วังน้ำเขียว นครราชสีมา
ประวัติและสถานที่น่าสนใจภายในวัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว
วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว มีวิหารสำคัญๆและพระพุทธรูปที่มีสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าไปเยี่ยมชมและสักการะบูชาอยู่มากมาย ณ ปัจจุบัน(มีนาคม2564) มีการสร้างพระพุทธรูปตั้งแต่หน้าตัก 2ศอก จนถึงหน้าตัก 12ศอก รวมทั้งหมด 237 องค์ และสร้างรูปหล่อของพระอริยสงฆ์เจ้า/พระมหาโพธิสัตว์เจ้าทั้งหมด 42 องค์ ดังที่ได้เรียงลำดับไว้ในแต่ละวิหาร ต่อไปนี้ (หมายเหตุ: บางวิหารที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้อาจจะยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่ก็มีโครงการที่จะทยอยสร้างทุกๆวิหารไปเรื่อยๆ ตามกำลังทรัพย์ที่จะมีผู้บริจาคมา และกำลังของช่างประจำวัด กำลังของโยมช่วยงานประจำวัด และกำลังของโยมที่มาช่วยงานในวัดหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

วิหารแก้ว เมืองพระนิพพาน เป็นสถานที่น่าสนใจภายในวัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว อันดับแรกสุดที่ทุกคนจะพลาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปเยี่ยมชม กราบขอพรและถวายเครื่องสักการะบูชาที่ทางวัดมีจัดเตรียมไว้ให้ผาติกรรมตามศรัทธา ภายในมีพระประธานหน้าตัก10 ศอก คือสมเด็จองค์ปฐมปางพระนิพพาน(พระวิสุทธิเทพ)ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารแก้วเมืองพระนิพพาน พระประธานองค์นี้มีขนาดใหญ่และมีความงดงามตระการตา ผิวปิดแผ่นเงิน ประดับด้วยกระจกเงาและคริสตัลแพรวพราวระยิบระยับตามากถือเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมแห่งความเคารพศรัทธาของชาววัดและญาติโยมทั่วไป ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารแก้ว เมืองพระนิพพาน (หรือวิหารหลวงพ่อใหญ่) เป็นวิหารประธานตั้งอยู่ด้านหน้าฝั่งขวามือของทางเข้าวัด ฝั่งตะวันออก

1. วิหารแก้ว เมืองพระนิพพาน วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว หรือนิยมเรียกกันว่าวิหารหลวงพ่อใหญ่ เป็นวิหารประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานที่มีความสำคัญมากที่สุดของวัดคือ สมเด็จองค์ปฐมปางพระนิพพาน (พระวิสุทธิเทพ) ขนาดหน้าตักประมาณ 10 ศอก ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นประทับขนาดใหญ่ องค์พระปิดด้วยแผ่นเงิน ประดับด้วยกระจกเงาขาวใสและคริสตัล พระแท่นที่ประทับติดประดับด้วยกระจกเงาใสมีความงดงามตระการตาและระยิบระยับตามาก เฉพาะวิหารหลังนี้มีพระพุทธรูปทั้งหมด 70 องค์ และรูปหล่อพระอริยะเจ้าอีก 8 องค์
ด้านใน วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว วิหารแก้ว เมืองพระนิพพาน(ด้านขวาและด้านหลังหลวงพ่อใหญ่)รายรอบด้วยพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐมทรงกำลังแผ่นดินหน้าตัก 4 ศอก 19 องค์ และหน้าตัก 3 ศอก อีก 1 องค์คือ หลวงพ่อพุทธโสธร และหน้าตัก 2 ศอกสององค์คือหลวงปู่ปาน โสนันโท และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)ทุกองค์ติดด้วยแผ่นเงินและประดับด้วยกระจกเงาทั้งหมด ผนังและเสาของวิหารภายในทั้งหมดซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่มาก ก็ล้วนติดประดับด้วยกระจกเงาทั้งหมด
ด้านหน้าช่วงกลาง(ก่อนลงไปห้องโถงที่ประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐมปางพระนิพพาน) ตรงกลางมีพระพุทธรูปหน้าตัก 4 ศอก 3 องค์คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมปางสมเด็จไพรรีพินาจแท่นประทับด้านหน้าเป็นพระแม่ธรณีบีบมวยผม และด้านซ้าย-ขวาของสมเด็จไพรรีพินาจคือสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักร์พรรดิ์ ทุกองค์ติดด้วยแผ่นเงินและประดับด้วยกระจกเงาขาวใสและคริสตัล
ถัดออกมาทางด้านหน้าวิหารประมาณ 3 เมตร(จากสมเด็จไพรีพินาจ) จะมีพระพุทธรูปหน้าตัก 4 ศอกอีก 6 องค์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2554 ด้านซ้ายคือ 1.สมเด็จพระตัณหังกรพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ 2.สมเด็จพระเมธังกรพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้มียศใหญ่ 3.สมเด็จพระสรณังกรพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้เกื้อกูลแก่โลก และด้านขวาคือ 4.สมเด็จพระกกุสันโธพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้นำสัตว์ออกจากกิเลส 5.สมเด็จพระโกนาคมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้หักเสียข้าศึก คือกิเลส 6.สมเด็จพระกัสสปะพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยศิริ ด้านหลังสุดทิศเหนือของพระพุทธเจ้าสามองค์นี้ด้านขวานี้ยังมีรูปหล่อหลวงพ่อพระราชพรหมยาน 100ปีเกิด หน้าตัก 9 นิ้วในตู้กระจกครอบ
ถัดออกมาจากพระพุทธเจ้า 6 พระองค์ออกมาทางด้านหน้าวิหารก่อนออกไประเบียงหน้า ด้านซ้ายมือ(หันหน้าเข้าวิหาร) มีรูปหล่อพระเก่าแก่สององค์ในตู้กระจก องค์แรกคือ พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงปู่ปาน โสนันโท) องค์สีทอง และ พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) องค์สีเงิน
ด้านหน้าสุดทางเข้าวิหารแก้วบริเวณห้องระเบียงทางเข้า ด้านซ้ายมือ(หันหน้าเข้าวิหาร)มีพระพุทธรูปหน้าตัก 4 ศอก 2 องค์ คือ 1.หลวงพ่อโคตรเศรษฐี 2.หลวงพ่อทรัพย์เศรษฐีและพระอริยะสงฆ์หน้าตัก 2 ศอก 4 องค์คือ 1.หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ 2.หลวงปู่โต หรหมรังษี 3.หลวงปู่ปาน โสนันโท วัดบางนมโค และ 4.หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุงอุทัยธานี ส่วนด้านขวามือคือหลวงพ่อนาคเสริมสุขเพิ่มทรัพย์ หน้าตัก 2 ศอกปางนาคปรกเจ็ดเศียร
ภายนอกวิหารทิศตะวันตก(ด้านหลัง) มีพระสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิหน้าตัก 4 ศอก 11 องค์ และทิศเหนือของวิหารมีพระชำระหนี้สงฆ์หน้าตัก 4 ศอก ชั้นใน 10 องค์ ชั้นนอกในห้องกระจกอีก 17 องค์ เป็นพระชำระหนี้สงฆ์สมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิทุกองค์เป็นสีทอง บางองค์ติดด้วยแผ่นทองคำแท้ (ทองเปลว) ตามศรัทธาของเจ้าภาพที่ร่วมสร้าง และด้านนอกช่วงกลางค่อนไปด้านหน้าของวิหารแก้วฝั่งทิศเหนือยังมีรูปหล่อหลวงพ่อพุทธเมตตาหน้าตัก 4ศอกอีก 1 องค์
2. วิหารแก้วปนทองเมืองพรหมโลก วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว ด้านหน้าฝั่งทิศใต้ของวิหารแก้วเมืองพระนิพพาน มีวิหารสองหลังพื้นที่เชื่อมต่อกัน หลังแรกเป็นวิหารสมเด็จองค์ปฐมปางมารวิชัย หน้าตัก 7 ศอก 1 องค์และ 4 ศอก 33 องค์ และยังมีรูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงปู่ปาน โสนันโท และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) องค์พระทุกองค์ติดด้วยแผ่นเงินและติดประดับด้วยกระจก โดยรวมวิหารหลังนี้มีพระพุทธรูป 34องค์ รูปหล่อพระอริยะสงฆ์อีก 2องค์
3. ด้านหน้าของเมืองพรหมโลกเป็นวิหารที่ประดิษฐาน พระปัจเจกพุทธเจ้าหน้าตัก 4 ศอก ปิดด้วยแผ่นทองส่วนทีเป็นผิวเนื้อ ส่วนที่เป็นผ้าสบงจีวรปิดด้วยแผ่นเงินและติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาวและคริสตัลทั้งองค์ มีความระยิบระยับตามาก ผนังและเสาวิหารติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาวและสีทองทั้งหมด ติดกันภายใต้หลังคาเดียวกันก็เป็นวิหารของพระอริยะสงฆ์เจ้า 4 พระองค์ คือพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระสิวลี และพระอานนท์ ทุกองค์ติดด้วยแผ่นทองคำแท้ แท่นประทับติดแผ่นเงินและกระจกเงาสีขาว ผนังและเสาวิหารติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาวและสีทองทั้งหมด
4. วิหารพระพุทธสิริสัตตราช (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ตั้งอยู่ตรงข้ามวิหารแก้วและอยู่ระหว่างกลางด้านหน้าของวิหารท่านปู่-ท่านย่าและวิหารเมืองพรหมโลก
5. วิหารหลวงพ่อสมณโคดม (องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธโคดมพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว อยู่เยื้องถัดจากวิหารแก้วปนทองเมืองพรหมโลก ทางทิศใต้ พระประธานคือหลวงพ่อสมณโคดม ปางมารวิชัย หน้าตัก 8 ศอกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2546 และหลวงพ่อสมณโคดม ปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอกขนาบซ้ายขวา ส่วนด้านหน้าขององค์พระประธาน 8 ศอก จะเป็นรูปหล่อปูนของ หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค อยุธยา และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง อุทัยธานี ขนาดเท่าองค์จริง
6. วิหารสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว อยู่เยื้องถัดจากวิหารหลวงพ่อสมณโคดมไปทางทิศใต้ ภายในวิหารจะมีรูปหล่อด้วยปูนประทับยืนถือพระขรรค์และจักรของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย ผิวเนื้อปิดด้วยแผ่นเงิน เครื่องทรงปิดด้วยแผ่นเงิน เครื่องประดับปิดด้วยแผ่นทอง ฐานประทับยืนปิดด้วยกระจกเงาสีขาว
7. วิหารท่านปู่-ท่านย่า วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว ตั้งอยู่ด้านหน้าฝังทิศเหนือของวิหารหลวงพ่อใหญ่ (วิหารแก้วเมืองพระนิพพาน) ท่านปู่ในที่นี้คือท่านปู่พระอินทร์องค์ปัจจุบัน หรือท้าวสักกะเทวราช หรือพระเจ้าพังคราช ในสมัยเชียงแสน ส่วนท่านย่าก็คือท่านย่าพังครานี ศรีโสภาคย์ คู่บารมีของท่านปู่ ซึ่งเมื่อปี พศ. 2562 ทางวัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการงานด้านธุรการ และธุระกรรมต่างๆทางด้านกฎหมาย บัญชีและการเงิน โดยได้ใช้พระนามท่านย่าเป็นชื่อของมูลนิธิ คือมูลนิธิท่านย่าพังครานี ศรีโสภาคย์
ภายในวิหารท่านปู่-ท่านย่า จะมีพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่างๆเก็บอยู่ภายในตู้กระจก ต่อจากตู้กระจกเก็บองค์พระจะเป็นรูปปั้นปูนเท่าพระองค์จริง ของท่านปู่-ท่านย่า หลวงพ่อพระราชพรหมยานกายแก้ว(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) และท่านแม่ทั้งสาม ท่านแม่ทั้งสามองค์นี้ ท่านเป็นคู่บารมีของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)ในอดีตชาติหลายๆชาติ เราลูกหลานหลวงพ่อจะเรียกท่านแม่รวมๆว่า “ท่านแม่ทั้งสาม” ส่วนพระนามเต็มๆของท่านคือ…
ท่านแม่ศรีระจิตร (แม่ใหญ่) พระนามเต็มท่านคือ พรรณวดีศรีโสภาคย์
ท่านแม่ประภาศรี (แม่กลาง) พระนามเต็มท่านคือ ประภาวดีศรีโสภาคย์
ท่านแม่จิตร (แม่เล็ก) พระนามเต็มท่านคือ จิตราวดีศรีโสภาคย์
ทุกๆพระองค์ภายในวิหารหลังนี้ จะปิดประดับและตกแต่งด้วยแผ่นเงินและกระจกเงาสีขาว
พาเยี่ยมชมภายในวิหารท่านปู่-ท่านย่าไปพร้อมกับดูการรำบวงสรวงถวาย
8. วิหารหลวงพ่อยอดธง วัดท่าซุงสาขา9 วังน้ำเขียว อยู่เยื้องด้านหน้าไปทางทิศเหนือของวิหารแก้วเมืองพระนิพพาน และวิหารท่านปู่-ท่านย่า วิหารหลวงพ่อยอดธง จะมีรูปหล่อปูนขนาดหน้าตัก 12 ศอก ของสมเด็จองค์ปฐม ปางมารวิชัย ด้านหน้าซ้ายขวาหลวงพ่อยอดธงจะมีรูปหล่อปูนของ หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ขนาดหน้าตัก ๘ ศอก และรายรอบทุกด้านด้วยรูปหล่อสมเด็จองค์ปฐม ปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก อีก 30 องค์ โดยรวมของวิหารหลังนี้มีพระพุทธรูป 31องค์ และรูปหล่อพระอริยะสงฆ์อีก 2องค์
9. วิหารสมเด็จองค์โต สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐม ตั้งอยู่ด้านขวามือทางเข้าวัดฝั่งตะวันออก และอยู่ทิศเหนือของวิหารแก้วเมืองพระนิพพาน เป็นที่ประดิษฐานของสมเด็จองค์โต สมเด็จองค์ปฐมปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก สร้างเมื่อ พ.ศ.2547-2548 ด้านหน้าซ้ายและขวา มีรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ทุกองค์ ติดประดับด้วยแผ่นเงินและกระจกเงาสีขาว
ด้านหน้าวิหารสมเด็จองค์โตจะเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อนาค มีนาคปรก 7 เศียร องค์พระมีขนาด 2 ศอก ปิดด้วยแผ่นเงินและแผ่นทองนาคบริเวณผิวเนื้อ และติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาว
10. วิหารพระปัจเจกพุทธเจ้า 3 พระองค์ ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือทางเข้าวัดฝั่งตะวันออก ฝั่งทิศเหนือของวิหารหลวงพ่อโต พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง 3 องค์มีขนาดหน้าตัก 4 ศอก ส่วนองค์พระมีสีผิวชำรุดและยังบูรณะไม่แล้วเสร็จในขณะนี้ (กพ.2564)
11. วิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของวัด เมื่อเลี้ยวขวาเข้าวัดฝั่งตะวันออก แล้วข้ามสะพานคอนกรีต ลงสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปด้านขวามือจะเป็นวิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ องค์พระประธานคือหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ (สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปทุมมุตตระ) เป็นองค์ปูนปั้นด้วยมือที่ไปร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2559 มีขนาดหน้าตัก 8 ศอก ปิดด้วยแผ่นทองคำเปลวแท้ ภายในวิหารยังมีหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์องค์หน้า 26นิ้ว อีก 25 องค์ปิดด้วยแผ่นทองคำเปลวแท้ทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 1 องค์ที่ตั้งแยกออกมาอยู่ด้านหน้าเพื่อให้ญาติโยมได้สักการะบูชา และอธิฐานปิดทองรักษาโรค ตามความประสงค์ ผนังและเสาด้านในวิหารหลังนี้ ติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาวทั้งหมด ส่วนด้านหลังวิหารหลังนี้จะมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปทุมมุตตระ(หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์)
12. วิหารหลวงพ่อวังน้ำเขียว(สมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ์) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของวัด เมื่อเลี้ยวขวาเข้าวัดฝั่งตะวันออก แล้วข้ามสะพาน เลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปด้านหน้าคือวิหารขนาดใหญ่อีกหลังหนึ่ง วิหารหลวงพ่อวังน้ำเขียวองค์พระประธานคือสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ์ หน้าตัก 7 ศอก ด้านหลังและด้านขวาขององค์พระประธานจะมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ์หน้าตัก 4 ศอกทั้งหมด 14 องค์ ส่วนด้านหน้าสุดก็จะเป็น รูปหล่อปูนขนาดหน้าตัก 4 ศอก ของพระอริสงฆ์เจ้าคือหลวงพ่ออนุรุท และหลวงพ่อกัจจายนะ ซึ่งทำการหล่อเมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2564 และด้านหน้าวิหารด้านบนของทางลอดลงวังนาคิน จะมีพระพุทธรูปองค์หน้าตัก 4ศอกคือหลวงพ่อรอดลำพูนปางมารวิชัยประทับอยู่เหนือทางลอดลงไปในวังนาคิน ด้านหลังวิหารบริเวณหลังพระประธานมีรูปหล่อปูนพระอริยะสงฆ์เจ้าหน้าตัก 4 ศอก 5 องค์ คือพระปัจจะวัคคีย์ทั้ง 5 มีพระนามว่า 1)พระอัญญาโกณฑัญญะ 2)พระวัปปะ 3)พระภัททิยะ 4)พระมหานามะ 5)พระอัสสะพระนาม ซึ่งได้ทำการหล่อเมื่อช่วงวันที่ 12-24 เมษายน 2564
โดยรวม(ปัจจุบัน2564)วิหารหลังนี้มี พระพุทธรูป 16องค์ พระอริยะสงฆ์เจ้า 7 องค์

