ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




ประเพณีอีสาน

 

 

ประเพณีบุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง

ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์

สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็น งานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า

บุญบั้งไฟมีตำนานเล่าขานมานาน จากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องพระยาคันคาก ล้วนแต่กล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อให้แถน (เทวดา) ได้บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ถือเป็นประเพณีอันสำคัญที่จะละเลยมิได้ เพราะมีความเชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยภิบัติแก่ผู้คนในชุมชน งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ ลงทุนสูง การจัดงานจะต้องเป็นไปตามการตัดสินใจของชุมชน หากปีใดเศรษฐกิจในชุมชนฝืดเคืองอาจจะต้องงดจัดงาน ซึ่งต้องไปทำพิธีขอเลื่อนการจัดที่ศาลปู่ตา (ศาลผีบรรพบุรุษหรือเทพารักษ์) ของหมู่บ้าน ความจริงแม้จะจัดหรือไม่ก็ต้องมีการไปกระทำพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตาอยู่ดี

ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ

  • ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)
  • เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า "เตินป่าว" ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า "สลากใส่บุญ" เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศานาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและการฮดสงฆ์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์
  • ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ (เพราะต้องจัดงานเลี้ยงญาติพี่น้องอยู่แล้ว)
  • ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ
  • ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย "ฉบับ" ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ในสมัยผมยังเป็นเด็ก 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว ผมก็เป็นลูกมือพระด้วยการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา
 

การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพซ้ายมือ)

ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)

นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน

 

ีตสิบสองประเพณีสิบสองเดือนของชาวอีสาน

 

        " ฮีตสิบสอง " ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคร่งครัดงานประเพณีซึ่งได้จัดทำขึ้นทั้งพิธีเกี่ยวเนื่องในทางศาสนา และพิธีของชาวบ้านรวมทั้ง12เดือน เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า " ฮีตสิบสอง " และมักจะกล่าวควบกันกับระบอบการปกครองโบราณของภาคนี้ซึ่งเรียกว่า " คองสิบสี่ " แล้วเรียกคู่กันไปว่า " ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ " ประเพณีแต่ละเดือนๆมีดังนี้ คือ

      1. บุญข้าวกรรม เป็นพิธีสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เพื่อการปฏิบัติขององค์ท่านให้พ้นจากอาบัติกิเลสต่างๆมีการให้ทานรักษาศีลภาวนาและแผ่เมตตากำหนดเวลาทำพิธีกันขึ้นในเดือนอ้าย

      2. บุญคูนลาน กำหนดพิธีในระหว่างเดือนยี่ เมื่อนวดข้าวในลานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นทำบุญให้ทานเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและหมู่บ้านก่อนที่จะบรรทุกข้าวเปลือกมาใส่ไว้ในยุ้งหรือฉางข้าวต่อไป

       3. บุญข้าวจี่ กำหนดพิธีกันในกลางเดือน 3 เฉพาะ " ข้าวจี่ " ก็คือข้าวเหนียวสุกนึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนอาจมีการทาไข่เพื่อเพิ่มความหอมแล้ว " อัง " หรือ " จี่ไฟ " ให้สุกอีกทีนึง ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำที่หมู่บ้านหรือตามบ้านหรือไปรวมกันทำที่วัดเสร็จแล้วนำถวายให้พระภิกษุหรือสามเณรได้ขบฉันพร้อมกับอาหารคาวหวานอื่นๆ

        4.บุญพะเวส หรือ บุญมหาชาติ มีการฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก ถือว่าเป็นการทำบุญมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ พุทธศาสนิกชนไปร่วมทำบุญกันที่วัดกันอย่างมากมายงานบุญดังกล่าวนิยมทำกันระหว่างเดือน 4

        5. บุญสรงน้ำ กำหนดพิธีกันในเดือน 5 โดยตักน้ำเย็นที่ใสสะอาดประพรมด้วยน้ำหอมเจือแล้วนำไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ คือเริ่มตั้งแต่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ไปถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ความมุ่งหมายก็เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

อนึ่งการกุศลอื่นๆเนื่องในบุญสรงน้ำนี้ก็มีการก่อพระเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลาหรือสัตว์ที่มีชีวิต มีพิธีทำบุญเลี้ยงพระเพล เสร็จแล้วมีการเล่นฟ้อนรำขับรองและสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน

        6. บุญบั้งไฟ กำหนดพิธีขึ้นในระหว่างเดือน 6 เรียกอีกอย่างว่าบุญก็ได้ ความมุ่งหมายคือ ทำบุญกุศลที่วัดเสร็จแล้ว ตอนบ่ายก็จะมีพิธีจุดบั้งไฟเพื่อเป็นการบวงสรวงพระยาแถนเทวดาบนท้องฟ้าบันดาลให้ฝนตก เพื่อชาวนาจะได้ทำนาในฤดูต่อไป

        7. บุญซำฮะ คำว่า " ซำฮะ " ก็คือ " ชำระ " นั่นเองความหมายว่าต้องการชำระสิ่งที่รกรุงรังให้หมดมลทินเครื่องเศร้าหมองต่างๆโดยเฉพาะผ้านุ่ง ผ้าห่ม เครื่องใช้ที่สกปรกต้องซักฟอกชำระให้สะอาดด้วยการทำบุญให้ทาน เป็นต้นร่างกายและจิตใจจะได้ผ่องใสอยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยไป

        8. บุญเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะไปร่วมทำบุญเยี่ยงประเพณีที่วัดมีเครื่องถวายสักการะที่สำคัญก็คือ การหล่อเทียนพรรษา โดยการสลักเทียนเป็นลวดลายตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามเพื่อประกวดประชันกันโดยแต่ละแห่งๆจัดขบวนแห่ขึ้นแล้วตรงไปยังวัดกำหนดตรงกับวันเพ็ญเดือน 4

        9. บุญข้าวประดับดิน กำหนดพิธีในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ที่เรียกกันว่า " ข้าวประดับดิน " ก็โดยการนำเอาข้าวห่อ ขนมหวาน และหมากพลู บุหรี่ นำไปวางไว้บนพื้นดินตามที่ต่างๆเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว

นอกจากนั้นเมื่อทำบุญดังกล่าวแล้วก็ยังได้มีการเลี้ยงอาหารกันในระหว่างครอบครัวและแจกจ่ายไปตามญาติมิตรที่เคารพนับถือทั้งหลายในวันนี้ชาวบ้านก็จะพากันเข้าวัดรักษาศีลฟังธรรมเทศนาอีกด้วย

      10. บุญข้าวสาก คำว่า " ข้าวสาก " ก็คือ " ข้าวสลาก " นั่นเอง พิธีนี้กระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านได้นำข้าวต้ม ขนม เลี้ยงดูแจกจ่ายกันในตอนเพลของวันนี้ ชาวบ้านได้นำสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทานเพื่อนำเข้าไปถวายพระภิกษุในวัด เขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำรับกับข้าวแล้วนำลงใส่บาตร พร้อมกับนิมนต์ให้พระภิกษุตลอดจนสามเณรเป็นผู้จับสลาก พระภิกษุองค์ใดถูกสลากของใครก็จะได้รับกับข้าวและเครื่องไทยทานของผู้นั้น

      11. บุญออกพรรษา ในวันนี้ก็เป็นโอกาสของชาวพุทธศาสนิกชนจะได้แสดงความเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาครั้งใหญ่ ชาวบ้านและพระสงฆ์ตลอดจน สามเณรจะช่วยกันจัดทำไต้ประทีปขึ้นในวัดตรงหน้าพระอุโบสถ แล้วนำประทีปธูปเทียนมาจุดบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นเวลา 3 วัน 3คืน

      12. บุญกฐิน ชาวบ้านได้พากันทำบุญกฐินหลังออกจากพรรษา ซึ่งถือตามคตินิยมในทางพระพุทธศาสนา นอกจากบุญกฐินแล้วก็ยังมีบุญทอดผ้าป่า โดยเฉพาะบุญทอดผ้าป่านี้ไม่ได้กำหนดตามกาลและเวลา คือ เจ้าของหรือเจ้าภาพกำหนดทำพิธีเมื่อไรก็ได้

 

ประเพณีทั้ง 12 เดือนนี้ พุทธศาสนิกชนชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังได้จัดพิธีทำบุญนี้ของแต่ละเดือนอย่างเคร่งครัด และถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันเรื่อยมาจนเท่าทุกวันนี้

คลองสิบสี่แนวปฏิบัติของชาวอีสาน

       คลองสิบสี่ หมายถึง ข้อกติกาของสังคม ๑๔ ประการที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม มีดังนี้

       ๑. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ ให้บริจาคทานแก่ผู้มีศิลแล้วตนจึงบริโภคและแจกจ่ายแบ่งญาติพี่น้องด้วย

       ๒. อย่าโลภมาก อย่าจ่ายเงินแดงแปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็ง

       ให้ทำป้ายหรือกำแพงเอือนของตน แล้วปลูกหอบูชาเทวดาไว้ในสี่แจ(มุม)บ้านหรือแจเฮือน

       ๔ ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน

       ๕ เมื่อถึงวันศีล ๗-๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ ให้สมมา(อขมา)ก้อนเส้า สมมาคีงไฟ สมมาขั้นบันได สมมาผักตู(ประตู)เฮือนที่ตนอาศัยอยู่

       ๖. ให้ล้างตีนก่อนเข้านอนตอนกลางคืน

       ๗. ถึงวันศีล ให้เมียเอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมมาสามี แล้วให้เอาดอกไม้ ไปถวายสังฆเจ้า

       ๘. ถึงวันศิลดับ ศิลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสูดมนต์เฮือน แล้วทำบุญตักบาตร

       ๙. เมื่อภิกษุมาคลุมบาตร อย่าให้เพิ่นคอย เวลาใส่บาตรอย่าซุน(แตะ)บาตร อย่าซูนภิกษุสามเณร

       ๑๐. เมื่อภิกษุเข้าปริวาสกรรม ให้เอาขันขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารไปถวายเพิ่ม

       ๑๑. เมื่อเห็นภิกษุ เดินผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงค่อยเจรจา

       ๑๒. อย่าเงียบ(เหยียบ)เงาพระสงฆ์

       ๑๓. อย่าเอาอาการเงื่อน(อาหารที่เหลือจากการบริโภค)ทานแก่สังฆเจ้าและอย่าเอาอาหารเงื่อนให้สามีตัวเองกิน

       ๑๔. อย่าเสพกามคุณในวันศิล วันเข้าวัดสา วัดออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน

 

ฮีตที่ ๕.บุญสรงน้ำหรือบุญเดือนห้า

 

       บุญสรงน้ำ หรือ บุญเดือนห้า เมื่อเดือนห้ามาถึงอากาศก็ร้อนอบอ้าวทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยการอาบน้ำชำระเนื้อกายเป็นวิธีการแก้ร้อนผ่อนให้เป็นเย็น ให้ได้รับความ สุขกายสบายใจ อีกอย่างหนึ่งมีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีลูก จึงไปบะบน(บนบาน) พระอาทิตย์และพระจันทร์เพื่อขอลูก เวลาล่วงเลยมาสามปี ก็ยังไม่ได้ลูกจึงไปขอลูกกับต้นไทรใหญ่ เทวดาประจำต้นไทรใหญ่ มีความกรุณาได้ไปขอลูกนำพระยาอินทร์ พระยาอินทร์ให้ธรรมะปาละกุมาร (ท้าวธรรมบาล) มาเกิดในท้องภรรยาเศรษฐี เมื่อธรรมะปาละประสูติ เจริญวัยวัยใหญ่ขึ้น ได้เรียนจบไตรเภท เป็นอาจารย์สอนการทำมงคลแก่คนทั้งหลาย ครั้งนั้น ท้าวกบิลพรหม ลงมาถามปัญหาธรรมะปาละกุมาร (ถามปัญหาสามข้อคือ คนเราในวันหนึ่ง ๆ มีศรีอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าธรรมบาลตอบได้จะตัดศรีษะตนบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศรีษะธรรมบาลเสียโดยผลัดให้เจ็ดวันในชั้นแรก ธรรมบาลตอบไม่ได้ ในวันที่หก ธรรมบาลเดินเข้าไปในป่า บังเอิญได้ยินนกอินทรีย์สองผัวเมียพูดคำตอบให้กันฟัง ตอนเช้าศรี อยู่ ที่หน้า คนจึงเอาน้ำล้างหน้าตอนเช้า ตอนกลางวันศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาน้ำหมดประพรหมหน้าอกตอนกลางวัน และตอนเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าตอนเย็น ธรรมบาลจึงสามารถตอบคำถามนี้ได้) สัญญาว่าถ้าธรรมบาลตอบปัญหาจะตัดหัวของตนบูชา ธรรมบาลแก้ได้ เพราะศรีษะของกบิลพรหมมีความศักสิทธิ์มาก ถ้าตกใส่แผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งขึ้นไปในอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ก่อนตัดศรีษะกบิลพรหมเรียกลูกสาวทั้งเจ็ดคน เอาขันมารองรับแห่รอบเขาพระสุเมรุ หกสิบนาที แล้วนำไปไว้ที่เขาไกรลาสเมื่อถึงกำหนดปีนางเทพธิดาทั้งเจ็ดผลัดเปลี่ยนกันมาเชิญเอาศีรษะท้าวกบิลพรหมมาแห่รอบเขาพระสุเมรุแล้วกลับไปเทวโลก

บุญสงกรานต์ (บุญเดือนห้า)

ความสำคัญและความหมาย

      คำว่าสงกรานต์ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่าเทศกาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่อย่างเก่าซึ่งกำหนดตามสุริยคติตกวันที่ 13 – 14 – 15 เมษายน หากแปลตามรากศัพท์ บาลี สันสกฤตหมายถึงผ่าน หรือเคลื่อนย้ายไปในจักรราศรีหนึ่ง ก็เรียกว่าสงกรานต์ ปีหนึ่งมี 12 ราศรี ราศรีละเดือนแต่วันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศรีเมษ คือ ในเดือนเมษายนเราเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์เพราะถือว่า เป็นวันและเวลาขึ้นปีใหม่ตามคติโบราณ แต่โดยทั่วไปเรียกว่าวันสงกรานต์เท่านั้น ก็เป็นที่เข้าใจกัน

   บุญสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ของภาคอีสานกำหนดทำกันในเดือนห้าปกติมี 3 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายน เหมือนกับภาคกลาง วันที่ 13 เป็นวันต้น คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน คือวันกลางเป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายนเป็นวันสุดท้าย เป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ พิธีสงกรานต์ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ อาจมีพิธีทำแตกต่างกันไปในข้อปลีกย่อย แต่ที่ทำเหมือนกันคือการสรงน้ำพระพุทธรูปที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปมักเป็นที่ใดที่หนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสมซึ่งตามปกติมักใช้ศาลาการเปรียญ แต่บางวัดมีการจัดสร้างหอสรงขึ้นแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ เพื่อทำการสรงในวันสงกรานต์ และในวันถัดจากวันสงกรานต์อีกด้วย

    มูลเหตุที่มีการทำบุญสงกรานต์ มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีผู้หนึ่ง อยู่กินกับภรรยามานานแต่ไม่มีบุตร เศรษฐีผู้นั้นบ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงมีบุตรสองคนผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุราไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทตนผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติมากท่านก็ไม่มีบุตรตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่าเรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีได้ยินดังนั้น มีความละอาย จึงทำการบวงสรวง ตั้งอธิษฐานขอบุตรต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ถึงสามปีแต่ไม่เป็นผล จึงไปขอบุตรต่อต้นไทร เทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรสงสาร ได้อ้อนวอนขอบุตรต่อพระอินทร์ให้เศรษฐี พระอินทร์จึงโปรดให้ ธรรบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อประสูติแล้วเศรษฐีให้ชื่อว่าธรรมบาล ตามนามของเทวบุตร และปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเป็นเด็กฉลาด โตขึ้นอายุ 7 ขวบ ก็สามารถเรียนจบไตรเพท เรียนรู้ภาษานกและมีความเฉลียวฉลาดมาก ต่อมากบิลพรหมจากพรหมโลกได้ลงมาถามปัญหาสามข้อกับธรรมบาล ปัญหามีว่า คนเราในวันหนึ่ง ๆ เวลาเช้าศรีอยู่ที่ไหน เวลาเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหนโดยสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลแก้ได้กบิลพรหมจะตัดศรีษะของตนบูชา แต่ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ จะต้องตัดศรีษะธรรมบาลเสีย โดยผัดให้เจ็ดวัน คราวแรกธรรมบาลนึกตอบปัญหานี้ไม่ได้ พอถึงวันถ้วนหก ธรรมบาลไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง จึงเดินเข้าไปในป่า พอดีแอบได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียพูดกันอยู่บนต้นตาล โดยนกอินทรีตัวเมียปรารภกับนกอินทรีตัวผู้ซึ่งเป็นผัวว่าพรุ่งนี้ไม่ทราบว่าจะได้อาหารอะไรสู่ลูกกิน นกอินทรีตัวผู้จึงตอบว่า อาหารมีอยู่แล้ว คือ จะได้เนื้อธรรมบาลแล้วนกอินทรีตัวผู้ก็เล่าเรื่องราว ที่กบิลพรหมมาถามปัญหาธรรมบาลให้เมียฟัง และคิดว่าธรรมบาลคงตอบปัญหาไม่ได้ กบิลพรหมก็จะตัดศรีษะธรรมบาลตามที่พูดสัญญาไว้ ในขณะพูดกันนั้นนกอินทรีตัวผู้ได้พูดคำตอบให้นกอินทรีตัวเมียฟังด้วย ธรรมบาลได้ยินนกพูดกันเช่นนั้น จึงสามารถแก้ปัญหาได้ คำตอบคือ เวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้า คนจึงอาบน้ำล้างหน้าในตอนเช้า เวลากลางวันศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่หน้าอกในเวลากลางวันและเวลาเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าเวลาเย็น เมื่อถึงวันถ้วนเจ็ด ท้าวกบิลพรหมได้มาทวงถามปัญหาธรรมบาล เมื่อธรรมบาลตอบได้ (ตามที่ได้ยินนกพูดกัน) กบิลพรหมจึงตัดศรีษะของตนบูชาธรรมบาลตามสัญญา แต่เนื่องจากศรีษะของกบิลพรหมศักดิ์สิทธ์ถ้าตาลงบนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งในอากาศจะทำให้เกิดฝนแล้ง และถ้าทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ดังนั้นเมื่อกบิลพรหมจะตัดศรีษะของตนจึงให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารองรับศรีษะของตนไว้ โดยตัดศรีษะส่งให้นางทุงษผู้ธิดาคนใหญ่ แล้วธิดาทั้งเจ็ดจึงแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จึงนำศรีษะไปประดิษฐานไว้ที่มณฑปในถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาเป็นเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ให้เป็นที่ประชุมเทวดา พอครบหนึ่งปีธิดาทั้งเจ็ดจะผลัดเปลี่ยนกันมาอันเชิญ เอาศรีษะของกบิลพรหมแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ธิดาทั้งเจ็ดของกบิลพรหมมีชื่อดังนี้คือ ทุงษ โคราค รากษส มัณฑา กิรินี กิมิทาและมโหทร พิธีแห่เศียรของกบิลพรหมนี้ ทำให้เกิดพิธีตรุษสงกรานต์ขึ้นทุก ๆ ปี และถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวไทยโบราณต่อ ๆ กันมาด้วย (สาร สารทัศนานันท์ 2530 : 24)