13. วังนาคิน จะเป็นห้องใต้ดินด้านหน้าสุดของวิหารหลวงพ่อวังน้ำเขียว ด้านในวังนาคิน จะมีลูกแก้วจักรพรรดิ์ขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตรโอบล้อมฐานลูกแก้วด้วยพญานาคปู่ศรีสุทโธ ซึ่งมีญาติโยมจำนวนมากนิยมและหลั่งไหลไปขอพรโชคลาภกันไม่ขาดสาย ภายในวงนาคิน ก็มีพระพุทธรูป ปางต่างๆ อยู่ 4 องค์ มีความศักดิ์สิทธิ์ด้านต่างๆ สำหรับขอพรต่างกันแต่ละองค์ แต่ตอนลงไปวังนาคิน จะเจอพระสององค์แรกก่อนขนาดเท่าองค์จริง คือหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง องค์พระปิดด้วยแผ่นเงิน ฐานพระติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาว
14. วิหารท้าวมหาราชทั้งสี่ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือติดกับวิหารหลวงพ่อวังน้ำเขียว ท้าวมหาราชทั้งสี่ มีขนาดเท่าองค์จริงของมนุษย์ ติดประดับด้วยแผ่นเงิน ฐานที่ยืนประทับ ผนังและเสาด้านใน ติดประดับด้วยกระจกเงาสีขาว
15. ศาลแม่นางกวัก ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารของท้าวมหาราชทั้งสี่และวังนาคิน วิหารแม่นางกวัก ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ญาติโยมนิยมไปขอพรเรื่องโชคลาภ ทางวัดได้สร้างวิหารให้เป็นการเฉพาะเมื่อต้นปี 2564 ด้วยเงินบริจาคของญาติโยมที่มีจิตศรัทธา
16. วิหารพระพุทธชินราช ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของวัด เมื่อเลี้ยวขวาเข้าวัดฝั่งตะวันออกแล้วข้ามสะพาน เลี้ยวซ้ายมือขับวนผ่านวิหารหลวงพ่อวังน้ำเขียวและวิหารหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เลยผ่านไปประมาณ 100 เมตร แล้วจะเจอวิหารพระพุทธชินราชอยู่ฝั่งขวามือ ภายในวิหารหลังนี้ปัจจุบัน มีพระประธานคือพระพุทธชินราชปางมารวิชัย หน้าตัก 7 ศอก และด้านหลังและด้านขวาพระประธานจะมีพระพุทธชินราชปางมารวิชัย หน้าตัก 4 ศอก อีกทั้งหมด 15 องค์ ปัจจุบัน(2564)วิหารหลังนี้มีพระพุทธรูปทั้งหมด 16 องค์

17. วิหารหลวงพ่อจักรพรรดิ์ทรงเครื่องนั่งดิน วิหารนี้ตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของวัด และอยู่ฝั่งทิศใต้ของถนนทางเข้า พระประธานของวิหารคือสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ์ประทับนั่งดิน ขนาดหน้าตัก 12 ศอก ต่อจากองค์พระประธานทางด้านทิศใต้ จะเป็นสมเด็จองค์ปฐมดำรงพระศาสนาปางมารวิชัยหน้าตัก 4ศอกทั้งหมดสี่องค์ และต่อด้วยสมเด็จองค์ปฐม 12ราศีปางมารวิชัย หน้าตัก 4ศอก อีก 12องค์และเลยไปอยู่ทิศตะวันตกของวิหาร อีก 2องค์ และในทิศตะวันตกนี้ยังมี พระพุทธรูปหน้าตัก 4ศอกปางมารวิชัยอีกสององค์คือ หลวงพ่อพระคำข้าว หลวงพ่อพระหางหมาก โดยรวมปัจจุบัน(2564)วิหารนี้มีพระพุทธรูปทั้งหมด 19 องค์
18. วิหารหลวงพ่อเงินล้นเหลือ(สมเด็จองค์ปฐมปางอุ้มบาตร) วิหารนี้ตั้งอยู่ช่วงกลางเยื้องไปด้านหลังของวัดฝั่งตะวันตก พระประธานคือหลวงพ่อเงินล้นเหลือ(สมเด็จองค์ปฐมปางอุ้มบาตร) ประทับยืนสูง 30 ศอก ด้านหน้าหลวงพ่อเงินล้นเหลือ ยังมีหลวงพ่อเงินล้นเหลือประทับยืน 8 ศอก พร้อมกับ องค์หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค และองค์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ประทับยืน 8 ศอก ปัจจุบัน(2564)วิหารหลังนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่มีโครงการที่จะสร้างวิหารครอบในอนาคต
19. วิหารหลวงพ่อทันใจ วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหลังฝั่งทิศเหนือของวัดฝั่งตะวันตก เป็นวิหารขนาดเล็ก พระประธานคือหลวงพ่อทันใจ(สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธโคดม) องค์พระเป็นปูนปั้นด้วยมือของญาติโยมทุกคนที่มาร่วมสร้างในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 สร้างเสร็จตกแต่งทาสีและทำพิธิพุทธาภิเษกภายในวันเดียว(เป็นโบราณประเพณีต้องสร้างตกแต่งทำสีและพุทธาภิเษกให้เสร็จภายในวันเดียวจึงจะเรียกได้ว่าเป็นหลวงพ่อทันใจ) มีขนาดหนักตัก 4 ศอก ประทับนั่งบนฐานรูปเพชร
20. วิหารหลวงพ่อพุทธนิมิต เป็นวิหารขนาดเล็ก วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ด้านหลังฝั่งทิศเหนือของวัดฝั่งตะวันตก อยู่ด้านหลังของวิหารหลวงพ่อทันใจ องค์พระคือหลวงพ่อพุทธนิมิต (องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธโคดม) ขนาดหน้าตัก 8 ศอก
21. วิหารนครนาคา สมเด็จพุทธสิขีทศพล(องค์ปฐม)ปางนาคปรก 9 เศียร พญานาคชื่อว่า ไตรภพนาคราช วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ช่วงด้านหน้าทิศเหนือของวัดฝั่งตะวันตก องค์พระประธานคือสมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก 8 ศอก มีนาคปรก 9 เศียร นามว่า ไตรภพนาคราช ด้านหลังและซ้าย-ขาวขององค์พระประธาน มีพระพุทธรูปปางนาคปรก 9 เศียรอีก 9 องค์ ทั้งวิหารและองค์พระสร้างเมื่อ พ.ศ. 2557 แต่ส่วนของวิหารปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ด้านหน้าของวิหารพระนาคปรก 9 เศียร 10 องค์ ยังมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ์นาคปรก 9 เศียร หน้าตัก 4 ศอกอีก 1 องค์ สร้างเพื่อเป็นองค์อธิษฐานขอพร ลักษณะงดงามตระการตามากนาคปรก 9 เศียรมีความแตกต่างจากนาคปรกทั้ง 10 องค์ที่กล่าวมาแล้วบางส่วนคือที่ด้านหลังฐานพญานาคขด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก...Watthasungsakha9.com
https://watthasungsakha9.com/
ภาพโดย ประสม บุญป้อง



วัดมณีวนาราม
อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี

วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของเมืองอุบลราชธานีในอดีต เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วโกเมน หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีกุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ซึ่งเป็นอาคารเรือนไม้งานสถาปัตยกรรมไทย โบราณสถานที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้

ประวัติวัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย อุบลราชธานี
วัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2332 ผู้สร้างคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) มีพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดป่าน้อยเป็นศูนย์การศึกษา ศูนย์การปกครอง มีเจ้าอาวาสองค์สำคัญ ได้แก่
พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ และศิลปหัตถกรรม ได้สร้างหอไตร และพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เรียก หอพระพุทธบาท ที่วัดทุ่งศรีเมือง
ท่านจันทรังสี (จันลา) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและศิลปหัตถกรรม
ท่านสุวณฺโณ (ดำ) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
ท่านธรรมบาล (ผุย) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ ปฏิบัติเคร่งในธรรวินัย มีไหวพริบเฉียบแหลมในการแปลปริยัติ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ เคยอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่วัง ตรัสถามปริศนาธรรมจึงได้ทรงทราบว่าเป็นผู้ความรู้ลึกซึ้งพุทธธรรมวินัย จนเปล่งวาจาว่า “เมืองอุบลมีแก้ววิเศษ” เมื่อท่านมรณภาพจึงได้อัญเชิญศพขึ้นนกหัสดีลิงค์เป็นการยกย่องตามธรรมเนียมโบราณเช่นเดียวกับท่านอริยวงศาจารย์ (สุ้ย)
พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธัมมทีโป) เชี่ยวชาญด้านคันธธุระและแพทย์แผนโบราณ
ปัจจุบันมีพระราชธีราจารย์ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม
พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลนพรัตนชาติ
เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายกทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับต่อกันมา โดยทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วนั้นไว้ ภาษาอีสานเรียกว่า “งุม” วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า “วัดกุดละงุม” และใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวัดมาจนปัจจุบัน พระแก้วโกเมนนั้นเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี
.jpg)
พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ของวัดมณีวนาราม ทั้งนี้เนื่องด้วย พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่งเกรงจะสูญหาย ด้วยความห่วงใยและหวงวแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนารามทุกรูปจึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้อย่างดีในตู้นิรภัย ครั้งเมื่อหมดช่วงเวลาปกครองวัดของหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดมณีวนาราม จึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมน ลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ได้อัญเชิญลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วยเช่นกัน เป็นหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานี

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง วัดมณีวนาราม
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดมณีวนาราม เดิมเคยเป็นที่จำพรรษาของท่านเจ้าพระคุณอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือ กุฏิแดง เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ชั้นเดียว ตั้งเสา ยกพื้นสูง ตีฝาผนังแบบเรือนไทยฝาปะกน ในเทคนิคการเข้าเดือยไม้แบบโบราณ หลังคาแต่เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดและเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องมุงในภายหลัง ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง มีห้องโถงใหญ่ 2 ห้อง ห้องเล็กด้านข้างอีก 2 ห้อง ประดับลูกกรงไม้ขนาดเล็กที่ขอบหน้าต่างและระเบียงด้านหน้า หน้าต่างระหว่างห้องด้านทิศเหนือมีการเขียนรูปเทวดาประดับไว้ทั้งสองบาน และลายพันธุ์พฤกษาอีก 2 บาน
ในปี พ.ศ.2556 วัดมณีวนาราม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดอุบลราชธานีสืบไป
เจดีย์ปูชนียาจารย์ วัดมณีวนาราม
เจดีย์ปูชนียาจารย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอพระแก้วโกเมน เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุท่านบูรพาจารย์และอดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ซึ่งประกอบด้วย
พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณีวนาราม
ท่านจันลา จะนฺทรํสี
ญาท่านคำ สุวณฺโณ
ญาท่านผุย ธมฺมปาโล
พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป)
พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผลเถร นิลดำอ่อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และรองเจ้าคณะภาค 10
พระครูศรีพิริยกิจ ทองลส เตชปัญโญ (ส่งเสริม) ป.ธ. 6 อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมือง และรองเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม
พระครูอาทรกิจโกศล (ทอนกนฺตสีละเถระจันทป) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
พระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน ป.ธ. 7) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
โรงเรียนอุบลวิทยากรเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดมณีวนารามที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2499 ประเภทโรงเรียนมัธยมวิสามัญ สอนวิชาสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ จัดชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและเจ้าสำนักเรียนบาลีวิจิตรสังฆานุกูล คือ พระเมธีรัตโนบล (ในอดีต) ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้ง โดยอาศัยอาคารเรียนโรงเรียนบาลีวิจิตรสังฆานุกูล ซึ่งเปิดสอนนักธรรมและบาลีแก่พระภิกษุสามเณรอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่เรียน
ที่ตั้งวัดมณีวนาราม
ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดมณีวนาราม
15.231682, 104.861711
ขอขอบคุณข้อมูลจาก....สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน
https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=212
ภาพโดย ประสม บุญป้อง



.jpg)
.jpg)
....................................
.jpg)
วัดกลาง
อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ถูกสร้างคู่กับวัดหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของข้าราชการผู้ปกครองเมืองในสมัยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เป็นที่ประดิษฐานของพระบทม์ พระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่ามีพุทธลักษณะสวยงามของจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติวัดกลาง อุบลราชธานี
วัดกลาง สร้างราวปีเถาะ จ.ศ.1155 หรือปี พ.ศ. 2336 สร้างขึ้นหลังจากการสร้างวัดหลวงแล้ว 3 ปี เหตุที่ชื่อวัดกลาง คือ ตามคติโบราณการตั้งเมืองนั้นจะหาทำเลใกล้แม่น้ำ และจะเรียกทางน้ำไหลเป็นเหนือ เป็นใต้ และเป็นกลางด้วย วัดที่ตั้งทางทิศเหนือมักจะเรียกว่า วัดเหนือท่า วัดเหนือเทิง และวัดที่ตั้งทางทิศใต้ก็จะเรียกว่าวัดท่าใต้ ใต้เทิง วัดกลางนั้นตั้งอยู่กลางเมืองอุบล จึงเรียกว่า วัดกลาง
มูลเหตุการสร้างวัดกลางนั้น อนุมานว่า เมื่อเจ้าเมืองสร้างวัดแล้วข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะสร้างวัเเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอนุสารณ์คู่บ้านคู่เมืองไว้ด้วย เมื่อพระประทุมราชสุริยวงศ์ได้สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแล้ว เจ้าราชวงศ์ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ได้แก่ ท้าวก่ำ บุตรพระวรราชวงศา ก็มีจุดประสงค์ที่จะทำนุบำรุงสร้างถาวรวัตถุการกุศลเป็นอนุสรณ์ เป็นหลักฐานคู่บ้านขวัญเมืองเช่นเดียวกับเจ้าหลวง จึงได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าราชวงศ์ นั่นคือวัดกลาง
เจ้าอาวาสวัดกลาง
เจ้าอาวาสวัดกลางรูปแรก ได้แก่ อาชญาท่านเจ้าหลักธรรมจันทร์ กำเนิดที่บ้านหนองหลัก อำเภอม่วงสามสิบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นสมัยเดียวกับอาชญาท่านหอแก้วแห่งวัดหลวง
เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ได้แก่ อาชญาท่านกัญญา กำเนิดบ้านชีทวน เป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรม เป็นนักโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ที่หาตัวจับยาก มีความรู้เรื่องยาแผนโบราณ
เจ้าอาวาสรูปที่ 9 ได้แก่ พระศรีธรรมโสภณ (ปรีชา พิณทอง) เป็นผู้คงแก่เรียน วุฒิเปรียญ 9 ประโยค มีผลงานด้านวรรณกรรม เรียบเรียงประเพณีโบราณอีสาน ผญาอีสาน เมื่อลาสิกขาบทได้รับยกย่องเป็นดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย

พระบทม์ พระประธาน วัดกลาง
พระบทม์ เป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ของวัดกลางที่มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 78 นิ้ว สูง 108 นิ้ว สร้างด้วยอิฐดินเหนียวผสมเกสรดอกบัวและว่านจำปาศักดิ์ป่นละเอียดคลุกเคล้ากับยางบง น้ำแช่หนังวัวเผา น้ำแช่เปลือกเม็ก น้ำข้าวเจ้าต้ม หินเผาไฟป่นให้ละเอียด น้ำอ้อยเคี่ยวให้เหนียวผสมเป็นเนื้อเดียวกันดีแล้วใช้ฉาบทาให้เป็นผิวขององค์พระบทม์ ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่เรียกว่า “ปูนน้ำอ้อย”

คำว่า “พระบทม์” มาจากคำว่า ปทุม ปทม บทม์ หมายถึง พระดอกบัว ได้แก่ บัวหลวงมีสีแดงกลิ่นหอม เป็นพระพุทธรูปที่ประสาทพรเกื้อกูลให้เกิดความสำเร็จ ตามแรงแห่งสัจจาอธิษฐานปรารถนา พระบทม์นั้นมีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงทำให้เกิดภาษาพูดของคนโบราณเมื่อได้พบเห็นสิ่งที่งดงาม จึงมักจะอุทานเปรียบเทียบว่า “จะแม่นงามปานพระบทม์” หรือ งดงามดังพระบทม์
ที่ตั้ง วัดกลาง
เลขที่ 241 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดกลาง
15.22549, 104.86327
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สารสนทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี
https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=28
ภาพโดย ประสม บุญป้อง


...........................................

วัดแห่งแรกเมืองอุบล...วัดหลวง
อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดหลวง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดแรกและวัดคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี ที่สร้างโดย พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์หลวง พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี และหลวงพ่อปากดำ ภายในวัดจะมีวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากวิหารของวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

พ.ศ.2324 เมื่อเจ้าพระปทุมวรราชสุริยะวงศ์ (ท้าวคำผง) ได้อพยพมาจากดอนมดแดง มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง และได้ตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้น และเห็นว่า ที่แห่งนี้เหมาะที่จะสร้างบ้านเมือง วัดวาอาราม เพื่อเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง เป็นที่อยู่อาศัย สืบทอดพระพุทธศาสนา จึงให้พระสงฆ์ที่อพยพมาด้วย ลงมือก่อสร้าง โดยให้ช่างที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยท่านอุปฮาดราชบุตรราชวงศ์ ท่านท้าวเพี้ย กรรมการน้อยใหญ่ ร่วมสร้างด้วยความสามัคคี วัดจึงสำเร็จสวยงามสมเจตนารมณ์ สร้างโบสถ์ องค์พระประธาน กุฎิวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร หอกลาง หอโปง หอระฆัง พร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง เป็นสังฆาวาสที่สวยงามมาก เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งนามว่า พระเจ้าใหญ่วัดหลวง นามนี้เรียกว่า "วัดหลวง" ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกของเมืองอุบลราชธานี และถือได้ว่าเป็นวัดประจำเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก นั้นก็คือ ท้าวคำผง นั้นเอง

- พระเจ้าใหญ่องค์หลวง สร้างโดยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าครอบครองเมืองอุบลราช-ธานีองค์แรก ได้ให้ช่างชาวเวียงจันทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2324 เพื่อเป็นพระประธานประจำตัววัดหลวงประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง (ศาลาการเปรียญ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของชาวเมืองอุบลราชธานีและเป็นพระพุทธรูปองค์แรกของเมืองอุบลราชธานี นานกว่า 223 ปีมาแล้ว
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร พุทธลักษณะปางเรือนแก้ว พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี พุทธตำนานอธิบายความไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปประทับในเรือนแก้ว (รัตนคฤห) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเทพยดาเนรมิตถวาย เพื่อทรงพิจารณาพุทธธรรม ในกำหนด 7 วัน จนบังเกิดเป็นประภาวลี (รัศมีที่แผ่ออกจากกายสำหรับบุคคลมีบุญญาธิการ หรือพระพุทธรูป) สถานที่ดังกล่าวจึงมีชื่อ “รัตนฆรเจดีย์” พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 7

- พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี พุทธลักษณะปางสมาธิ พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย เป็นพระแก้วที่สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี ช่างแกะหินใสองค์นี้ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพฯ มาปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้านายพื้นเมืองอุบล เกรงว่าเจ้านายจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสองไปเป็นสมบัติส่วนตัวจึงได้นำเอาพระแก้วทั้งสององค์แยกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิดไม่ยอมแพร่พรายให้ใครรู้
ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม เจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้ไปอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกมาจากที่ซ่อน โดยนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายให้แด่พระคุณเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง และเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มาจากกรุงเทพฯ คงมีความเกรงใจ จึงไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัม และพระแก้วไพฑูรย์ไปจากเมืองอุบลราชธานี
ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาทของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี นำไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังได้นำมาถวายแต่พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง จึงกลายเป็นสมบัติของวัดหลวง และประดิษฐานไว้ ณ วัดหลวง ตราบมาจนปัจจุบัน จึงนับได้ว่า พระแก้วไพฑูรย์องค์นี้ เป็นสมบัติของวัดหลวงและเจ้าเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแท้
พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ ลักษณะของเนื้อองค์พระจะสีใสขุ่น หากยกองค์พระแล้วส่องดูใต้ฐานจะมองเห็นคล้ายสายฝนหยดลงมาจากฟ้า อันเป็นนิมิตแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล นับเป็นสมบัติล้ำค่าที่คู่ควรแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นมรดกให้แก่ชาวเมืองอุบล สืบต่อไปนานเท่านาน

หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่่ปากดำ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี พุทธลักษณะเป็นแบบพุทธศิลปะลาว มีพระรัศมียาว ประดับด้วยพลอยสี ยอดปลายเป็นผลึกแก้วใส เปล่งประกายสะท้อนแสงสวยงามเมื่อยามต้องแสง
ไม่มีหลักฐานใดปรากฏชี้ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง แต่จากคำบอกเล่าทราบว่า เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่กับวัดหลวงมาตั้งแต่สร้าง มีข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้นำมาจากเมืองเวียงจันทน์ หรือเมืองจำปาสัก ดูลักษณะน่าจะเป็นสกุลช่างเวียงจันทน์ หรือจำปาสัก ปกติแล้วจะประดิษฐานไว้ที่กุฏิอนุสรณ์พระปทุมวรราชสุริยวงศ์
ลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน คือ การเปลี่ยนสีของเนื้อทองสำริดเฉพาะบริเวณริมฝีปากเท่านั้น กลายเป็นสีแดงน้ำหมาก ดูคล้ายสีดำ เมื่อเวลานานๆไป จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่่ปากดำ
ในปัจจุบัน ได้มีการสร้างองค์จำลองของหลวงพ่อปากดำ เพื่อเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 109 นิ้ว สูง 5.90 เมตร และได้อันเชิญองค์จริงมาประดิษฐานในพระอุโบสถ บริเวณด้านบนขององค์จำลองด้วย
นอกจากนี้ภายในวัด ยังมีอนุสารีย์ของ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานีและผู้สร้างวัดหลวง ให้ประชาชน ได้กราบไหว้ สักการะกันด้วย และ เนื่องจากวัดอยู่ติดกับแม่น้ำมูล บริเวณทางลงไปยังแม่น้ำ ยังมีบันไดนาค ที่สวยงาม เหมาะกับการเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แถมยังใกล้ตลาดอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก....หนุ่มสาวทัวร์
https://noomsaotours.co.th/
ภาพโดย ประสม บุญป้อง



..........................