   ขั้นตอนดำเนินการ

การประกอบพิธีประเพณีสงกรานต์มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

    ในวันที่ 12 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันก่อนเริ่มวันงานหรือวันเตรียมงานในช่วงบ่ายทางวัดจะจัดเตรียมทำความสะอาดพระพุทธรูป ปัดกวาดศาลาการเปรียญให้เรียบร้อย จัดตั้งโต๊ะหรือที่จะทำพิธีสรงพระพุทธรูปบางแห่งอาจมีหอสรงไว้แล้วก็ไม่ต้องจัดเตรียมโต๊ะอะไร หากจะมีพิธีสรงพระสงฆ์ และคนเฒ่าคนแก่ด้วยก็ต้องเตรียมเก้าอี้ มานั่งหรืออาจเป็นแคร่ไม้ไผ่ก็ได้ใว้ให้พระสงฆ์ตรอดจนคนเฒ่าคนแก่นั่ง

    ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันงาน ช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร คนหนุ่มสาวลูกหลานที่เดินทางมาจากต่างถิ่นจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด เป็นการเริ่มปีใหม่ชีวิตใหม่ตามวิถีของไทยอีสาน ครั้นถึงเวลาบ่ายประมาณสองโมง (14 นาฬิกา) ทางวัดจะตีกลองเพื่อนัดชาวบ้านให้จัดหาน้ำอบน้ำหอมและดอกไม้ธูปเทียนไปรวมกันที่วัด บางท้องถิ่นหนุ่มสาวจะชวนกันไปหาดอกไม้ในป่าเพื่อนำมาบูชาพระ เมื่อพร้อมแล้วมีการกล่าวคำบูชาดอกไม้และอธิฐานขอสรงน้ำชาวบ้านก็จะสรงน้ำพระพุทธรูปที่จัดเตรียมไว้ โดยใช้ช่อดอกไม้จุ่มน้ำอบน้ำหอมและสลัดใส่องค์พระพุทธรูป จากนั้นชาวบ้านก็จะนำน้ำที่ได้จากการสรงพระพุทธรูปไปประพรมบนศรีษะของตนลูกหลานและสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ฯลฯ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข เกิดสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและสัตว์เลี้ยง

    หากมีหอสรงมักจะอันเชิญพระพุทธรูป 4 องค์ไปไว้ที่หอสรงสำหรับสรงน้ำในวันถัดไปจากวันตรุษสงกรานต์อีกด้วย ที่หอสรงบางแห่จะใช้ไม้แก่นเจาะเป็นราง สลักลวดลายอย่างสวยงามและรางอาจทำเป็นรูปสัตว์ เช่น รูปพญานาคเป็นต้น หรือรางไม้ไผ่ที่ทำเป็นร่องยาวพาดออกมาข้างนอกตรงรางบนพระพุทธรูปเจาะเป็นรูและต่อท่อเล็ก ๆ ให้น้ำไหลพุ่งออกมา การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรง ถ้ามีรางก็เทน้ำใส่รางที่ยื่นออกมาข้างนอกเพื่อให้น้ำไหลรดองค์พระพุทธรูปตรงรู หากไม่มีรางใช้ภาชนะเล็ก ๆ เช่น ขัน เป็นต้น ทำการรดในวันต่อ ๆ มาภายหลังวันตรุษสงกรานต์

     เมื่อมีคนไปสรงน้ำพระพุทธรูป เด็ก ๆ มักชอบไปอยู่ข้างใต้หอสรงเพื่อจะได้อาบน้ำที่สรงพระพุทธรูปเป็นที่สนุกสนาน ทั้งเชื่อกันว่าจะทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและอยู่เย็นเป็นสุขด้วย การสรงน้ำพระพุทธรูปที่หอสรงนี้จะทำทุกวัน จนกว่าจะแห่ดอกไม้เสร็จ ซึ่งอย่าช้าไม่เกินวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 จึงอันเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ตามเดิมในวันตรุษสงกรานต์

      เมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปเสร็จแล้ว บางแห่งเวลากลางคืนประมาณหนึ่งทุ่มชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัดทำการละเล่นสนุกสนาน มีการร้องรำทำเพลง บางแห่งจะมีเกมเล่นต่าง ๆ บางแห่งจะพากันจับกลุ่มเล่นหัวกันตามละแวกหมู่บ้าน หรือในบริเวณวัดแล้วนำกิจกรรมละเล่นพื้นบ้านมาเล่นกัน เช่น เล่นสะบ้า ดึงชักเย่อ เป็นต้น

     การเล่นสงกรานต์ (สาดน้ำ) จะไม่มีการถือชั้นวรรณะ อายุ เพศ วัย ทุกคนสามารถเล่นสาดน้ำใส่กันได้ทั้งนั้น เพราะเชื่อกันว่าหาเล่นสาดน้ำกันมากเท่าใดก็จะเป็นการดลบันดาลให้ฝนตกมามากเท่านั้น บางแห่งพวกผู้หญิงจะรวมกันจับผู้ชายไปมัดไว้แล้วรดน้ำไปเรื่อย ๆ จนหนาวสั่น จะหยุดรดก็ต่อเมื่อผู้ถูกจับยอมเสียค่าไถ่ เช่น เครื่องดื่ม (เหล้า, น้ำอัดลม) ขนม เป็นต้น

      นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้วในวันตรุษสงกรานต์ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์ บางแห่งจะสรงน้ำ ดำหัวคนเฒ่าคนแก่ด้วย เป็นการแสดงความเคารพและขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข

      พอถึงวันที่ 14 เมษายน ชาวอีสานถือว่าเป็นวันเนาอันเป็นวันที่ถัดจากวันมหาสงกรานต์วันนี้ถือเป็นวันนี้ถือเป็นวันหยุด ใครมีการงานอะไรจะต้องหยุดพักไว้ก่อนแล้วให้มาเล่นสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานจนล่วงถึงรุ่งสางราวตี 4 ตี 5 จะมีการยิงปืนและจุดประทัดเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและเสนียดจัญไรต่าง ๆ ด้วย

      บางแห่งชาวบ้านจะทำธุง (ธง) ด้วยด้ายสีต่าง ๆ ยาวประมาณ 2 – 3 วา นำไปแขวนที่วัด โดยใช้ลำไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ เป็นเสาธง ช่วงนำธุงไปแขวนจะมีพิธีแห่ด้วยทำให้เกิดความสนุกสนานดี การนำธุงไปแขวนตามวัดนั้นมีความเชื่อว่า เป็นการบูชาพระรัตตรัย และเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนนะของชีวิต กล่าวคือการมีชีวิตอยู่ยืนยาวจนถึงรอบปีถือว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชีวิต จึงได้ปักธงชัยให้เทวดาได้รับรู้

      ครั้งถึงวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของประเพณีนี้ บางแห่งมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า บางแห่งมีการขนทรายมาก่อเจดีย์ทรายที่วัดหรือทำที่หาดทรายใกล้แม่น้ำของหมู่บ้าน การก่อเจดีย์ทรายจัดทำโดยเอาทรายผสมน้ำพอชุ่มแล้วนำมาก่อเป็นทรายกองใหญ่ ทำให้รูปทรงเรียวสูงคล้ายพีระมิด ตกแต่งให้สวยงามดีแล้วใช้ไม้แข็งที่ทำลวดลายทาสีให้สวยงามตรงปลายห้อยด้วยดอกไม้และเทียนมาเสียบตรงยอดเจดีย์เป็นการปักธงชัยแห่งชีวิตในรอบปี

       บางแห่งจะเอาขันขนาดเล็กใส่ทรายผสมน้ำพอหมาด ๆ ให้เต็มพอดีแล้วดีคว่ำลงกับพื้นดินรอบเจดีย์ทรายองค์ใหญ่ คนหนึ่งทำให้เกินอายุของตนไว้ 1 ขัน ซึ่งมีความหมายว่าขอให้อายุยืนยาวต่อไปอีก กองทรายที่ทำด้วยขันรองเจดีย์ทรายองค์ใหญ่จำนวนมากมายนี้ความหมายอีกนัยหนึ่งคือหมายถึงจำนวนพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์แปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ดังนั้นหลายแห่งจึงเรียกเจดีย์กองทรายใหญ่ว่ากองพระทรายแปดหมื่นส่วนกองทรายที่ทำด้วยขันมากมายเทียบกับสี่พันพระธรรมขันธ์

        นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนจะกำทรายไปใส่ตามโคนต้นไม้ในบริเวณวัดมีต้นโพธิ์เป็นต้น โดยนับจำนวนกำให้เกินอายุของตนไว้ 1 กำ ซึ่งทำเกินไว้นั้นนัยว่าต้องการให้มีอายุยืนต่อไปอีกเหมือนดังที่กล่าวแล้ว

         การก่อเจดีย์ทรายหากไม่ทำในวันดังกล่าวอาจเว้นไปทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก็ได้ ซึ่งหลายแห่งนิยมทำกันในช่วงนี้มาก เพราะเป็นช่วงที่ว่างห่างจากการเล่นสงกรานต์พอดี และจะได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่นำมาสรงน้ำที่หอสรงไปประดิษฐานไว้ ณ ที่เดิม

         การก่อเจดีย์ทรายเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็จะมีการทำพิธีบวช โดยนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาทำพิธีสวดพระพุทธมนต์ และทำพิธีบวชองค์พระเจดีย์ทราย มีการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่เจดีย์ทรายด้วย พิธีนิยมทำในตอนบ่ายพอถึงตอนเย็นหรือค่ำมีการเจริญพระพุทธมนต์ฟังเทศน์ฉลองพระเจดีย์ทราย และอาจมีมหรสพสมโภชก็ได้

         การก่อเจดีย์ทรายนอกจากจะได้บุญตามความเชื่อกันแล้ว สิ่งที่ได้ทางอ้อม คือการได้นำดินเข้าวัด เป็นการช่วยทำให้ดินตรงนั้นไม่ลุ่มต่ำ เมื่อฝนตกลงมาก็จะช่วยชะดินให้เรียบเสมอ ไม่มีน้ำขังและหญ้าไม่ขึ้นด้วยทำให้ลานวัดสะอาดงามไปในตัว

    วิพากษ์พิธีกรรม – ความเชื่อ

       บุญสงกรานต์หรือประเพณีสงกรานต์หลายแห่งเชื่อกันว่าเป็นประเพณี พิธีกรรมของชาวพุทธ อันที่จริงแล้วไม่ใช่พิธีกรรมอันแท้จริงของชาวพุทธเลย แต่เป็นพิธีกรรมที่ชาวพราหมณ์ปฏิบัติกันมาช้านานแล้วไม่ว่าจะเป็นตำนาน ลักษณะพิธีกรรม ความเชื่อ การละเล่นต่าง ๆ ล้วนเป็นแบบประเพณีพราหมณ์ทั้งนั้น เหตุที่มีพระเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะพระส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับญาติโยมเป็นสำคัญ หากโยมพาทำอะไรที่เห็นว่าไม่เป็นการเสียหายต่อรูปแบบหรือการของพุทธเกินไปก็ทำ ส่วนหนึ่งกระทำไปด้วยไม่รู้จริง ๆ ว่า นั้นคือประเพณีของพราหมณ์ มีความเชื่อตามคนเฒ่าคนแก่ส่วนใหญ่นำมาปฏิบัติจนกลายเป็นของพุทธไปแล้ว พระจึงไม่เพียงแต่ทำตามเท่านั้นหากแต่ชักชวนนำพาบอกกล่าว สรรเสริญในบุญประเพณีนี้ด้วยช้ำ  เพราะผู้รู้ในหลักของพุทธศาสนาท่านจะไม่เอา ไม่ทำ ไม่นำพาในพิธีกรรมนี้เลย เพราะเป็นแค่ความเชื่อชั่วครั่งชั่วคราว ไม่ใช่แก่นแกนของศาสนาอะไร โดยเฉพาะพระสายปฏิบัติและสายปัญญาท่านเข้าใจอย่างแท้จริงท่านจะไม่สนับสนุนให้ทำ และยังสอนให้คนเข้าใจผิด ๆ ด้วย ซึ่งคำสอนของพระเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักพุทธตามเป็นจริงและที่ผู้เขียนได้ศึกษาหลักของพระพุทธมา ขอเสนอให้ท่านได้เกิดสัมมาทิฐิดังนี้

  ความเชื่อในเรื่องราศรีหรือศรี ตามตำนานที่เล่าว่าตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้าตอนกลางวัน

อยู่หน้าอก ตอนค่ำอยู่ที่เท้า ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นกุศโลบายเท่านั้น คือมุ่งจะสอนให้คนเราประพฤติปฏิบัติให้เกิดสิ่งดีแก่ตนเองเท่านั้นเอง แต่งไม่บอกรายละเอียดจริง ๆ ว่าคืออะไร เพียงซ่อนแฝงความจริงไว้แล้วแนะให้เชื่อว่า หากนำน้ำล้าง ส่วนที่กำหนดดังกล่าวจะทำให้เกิดราศีคือมงคลแก่ตนเองได้ คนส่วนใหญ่มีความเชื่อง่ายอยู่แล้วจึงเชื่อโดยไม่ต้องศึกษาถึงส่วนลึกรายละเอียดและกุศโลบายที่แท้จริง

ตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้านั้น ความจริงคือท่านมุ่งสอนให้คนเรามีความสุขนิสัยที่ดีคือเมื่อตื่น

เช้าขึ้นมาจะต้องล้างหน้าทำความสะอาดใบหน้าให้ผ่องใสเพราะใบหน้า คือส่วนแรกที่คนเรามองกัน ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดหากไม่อาบน้ำก็ควรล้างหน้าไว้ก่อน และที่เป็นส่วนรายละเอียดที่ลึกกว่านั้นก็คือ ท่านมุ่งสอนให้เราทำหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เบิกบานสดใส ยิ้มง่าย ไม่ทำใบหน้าให้อมทุกข์ หน้านิ้วคิ้วขมวด หากทั้งล้างหน้า (หน้าอก) และยิ้มย่องผ่องใส (หน้าใน) ได้แล้วย่อมทำให้คนนั้นเป็นคนมีเสน่ห์ มีราศีในตัวเอง มิได้เกิดจากสิ่งใดมาดลบัลดาลให้เลย หากแต่เกิดจากกรรมคือการกระทำของตัวเองนั้นเอง

        ความเชื่อในตอนเที่ยงราศีที่อยู่อกนั้น ความจริงต้องการให้เราชำระล้างร่างกายให้สะอาดหรืออาบน้ำนั้นเอง หากอาบน้ำชำระร่างกายให้ดีย่อมส่งผลถึงจิตใจจะทำให้คนเราใจดีไปด้วย เพราะจิตใจและกายย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากกายสะอาดดีก็จะส่งผลถึงจิตใจและหากจิตใจดีก็ส่งผลถึงกายเช่นกัน ทั้งกายและจิตใจจึงเอื้อต่อกัน จุดมุ่งที่แท้จริงท่านต้องการให้เราทำจิตใจสงบเย็น เพราะตรงอกก็คือหัวใจ คนเราจะดีชั่วก็อยู่ที่จิตใจหรือหัวใจของเรานั้นเอง การสอนให้เอาน้ำลูบอกหรือล้างอกก็คือสอนให้เราใจเย็น ใจดี ให้อภัยไม่โลภ หลง หรือมีอวิชาครอบงำนั้นเอง

        ที่บอกว่าตอนค่ำราศีอยู่ที่เท้า ข้อนี้เจตนาต้องการสอนให้เราทำความสะอาดเท้าก่อนเข้านอน ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ดีมาก หากเราเข้านอนโดยไม่ล้างเท้าหรืออาบน้ำจะทำให้เกิดความสกปรกได้ เมื่อคนเชื่อและปฏิบัติตามราศีและมงคลย่อมเกิดแก่ตนเองแน่นอน

        ความเชื่อเกี่ยวกับการสรงน้ำ ความเชื่อเกี่ยวกับน้ำไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำมนต์และสรงน้ำย่อมมีความเชื่อคล้าย ๆ กัน คือมีความเชื่อว่าการรดน้ำมนต์และสรงน้ำแล้วจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวตลอดจนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ อันที่จริงก็ได้ความสุขทางจิตใจระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่แก่นแท้ของการทำตนให้มีความสุข ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงหรือสุขนิรันดร์อะไรเป็นสุขทางใจชั่วขณะเท่านั้น และประเพณี 2 อย่างนี้ก็เป็นของพราหมณ์อย่างชัดเจน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นพิธีพุทธเพราะเห็นมีพิธีทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากศึกษาระดับลึกแล้วจะเห็นเป็นการประสมประสานเข้าหากันเท่านั้น เพราะพระไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างแนวคิดพิธีปฏิบัติจึงปรับตัวเองให้เข้ากับประเพณีที่มีมาแต่โบราณ (พิธีพราหมณ์)

         แต่พระผู้ยึดหลักของพุทธอย่างแท้จริงท่านจะก้าวล่วงประเพณีเหล่านี้ไป แม้แต่การรดน้ำมนต์ก็ไม่เอาไม่ทำเพราะพุทธจริง ๆ ไม่เคยสอนว่าน้ำมนต์จะดลบันดาลให้คนได้ดีได้ คนยากจนลดน้ำมนต์แล้วก็ใช่จะรวยคนชั่วคนทำผิดศีลธรรมมารดน้ำมนต์ใช่ว่าจะทำให้ดีขึ้นได้ เพราะหลักศาสนาสอนว่ากรราชั่ว กรรมดีอยู่ที่การกระทำของตนเองต่างหาก หากทำชั่วย่อมได้รับชั่วตอบสนอง แม้จะไม่ตอบสนองทันทีทันใดแต่ก็ต้องได้รับกรรมไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งน้ำมนต์จะมาชำระล้างบาปกรรมที่ทำชั่วลงไปไม่ได้ (เป็นอันขาด) นี่คือหลักของพุทธศาสนา ที่พระต้องรดน้ำมนต์ตลอดจนการสรงน้ำในวันสงกรานต์เป็นแค่เปลือก กระพี้ที่ทำพอให้คนที่นี้ภูมิปัญญาระดับต้น ๆ สบายใจเท่านั้น ที่เชื่อกันว่าจะทำให้สัตว์ พืชพันธุ์ ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ อยุ่เย็นเป็นสุขนั้นขัดกับหลักพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์เพราะสัตว์หรือพืชจะเจริญเติบโตหรืองอกงามดีย่อมอยู่ที่การดูแลรักษาเป็นสำคัญ เราจะนำน้ำมนต์หรือน้ำที่เหลือจากการสรงพระไปประพรมให้มากเท่าไหร่ก็ไม่อาจช่วยให้ดีได้หากเราไม่ดูแลรักษาให้ดี ข้อนี้คือความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้

     3. ความเชื่อเกี่ยวกับกองเจดีย์ทราย เจดีย์ทรายกองใหญ่เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอนแปดหมื่น ส่วนเจดีย์ทรายกองเล็กที่มีขันเป็นแม่แบบและมีการทำมากมายรอบ ๆ เจดีย์ทรายกองใหญ่แทนสี่พันระธรรมขันธ์ นี้เป็นความเชื่อด้านสัญลักษณ์แทนสิ่งมีค่าคงไม่ต้องพิพากษ์อะไรแต่ที่เชื่อกันว่าหากก่อเจดีย์กองเล็กมากเท่าไรก็จะทำให้อายุมากเท่านั้นนี้ซิเป็นเรื่องควรวิพากษ์เป็นอย่างยิ่ง

     ชาวอีสานส่วนหนึ่งจะเชื่อในเรื่องนี้มากจึงพากันก่อเจดีย์ทรายกันใหญ่ หากมาศึกษาดูคำสอนของศาสนาพุทธในฐานะเป็นชาวพุทธแล้วปรากฏว่าไม่มีคำสอนใดทีกล่าวถึงว่าการก่อเจดีย์ทรายแล้วจะช่วยให้อายุยืนได้เลย แต่การที่อายุยืนได้นั้นท่านสอนให้ทำความดี คือไม่ทำปาณาติบาตท่านสอนว่าคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเหตุให้อายุสั้น ดังนั้นชาวพุทธควรเชื่อตามแนวพุทธจะดีกว่า แต่การทำประเพณีก็ใช่ว่าไม่ได้ประโยชน์ แต่เราอย่าลืมสาระหลักของศาสนาก็แล้วกัน

     4. การจุดประทัดเพื่อไล่ภูตผีปีศาจ ความเชื่อนี้มีมาแต่โบราณอาจมาจากความเชื่อว่าประทัดมีเสียงดังภูตผีปีศาจคงจะกลัวเสียงดัง ความเชื่อนี้คงขยายตัวมาจากชาวจีน เพราะชาวจีนนิยมจุดประทัดในเทศกาลสำคัญและงานที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ และชาวจีนเป็นต้นตำรับของการผลิตประทัดประกอบกับชาวพราหมณ์อีสานมีความเชื่อในไสยศาสตร์มากอยู่แล้วจึงพากันเชื่อเอาง่าย ๆ ว่าประทัดจะไล่ภูตผีปีศาจได้จริง จึงมีการจุดประทัดในงานดังกล่าว

      หากศึกษาตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธในฐานะเป็นชาวพุทธไม่เห็นมีคำสอนส่วนใดเลยว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผีร้ายหนีไปได้ แต่ท่านสอนว่าผีร้ายคือความชั่วทั้งหลายที่อยู่ในจิตใจเรานั้นจะหนีไปได้ก็ต่อเมื่อเราทำความดี สร้างบุญกุศลให้เกิดมีขึ้นในใจเราเท่านั้น ดังนั้นแม้เราจะจุดประทัดดังปานใดมากเพียงไหนก็คงช่วยไล่ความชั่วร้ายจากจิตใจเราไม่ได้แน่

      เท่าที่ได้วิพากษ์มาทั้งหมดนั้นผู้เขียนได้ยึดหลักของคำสอนของศาสนาพุทธเป็นหลัก เพราะเป็นคำสอนที่มีเหตุผลสามารถพิสูจน์ได้ไม่ใช่สอนให้เชื่อตาม ๆ กันมาเฉย ๆ แต่สอนให้มีวิจารณญาณใช้โยนิโสมณสิการ คือการพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย รอบคอบแน่นอน มั่นใจแล้วจึงเชื่อ และให้ยึดหลักกาลามาสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงสอนกาลามชนโดยไม่ให้เชื่ออะไรง่าย ๆ ขอชาวพุทธพึงสังวรในเรื่องนี้ให้ดี

       อย่างไรก็ดีประเพณีดังกล่าวชาวอีสานก็ควรได้สืบสานปฏิบัติกิจกรรมตามฮีตกันต่อไป และควรแยกแยะออกให้ชัดเจนระหว่างฮีตและหลักของพุทธ ขออย่าได้ถือว่าทั้งหมดนั้น คือหลักของพุทธก็แล้วกันจะเป็นมิจฉาทิฐิเปล่า ๆ เหตุที่ควรปฏิบัติประเพณีหรือฮีตต่อไปไม่ขาดสายก็เพราะบรรพบุรุษได้สอนไว้ว่า

      “อีตหนึ่งนั้น พอเถิงเดือนห้าให้พวกไพร่ชาวเมือง

พากันทำเครื่องสรงองค์พระสัพพัญญูเจ้า ทุกวัดให้ทำไปอย่าไลห่าง

ให้พากันสืบสร้างบุญไว้อย่าไล ทุกทั่วทีปแผ่นหล้าให้ทำแท้สูคน

จั่งสิสุขยิ่งล้นทำถึงคำสอน คือฮีตครองควรถือแต่ปางปฐมพุ้น

หมายความว่า   พอถึงเดือนห้าชาวบ้านจะพากันหาเครื่องสรงพระพุทธรูป มีน้ำเป็นต้น ไปสรงพระพุทธรูปและพระภิกษุสงฆ์จนญาติผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่ หากกระทำก็จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสิริมงคลแต่ตนเองและครอบครัว และหากไม่ทำก็จะเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นชาวอีสานจึงยึดถือปฏิบัติจนปัจจุบัน

 

บุญเผวสหรือบุญมหาชาติ (บุญเดือนสี่)
          ความสำคัญและความหมาย
 
 
               บุญเผวสหรือพระเวส คือบุญที่ทำเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเวสสันดรนิยมทำกันในวันใดวันหนึ่งของเดือนสี่ จึงเรียกบุญเผวส หรือบุญเดือนสี่
          
     ก่อนจัดงาน ชาวบ้านและวัดจะมีการปรึกษาหารือกันตกลงให้เรียบร้อยก่อน ทางชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารการกินเช่น ขนม ข้าวต้มและอาหารคาวหวานต่าง ๆ สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เตรียมจัดหาปัจจัยไทยทานสำหรับใส่กัณฑ์เทศน์
         
     ส่วนทางวัดก็จัดแบ่งหนังสือออกเป็นกัณฑ์ ๆ หนังสือผูกหนึ่งอาจแบ่งเป็นหลายกัณฑ์ก็ได้เพื่อให้ชาวบ้านได้รับกัณฑ์โดยทั่วถึงกัน มอบหนังสือให้พระภิกษุสามเณรวัดนั้นเตรียมไว้เทศน์ นอกนั้นยังมีการนิมนต์พระวัดอื่นมาเทศน์ด้วยโดยมีฎีกาไปนิมนต์ พร้อมบอกชื่อกัณฑ์และเชิญชาวบ้านมาร่วมทำบุญด้วย
        
      มูลเหตุและความเป็นมา มีเล่าไว้ในเรื่องมาลัยหมื่นมาลัยแสนว่า พระมาลัยได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พบพระอริยเมตไตรย พระองค์ได้ดำรัสสั่งกับพระมาลัยว่า ถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์จงอย่าได้ทำบาปนัก เช่นการฆ่าหรือข่มเหงบิดามารดา  สมณพราหมณาจารย์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าและยุยงพระสงฆ์ให้แตกกัน ให้อุตสาห์ฟังเรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวฟังแล้วจะนำไปปฏิบัติ จะได้พบพระศาสดาของพระองค์ เมื่อพระมาลัยกลับมาถึงโลกมนุษย์จึงได้บอกให้มนุษย์ทราบโดยเหตุนี้ ผู้ปรารถนาจะพบศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย จึงพากันทำบุญเผวสสืบต่อกันมา
 
        ขั้นตอนดำเนินการ
 
 
              สถานที่ บุญมหาชาติเป็นบุญที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธโดยตรง ดังนั้นสถานที่ประกอบพิธีกรรมจึงจัดอยู่ที่วัดเป็นส่วนใหญ่ แต่การเทศน์มหาชาติบางครั้งก็มีการนำไปเทศน์ที่งานอุทิศส่วนกุศลต่าง ๆ ก็มีแต่งานบุญมหาชาติจริง ๆ จะต้องทำในบริเวณวัดเท่านั้น  จำนวนพระ จะต้องให้ครบกับจำนวนกัณฑ์เทศน์ ซึ่งชาวอีสานจะแบ่งเรื่องราวออกเป็นกัณฑ์และไปนิมนต์พระวัดต่าง ๆ มาเทศน์ตามกัณฑ์ที่แบ่งไว้นั้นในบุญมหาชาตินี้ จึงนิมนต์พระเป็นจำนวนมาก ๆ ดังนั้นบางแห่งจะมีพระ 30 – 60 รูป แต่หากไม่สามารถนิมนต์ได้จริง ๆ ก็อาจให้พระในวัดหมุนเวียนกันขึ้นไปเทศน์ได้ตามเหมาะสม
        พิธีกรรม     ก่อนมีงานบุญเผวสหลายวันชาวบ้านชายหญิงทั้งคนเฒ่าคนแก่ซึ่งส่วนมากเป็นหนุ่มสาวพากันไปรวมกันที่วัดช่วยกันจัดทำที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานและช่วยกันจัดทำดอกไม้จัดตกแต่งประดับประดาศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัยและธงทิว พวกผู้หญิงจะจัดทำหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ เทียนธูป มีดดาบ อย่างละพันและข้าวตอกดอกไม้ไว้บูชาคาถาพัน
ดอกไม้ที่จัดมีดอกบัว ดอกกางของ ดอกผักตบชวา อย่างละพันดอก ธงพันผืนทำด้วยเศษผ้า กระดาษสี ขึงด้ายสายสิญจน์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ มีขันหมากเบ็ง (ขันบายศรี) แปดอัน โอ่งน้ำ 4 โอ่ง ตั้งไว้สี่มุมของธรรมาสน์ ในโอ่งน้ำมีจอก แหน (สาหร่าย) ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ดอกจิกดอกรัง (ดอกเต็งรัง) ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ฯลฯ และใบบัวปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปนก วัว ควาย ช้าง ม้า ฯลฯ เอาไว้ที่ใต้ธรรมาสต์ เอาธงใหญ่แปดธงปักรอบโรงธรรมนอกศาลาในทิศทั้งแปดเพื่อหมายว่าเป็นเขตปลอดภัยป้องกันพญามารไม่ให้ล้ำเข้ามาตามเสาธงมีที่ใส่ข้าวพันก้อน ซึ่งปกติสานเป็นพานด้วยไม้ไผ่ บางแห่งสานเป็นตาด้วยไม้ตอกเป็นคีรีวงกตไว้รอบศาลา และทำเป็นทางเข้าศาลาโรงธรรมคดเคี้ยวไปมาบนศาลาด้านตะวันออกของศาลาโรงธรรมปลูกหอพระอุปคุตขึ้นไว้พร้อมมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนหอด้วย คือ มีบาตร 1 ใบ กระโถน 1 ใบ กาน้ำ 1 ใบ ร่ม 1 คัน และสบงจีวร 1 ชุด สำหรับถวายพระอุปคุต การจัดตกแต่งดังกล่าวจะจัดให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันงาน
         วันโฮม (วันรวม) วันแรกของงานเรียกว่า วันรวมหรือวันโฮมในวันรวมนี้นอกจากจะมีประชาชนตามระแวกบ้านและหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียงหลั่งไหลกันมาร่วมงานแล้วจะมีพิธีสำคัญ 2 อย่างคือ
                1. การนิมนต์พระอุปคุต ในตอนเช้ามืดของวันรวมประมาณสี่หรือห้านาฬิกาจะมีพิธีนิมนต์พระอุปคุต โดยก่อนเริ่มพิธีการมีการนำก้อนหินขนาดโตพอสมควรสามก้อนไปวางไว้ในวังน้ำหรือถ้าไม่มีวังน้ำอาจเป็นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดที่จัดงานเท่าใดนัก พอถึงเวลาก็มีการแห่พานดอกไม้ธูปเทียน ขันห้าขันแปด ไปยัง ณ สถานที่ก้อนหินวางอยู่ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระอุปคุต   พอไปถึงที่ดังกล่าวจะมีผู้ไปหยิบก้อนหินชูขึ้นและถามว่าเป็นพระอุปคุตหรือไม่ สองก้อนแรกจะได้รับคำตอบว่าไม่ใช่ พอถึงก้อนที่สามจะได้รับคำตอบว่าใช่ จึงมีการกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุตและอัญเชิญก้อนหินก้อนที่สามซึ่งสมมุติว่าเป็นพระอุปคุตใส่พานหรือถาดและจะมีการจุดประทัดหรือยิงปืนกันตูมตาม แล้วมีการแห่แหนพระอุปคุตพร้อมตีฆ้องตีกลองอย่างครึกครื้นเข้ามายังวัด แล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่หออุปคุตด้านข้างศาลาโรงธรรมซึ่งเตรียมจัดไว้แล้วการนิมนต์พระอุปคุตมาเมื่อมีบุญเผวส ก็เพื่อให้มีความสวัสดีมีชัยและเพื่อให้การจัดงานสำเร็จราบรื่นไปด้วยดี
            มูลเหตุดั้งเดิมที่มีการนิมนต์พระอุปคุต มีเรื่องเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระเถระผู้มีฤทธิ์ ได้นิรมิตกุฏีอยู่กลางมหาสมุทร ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าจากที่ต่าง ๆ เอามาบรรจุไว้ในสถูปที่พระองค์สร้างขึ้นใหม่เสร็จแล้วจะจัดงานฉลอง
พระองค์ทรงพระปริวิตกถึงมารที่เคยเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้าเกรงว่าการจัดงานจะไม่ปลอดภัยจึงมีรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคุตมาในพิธีฝ่ายพญามารรู้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชจะฉลองพระสถูป จึงพากันมาบันดาลอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ พระอุปคุตจึงบันดาลฤทธิ์ตอบ ครั้งสุดท้ายพระอุปคุตเนรมิตเป็นสุนัขเน่าแขวนคอมารไว้ มารไม่สามารถแก้ได้เอาไปให้พระอินทร์แก้ให้ พระอินทร์ก็แก้ไม่ได้ มารจึงยอมสารภาพผิด พระอุปคุตแก้ให้แล้วกักตัวมารไว้บนยอดเขา เสร็จพิธีแล้วจึงปล่อยตัวมารไปพระเจ้าอโศกมหาราชและผู้มาร่วมงานนั้นจึงปลอดภัย     โดยเหตุนี้เมื่อมีพิธีทำบุญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ใหญ่โต เช่น บุญเผวสจึงได้มีการนิมนต์พระอุปคุตมาด้วย เพื่อเป็นการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และให้เกิดสวัสดีมีชัยดังกล่าว ก่อนพระเทศน์เอาคาถาพระอุปคุตทั้งสี่บทปักไว้ข้างธรรมาสน์ทั้งสี่ทิศด้วย
 
คำอาราธนาพระอุปคุต
 
      โอกาสะ โอกาสะ ฝูงข้าทั้งหลาย อภิวันท์ไหว้ยังพระมหาอุปคุตผู้ประเสริฐ มีศักดาเลิศปรากฏ ทรงเกียรติยศขีณา กว่าพระอรหันตาทั้งหลาย ข้าขออาราธณามหาเถระเจ้าผู้มีอาคมแก่กล้า จงเสด็จแต่น้ำคงคา มาผจญมารฮ้าย ด้วยบาทพระคาถาว่า อุปคุตโต มหาเถโร คิชฌะกูโต สามุทธะโย เอกะมาโร เตชะมาโร ปะลายันตุ ฝูงข้าทั้งหลาย ขออาราธนามหาเถระเจ้าจงมาผจญมลมารทั้งห้า ใต้ลุ่มฟ้าและเวหน ภายบนแต่อกนิษฐาเป็นเค้า ตลอดเท่าถึงนาคครุฑ มนุษย์เทวา ผู้มีใจสาโหด โกรธาโกรธอธรรม ฝูงมีใจดำบ่ฮุ่ง หน้ามืดมุ่งมานมัว ก้ำฝ่ายเหนือและขอกใต้ ทั้งที่ใกล้และที่ไกล ตะวันตกและตะวันออกของเขตภูมิสถาน อันฝูงข้าทั้งหลายจักฟังธรรมเทศนา ในสถานที่นี้ ขออันเชิญพระอาทิตย์ผู้วิเศษใสแสง พระจันทร์แยงเยืองโลก อังคารโผดผายผัน พุธพฤหัสพลันแวนเที่ยว ศุกร์เสาร์เกี่ยวคอยระวัง กำจัดบังแวดไว้ เทพไท้ตนลือฤทธิ์พระพาย แมนมิตรไตรสถาน พระอิศวรผันผายแผ่ รัศมีแก่เตโช ผาบศัตรูมารฮ้าย ในคุ้มข่วงเขตสถานอันฝูงข้าทั้งหลาย จักยอทานและฟังเทศน์ องค์เทเวศจงฮักษา กำจัดประดามารโหดฮ้าย ให้พลันพ่ายกลับหนี อย่าฮาวีข่วงเขตที่นี้ ก็ข้าเทอญ.
      โย โย อุปคุตโต มหาเถโร ยัง ยัง อุปคุตตัง มหาเถรัง กายัง พันธะ มะรัสสะคีวัง สัพเพยักขา ปลายันตุ สัพเพ ภยา ปะลายันตุ สัพเพ ปิสาจา ปะลายันตุ ฝูงผียักษ์และผีเสื้อ ฝูงเป็นใจพญามาร สูท่านทั้งหลายมีใจอันมักผาบแพ้ตนประเสริฐ สัพพัญญู ปะลายันตุ จงผันผายออกหนีจากขอบเขตประเทศที่นี้ ก็ข้าเทอญ.
คาถาพระอุปคุต
 
       บทที่หนึ่ง    อุปคุตโต มหาเถโร เยนะสัจเจนะยะสัจ วาขิปุเร อะหุสัจจะ วัชเชนะ วิสัง
สามัส สะหัญญะตุ
       บทที่สอง อุปคุตโต เยนะสัจเจนะ ยะสาโม สัจจิวา มาตา เปติภะโรอาหุ กุเลเชฏฐา
ปลายิโน เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วิสสา มัสสะ หัญญะตุ
       บทที่สาม อุปคุตโต เยนะสัจเจนะ ยะสาโม ปานาปิ ยัตตะโร มะมะ เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วิสัง สามัสสะหัญญะตุ
       บทที่สี่ อุปคุตโต ยะจิน จิตตะ ปุญญะมังหะ เจวะ สิตุจะเต สัพเพนะเต สาเลนะ อิสามัสสะหัญญะตุ

(สาร สาระทัศนานันท์ , 2530 : 13)

          2. การแห่เผวส พอตอนประมาณบ่ายสามโมงหรือสี่โมงในวันรวมชาวบ้านมารวมกันที่วัดเตรียมตัวจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรีไปอยู่ป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นป่าจริงหรือทุ่งนาหรือลานหญ้าก็ได้แล้วแต่เหมาะสม
               พิธีนี้มีการอัญเชิญพระพุทธรูป 1 องค์ และพระภิกษุ 4 รูป ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงหามไปยัง ณ ที่สมมุติว่าพระเวสสันดรและนางมัทรีประทับอยู่ (ไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก) พอไปถึงที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นแห่เผวส ก่อนเริ่มต้นแห่มีการอาราธนาศีลและรับศีลห้าก่อน แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรกับนางมัทรี และนิมนต์พระเทศน์กัณฑ์กษัตริย์เสร็จแล้วกล่าวอัญเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมืองโดยหามเสลี่ยงพระพุทธรูปและพระภิกษุออกนำหน้าก่อน  บางแห่งหากมีรูปภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรก็จะแห่รูปภาพดังกล่าวไปในขบวนด้วยพอขบวนแห่ถึงวัดจึงทำการแห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรมโดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ ณ ที่จัดไว้จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
            พอถึงตอนค่ำก็จะมารวมกันอีกครั้งหนึ่งจึงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวดพระพุทธมนต์จบ ก็จะขึ้นสวดบนธรรมาสน์อีก 4 ครั้ง ๆ ละ 2 รูป รวม 8รูป คือ สวดอิติปิโส โพธิสัตว์บั้นต้น บั่นปลาย และสวดชัยตามลำดับ ต่อมานิมนต์พระขึ้นเทศน์ พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ก่อนพระเทศน์เอาคาถาพระอุปคุตทั้ง 4 บท ปักไว้ที่ข้างธรรมาสน์ เมื่อพระเทศน์จบแล้วประชาชนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนหรือคบงันกันไปตามอัธยาศัยระหว่างคบงันพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ จะพูดจาเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกันบ้างก็ร้องรำทำเพลง เป่าแคน ดีดพิณกันจวนสว่าง ประมาณ 3 หรือ 4 นาฬิกาชาวบ้านจึงแห่ข้าวพันก้อนไปถวาย
พระอุปคุตที่วัดแล้ววางข้าวพันก้อนไว้ตามธงหรือตามภาชนะที่จัดไว้ เมื่อแห่ข้าวพันก้อนเสร็จก็ประกาศป่าวเทวดาและอาราธนานิมนต์พระเทศน์สังกาสเสร็จแล้วก็อารธนาเทศน์มหาชาติ พระจะเทศน์มหาชาติตลอดวัน ขึ้นต้นจากกัณฑ์เทศพรจนถึงนครกัณฑ์เมื่อจบแล้วก็จะเทศน์ฉลองพระเวสสันดรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเทศน์จบทุกกัณฑ์ก็ต้องค่ำพอดี เมื่อเทศน์มหาชาติจบ จัดขันดอกไม้ ธูปเทียนกล่าวคำคารวะพระรัตนตรัยจบเป็นเสร็จพิธีบุญเผวส
         วิพากษ์พิธีกรรมความเชื่อ   บุญเผวสหรือบุญหมาชาติมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เชื่อกันว่า หากใครได้ร่วมทำบุญนี้และสามารถทนฟังการเทศน์เรื่องพระเวสสันดรจนจบทุกกัณฑ์จะได้ผลานิสงส์มาก คำสอนนี้หากวิเคราะห์ตามหลักของศาสนาพุทธแล้วย่อมไม่ถูกต้อง และอาจเชื่อไปว่าเราทำชั่วก็ได้เพราะทำชั่วแล้วมาฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรวันเดียวคือฟังให้จบตลอดกัณฑ์หรือทุกกัณฑ์ก็จะได้บุญ สามารถหลุดพ้นจากบาปกรรมได้ ความเชื่ออย่างนี้ถือเป็นอันตรายต่อศาสนามากและเป็นผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงทำให้คนกล้าทำชั่วไม่กลัวบาปกรรม มิจฉาทิฐิเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ตัวอย่างองคุลีมารที่เกิดเห็นผิดเป็นชอบ (มิจฉาทิฐิ) เชื่อว่าฆ่าคนถึง
1,000 คน (พันคน) แล้วนำหัวแม่มือมาให้อาจารย์ทำคาถาอาคมให้จะได้เป็นผู้วิเศษ ทำให้ฆ่าคนตายถึง 999 คน (เก้าร้อยเก้าสิบเก้าคน) กว่าจะสำนึกได้ก็เกือบสายเกินไป
        ความเชื่อเกี่ยวกับบุญเผวสก็เช่นกันยังไม่สายเกินไปที่พระจะสอนว่าบุญกุศลจะเกิดมีได้ก็ต่อเมื่อเราทำดี สร้างกุศลกรรมเท่านั้น การฟังเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น หากฟังแล้วไม่นำไปปฏิบัติบุญกุศลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร บาปกรรมความเชื่อไม่อาจลดล้างได้ด้วยการฟังนิทานชาดกเท่านั้น หากแต่จะลดล้างเบาบางลงได้ด้วยการทำความดี ลดละอบายมุข สร้างบุญกุศลให้ถึงพร้อมเท่านั้น จึงจะทำให้ความชั่วลดลงได้บ้าง ถึงกระนั้นความชั่วที่ทำไปแล้วก็ยังอยู่ที่ตัวเราตลอดไป เพราะตามหลักศาสนาถือว่าทำอะไรได้อันนั้น ทำแล้วได้เลย ดังนั้นหมายถึงกรรมเก่า ความชั่วเก่าจะหมดไป หากแต่ที่ทำแล้วจะต้องได้รับการชดใช้ชดเชยไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง นั้นคือความจริงของศาสนาพุทธ ขอให้ผู้นำทางศาสนานำไปสอนให้ถูกต้องด้วย มิจฉาทิฐิเป็นตัวอันตรายจะได้ไม่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย
           ความเห็นผิดที่เกิดจากประเพณีนี้มีมากมาย ขอวิพากษ์วิจารณ์อีกความเชื่อหนึ่งคือการหว่านข้าวสาร เวลาพระสงฆ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์กัณฑ์ต่าง ๆ ญาติโยมที่อยู่ข้างล่างหรือนั่งอยู่บนศาลาก็จะหว่านข้าวสารไปใส่พระผู้กำลังเทศน์บ้าง หว่านใส่ญาติโยมที่ฟังเทศน์อยู่ด้วยกันบ้าง เพราะมีความเชื่อว่าทำแล้วจะทำให้ครอบครัวตนเองมีความอุดมสมบูรณ์ มั่งมีศรีสุข ไม่อดอยากปากแห้ง ข้าวปลาอาหารจะเกิดมีอุดมสมบูรณ์ตามมา และเมื่อตายไปเกิดในชาติหน้าก็จะเป็นเศรษฐีมีข้าวปลาอาหารมากมาย ด้วยความเชื่ออันเกิดจากคำสอนผิด ๆ นี้ ทำให้พากันหว่านโปรยข้าวสารทิ้งกันมากมายแต่ละครั้งจะเสียข้าวสารทิ้งกันมากมาย แต่ละครั้งจะเสียข้าวสารไปเป็นการสอบทั้ง ๆ ข้าวยากหมากแพง แต่ด้วยความเชื่อว่าจะได้บุญต่างก็ทำสวนทางกับสภาพของตนเอง
 
         ความจริงพระพุทธศาสนาไม่เคยสอนให้หว่านข้าวทิ้งแล้วจะได้บุญ แต่กลับจะได้บาปอีกต่างหากที่ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งมีค่า (ข้าว) เพราะข้าวสารกว่าจะได้มาต้องผ่านขั้นตอน ลงทุนแรงมากมาย ทำไมต้องมาหว่านทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เปล่าประโยชน์เฉย ๆ ความอุดมสมบูรณ์จะเกิดมีขึ้นมิได้อยู่ตรงนี้เลย หากแต่อยู่ที่สัมมาอาชีวะ คือทำหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ สัมมากัมมันตะ คือการทำงานด้วยความบริสุทธิ์ มีวิริยรับภะ คือความขยันหมั่นเพียรต่างหากจึงจะร่ำรวยได้ การหว่านข้าวทิ้งมีแต่จะทำให้ยากจนลง ขอชาวพุทธอีสานจงเข้าใจให้ดีและถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตามประเพณีก็คือประเพณีอย่าได้ทำให้หลักการของศาสนาเสียไป ฮีตประเพณีนี้มีคำกลอนกล่าวไว้   ดังนี้
ฮีตหนึ่งพอเถิงเดือนสี่ได้ให้เก็บดอกบุปผา หามาลาดวงหอมสู่คนเก็บไว้    อย่าได้ไลคองนี้เสียศรีสูญเปล่า หาเอาตากแดดไว้ให้ทำแท้สู่คนแท้ดายอย่าได้ไลหนีเว้นแนวคองตั้งแต่เก่า ไฟทั้งหลายสิแล่นเข้าเผาบ้านสิเสื่อมสูญให้ฝูงชาวเฮาแท้อย่าไลคองตั้งแต่ก่อน มันสิหมองหม่นเศร้าเมืองบ้านสิทุกข์จนแท้แหล่ว
หมายถึงพอถึงเดือนสี่จะต้องหาเก็บดอกไม้มาคอยทำบุญเผวสหากไม่ทำก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติ บ้านเมืองจะเกิดเหตุร้ายเช่นกัน แต่ละหมู่บ้านจะพากันทำบุญนี้เป็นประจำทุกปีจวบจนปัจจุบัน
 
ฮีตที่ ๓ บุญข้าวจี่หรือบุญเดือนสาม

       บุญข้าวจี่ นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสามคือภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ข้าวจี่คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกและนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่ หรือผลมะตูมขนาดกลาง ทาเกลือเคล้าให้ทั่ว และนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนเหล็กหรือบนไม้ไผ่ผ่าซีกสานขดเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนกองไฟที่เป็นถ่านที่พลิกไปพลิกมาจนเกรียมโดยรอบ จึงเอาออกมาทาด้วยไข่ ซึ่งตีให้ไข่ขาว - แดงเข้ากันดีแล้วทาจนทั่วปั้นข้าว จึงเอาไปย่างไฟให้สุกอีกครั้งหนึ่ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวย่างไฟเสร็จแล้ว ถอดเอาไม้ออกแล้วอาจเอาน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างใน หรือยัดใส่ก่อนย่างไฟก็ได้
 

       "ฮีตหนึ่งนั้นเถิงเมื่อเดือนสามได้
จงพากันจี่ข้าวจี่ไปถวายสังฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญกุศลยัง สินำค้ำตามเฮามื้อละคาบ
หากธรรมเนียมจั่งซี้มันแท้แต่นาน
ให้ทำบุญไปทุกบ้านทุกที่เอาบุญพ่อ เอย
คองหากเคยมีมาแต่ปางปฐมพุ้น
อย่าพากันไลถิ่มประเพณีตั้งแต่เก่า
บ้านเมืองเฮาสิเศร้า ภัยฮ้ายสิแล่นตาม"

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
  

   ในมื้อเพ็ง (วันเพ็ญเดือนสาม) จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ ดังความว่า

".... พอเถิงเดือนสามคล้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ปั้นข้าวจี่บ่ใส่น้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา

 

 

 

 

                 

    

    

 

                                                                                   “บุญคูณลาน” สู่ขวัญข้าวอีสาน

 

 

 

 

 

ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวชั้นดีของไทยแล้ว ยังเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับข้าวอันหลากหลาย โดยหนึ่งในนั้น คือ ประเพณี "บุญคูณลาน"หรือการสู่ขวัญข้าวของชาวอีสาน

          คำว่า "คูณ"หมายถึง เพิ่ม หรือทำให้มากขึ้น ส่วนคำว่า "ลาน"คือ สถานที่กว้างๆ สำหรับนวดข้าว ซึ่งการนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" สำหรับประเพณีบุญคูณลานจัดขึ้นในเดือนยี่ตามปฏิทินอีสานของทุกปี ทำให้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่างาน "บุญเดือนยี่"ซึ่งการทำบุญคูณลานของแต่ละพื้นที่จะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) จะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย

          แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพโดยมีเครื่องประกอบพิธี อาทิ ใบคูณ ใบยอ ยาสูบ เขาควายหรือเขาวัว หมาก ไข่ ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น จากนั้นเมื่อพร้อมแล้วก็จะบรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า"ขวัญข้าว"ก่อนเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ แล้วจึงนำเครื่องประกอบพิธีบางส่วน ไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว (กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐาน หลังอธิษฐาน แล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอมข้าวออกมานวดก่อน แล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง 4 มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึง วันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่ข้าว ซึ่งจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก

          หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าว ทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

 

ความสำคัญ

 

ความหมายของคำว่า "คูณลาน" หมายความว่าเพิ่มเข้า หรือทำให้มากขึ้นส่วนคำว่า "ลาน" คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" การทำประเพณีบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

"เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว

ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล

เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว

อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ"

หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา

พิธีกรรม

การทำบุญคูณลานของชาวบ้านจะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) นั่นแหละจะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพมีอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมดังนี้

๑. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ ๗ ใบ ๖. ยาสูบ ๔ มวน

๒. เขาควายหรือเขาวัว ๑ คู่ ๗. หมาก ๔ คำ

๓. ไข่ ๑ ฟอง ๘. ข้าวต้ม ๑ มัด

๔. มัน ๑ หัว ๙. น้ำ ๑ ขัน

๕. เผือก ๑ หัว ๑๐. ขัน ๕ ดอกไม้ ธูปเทียน

เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า "ขวัญข้าว" เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว ๑ คู่ ไม้สน ๑ อัน คันหลาว ๑ อัน มัดข้าว ๑ มัด ขัดตาแหลว ๑ อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว(กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า "ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไปลูกหลานจะนวดข้าวจะเหยียบย่ำอย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป" อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง ๔ มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว

 สาระ

จุดมุ่งหมายของการทำประเพณีบุญคูณลานก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในลานของตน และเพื่อเป็นการขออานิสงส์ต่างๆ

การสูตรขวัญข้าวจะกระทำที่ลานนาหรือที่ลานบ้านก็ตามแต่จะสะดวก หลังสู่ขวัญข้าวเสร็จก็จะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง ก่อนขนขึ้นยุ้งเจ้าของจะต้องไปเก็บเอาใบคูณและใบยอเสียบไว้ที่เสายุ้งข้าวทุกเสา ซึ่งถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ค้ำคูณยอ ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และเชิญขวัญข้าวและแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าด้วย

 

 

 

 

 

                                                                                                                                                            

                                            บุญเข้ากรรม (บุญเดือนอ้าย)

 

 

 

ความสำคัญและความหมาย

 

บุญเข้ากรรม  คือบุญที่ทำขึ้นในเดือนอ้าย (เดือนเจียงซึ่งเป็นเดือนแรกของปีที่ชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีบุญกันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้  พิธีบุญนี้จะเกี่ยวกับพระโดยตรงซึ่งความจริงน่าจะเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ  แต่มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญกับพระที่ทำพิธีนี้จะทำให้ได้อนิสงส์มาก  ญาติโยมจึงคิดวันทำบุญเข้ากรรมขึ้น

 

                บุญเข้ากรรมที่บอกว่าเป็นบุญสำหรับพระโดยตรงนั้นเพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิกซึ่งถือว่าเป็นการครุกาบัติประเภทหนึ่ง ภิกษุเมื่อต้องอาบัตินี้     แล้วจะต้องทำพิธีที่เรียกว่า วุฏฐานพิธีหรือพิธีเข้ากรรมตามที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จักกัน

 

            วุฏฐานพิธีแปลว่าระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติซึ่งมีพิธีปริวาสมานัตต์  ปฏิกัสสนาและอัพภาน  อันเป็นขั้นตอนและพิธีกรรมเกี่ยวกับการอยู่กรรมของพระ  การเข้ากรรมจัดทำโดยพระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตหรือที่จำกัดเพื่อทรมานร่างกายให้หายจากกรรมหรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำและเป็นการชำระจิตใจให้หายจากมัวหมองด้วย  บางแห่งถือกันว่า  เมื่อบวชแล้วจะแทนคุณมารดาได้ก็จะต้องอยู่กรรมเพราะมารดาท่านเคยอยู่กรรมมาแล้ว  ซึ่งชาวอีสานเวลาคลอดลูกใหม่จะต้องนอนผิงไฟ  อาบ  และดื่มน้ำร้อนอยู่กินอย่างคะลำ (ห้ามกินของแสลงเป็นการทรมานร่างกายอย่างหนึ่งเรียกว่าการอยู่กรรม

            มูลเหตุและความเป็นมา  ที่พระภิกษุจะต้องมีการเข้ากรรม  มีเรื่องเล่าว่า  ครั้งหนึ่งมี

พระภิกษุรูปหนึ่ง  ล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคา  ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเข้าใจว่าเป็นอาบัติเพียงเล็กน้อยจึงไม่ได้แสดงอาบัติ  ต่อมาแม้ว่าพระภิกษุรูปนั้นจะต้องปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเป็นเวลานานก็ยังคงนึกอยู่เสมอว่า  ตนต้องอาบัติอยากจะใคร่แสดงอาบัติแต่ไม่มีพระภิกษุรับแสดง  ครั้นเมื่อพระภิกษุรูปที่กล่าวมรณะแล้วจึงไปเกิดเป็นนาคชื่อเอรถปัต  จากเหตุเพียงอาบัติเล็กน้อยเพียงเป็นอาบัติเบายังมีกรรมขนาดนี้  ถ้าเป็นอาบัติหนักก็คงต้องบาปมากกว่านี้  ดังนั้นจึงจัดให้มีการอยู่บริวาสกรรมเพื่อให้พ้นจากอาบัติ 

            ชาวอีสานโบราณเชื่อกันว่าพระภิกษุหากได้อยู่กรรมแล้ว  ย่อมจะออกจากอาบัติได้และทำให้บรรลุมรรคผลดังปรารถนาถึงเดือนอ้ายจึงกำหนดให้เป็นเดือนเข้ากรรม  เพื่อให้พระสงฆ์ออกจากอาบัติดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนดำเนินการ

 

            สถานที่  สถานที่สำหรับเข้ากรรมนั้นจะต้องเป็นสถานที่เงียบไม่พลุกพล่านอาจเป็นบริเวณวัดตอนใดตอนหนึ่งก็ได้  มีกุฏิหรือกระต๊อบชั่วคราวเป็นหลัง ๆ สำหรับภิกษุอาศัยระหว่างเข้ากรรมตามลำพังผู้เดียว

            จำนวนพระ  พระสงฆ์เข้ากรรมคราวหนึ่ง ๆ    มีจำนวนเท่าใดก็ได้ก่อนจะเข้ากรรมพระภิกษุรูปใดต้องอาบัติแล้ว  ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์สี่รูปให้รับทราบไว้ได้เวลาแล้วจึงเข้ากรรม

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.