วัดถ้ำแสงธรรม
อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
ตั้งอยู่ในตำบลดงลาน สร้างติดกับภูเขาหินปูนที่มีอายุกว่า 250 ล้านปี พระอาจารย์เสงี่ยม หรือหลวงปู่ ได้เริ่มปรับปรุงสภาพถ้ำตั้งแต่ พ.ศ. 2541 โดยหลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำแห่งนี้ และร่วมกับศิษย์ ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ด้านนอกและภายในถ้ำ โดยการสกัดก้อนหิน สลับกับการสร้างให้มีความมั่นคงด้วยการเทคอนกรีต ขัดหินอ่อนให้เป็นที่อยู่อาศัยและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ ภายในวัดแบ่งเป็น 7 ชั้น โดยต้องเดินเท้าขึ้นบันไดเพื่อไปยังชั้นต่าง ๆ จุดสำคัญของวัดคือรอยพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ที่ชั้น 7

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านผาน้ำเที่ยง ตำบลบริบูรณ์ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
เวลาทำการ : 2024-02-15 16:42:00 06:00 - 18:00 น.
โทรศัพท์ : 0879454753
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/วัดถ้ำแสงธรรม-ขอนแก่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก องค์การบริหารส่วนตำบลบริบูรณ์
https://www.boriboon.go.th/Pages/travel_detail/14
ภาพโดย ประสม บุญป้อง
.jpg)

วัดทุ่งศรีเมือง
อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในอดีตเป็นวัดที่สอนวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่ชาวเมืองอุบลราชธานีโดยมีญาท่านพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นผู้นำการสอน ภายในวัดมีศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรกลางน้ำ หอเก็บคัมภีร์ใบลานและพระไตรปิฎกที่เป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างไทย พม่า และลาว หอพระพุทธบาทที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นงานสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพื้นถิ่นอีสานและแบบไทยภาคกลาง ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าโดยฝีมือช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ วิหารศรีเมือง และพระเจ้าใหญ่ศรีเมือง
ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
วัดทุ่งศรีเมือง สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2385 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) จากสำนักวัดสระเกศวรวิหาร ที่ได้ขึ้นมาเป็นสังฆปโมกเมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด) และได้พำนักอยู่ที่วัดมณีวนารามหรือวัดป่าน้อย ท่านมีอัธยาศัยน้อมไปทางวิปัสสนากรรมมัฎฐาน และมักจะไปเจริญสมณธรรม อยู่ที่ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้งเป็นประจำ เพราะเป็นที่สงบสงัด และที่นั่นคือ บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา
เจ้าคุณอริยวงศาจารย์ญานวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ) ท่านได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้น ณ บริเวณที่เจริญสมณธรรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะจำลองพระพุทธบาทจำลอง จากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มาให้พุทธบริษัทที่อุบลราชธานีได้กราบไหว้ จึงให้ครูช่างชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
เมื่อสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งให้ช่างสร้างหอไตรที่สระกลางน้ำด้วย โดยมีจุดประสงค์ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก หรือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ ที่ทางวัดมีอยู่มากมาย
ภายหลังเห็นว่าเป็นการลำบากแก่พระเณรในการที่จะไปเฝ้ารักษาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงได้สร้างสร้างกุฏิขึ้นเป็นพำนักของพระภิกษุสามเณร และด้วยวัดนี้ตั้งอยู่ชายทุ่งท่ามกลางเมืองอุบลราชธานี จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งศรีเมือง” ตามไปด้วย
วัดทุ่งศรีเมืองในสมัยก่อนเป็นวัดที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการช่างต่าง ๆ ให้แก่บุตรหลานชาวเมืองอุบลราชธานีทุกสาขาอาชีพ เช่น ช่างแกะสลัก ช่างหล่อ ช่างเงินทอง ช่างลวดลาย ช่างก่อสร้าง เป็นต้น โดยมีพระครูดีโลด บุญรอด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) เป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชา
.jpg)
หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก วัดทุ่งศรีเมือง
หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎกของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกและหนังสือใบลานไม่ให้มดปลวกหรือแมลงต่าง ๆ มากัดกินและทำลาย หอไตรนี้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวัด และหอพระพุทธบาทหรืออุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง โดยมีพระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะของศิลปะผสม 3 สกุลช่าง คือ ไทย พม่า และลาว
หอไตรนี้เป็นหอน้ำ สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 9.85 เมตร สูงจากระดับพื้นน้ำถึงยอดหลังคาประมาณ 10 เมตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูงใต้ถุนโปร่ง
ตัวอาคารหอไตรเป็นเรือนฝาไม้แบบเรียบเครื่องสับฝาแบบประกนอย่างเรือนไทยภาคกลาง ขนาด 4 ห้อง ลูกฟักรองตีนช้างแกะสลักลาย ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก มีหน้าต่างโดยรอบ 14 ช่อง หลังคาทรงจั่วมีปั้นกรอบปีกนกกว้าง 2 ชั้น ส่วนบนเป็นหลังคาทรงแบบโบสถ์ไทยมีชั้นลด 2 ชั้น ช่อฟ้า รวยลำยอง ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์แบบภาคกลาง หน้าบันไม้จำลักลายแบบไทย (ลายดอก) ดอกพุดตาน ลายกระจังรวน ลายประจำยามก้ามปู มุงแป้นไม้ มีทวยสลักด้วยไม้ค้ำยันชายคาปีกนกโดยรอบจำนวน 19 ตัว ด้านหน้าข้างประตูเข้าสลักหัวทวยแบบเทพพนม อีก 17 ตัวเป็นรูปพญานาค พญานาคซึ่งสวยงามตามแบบฉบับของสกุลช่างสมัยนั้น กรอบประตูหน้าต่างสลักลวดลาย ผนังและบานประตูหน้าต่างเขียนลายลงรักปิดทองโดยรอบ บานประตูเขียนรูปทวารบาล ภายในทำเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎกและใบลาน
ส่วนของหลังคามีศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น แสดงถึงอิทธิพลของศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะลาวล้านช้าง ลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นศิลปะลาวที่มีฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์
หอไตรนี้ได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

หอพระพุทธบาท วัดทุ่งศรีเมือง
หอพระพุทธบาท หรือพระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง มูลเหตุในการสร้างอุโบสถหลังนี้ คือ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ได้จำลองพระพุทธบาทมาจากวัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
หอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหอไตรกลางน้ำ โดยมีพระสงฆ์จากเวียงจันทน์เป็นช่างในการดำเนินการก่อสร้าง มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะผสมระหว่างพื้นบ้านอีสาน (หรือศิลปะแบบเวียงจันทน์) กับเมืองหลวง(ศิลปะแบบไทยภาคกลาง, แบบรัตนโกสินทร์) ส่วนที่เป็นศิลปะแบบเวียงจันทน์ ได้แก่ โครงสร้างช่วงล่าง เช่น ฐานเอวขันธ์ บันไดจระเข้ และเฉลียงด้านหน้า จะมีความคล้ายคลึงกับสิมอีสานทั่วไป ลวดลายหน้าบันลายรวงผึ้ง ส่วนที่เป็นโครงสร้างช่วงบน หลังคาทรงจั่วมีชั้นลด 2 ชั้น รวยลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ทวยและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นแบบไทยภาคกลางหรือรัตนโกสินทร์ ส่วนลวดลายหน้าบันสาหร่าย รวงผึ้งมีลักษณะแบบอีสานผสมเมืองหลวงเหมือนหน้าบันของสิมวัดแจ้ง
หอพระพุทธบาทหลังนี้ ้เป็นอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังทุกด้าน เป็นงานจิตรกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของเมืองอุบลราชธานี ไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นช่างเขียนภาพเหล่านี้ แต่คาดว่าจะเป็นสกุลช่างพื้นเมืองอุบลที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงกรุงเทพฯ

ภาพจิตรกรรมในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง ปรากฏอยู่บนฝาผนังภายในทั้งสี่ของตัวอาคาร เหนือสุดขอบผนังเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมนั่งประนมมือหันหน้าเข้าหาพระประธาน ถัดลงมาเป็นลายหน้ากระดานมีลวดลายประจำยามรองรับเหล่าเทพชุมนุม จากนั้นจะเป็นอาณาบริเวณของงานจิตกรรมไล่ลงไปจนจรดฐานหน้าต่าง และรองรับด้วยลายหน้ากระดานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรอบภาพทั้งบนและล่างสุด ช่างแต้มมีความจงใจจะใช้ผนังทั้งสี่ด้านประดับประดาด้วยงานจิตกรรมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พุทธศาสนา แม้แต่เสาหลอกก็ยังมีการตกแต่งลวดลายและภาพปริศนาธรรม ตามประวัติกล่าวว่าภาพเขียนบริเวณเสาหลอกนี้เป็นฝีมือพระครูวิโรจน์รัตโนบล เมื่อครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง
งานจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่ตำแหน่งการวางภาพมิได้เคร่งอย่างงานจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยม นอกจากนั้น ช่างแต้มยังได้สอดแทรกเนื้อหาเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวบ้านเข้าไปด้วย เช่น ภาพสะท้อนถึงสภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในรั้วในวัง ตลอดจนผู้คนที่มีบ้านอยู่ตามริมน้ำ ภาพอาคารสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
วิหารศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง
วิหารศรีเมือง ของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ผสมกับช่างพื้นบ้าน ผู้ออกแบบได้สร้างวิหารหลังนี้ในรูปลอยเหินตามจินตนาการของตนเอง โดยการยกอาคารให้สูงกว่าปกติ เน้นการเชิดของมุขหน้าขึ้นแล้วเสริมด้วยการยกลานรอบกำแพงแก้วให้สูงขึ้นจากพื้นลานวัดธรรมดา และเน้นถ้อยความอย่างมั่นคงโดยเสากำแพงแก้วแบบปลีพุ่มย่อไม้ ตามมุมกำแพงกับหัวบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน
พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง วัดทุ่งศรีเมือง
พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง เป็นพระประธานที่ประดิษฐานในวิหารศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองอุบลระยะแรก ๆ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดเหนือท่า เมื่อวัดร้างไปพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในสมัยนั้น จึงนำญาติโยมไปอัญเชิญมาเป็นพระประธานในวิหารศรีเมือง และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมเศียร
พระที่ชำรุดขึ้นใหม่โดยจำลองให้เหมือนกับพระเหลาเทพนิมิตที่อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ และพระบทม์ที่วัดกลางเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือชาวอุบลรุ่นแรก ซึ่งมีความงดงามมาก
พระเจ้าใหญ่องค์เงิน วัดทุ่งศรีเมือง
พระเจ้าใหญ่องค์เงิน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธบาทของวัดทุ่งศรีเมือง มีพระพุทธลักษณะ คือ พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเล็กละเอียดแบบหนามขนุน มุ่นพระเมาลีเป็นต่อมเตี้ย ๆ พระเกตุมาลาหรือส่วนรัศมีเป็นรูปเปลว มีแฉกยอดกลางสูงเด่น ส่วนล่างที่ติดกับมุ่นพระเมาลีเป็นกลีบบัวซ้อนดุจดอกบัวรองรับพระรัศมี ระหว่างพระนลาฏกับแนวเม็กพระศกมีแถบไรพระศกเป็นเส้นนูน ยาวทอดลงมาตามแนวพระกรรณทั้งสองข้างคล้ายจอนหู ตัวพระกรรณใหญ่ ขอบใบพระกรรณเป็นเส้นนูนแบน มีปลายด้านบนด้านล่างม้วนโค้ง ติ่งพระกรรณเป็นแผ่นกว้างขนาดเดียวกับตัวพระกรรณ ยาวลงมาเป็นแผ่นแบน ปลายมนอยู่เหนือพระอังสะ
ส่วนพระพักตร์มีพระขนงเป็นเส้นนูนโก่งดุจคันศร หัวพระขนงและหางเรียวแหลม พระนาสิกเป็นสัน ปลายพระนาสิกกว้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม พระโอษฐ์แย้มพระสรวล มุมพระโอษฐ์เรียวแหลม พระหนุแหลมมน พระศอกกลมกลึง ลักษณะเป็นปล้องต่อกัน 3 ปล้อง ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาซ้าย ขอบจีวรเป็นแนวเส้นตรงจากใต้พระถันไปจรดแนวขอบผ้าสังฆาฏิที่พาดบนพระอังสา ซ้าย และปรากฏเส้นขอบจีวรที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย ที่ต้นพระเพลา และที่ข้อพระบาท เป็นเส้นนูนทั้งสองข้าง ชายสังฆาฏิเป็นแนวกว้าง ปลายสังฆาฏิจรดที่พระนาภี ขอบปลายสังฆาฏิโค้งมนอยู่เหนือพระนาภี พระเพลาผาย พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำอยู่บนพระเพลาขวาตรงแนวขาพับ แสดงการชี้ลงเบื้องธรณี นิ้วพระหัตถ์ใหญ่ และนิ้วทั้งสี่อวบชิดยาวเสมอกัน ปลายนิ้วมนแบบคนธรรมดา คล้ายพระหัตถ์พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระเจ้าใหญ่องค์เงิน ตั้งอยู่บนฐานเขียงซึ่งฝังอยู่ในฐานชุกชีปูนปั้นที่ตกแต่งเป็นฐาน บัวผ้าทิพย์ ฐานหน้ากระดานตกแต่งด้วยลายดอกประจำยามก้ามปู อยู่เหนือแนวลายกลีบบัวขาบหรือบัวแวง ตรงกลางฐานด้านหน้าพระเพลามีผืนผ้าพาดยาวลงมา และตกแต่งลวดลายอย่างสวยงามตามแบบศิลปะท้องถิ่นไม่ปรากฏการสร้างที่แน่นอน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างภายหลังการสร้างหอพระพุทธบาทเสร็จแล้ว และถูกนำมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในหอพระพุทธบาท คู่กับรอยพระพุทธบาทจำลอง
ที่ตั้ง วัดทุ่งศรีเมือง
ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=250

วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว)
อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือนิยมเรียกกันว่า วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า จุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชมและถ่ายภาพคือ ตั้งแต่เวลา 6.00.19.30 น. ซึ่งหากโชคดีก็จะได้เห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้า อีกด้วย แต่ภาพเรืองแสงนี้หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเพียงเล็กน้อย จะไม่เห็นเป็นสีเขียวชัดเจนเท่ากับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวบางท่านที่มาเก็บภาพความงดงามผ่านสายตาต้องเผื่อใจไว้เล็กน้อย

นอกจากความมหัศจรรย์ของพระอุโบสถแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์ซึ่งเป็นวิวลำน้ำโขง และบริเวณด้านหลังพระอุโบสถเป็นจุดชม วิวทิวทัศน์ของฝั่งประเทศลาวและมองเห็นด่านสากลช่องเม็กอย่างสวยงามรวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่ อยู่บริเวณเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาป โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดินเราเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงโตซึ่งเป็นบรรยากาศที่สวยงามมาก สำหรับต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคุณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร โดยใช้สารเรืองแสง หรือ สารฟลูออเรสเซนต์รอบต้น คุณสมบัติของสารฟลูออเรสเซนต์จะรับแสงพระอาทิตย์ ในตอนกลางวัน พร้อมกับที่ศิลปกรรมชิ้นนี้ ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือหันข้างไปทางทิศตะวันตก ก็เลยเหมือนเป็นฉากกั้น พลังงาน ในช่วงเวลาตอนกลางวัน แล้วจะฉายแสงออกมาในตอนกลางคืน คือเป็นการคายพลังงานออกมา ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจาก วัดเชียงทอง ประเทศลาว เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ทางเข้าเป็นต้นสาละ

ส่วนตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นลง ลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า หัวใจหลักของการทำพุทธศิลป์ คือ การนำเสนอ งานศิลปะที่เกิดจากความสงบ ความเพียร ความอดทน และวิสัยทัศน์ งานแต่ละชิ้นต้องคิดจากความคิดอันวิจิตรและขบคิดมาก่อนทั้งสิ้น อย่างแนวคิดการจำลองให้วัดเป็นเขาพระสุเมรุ ตรงกลางของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของพระประธาน แต่เดิมที่คล้ายกับพระพุทธชินราช ในจังหวัดพิษณุโลก แต่มีการนำเพียงส่วนรัศมีออกไป เพื่อให้แลดูกลมกลืนกันยิ่งขึ้น พร้อมกับได้ทำฉากหลังเป็นต้นโพธิ์ โดยเบื้องบนติดด้วยแผ่นพระทอง

ส่วนการสร้างวัดนั้น ท่านพระอาจารย์บุญมากเป็นผู้ริเริ่ม ท่านเป็นคนฝั่งลาวจำปาสักเข้ามาเผยแพร่อบรมสมาธิทางฝั่งไท และได้ปักกลด ที่ภูพร้าวแห่งนี้ในปี 2497-2498 ต่อมาปี 2516ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการอ.พิบูลมังสาหาร ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า วัดสิรินธรวราราม หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม หลังจาก พระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญาก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป อย่างต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสงเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ส่วนพระอุโบสถยังมีการแต่งเติมอยู่เรื่อยๆ
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว
จากตัวเมืองอุบลไปยังอำเภอสิรินธรใช้เส้นทางเดียวกับทางไปด่านช่องเม็ก จนเลยเขื่อนสิรินธรก่อนถึงช่องเม็กประมาณ 2 กม.จะเจอ ที่กลับรถ สังเกตุด้านซ้ายมือจะเห็นป้ายวัด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เวปไซด์ ไปด้วยกันhttps://www.paiduaykan.com/province/Northeast/ubonratchathani/watsirintorn.html

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน


องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๙ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น
พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม จ ครั้ง ที่ถือเป็น อานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก
ที่มา : หนังสือไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ๗ วัน ๘ พระธาตุ โครงการพัฒนาและส่งเสรฺมการท่องเที่ยวพระธาตุสำคัญจังหวัดนครพนม
พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีเกิดแห่งเดียวบนแผ่นดินที่ราบสูง และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ เนื่องด้วยตามตำนานบริเวณที่ตั้งของพระธาตุพนมในอดีตเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าได้ขึ้นมาหมุน แล้วมองลงไปรอบๆ ก่อนจะประกาศก้อง ว่า พื้นที่ทั่วบริเวณนี้จะเป็นที่สืบทอดและเป็นจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนา เสมือนกับวันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้นของวันอื่นในสัปดาห์ ทั้งตั้งพัน ไปทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศประจำของ “พระราหุล” และยังเป็นองค์เจดีย์ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินอีสาน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะ ของเทวดาประจำวันอาทิตย์ที่มีพละกำลังที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น
ที่มา : หนังสือไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ๗ วัน ๘ พระธาตุ โครงการพัฒนาและส่งเสรฺมการท่องเที่ยวพระธาตุสำคัญจังหวัดนครพนม
ขอขอบคุณข้อมูล จากเวปไซด์ สำนักงานจังหวัดนครพนม
http://www2.nakhonphanom.go.th/travel/detail/8/data.html

วัดพุทธวนาราม หรือวัดป่าวังน้ำเย็น
บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม
ประวัติความเป็นมาวัดป่าวังน้ำเย็น
"วัดพุทธวนาราม" หรือ วัดป่าวังน้ำเย็น ตั้งอยู่ที่บ้านวังน้ำเย็น ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม พื้นที่กว่า 30 ไร่ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2555 สังกัดสงฆ์มหานิกาย
ปัจจุบัน พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ พระเกจิชื่อดัง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น
ความเป็นมาของการสร้างวัดป่าวังน้ำเย็น สืบเนื่อง จากในปี พ.ศ.2549 ขณะที่พระอาจารย์สุริยันต์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบูรพาเทพนิมิต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน ทำให้ญาติโยมชาวมหาสารคามมีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคที่ดินบริเวณที่ตั้งวัดป่าวังน้ำเย็นในปัจจุบัน ให้พระอาจารย์ สุริยันต์ สร้างวัด ซึ่งพระอาจารย์สุริยันต์ก็รับนิมนต์ โดยร่วมแรงร่วมใจกับญาติโยมและคณะศิษยานุศิษย์ พัฒนาที่รกร้างว่างเปล่าผืนนี้ จนกลายสภาพเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรือง

พุทธศาสนิกชนที่ผ่านเข้าไปในเขตวัดแห่งนี้ จะพบถาวรวัตถุ อาทิ ศาลาปฏิบัติธรรมไม้สักทองขนาดใหญ่เสา 112 ต้น ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างจากไม้เนื้อแข็งประกอบด้วยไม้แดง ไม้ประดู่ ตกแต่งด้วยไม้สักทอง มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และหอระฆังสร้างจากไม้สักขนาดใหญ่ เป็นต้น
ขณะเดียวกันวัดอยู่ระหว่างการก่อสร้างอุโบสถไม้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 30 นี่คือจุดเด่นของวัดป่าวังน้ำเย็นที่ถาวรวัตถุภายในวัด ล้วนก่อสร้างจากไม้ ด้วยฝีมือช่างด้วยความวิจิตรบรรจง จึงเป็นวัดที่มีความสวยงามอลังการ ญาติโยมทั้งใกล้และไกลที่มาเห็น มักถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึก

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญคู่วัดป่าวังน้ำเย็น ที่พุทธศาสนิกชนที่มาเยือนไม่ควรพลาดชมและกราบนมัสการขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง หน้าตักขนาด 5 นิ้ว 3 องค์ สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนักรวมกว่า 12 กิโลกรัม พระพุทธรูปทองคำทั้ง 3 องค์ วัดจะนำออกแห่รอบเมืองในงานทอดกฐินทุกปี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา
วัดป่าวังน้ำเย็น นอกจากเป็นศูนย์รวมใจของพุทธ ศาสนิกชนในพื้นที่แล้ว ปัจจุบันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองมหาสารคาม ด้วยในแต่ละวัน พุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล เข้ามาชมถาวรวัตถุอลังการงานไม้ภายในวัด พร้อมกราบขอพรพระพุทธรูปทองคำ เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระอาจารย์สุริยันต์กล่าวว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมที่เดินทางมาร่วมทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห้องน้ำ ห้องสุขา ให้สะอาดน่าใช้ถูกสุขอนามัย เป็นต้น และเมื่อมีการขยายพื้นที่วัดออกไป ทำให้พื้นที่วัดด้านข้างทิศใต้พื้นที่จอดรถ แบ่งเป็น 2 แปลง เพราะมีลำห้วยกั้น หากญาติโยมลงจากรถแล้วก็ต้องเดินอ้อมทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ทางวัดจึงได้จัดสร้างสะพานคอนกรีตเชื่อมที่ดินของวัด 2 แปลงเข้าหากัน โดยขออนุญาตจากทางชลประทานจังหวัด และธนารักษ์พื้นที่มหาสารคาม ซึ่งก็ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะนี้ วัดได้ลงมือก่อสร้างสะพานคอนกรีตพญานาคเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ญาติโยมที่มาทำบุญและปฏิบัติธรรม รวมทั้งมาเที่ยวชมวัดได้รับความสะดวกมากขึ้น และธนารักษ์จังหวัดมหาสารคาม ประกอบพิธีมอบเอกสารการใช้ประโยชน์ที่ดินให้วัด โดยมี นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี
ด้าน นายนิลวัฒน์ สุนทรนิพัทธ์ ธนารักษ์พื้นที่มหาสารคาม กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีหน้าที่ปกครองดูแลและจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุรวมทั้งให้บริการส่วนราชการใช้ประโยชน์ รวมทั้งใช้ประโยชน์ทางศาสนา ได้มีการอนุญาตให้วัดใช้ประโยชน์ไปแล้วหลายแห่ง และล่าสุด วัดป่าวังน้ำเย็น ขอใช้ที่สาธารณะสำหรับสร้างสะพานข้ามลำห้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด จึงให้การสนับสนุน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรม สามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นนี่คือผลพลอยได้ที่ตามมา
จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ หากมีโอกาสผ่านเข้ามาในพื้นที่เมืองมหาสารคาม ไม่ควรพลาดแวะเยือนวัดป่าวังน้ำเย็น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://sites.google.com/site/wadpawangnayenms/prawati-khwam-pen-ma

วัดพุทธนิมิตภูค่าว
บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
วัดพุทธนิมิตรภู่ค่าว (Wat Phuttha Nimit Phu Khao) จ.กาฬสินธุ์ เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวแกะสลักบนแผ่นผาผายุนับพันปีอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวกาฬสินธุ์ อุโบสถไม้ที่วิจิตรงดงามก่อสร้างจากไม้ขนาดใหญ่นำขึ้นมาจากใต้เขื่อนลำปาว และหอพระเครื่องที่มีพระเครื่องประดิษฐานอยู่เป็นจำนวนหลายแสนองค์ ท่ามกลางบรรยากาศสงบร่มรื่นภายในวัด
ประวัติ
วัดพุทธนิมิตภูค่าว ตั้งอยู่บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวความยาว 2 เมตร มีทองคำเปลวปิดอยู่ทั่วองค์ บ่งบอกถึงความเคารพศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ พุทธลักษณะของพระพุทธไสยาสน์ภูค่าวคือ พระเศียรหนุนทับต้นแขน โดยท่อนแขนที่หนุนพระเศียรไม่ได้ตั้งขึ้น และพระหัตถ์ไม่ได้รองรับพระเศียร ลักษณะพิเศษขององค์พระคือ เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ตะแคงซ้ายไม่มีเกตุมาลา โดยตำแหน่งที่องค์พระไสยาสน์ประทับอยู่จะอยู่บริเวณหน้าปากถ้ำกว้างประมาณ 5 เมตร สูงจากพื้นระดับเพดานถ้ำประมาณ 3 เมตร ผู้รู้ได้สันนิษฐานว่าพระไสยาสน์ตะแคงซ้ายองค์นี้ เป็นสัญลักษณ์ของ "พระมหาโมคคัลลานะเถรเจ้า" พระอัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ภายในวัดวัดพุทธนิมิตภูค่าว มีโบสถ์ที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และวิหารสังฆนิมิตที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเครื่องจำนวนมาก โดยวิหารหลังนี้จะอยู่บนยอดเขาใกล้ทางไปชมพระพุทธไสยาสน์ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กจำนวนมากแล้ว บริเวณผนังเรื่อยขึ้นไปถึงเพดานยังมีพระเครื่องนับพันองค์ประดับอยู่อย่างสวยงาม
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถไม้หลังวิจิตรงดงามสร้างจากไม้ขนาดใหญ่นำขึ้นมาจากใต้เขื่อนลำปาว โบสถ์ไม้หลังนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านซ้ายของถนนก่อนถึงบริเวณวัด เป็นอาคารไม้ทรงไทยตั้งบนฐานลวดบัวปูนปั้น หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้น มีชายคาปีก นกทั้งสี่ด้าน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับในป่าทึบแวดล้อมด้วยสิงสาราสัตว์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักเรื่อง พุทธชาดกและมีการประดับไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาทั่วโบสถ์ ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร เป็นพระประธานปางตรัสรู้หรือปางสมาธิสีทองสุกอร่าม บริเวณโดมเพดานเหนือองค์พระตกแต่งด้วยประติมากรรมไม้แกะสลักนูนต่ำ เรื่องพุทธประวัติ ทาสีทอง

รวมทั้งยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ที่สร้างด้วยหินทรายแกะสลักทั้งองค์ ฐานเจดีย์แกะสลักเป็นรูปลิงแบกฐานพระพุทธรูป ตัวมหาธาตุเจดีย์สูง 80 เมตร ความกว้างของมหาธาตุเจดีย์ ขนาด 45x45 เมตร ประตูแต่ละด้านสูง 7 เมตรภายในประกอบด้วยเสาใหญ่ 32 ต้นด้านผนังมีระเบียง ด้านบน ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณต่างยุคต่างสมัยส่วนด้านล่างประดิษฐานพระพุทธรูปหินสลัก 129 องค์ ยอดมหาธาตุเจดีย์ทำด้วย ทองคำหนัก 30 กก.และยังบรรจุอัญมณีมูลค่ามหาศาลจากผู้มีจิตศรัทธา และที่สำคัญไปกว่านั้นบริเวณกลางเจดีย์ด้านในมีมณฑป ไม้โลงเลง เป็นไม้เนื้อหอมชนิดหนึ่งจากส.ป.ป.ลาว ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และพระอริยสงฆธาตุ ด้วยซึ่งความสวยงามและบรรยากาศที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของวัดพุทธนิมิตภูค่าวนี้เอง จึงทำให้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ขาด เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ควรค่าแก่การเดินทางไปเยี่ยมชม โดยในวันที่ 19 เมษายน ของทุกปีทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์ภูค่าวที่วัดแห่งนี้ด้วย
- รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดกาฬสินธุ์ มีระยะทาง 520กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง 20 นาที
จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่มีเส้นทางรถไฟตัดผ่าน และยังไม่มีสนามบิน สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟและเครื่องบินนิยมนั่งไปลงที่จังหวัดใกล้เคียงคือ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเดินทางโดยรถยนต์หรือรถโดยสารประจำทางต่อมาที่จังหวัดกาฬสินธุ์
การเดินทางไปวัดพุทธนิมิตรภูค่าว
วัดพุทธนิมิตรภูค่าว อยู่ที่บ้านนาสีนวล ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 41 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 45 นาที ไม่มีรถสาธารณะไปถึง หากไม่ได้เดินทางโดยรถส่วนตัวนักท่องเที่ยวต้องเหมารถให้ไปส่ง
เวลาทำการเปิด – ปิด
เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=285
วัดถ้ำขาม
วัดถ้ำขามหรือภูขาม (เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์) ตั้งอยู่ที่ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บนสันเขาภูพาน มีบรรยกาศร่มรื่นงดงาม เป็นอนุสรณ์ว่า หลวงปู่เทสก์ ได้เคยมาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้ เป็นสถาปัตยกรรม แบบเจดีย์จตุรัสมุข ตามแนวศิลปกรรมอีสานผสมกับอยุธยา ภายในประดิษฐานรูปหล่อสำริดหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในวัดมีกุฏิเดิมหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งหลวงปู่เทสก์ ได้มาจำพรรษาจนกระทั่งละสังขาร ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันได้ทำหุ่นเหมือนหลวงปู่เทสก์ หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ในอิริยาบถนั่งเก้าอี้ในกฎิเพื่อจำลองเหตุการณ์ประหนึ่งว่าหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ตำนานของวัดถ้ำขามมีมากมายตั้งแต่สมัยที่เรายังเด็กสมัยหลวงปุฝันยังมีชีวิตอยู่เราจำได้ตอนที่เราตามคุณย่าไปจำศิลในวันพระและได้ช่วยขนหินขนทรายขึ้นไปทำกุฎิพระในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มีคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังตอนที่หลวงปู่ฝันเดินธุดงมาอยู่ใหม่ๆมีเสือแม่ลูกอ่อนอาศัยอยู่ในถ้ำอยู่แล้วแต่ด้วยบูญบารมีหรืออะไรก็ไม่รู้เสือแม่ลูกอ่อนยอมสละถ้ำให้หลวงปู่อยู่และได้สร้างเป็นที่ปฏิบัติธรรมเป็นวัดถ้ำขามมาจนทุกวันนี้


วัดพระธาตุหนองบัว
อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

วัดพระธาตุหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว เจดีย์ธาตุขนาดใหญ่ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ประชาชนได้สักการะบูชา
ประวัติวัดพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี

วัดพระธาตุหนองบัว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 โดย นายฟอง สิทธิธรรม อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีได้มีความเลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดขึ้นในที่นาของท่าน เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมฝ่ายวิปัสนาธุระของท่านพระอาจารย์ดี พระอาจารย์สิงห์ ขันทยาคโม หรือเจ้าคุณเทพญาณวิสิทธิ์ มีพื้นที่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 50 ไร่เศษ
มูลเหตุการสร้างวัดพระธาตุหนองบัว เริ่มต้นจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนผู้ยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการสร้างวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระมงคลกึ่งพุทธกาล พุทธศตวรรษ 2500 กำหนดแผนการก่อสร้างวัดเริ่มแรกในที่ดินของนายฟอง สิทธิธรรม ซึ่งในขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏภายใน ผู้ทำหน้าที่ติดต่อขอที่ดินสร้างวัดประกอบด้วย นายทองพูน ยุวมิตร และ นายอุ่น ไวยหงษ์ เป็นผู้นำ ได้พาคณะเดินทางไปหานายฟองที่เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายทอง พูลยุวมิตร ได้เล่าเรื่องราวที่เลื่อมใสศรัทธาให้นายฟอง สิทธิธรรม ฟังโดยละเอียด และขอทราบว่าที่ดินแปลงนี้จะถวายหรือจะขายให้ทางคณะศรัทธาได้ไหม เมื่อนายฟอง สิทธิธรรม ได้ฟังแล้วก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความปรารถนาอยู่แล้วว่าอยากถวายที่ดินแปลงนี้ให้สร้างวัด แม้จะถูกกักขังอยู่ในเรือนจำก็ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำและได้ตั้งสัจจะอธิษฐานขอให้มีสัตบุรุษมาขอที่ดินแปลงนี้สร้างวัด ดังนั้น เมื่อสมดังความประสงค์ที่ตั้งใจแล้วก็ปิติยินดีเป็นล้นพ้น เมื่อทราบความประสงค์แล้วคณะกรรมการที่สร้างวัด จึงกำหนดวันมอบถวายที่ดินแปลงขึ้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2498 จึงจารึกไว้ว่าที่ดินสำหรับสร้างวัดพระธาตุหนองบัวนี้ได้รับการบริจาคจาก นายฟอง-นางจันทร์มี สิทธิธรรม มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เมื่อเวลา 14.00-15.00 น.มีคณะผู้ริเริ่ม อุบาสก อุบาสิการ่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่และเจ้าของที่ประมาณ 60 คน เป็นพยาน

วันที่ 26 ตุลาคม 2498 ซึ่งตรงกับวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม เป็นวันขุดโค่นถากถางเป็นปฐมฤกษ์ จึงได้บอกกล่าวบอกหมู่คณะให้เตรียมอุปกรณ์การถางพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนเพื่อเคารพต่อเทพเจ้าก่อนลงมือ มีคณะทำงานที่มาช่วยกันประมาณ 20 คน สำหรับการลงมือที่แรกนี้อาจารย์จันทร์ประไพ ได้ล่วงหน้าไปนอนค้างคืนก่อนอยู่หนึ่งคืน เพื่อนั่งสมาธิวิปัสสนาและแจ้งแก่เทวดาอารักษ์ ในคืนนั้นท่านได้ปรากฏนิมิต(ฝัน)ว่า ในอาณาเขตที่จะสร้างวัด มีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ได้พากันอพยพโยกย้ายอุ้มลูกจูงหลานพร้อมทั้งขนข้าวของ และสัตว์เลี้ยงของตนออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่างก็โจษขานกันว่าที่แห่งนี้อุบาสกอุบาสิกาเขาจะสร้างวัด พุทธศาสนาพวกเราจงพากันหนีไปอยู่ที่อื่นเพื่ออนุโมทนาสาธุการ และปรากฏว่าเขาไปย้านอยู่ทางดงก้านเหลือง ซึ่งปัจจุบันได้ถูกสร้างเป็นสวน “วนารมย์” ครั้นรุ่งขึ้นจึงได้เล่านิมิตให้พรรคพวกฟัง แล้วทุกคนต่างก็มีความยินดีต่อนิมิตนี้
สิ่งก่อสร้างสำคัญสมัยแรกสร้างวัดนั้นมีจำนวนไม่มากและไม่มั่นคงเท่าไหร่นัก ประกอบด้วย ศาลาโรงธรรมและกุฏิชั่วคราว 5 หลัง แต่ละหลังมุงหญ้ากั้นฝาขัดแตะ ปูพื้นกระดานเฉพาะศาลาโรงธรรม หลังคามุงด้วยสังกะสี แต่ในปัจจุบันนี้สิ่งเหล่านั้นได้รื้อทิ้งหมดแล้วและสร้างใหม่ให้มีความแข็งแรง ศาสนาคารที่สำคัญ คือ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีพระมหาโพธิ์ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญกาญจนาภิเษก กุฏิที่สร้างแบบถาวรอีก 10 กว่าหลัง และสถานที่พยาบาลประจำ (อนามัย)

พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือที่ชาวอุบลเรียกกันว่า “พระธาตุหนองบัว” สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นี้ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นี้ เดิมมีความกว้างด้านละ 6 เมตร องค์พระธาตุทั้ง 4 ด้านแกะสลักพระประจำวันเกิด และกลีบบัวประดับ ฐานล่างแกะรูปพระพุทธเจ้าปางประสูติ ตรัสรู้ปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานยังองค์พระบรมธาตุ และได้ทำการก่อสร้างพระธาตุองค์ใหญ่ครอบพระธาตุองค์เล็กไว้ โดยมีฐานรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร ส่วนยอดฉัตร 4 ชั้น ลงรักปิดทอง ที่ยอดฉัตรเป็นรูปดอกบัวตูม ทำด้วยทองคำหนัก 31 บาท ฐานตอนล่างสุดเป็นรูปมารยกฐานไว้ ถัดขึ้นไปเป็นรูปพระสงฆ์สาวกยืนในซุ้มด้านละ 8 องค์รวม 32 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระเจ้าสิบชาติสลักเป็นช่อง ๆ 1 ช่อง ต่อ 1 เรื่อง รวมทั้งหมด 10 ช่องและเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปอีกเป็นลายรัดประคตรูปเทพนั่งบนแท่นสลับกับลายกนก ถัดขึ้นไปอีกประดับลายปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ สูงจนถึงยอดเจดีย์ ที่มุมฐานทั้งสี่ที่อยู่ด้านล่างเป็นรูปครุฑแบก เหนือขึ้นมาเป็นนาค 7 เศียร
ภายในองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุไว้ในสถูปลงรักปิดทองศิลปะอินเดียแบบปาละ คือ เป็นสถูปทรงสี่เหลี่ยมสลักลายเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงเป็นแถวคั่นแถวด้วยลายกลีบบัว
รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งทั้ง 4 มุมของกำแพงแก้วประดิษฐานพระเจดีย์ธาตุขนาดเล็กอีก 4 องค์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมประดับลายรูปเทพพนมและลายกนก ที่ฐานปั้นเป็นรูปเทวดาประทับนั่งในซุ้มภายในองค์ประธาตุมีประตูทางเข้า 4 ด้าน สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512
คำไหว้พระธาตุเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ หรือพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี
วันทามิ ภันเต เจติยัง สัพพัตถะฐาเน
สุปะติฏฐิตัง สารีริกกะธาตุ มหาโพธิง พุทธะรูปัง
สะกะลัง วะจะสา มะนะสา เจวะ
วันทาเมเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา
อุกาสะ วันทามิ ภันเต สัพพัง อะปะราธัง
ขะมะถะเม ภันเต มะยา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ขะมะถะเม ภันเต มะยา กะตัง ปุญญัง มัยหัง
ทาตัพพัง สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ด้านหลังของพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ มีอุโบสถศาลาซึ่งสร้างเลียนแบบรูปทรงมาจากปรินิพพานวิหารเมืองกุสินาราย รัฐอุตร ประเทศประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
อุโบสถศาลาวัดพระธาตุหนองบัว
อุโบสถศาลาที่วัดพระธาตุหนองบัวนี้ สร้างเป็นอาคารตรีมุข คือ มีหลังคายื่นออกไปเป็นสามด้าน หลังคารูปร่างโค้งมน มีระเบียงพาไลโดยรอบตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตรงดงาม ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งเป็นพระประธานในซุ้มตรีมุข เพดานโค้งด้านบนเขียนรูปเทวดาดั้นเมฆพนมมือบนพื้นสีแดง ตรงกลางเป็นรูปดาว ส่วนล่างเขียนจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ ส่วนเสา พื้น และผนังบุหินแกรนิต
ที่ตั้ง วัดพระธาตุหนองบัว
ถนนธรรมวิถี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดพระธาตุหนองบัว
15.263184, 104.839711
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี
https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=432
ภาพโดย ประสม บุญป้อง
|

วัดวิมลนิวาส
อำเภอเมืองฯ จังหวัดร้อยเอ็ด
ประวัติของวัดวิมลนิวาส จังหวัดร้อยเอ็ด
วัดวิมลนิวาส เป็นวัดสำคัญในจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด โดยมีประวัติความเป็นมาที่เชื่อมโยงกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมอันลึกซึ้งในภาคอีสานของประเทศไทย วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญทั้งในด้านศาสนาและสังคมของจังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดวิมลนิวาสสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระครูวิมลธรรมธาดา (พระครูวิมล) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งวัดและบำเพ็ญกิจกรรมทางศาสนาภายในพื้นที่ วัดวิมลนิวาสได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่มีความสงบและเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนาในชุมชน
ความสำคัญของวัดวิมลนิวาส
วัดวิมลนิวาสไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่ให้บริการทางศาสนาแก่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชุมชนร้อยเอ็ด อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่จัดกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น การสวดมนต์ประจำวัน, การบำเพ็ญกุศล, และการฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับผู้สนใจ
วัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น โดยจัดให้มีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษาและสังคมในชุมชน

สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างภายในวัด
วัดวิมลนิวาสมีสถาปัตยกรรมที่งดงามและสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน มีอาคารสำคัญภายในวัดเช่น พระอุโบสถ ซึ่งใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ โดยภายในพระอุโบสถมีการประดับประดาด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติและคติธรรมที่สำคัญ
ในบริเวณวัดยังมีศาลาและหอสมุดที่ใช้ในการศึกษาหาความรู้ทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ที่ผู้คนมักมาเคารพบูชาและสักการะบูชา เช่น พระพุทธรูปปางสมาธิ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการมีสมาธิและความสงบสุข
กิจกรรมและบทบาทในสังคม
นอกจากการทำกิจกรรมทางศาสนาแล้ว วัดวิมลนิวาสยังมีบทบาทในการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เช่น การจัดการอบรมสอนธรรมะสำหรับเยาวชน การจัดกิจกรรมด้านการศึกษา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชน
ในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น สงกรานต์และเข้าพรรษา วัดวิมลนิวาสจะจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการรักษาความสัมพันธ์ภายในชุมชน เช่น การทำบุญตักบาตร, การสวดมนต์ข้ามปี, และกิจกรรมบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความสงบสุขและความสามัคคีในสังคม
สรุป
วัดวิมลนิวาสไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและการประกอบศาสนกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและสังคมที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างพระพุทธศาสนาและชีวิตประจำวันของผู้คนในภาคอีสาน วัดแห่งนี้ยังคงดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรมและสงบสุขในอนาคต