ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




สมุนไพรน่าฮู้

 

ภูมิปัญญาอีสาน

สมุนไพรน่าฮู้ 

 

 

พืชผักใกล้ครัวที่เป็นยา

 

           พืชผักของไทยใกล้ครัวก็มีสรรพคุณทางยาอย่างมากมายแต่ยังไม่มีนักวิชาการหรือผู้ใดให้ความสนใจทำการวิเคราะห์และนำเผยแพร่ให้กว้างขวาง และอีกอย่างก็มันเป็นพืชที่บรรพบุรุษของเรานำมาปรกอบอาหารกันจนเกิดความเคยชินเลยลืมคิดไปว่ามันมีประโยชน์ในการแก้โรคได้ พอถึงปัจจุบันพืชที่อยู่ใกล้ครัวบางอย่างสูญหายไป จึงได้มาคิดถึงคุณค่าทางยาของพืชพรรณเหล่านั้น ดังที่มีผู้รู้บางท่านนำมาเสนอดังนี้ คือ

     กะถิน  คนอีสานบางจังหวัดเรียก ผักกะเสก

      สรรพคุณ ยอดและฝักใช้กินเป็นผักชนิดหนึ่ง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ // เมล็ดแก่ แก้ขับลม ขับระดูในสตรี บำรุงไตและตับ แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ ฯ

      กะเพรา   คนอีสานเรียก  ผักอีตู่ไทย

      สรรพคุณ ดอก ใบ กิ่ง ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น เฟ้อ เรอ เหม็นเปรี้ยว แก้ลมตาล ลมทรางในเด็ก แก้ลมตีป่วนในท้อง ช่วยขับลม ใช้ผายลมและเรอออกมา แก้ลมจุกเสียด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาลม ยาธาตุ และยาแก้กษัย // ราก ใช้ฝนใส่ฝาหม้อดินผสมกับสุราขาว หยอดใส่ปากเด็กโตอายุ 3-5 ขวบขึ้นไป ช่วยให้ลมในกระเพาะลำไส้ เด็กเล็กกว่านี้ใช้เป็นยาแก้ถ่ายขี้เทา ช่วยให้ผายลมในกรณีเด็กท้องอืด ท้องเฟ้อ มักจะเรอน้ำนม ฯ

กระเทียม  คนอีสานเรียก ผักเทียม

      สรรพคุณ กระเทียม มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามสภาพท้องถิ่น มักลิ่นเผ็ดร้อน ทางเหนือเรียก หอมเทียม ภาคอีสานเรียก หอมขาว ปักษ์ใต้เรียก หัวเทียม ใช้หัวสดตำทาแก้โรคผิวหนัง เช่น เกลื้อน กลาก เรื้อนกวาง ตลอดจนผดผื่นคันตามตัวทั่วไป ปรุงผสม สมุนไพรอื่น แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ แก้ขับลมปัสสาวะ แก้กษัยบำรุงไต แก้ขับระดูในสตรีพิการ มีกลิ่นคาว เหม็นเน่า แก้อาการโรคประสาทอ่อนๆ อาการนอนไม่หลับ อาหารเหม่อลอย สะดุ้งผวาตกใจง่าย แก้ขับเนื้อร้ายภายใน สมานแผลในกระเพาะและแผลในลำไส้ แก้โรคหืด อัมพาต ลมตีขึ้นทำให้หน้ามืดตาลาย ลมตีลงทำให้ปั่นป่วนในท้อง และลำไส้ เกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน อาการปวดตามบั้นเอว สันหลังและชายดครงทั้งสองข้าง ใช้ทุบโขลกสระผม แก้โรคผิวหนัง ขจัดรังแคบนศรีษะ ป้องกันผมหงอกก่อนวัย เป็นยาอายุวัฒนะ

กระชาย   คนอีสานเรียก ขิงกะซาย

         สรรพคุณ ตำรับยาใช้หัวปรุง แก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ใจคอหวาดหวิวผวา แก้ปวดท้อง ลงท้อง จุกเสียด แก้บิด มูกเลือด บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดี ฯ

 

     กระเจี๊ยบ  สรรพคุณ ใบ ใช้เป็นยากัดเสมหะ แก้ไอคันคอ ขับไขมัน และเมือกในลำไส้ให้ออกทางทวารหนัก // เมล็ด ใช้ปรุงยาแก้ดีพิการ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ บำรุงไต ฝักหรือผล กำลังดิบๆ ไม่แก่เกินไป ต้มกินบำรุงธาตุ บำรุงไต ขับปัสสาวะ ทำให้คอชุ่มเย็นๆ

     กล้วยน้ำหว้า

      สรรพคุณ กล้วยชนิดอื่นๆ ที่กินไม่ได้ มักจะปลูกไว้ทำยากล้วยน้ำหว้า ใช้กินผลสุกวันละ 2-3 ลูก ช่วยให้บำรุงกำลังเจริญอาหาร ช่วยระบบขับถ่าย แก้ท้องผูก แก้โรคกระเพาะ ลำไส้เป็นแผล และเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ทำให้กระเพาะและลำไส้ไม่ค้างกากอาหารเก่าๆ

    ขมิ้น

      สรรพคุณ ใช้ขับระดูสำหรับสตรี ที่มีกลิ่นเหม็น และเลือดจับกันเป็นก้อนดำ จะช่วยละลายให้แตกเป็นลิ่มๆ ออกมา แก้บิดเป็นมูกเลือด แก้น้ำดีพิการ ขับลมให้ผายออกมาทางทวารหนัก หรือให้เรอออกมาทางปาก แก้น้ำดีพิการ ขับลมให้ผายออกมาทางทวารหนัก หรือให้เรอออกมาทางปาก ฝนหยอดตา แก้อาหารตาแดง ตาเปียกแฉะมีขี้ตาเป็นประจำในฤดูแล้ง ยังแก้ธาตุพิการ ท้องร่วง ใช้ดมแก้หวัด ขับเสมหะในลำคอ ผสมสมุนไพรอย่างอื่นๆ เป็นยาคุมธาตุยังแก้ฟกช้ำ ดำเขียวตามร่างกาย ด้วยการเอาหัวสดๆ มาตำพอกบรรเทาอาการอักเสบและเคล็ดยอกได้ด้วยๆ

       ข่า

       สรรพคุณ แก้ท้องเสีย ไล่ลมในท้อง หรือมีอาการปวดมวนหรือแน่น จุกที่หน้าอก ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เวลากินอาหารมากๆ จะไม่ท้องเสียหรือปวดท้อง ช่วยขับลมในลำไส้และลมในกระเพาะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดใช้หัวข่าสดมาบด ผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บับคั้นเอาแต่น้ำๆ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มเข้าไปจนหมด จะสามารถขับเลือดเสียออกมาจนหมด และยังช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้น ฯ

       ขี้เหล็ก

        สรรพคุณ แก่น แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุไฟ แก้หนองในและการมโรคในบุรุษ ราก แก้ไข้หัวลม เมื่ออากาศเปลี่ยนฤดูกาล แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา แก้กษัย บำรุงไต ดอก แก้โรคประสาท อาการนอนไม่หลับ แก้หอบ หืด บดผสมน้ำฟอกผมบนศรีษะขจัดรังแค เปลือก แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ แก้โรคเบาหวาน สมานแผลให้หายเร็ว ใบแก่ แก้ถอนพิษ ถ่ายพิษ แก้กามโรค ตำพอกที่แข้งขา มือเท้าที่มีอาการบวมเนื่องจากเหน็บชา ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ และพิษจากแมลง สัตว์ กัดต่อย กิ่งใบ ทำเป็นยาระบาย ถ่ายพิษ ขับเสลดในคอ  จับสั่น (มาเลเรีย) จนม้ามย้อย แก้โรคเหน็บชา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดีนัก ฯ

      แคขาว แคแดง

          สรรพคุณ เปลือกแค แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะในลำคอ บำรุงกระเพาะและลำไส้ นอกจากนี้ แค ทั้งเปลือกที่นำมาต้ม ยอด ดอกและฝักที่เรานำมากินเป็นผักประจำวันนั้น แก้ท้องเดินท้องร่วง สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้หัวลม (คือก่อนเข้าฤดูหนาว) แก้ริดสีดวงจมูก ใบใช้ตำพอกแผลสด เพื่อสมานเนื้อให้หายเร็ว เปลือกนอกของต้นแค ใช้ฝนเอามาทาแผลเปื่อย แผลสดได้ผลดี ฯ

      เหง้าขิงแห้ง

        สรรพคุณ เป็นยาจำพวกยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ ให้ผายลมออกมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก แก้อาการปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดมีตัว บิดมูกเลือด แก้อุจจาระเป็นฟองเหลือง ขาวและมีกลิ่นเหม็นคาวจัด แก้และบำรุงหลอดคอให้ชุ่มเย็น ขับละลายก้อนนิ่วฯ ตำรับยาแผนโบราณ แก้ลมพานไส้ แน่นหน้าอก แก้นอนไม่หลับ แก้โรคปากเปื่อย คอเปื่อย ฯ

       ตะไคร้   คนอีสานเรียก  หัวสิงไค  หัวสีไค

          สรรพคุณ นิยมใช้หัวนำมาคั่วไฟ แก้ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในระยะแรกๆ แก้ปัสสาวะหยด และยังใช้ใบมาย่างไฟให้เหลือง แก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ลมมากในลำไส้ บรรเทาอาการร้อนใน ริมฝีปากแห้ง

       ตะไคร้หอม     บางท้องถิ่นเรียก ตะไคร้แดง เพราะลำต้นสีแดง

         สรรพคุณ ตะไคร้หอม แก้ริดสีดวงที่เป็นแผลในปาก ริมฝีปากแตก ร้อนในกระหายน้ำ สตรีมีครรภ์กินมากไม่ได้ แก้ขับเลือดเสีย แก้ขับลมในลำไส้ ใช้ทาตามแขน ขา มือ เท้า ป้องกันยุงและแมลงไม่ให้มารบกวนได้ดี ฯ

      ตำลึง   คนอีสานเรียก  ผักตำนิน

         สรรพคุณ ใบ ใช้ตำหรือบดผสมแป้งดินสอพอง พอกแผลฝี ช่วยบีบรีดหนองให้แตกออกมา เพื่อให้แผลฝีหายเร็ว ใช้ใบปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาเย็น แก้ขับอาการร้อนในและพิษไข้ให้ตัวเย็นลง ตำใบทาตามผิวหนังแก้ผด ผื่นคัน และใช้ถอนพิษตามผิวหนังที่ถูกขนหมามุ่ย ให้หายคันคะเยอได้ ขับพิษร้อนพิษแสบ ปวด และคันตามตัวให้หาย เถา ใช้ตัดมาคลึงให้นิ่ม บีบเอาน้ำภายในออกมา หยอดตา แก้ตาฟ่าง ฟาง ตาแดง ตาแฉะ มีขี้ตามาก ราก แก้ตาเป็นฟ่า ตาติดเชื้อ ดับพิษปวดแสบ ปวดร้อนในตา บำรุงธาตุ เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงน้ำดี ทำให้ระบบขับถ่ายสะดวก รักษาโรคลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้ตาแจ่มใส ผลสุก จะมีสีแดง ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ฯ

       ชะอม  คนอีสานเรียก  ผักขา,ผักขะ, ผักเน่า,ผักเนา

          สรรพคุณ รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาว แก้ขับลมใน ลำไส้และลมในกระเพาะอาหาร ให้ผายลมออกมา แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว แก้ปวดมวน ปวดแสบปวดร้อน ยอดกินแทนผักมากๆ ช่วยระบบขับถ่ายได้ดี นำมาเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร เจริญอาหาร ฯ

       มะกรูด  คนอีสานเรียก   บักหูด

      สรรพคุณ ใบ แก้ขับเสมหะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษ ฝีภายใน แก้เลือดออกตามไรฟัน ที่เรียกว่า ลักเปิดลักปิด ผล ใช้แก้ขับลมในลำไส้กระเพาะอาหาร แก้ขับระดูเสีย และบำรุงเลือดในสตรี แก้ลมจุกเสียดภายในท้อง ตามซี่โครงทั้งสองข้าง ราก ใช้ถอนพิษสำแดงสุมรากและลูกให้เกรียม ทำผงละลายน้ำผึ้ง ใช้ป้ายลิ้นเด็กทารกแรกคลอด แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว ช่วยขับขี้เทา ขับลมให้ผายลมในทารก ฯ

     มะนาว   คนอีสานเรียก บักนาว

      สรรพคุณ ใบ ใช้แก้ให้กัดและฟอกเลือดในสตรีที่มีระดูเสีย ใช้ใบต้มกินให้ ขับเลือด ขับลม เมล็ดใน คั่วให้เหลืองเกรียมใช้ผสมสุราขาว เป็นยาขับเสลดในลำคอ ในลำไส้ แก้โรคตาลทรางในเด็กทารก ราก ใช้ถอนพิษไข้ทับระดู ไข้กลับ ๆ ซ้ำ ๆ ไม่รู้จักหายฝนผสมกับสุราทาแก้ฝี แก้ปวดหัวฝี เร่งให้บีบให้แตกเร็วขึ้น น้ำใช้ผสมน้ำผึ้งแท้ กวาดคอเด็กที่เป็นตาลทราง ตาลขโมย หรือลิ้นมีฝ้าขาวหนาจัด ช่วยขับลมในท้องเด็กทารก มะนาว ใช้กระทุ้งพิวถอนไข้ผิดสำแดง แก้เลือดออกตามไรฟัน และแก้นอนสะดุ้ง หนังตาแข็ง นอนไม่ค่อยหลับ แก้ประสาท มีสติหลงๆ ลืม ๆ หน้ามืดตามัวความจำเสื่อม ฯ

      มะเขือพวง   คนอีสานเรียก หมากแข็ง

       สรรพคุณ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ฯ

      มะเขือเทศ   คนอีสานเรียกว่า  หมากเขือเคือ  หมากเขือส้ม

สรรพคุณ ให้มีวิตามินซี แก้เลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) หากกินสม่ำเสมอจะทำให้ไม่เป็นมะเร็งในลำไส้ แก้โรคนอนไม่ค่อยหลับ หรือมักนอนผวก สะดุ้ง หรืออาการตกใจง่าย ฯ

       มะละกอ   คนอีสานเรียก  หมากฮุ่ง

         สรรพคุณ ราก รสฉุนเอียน ใช้แก้โรคหนองใน ขับเลือด หนองในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต ก้านใบ มีสรรพคุณเช่นเดียวกันกับทั้งฆ่าพยาธิในลำไส้และในกระเพาะอาหาร แก้โรคมุตกิด ระดูขาว เหง้า ตรงที่ฝังดิน มีรากงอกโดยรอบ ใช้ทำยาขับและละลายเม็ดนิ่ว ในกระเพาะปัสสาวะได้ผลดี

      มะระ   คนอีสานเรียก   ผักไส่   หมากผักไส่

        สรรพคุณ มะระ ชาวจีนเรียก "โกควยเกี๋ยะ" บางท้องถิ่นเรียกผักไห่ ภาคเหนือเรียก หม่านอยยอกและใบอ่อน แก้โรคปวดตามข้อตามกระดูก ที่เรียกว่า รูมาติซั่ม และเก๊า ซึ่งทำให้คนไทยเราส่วนมากเป็นโรคปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ตามหัวเข่า จะมีอาการปวดบวม และยังแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ธาตุพิการ บำรุงไต เมล็ดถอน แก้ฆ่าพยาธิในลำไส้และกระเพาะ เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้ตัวชุ่มเย็น แก้ไข้ ละบายพิษต่างๆ ให้ระบายออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แก้ปวดเมื่อย ขับฤดูเสียในสตรี บำรุงน้ำดี บำรุงตับและม้ามให้ปกติ ยอดมะระ ใช้แก้อาการเจ็บคอ ดับพิษร้อนแก้ไข้เปลี่ยนฤดู และแก้ข้อบวม เข่าบวม ข้อนิ้วปวด ช่วยให้มีระดูปกติ บำรุงมดลูกให้ปกติ บำรุงเลือดให้ปกติ หากเอาใบแก่และเถามาต้มน้ำดื่มกินแทนน้ำหรือน้ำชาได้จะช่วยขับพยาธิในลำไส้และในกระเพาะ แก้กระหายน้ำ ทำให้อกและหัวใจชุ่มเย็น ช่วยให้เจริญอาหาร และช่วยระบบขับถ่ายให้สะดวกสบาย ในปัจจุบันนี้ วงการแพทย์ไทยได้วิจัยค้นพบว่า สามารถใช้แก้โรดเอดส์เบื้องต้นได้ เมื่อทดอลงกับผู้ป่วยทำให้เม็ดผื่นคัน และแผลในร่างกายไม่ลุกลามต่อไป หัวผดผื่นคันยุบลง และทำให้กินได้ นอนหลับ ผิวพรรณและมีกำลังดีขึ้น ฯ

      มะรุม   คนอีสานเรียก   หมากอี่ฮุม

       สรรพคุณ เปลือกลำต้น ใช้ถากมาต้นน้ำกิน เป็นยาช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยให้ผายลมและเรอ บำรุงธาตุ ราก รสเผ็ด หวานขม ใช้แก้อาการบวมน้ำ บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร ยอดและฝักอ่อน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้หัวลม (เปลี่ยนฤดู จากฝนเข้าสู่หนาว...) ช่วยย่อยอาหาร ฯ

    มะแว้ง   คนอีสาน  หมากเขือขม

      สรรพคุณ ใบและราก ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เมื่อปรุงกับสมุนไพรอื่นๆ บดเป็นผง ทำเป็นลูกกลอน แก้วัณโรคปอด วัณโรคในลำไส้ และวัณโรคในกระดุก เป็นยาแก้ไข้ แก้ไอเป็นเสมหะ ผลหรือลูกมะแว้ง ใช้บำบัดโรคเบาหวาน บำรุงน้ำดี น้ำตับอ่อน คนที่มีความดันสูงหรือเป็นโรคเบาหวาน หากกินผลมะแว้งเสมอๆ จะทำให้อาการโรคค่อยทุเลาบรรเทาลง เจริญอาหาร จะรู้สึกชุ่มคอและชุ่มปอด หญ้าอกเย็น และยังช่วยแก้ไข้สันนิบาต แก้คอมีเสลดเหนียว ทำให้ระคายคอและมีอาการไออยู่เสมอๆ แก้ขับและละลายเสลดในลำไส้ ช่วยให้ระบายออกทางทวารหนัก กินเป็นประจำ จะไม่ค่อยเป็นหวัด คัดจมุก และความดันโลหิต มะแว้งยังใช้ปรุงยาอื่นเป็นยาเขียว ยาแก้เบาหวาน และอื่นๆ อีกหลายขนาน ผลแก่ ใช้บดผสมสุราขาว ใช้กวาดคอเด็กทารก แก้เด็กร้องเด็กอ้อน เพราะลำคอมีพิษไข้ขึ้น ร้อนในกระหายน้ำ และมีเม็ดเล็กๆ รอบในลำคอ ฯ

     แมงลัก   คนอีสานเรียก  ผักอี่ตู่

       สรรพคุณ แก้ขับลมในกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุแก้โรคลำไส้พิการ แก้พิษตาลทรางในเด็กทารก ช่วยให้เจริญอาหาร เมล็ดใช้ผสมกับน้ำหวานหรือน้ำเชื่อม กินแล้วช่วยดับร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงหัวในให้ชุ่มฉ่ำ อารมณ์แจ่มใส ช่วยสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว และโรคกระเพาะลำไส้ ฯ

     สับปะรด   คนอีสานเรียก   หมากนัด

      สรรพคุณ เหง้า แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ช่วยละลายก้อนนิ่ว แก้หนองใน แก้ระดูขาวมีอาการคันในช่องคลอดของสตรี ผล ใช้ปลอกเปลือก เอาตาออกเสีย ใช้กินจิ้มเกลือ ช่วดกัดเสลดในลำคอและลำไส้ ช่วยให้ปัสสาวะสะดวก บำรุงกระเพาะปัสสาวะได้ดีมาก แกนในผล ถ้าคนฟันดี สมควรกัดเคี้ยวกินให้หมดเพราะมีประโยชน์เช่นเดียวกับเหม้าและเนื้อผลของมัน และยังเอาผลไปทำเหล้าไวน์สับปะรด ดื่มกินบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงไตแก้กษัย เป็นยาจำพวกอายุวัฒนะ เสริมอวัยวะเพศชายให้แข็งแรง ชายใดที่มีอวัยวะเพศตายด้านควรทำกินประจำ สำหรับสตรีก็เช่นกันควรกินเนื้อผลสับปะรดสัปดาห์ละครั้งจะช่วยเสริมมดลูกให้แข็งแรงไม่เป็นตกเลือด ระดูขาวอีกต่างหาก ฯ

               บวบ   คนอีสานเรียก หมากบวบ

          สรรพคุณ บวบหอม ใช้แก้อาการท้องเดิน เจริญอาหาร บวบขม นำเอาผลแห้งไปปรุงยาสมุนไพร เมล็ดและผลใช้แก้ขับเสมหะ ขับเสลด แก้ไอคันคอ รากและใบ ใช้บนกับเส้นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก บวบเหลี่ยม ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ฯ

      ใบบัวบก   คนอีสานเรียก ผักหนอก

        สรรพคุณ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้เมื่อยล้า เมื่อยขบ แก้อ่อนเพลีย แก้ท้องเดิน ท้องเสีย แก้บิดเริ่มเป็น ขับปัสสาวะ แก้อาการอิดโรย คลายเครียดในยามเช้า สาย บ่าย เย็น ได้ดีมากๆ คนที่ทำงานหนัก ช้ำใน หรือดื่มเครื่องดองของเมาหนัก ให้ดื่มน้ำใบบัวบกนี้ จะมีอาการกระปรี้กระเปร่า หูตาสว่าง จิตใจเบิกบาน จะกระจายละลายเลือดภายในให้หายได้รวดเร็วดีนัก แล ฯ

       พริกไทย

        สรรพคุณ เม็ด มีรสเผ็ด ฉุน เม็ดแห้ง ที่มีเปลือกดำติดอยู่ เรียกว่า พริกไทยดำ ใช้พริกไทยดำ หรือพริกไทยร่อน จะต้องเอาอย่างนั้น หมอแผนโบราณคงมีเหตุผลของท่านแน่นอน แก้อาการจุกเสียดแน่นหน้าอก ปวดมวนในท้อง ท้องขึ้น เฟ้อ เรอ เหม็นเปรี้ยว บำรุงธาตู เมื่อปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น แห้วหมู ดีปลี โด่ไม่รู้ล้ม สะค้าน เถาคันแดง เป็นต้น ท่านว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ใบและราก แก้ลมตีขึ้น ทำให้มีอาการหน้ามืด ตามัว ปวดหัวตัวร้อน เครียดหนัก นัยน์ตาฟ่าฟาง แก้กษัย ไตพิการ บำรุงธาตุ ราก ถ้าปลูกตามต้นไม้ เช่น มะม่วงป่า ยิ่งดี ให้เก็บราก ตามโคนต้นและตามข้อเถา ใช้แก้ลมจุกเสียด แก้ลมในท้อง มีอาการท้องลั่นท้องร้องโครกคราก และมีอาการปั่นป่วน จนเบื่ออาหารและนอนไม่หลับ เครือเถา แก้อติสาร คือ อาการท้องร่วงอย่างแรงและท้องเดินหลายๆ ครั้ง แก้ลมในทรวงอก ใช้ปรุงยาได้ทั้ง ราก เถา เมล็ด ใบดอก ฯ

       ผักบุ้ง

          สรรพคุณ ผักบุ้งขาว หรือผักบุ้งจีน ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาถอนพิษ บำรุงธาตุ สรรพคุณของผักบุ้ง โดยเฉพาะผักบุ้งไฟแดง คนที่ชอบเป็นตาต้อ ตาแดง หรือคันนัยน์ตาบ่อยๆ ตลอดจนมีอาการตาฝ้าฟาง จำพวกคนสายตาสั้น จะทำให้สายตาที่แจ่มใส บำรุงสายตา ทำให้ไม่เป็นโรคกระเพาะ ฯ

       โหระพา

       สรรพคุณ ใช้ปรุงเป็นยาขับลมในกระเพาะและลำไส้ แก้ท้องอืด เฟ้อ เรอ เหม็นเปรี้ยว ช่วยขับลมทำให้เรอ

และผายลม คือ ทำให้เลือดลมเดินดี สำหรับเมล็ดแห้ง ใช้แก้บิดมีตัว และบิดมูกเลือด ล้างของเสียภายในลำไส้และในกระเพาะ ไม่ทำให้เป็นแผลในกระเพาะและตามลำไส้ สำหรับโหระพาทั้ง 5 คือ ราก ต้น ใบ ดอก เม็ด ใช้กินแก้บิด แก้ไขทรพิษตาลทรางในเด็กทารก แก้นอนไม่หลับ นอนสะดุ้งผวา ยอดโหระพา ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ฯ

  เมล็ดพืชพลังจิ๋ว แต่ แจ๋วป้องกันมะเร็ง ชะลอความแก่

·                 อาหาร

เผยแก้สารพัดโรค เส้นใยโปรตีนสูง

       ถ้าได้พูดถึง เมล็ดพืช หลายคนคงนึกถึงสิ่งที่เล็กๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสิ่งเล็กๆเหล่านั้น ล้วนอัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์ที่คุณคาดไม่ถึง อาจด้วยเพราะขนาดที่เล็กจิ๋วของมัน ทำให้หลายคนมองข้ามประโยชน์ที่มหาศาลของมันไป และตัดมันออกจากเมนูอาหารประจำวันได้ง่ายๆเลยทีเดียว

     ถ้าคุณคือหนึ่งคนที่มองข้าม ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะคุณอาจพลาดขุมทรัพย์แห่งวิตามินและสารอาหารนานาชนิดที่ซ่อนอยู่ในเมล็ดพืชเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย  เพราะในเมล็ดธัญพืชจิ๋วล้วนอุดมไปด้วยไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่มีเส้นใยและโปรตีนในปริมาณสูงที่ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเซลล์ต่างๆในร่างกาย เมล็ดพืชนั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ที่หยิบยกมาฝากกันวันนี้ เป็นเมล็ดที่ใครๆก็ต้องรู้จักและหาซื้อได้ง่าย อย่าง SUNFLOWER หรือเมล็ดทานตะวัน  แล้วจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเมล็ดทานตะวันเม็ดเล็กๆ นี้มีสารอาหารมากมาย  มีทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินอี วิตามินดี วิตามินเค และยังมีวิตามินอีในปริมาณสูง เมล็ดทานตะวันนี้จัดเป็นสารแอนตี้ออกซิเดนต์ เจ้าสารตัวนี้จะทำหน้าที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายจากอนุมูลอิสระหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นอกจากนี้วิตามินอี ที่มีในเมล็ดอกทานตะวันยังสามารถลดอาการอักเสบ จะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ รวมถึงอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยทอง  อีกทั้งยังช่วยแก้โรคบิด แก้หวัด แก้ฝีฝักบัว ช่วยขับหนอง ขับเสมหะ เมล็ดแก่แล้วใช้ส่วนที่เป็นเปลือกแก้อาการหูอื้อได้ได้อีกด้วย

     ภายในเมล็ดทานตะวันนั้น จะมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวช้อนกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไขมันชนิดนี้จัดเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งยังช่วยให้อิ่มท้อง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักเป็นดีที่สุดจะทำให้ร่างกายเรามีขนดกเงางาม

     และอีกหนึ่งเมล็ดที่มีคุณสมบัติไม่แพ้กันนั่นคือ PUMPKIN SEEDSหรือเมล็ดฟักทอง  หลายๆคนนิยมการเคี้ยวเมล็ดฟักทองเล่น ไม่ใช่เพียงแค่อร่อยและเพลิดเพลิน แต่คุณรู้ไหมว่ายังจะได้รับสารอาหารหลากหลายชนิดอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เมล็ดฟังนั้นทองเป็นแหล่งของสังกะสี ซึ่งมีสรรพคุณดีเลิศในการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เมล็ดฟังทองเมล็ดเล็กๆนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายในการรักษาอาการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและอาการต่อมลูกหมากโตอีกด้วย และเนื่องจากเมล็ดฟักทองจะมีธาตุเหล็กปริมาณสูงนั้นจึงเหมาะสมกับคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือใครก็ตามที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กได้ด้วยเช่นกัน

     และท้ายสุดคือเมล็ดจิ๋วจอมพลังอย่าง เมล็ดงา SEEDS งาเป็นพืชล้มลุก จะมีขนาดเมล็ดเล็กๆ สีของเมล็ดงางานั้นมีด้วยกัน 2 สี คือ ขาวและสีดำ ซึ่งทั้งสองชนิดมีสรรพคุณใกล้เคียงกัน แต่งาดำจะมีคุณภาพดีกว่าและได้รับความนิยมมากว่างาขาว ซึ่งอาหารในตะวันออกกลางจะนิยมใช้เมล็ดงาเป็นส่วนผสมในการทำอาหารมานานนม และเชื่อหรือไม่ว่า  เมล็ดงาเป็นหนึ่งในเคล็ดลับความงามของพระนางคลีโอพัตรา โดยพระนางคลีโอพัตราใช้น้ำมันงาทาผิวเพื่อที่จะทำให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ 

        ภายในเมล็ดงานั้นอุดมไปด้วยแคลเซียม ซึ่งเป็นผลดีต่อกระดูกและฟันของเรา มีวิตามินอี และสารแอนตี้ออกซิเดนต์ซึ่งดีต่อหัวใจมากเลยทีเดียว นอกจากนี้ในเมล็ดงายังเปี่ยมไปด้วยไขมันที่ไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวซึ่งจะช่วยในการป้องกันภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูง จึงทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย อีกหลายคุณประโยชน์ของเมล็ดงานั้น ในงานวิจัยบางชิ้นยังพบอีกด้วยว่า เมล็ดงาสามารถบรรเทาอาการไอแห้ง  ปวดหลัง  และยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ใหญ่ ทำให้ท้องไม่ผูกได้ด้วยเช่นกัน คุณทราบหรือไม่ว่า งายังเป็นอาหารต้านมะเร็งด้วย นักวิทยาศาสตร์บางคนว่าสาร  เซซามอล  ที่มีอยู่ในงานั้นป้องกันมะเร็งได้ และยังทำให้ร่างกายแก่ช้าลง

        เมล็ดงาเมล็ดเล็กๆนั้นจัดเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก จนชาวจีนถึงกับเปรียบไว้ว่า กินงามีคุณค่าเปรียบได้ดั่งกินหยก

        เมื่อทราบแล้วว่าคุณประโยชน์มีมากมายหลากหลายขนาดนี้ คุณคงไม่พลาดที่จะเลือกสรรอาหารการกินที่ที่เมล็ดเหล่านี้เป็นส่วนประกอบเป็นแน่ เพราะประโยชน์ของมันไม่เหมือนกับขนาดของมันเลยแม้แต่น้อย  ฉนั้นแล้ว.......วันนี้คุณกินเมล็ดพืชแล้วหรือยัง ?

                       สมุนไพร รักษากลากเกลื้อน

  ผักบุ้ง                                                                                                                        

 

            ส่วนที่ใช้     ดอกตูม ปริมาณ 10 ดอก                                                                                                    

 วิธีใช้      นำเอาดอกผักบุ้งที่ยังตูมอยู่ตำให้แหลกแล้วนำมาทาบริเวณผิวหนังที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้ง ทุกวันจนกว่าจะหาย                                                                                                 

   รักษาโรคเบาหวาน

 

          มะระ

                     ส่วนที่นำมาใช้      ผล      ปริมาณ     ทั้งผล

วิธีใช้   นำผลมะระมาหั่น  ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแห้ง  จากนั้นนำมาชงกับน้ำต้มสุหรือผสมใบชาเล็กน้อย ใช้จิบหรือดื่มได้ทุกวันเช่นเดียวกับใบชา

 เตยหอม

     ส่วนที่นำมาใช้     ราก     ปริมาณ    2 กำมือ

     วิธีใช้  นำรากเตยหอมมาต้มกับน้ำสะอาดดื่ม ดื่มได้วันละ 2 เวลา เช้า –เย็น

      ตำลึง

                   ส่วนที่นำมาใช้    เถาแก่     ปริมาณ   2 กำมือ

      วิธีใช้  นำเถาตำลึงมาต้มกับน้ำสะอาด   ใช้ดื่มหรือจิบวันละ 2 เวลา เช้า –เย็น

มะแว้งเครือ มะแว้งต้น (บักแค้งขม)

       ส่วนที่ใช้  ผลสุกเต็มที่   ปริมาณ  2 กำมือ

 

    วิธีใช้  นำมะแว้งมาล้างให้สะอาด แล้วใช้รับประทานสดๆโดยจิ้มกับน้ำพริกต่างๆรับประทานได้วันละครั้งทุกวัน

 สมุนไพร

ช่วยระบายและเป็นยาถ่าย

      มะขาม

           ส่วนที่ใช้    เมล็ดในเปลือก   ปริมาณ   30 เมลฃ็ด (ต้องคั่วเมล็ดมะขามเสียก่อน จึงกะเทาะเมล็ดข้างในออกมาใช้)

            วิธีใช้  นำเมล็ดสีขาวที่กะเทาะมาต้มกับน้ำสะอาด ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มหรือจิบได้เหมือนน้ำชา วันละ 2 ครั้ง

     ฟักทอง

        ส่วนที่ใช้    เนื้อในเมล็ดทั้งสดและแก่     ปริมาณ   100 กรัม ( 100-120 เมล็ดสด)

          วิธีใช้   นำเนื้อในของเมล็ดฟักทองมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสุกประมาณ 3 แก้ว  เจือด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อย ดื่มหรือจิบเป็นน้ำชา วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น  โดยควรจะดื่มในช่วงเวลาที่ท้องว่างก่อนรับประทานอาหาร

     มะระไทย

         ส่วนที่ใช้   ใบสด      ปริมาณ  40 ใบ

          วิธีใช้  นำใบมะระมาหั่นให้ละเอียดแล้วชงกับน้ำร้อนเจือด้วยเกลือเล็กน้อย  เพื่อกำจัดรสขม ดื่มหรือจิบเช่นเดียวกับน้ำชา  วันละ  2 เวลา  เช้า –เย็น

     ชุมเห็ดเทศ (ต้นขี้กลาก)

            ส่วนที่ใช้  ดอกและใบที่ยังสด  หากจะใช้เมล็ดให้ใช้เมล็ดที่แห้งแล้ว

            ปริมาณ       ดอกสด  ใช้ 5 ดอก     หากใช้ใบ ใช้ 15 ใบ   หากใช้เมล็ดแห้ง ใช้ 10-20 เมล็ด

           วิธีใช้  นำเอาดอก ใบ หรือเมล็ด  มาต้มกับน้ำสะอาด สุกแล้วสามารถนำมารับประทานสดๆหรือจิ้มน้ำพริกต่างๆได้  ส่วนใบนั้นสามารถนำไปย่างไฟให้เหลืองแล้วชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่มหรือจิบได้วันละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นยาระบายอ่อนๆ

      แมงลัก (ผักอีตู่)

            ส่วนที่ใช้     เมล็ด    ปริมาณ  3 ช้อนชา

             วิธีใช้    นำเมล็ดไปแช่น้ำให้พอเสียก่อน จากนั้นจึงดื่มให้หมดในช่วงก่อนเข้านอน หรือในขณะที่ท้องยังว่าง

         ขิง

        ขิง ชื่อสามัญ Ginger (จิน'เจอะ)  ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

         ขิงจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส แถมยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของขิงนั้น เราสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น และผลก็ได้ทั้งนั้น

     ประโยชน์ของขิง

ขิงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอดมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก

        ช่วยชะลอความแก่และชะลอการเกิดริ้วรอย

        มีส่วนช่วยในการป้องกัน ต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

        ช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานขิงควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งจะเป็นผลดี

ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยในการขับเหงื่อ

ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ลำต้นสด ๆ นำมาทุบให้แหลกประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มกับน้ำดื่ม

ช่วยลดความอ้วน ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ด้วยการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ

    ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะและไมเกรน ด้วยการรับประทานน้ำขิงบ่อย ๆ

    ช่วยลดความอยากของผู้ติดยาเสพติดลงได้

    แก้ตานขโมย ด้วยการใช้ขิง ใบกะเพรา พริกไทย ไพล มาบดผสมกันแล้วนำมารับประทาน

     ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต ด้วยการนำขิงสดมาฝานต้มกับน้ำดื่ม

     ช่วยบำรุงหัวใจของคุณให้แข็งแรง

     ช่วยบรรเทาอาการของโรคประสาท ซึ่งทำให้จิตใจขุ่นมัว (ดอก)

     ช่วยฟื้นฟูร่างการสำหรับมารดาหลังคลอดบุตร ด้วยการรับประทานไก่ผัดขิง

      มีส่วนช่วยให้เจริญอาหาร (ราก, เหง้า) ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลีนำมาต้มกับน้ำดื่ม ก็จะได้เป็นยาขมเจริญอาหารใช้กินเพื่อบำรุงเป็นยาธาตุ บำรุงธาตุไฟ (เหง้า, ดอก)

      ใช้บำรุงน้ำนมของมารดา (ผล)

      ช่วยทำให้นอนหลับได้อย่างสบาย

      การรับประทานขิงจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ช้าลง

ใช้แก้ไข้ (ผล) ด้วยการนำขิงสดมาคั้นเป็นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย แล้วผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วนำมาดื่มวันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการได้

       ช่วยแก้หวัด บรรเทาอาการไอ บรรเทาหวัดจับเสมหะ ด้วยการใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาวใส่เกลือนิดหน่อย

ไอน้ำหอมระเหยจากน้ำขิงช่วยทำลายไวรัสหวัดในทางเดินหายใจได้

     แก้ลม (ราก)   ในผู้ป่วยที่มีอาการเมายาสลบหลังผ่าตัด น้ำขิงช่วยแก้เมาได้

     ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ขิงสดนำมาตำให้แหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำดื่ม (ไม่ต้องดื่มน้ำตาม)

     ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง หัวล้าน ด้วยการนำเหง้าสดไปผิงไฟจนอุ่น แล้วนำมาตำให้แหลก นำมาพอกบริเวณที่มีผมร่วง วันละ 2 ครั้งจนอาการดีขึ้น หรืออีกวิธีก็คือคั้นเอาเฉพาะน้ำขิงมาผสมกับน้ำมันมะกอกแล้วนำมาหมักผม นวดให้ทั่วศีรษะประมาณ 30 นาทีก็ช่วยลดปัญหาผมร่วงได้เหมือนกัน แถมยังช่วยให้ผมสวย แข็งแรง มีความนุ่มลื่น ไม่ขาดง่ายอีกด้วย

      ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคเกี่ยวกับตา และใช้แก้อาการตาฟาง (ผล, ใบ)

       ช่วยรักษาอาการตาแฉะ (ดอก)

       ช่วยแก้โรคกำเดา (ใบ)

        ใช้แก้อาการคอแห้ง เจ็บคอ (ผล)

ใช้รักษาอาการปากคอเปื่อย ท้องผูก (เหง้า,ดอก)

ช่วยรักษาอาการปวดฟัน ด้วยการนำขิงแก่มาทุบให้ละเอียดคั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง จากนั้นนำมาพอกบริเวณฟันที่ปวด

แก้เสมหะ เสมหะขาวเหลวปริมาณมากมีฟอง (ผล, ราก)

ช่วยรักษาภาวะน้ำลายมาก อาเจียนเป็นน้ำใส

ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น ด้วยการนำขิงมาคั้นผสมน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย นำมาอมบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย

ช่วยบำรุงรักษาฟันและป้องกันการเกิดฟันผุ

ช่วยกำจัดกลิ่นรักแร้ ด้วยการใช้เหง้าขิงแก่นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาคั้นเอาน้ำมาทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นได้

ช่วยแก้อาการสะอึก ด้วยการใช้ขิงสดตำจนแหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย คนจนเข้ากันแล้วนำมาดื่ม

ช่วยรักษาโรคบิด (ผล, ราก, ดอก) ด้วยการใช้ขิงสดประมาณ 75 กรัม ผสมกับน้ำตาลแดง นำมาตำจนเข้ากัน แล้วรับประทาน 3 มื้อต่อวัน

ช่วยแก้อาการอาเจียน (เหง้า, ผล) ด้วยการนำขิงสดประมาณ 5 กรัมหรือขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม

ช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้อง (สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป)

แก้อาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในลำไส้ (ผล, ราก, ใบ) ด้วยการนำขิงแก่มาทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว แล้วปิดฝาตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วนำน้ำมาดื่มระหว่างมื้ออาหาร

ช่วยรักษาอาการปวดในช่วงก่อนหรือหลังประจำเดือน ด้วยการนำขิงแก่ที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัมมาต้มกับน้ำดื่มบ่อย ๆ

ช่วยในการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดอก)

ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียด (เหง้า)

ช่วยในการขับถ่าย และช่วยในเรื่องของระบบลำไส้ให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ

ช่วยฆ่าพยาธิ พยาธิกลมจุกลำไส้ (ใบ) ใช้น้ำขิงผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาดื่ม

ช่วยแก้อาการขัดปัสสาวะ (ดอก, ใบ)

ช่วยรักษาปัสสาวะรดที่นอนในผู้ป่วยที่มีภาวะหยางพร่อง มีความเย็นในร่างกายเป็นเหตุ

ช่วยรักษาโรคนิ่ว (ใบ, ดอก)

ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)

ช่วยรักษาอาการปวดข้อตามร่างกายด้วยการรับประทานขิงสดเป็นประจำ

มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

ใช้เป็นยาแก้คัน ด้วยการนำแก่นของขิงฝนทำเป็นยา (แก่น)

แก้ปัญหาหนังที่มือลอกเป็นขุย ด้วยการใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำแผ่นขิงมาถูบริเวณดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

ช่วยรักษาแผลเริมบริเวณหลัง ด้วยการใช้เหง้า 1 หัว นำมาเผาผิวนอกจนเป็นถ่าน คอยปาดถ่านที่ผิวนอกออกไปเรื่อย ๆ แล้วนำผงที่ได้มาผสมกับน้ำดีหมูนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล

หากถูกแมงมุมกัด ใช้ขิงสดฝานบาง ๆ นำมาวางทับบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยบรรเทาอาการได้

ช่วยรักษาอาการมือเท้าเย็น กลัวหนาว เย็นท้อง เป็นต้น

ช่วยป้องกันการแพ้อาหารทะเลจนเกิดผื่นคัน ลมพิษ หรืออาหารช็อกประโยชน์ของขิง

ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำขิงสดมาตำให้แหลก แล้วนำกากมาพอกบริเวณแผล เพื่อป้องกันการอักเสบและการเกิดหนอง

ในขิงมีสารที่สามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้

ในด้านการประกอบอาหารนั้น ขิงสามารถช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารได้ดีอีกด้วย

ในด้านความงามนั้นมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของขิงอีกด้วย

ช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียนยิ่งขึ้น ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอยแล้วนำมานวดบริเวณต้นขา ก้น หรือบริเวณที่มีเซลลูไลต์จะช่วยลดความขรุขระของผิวได้อีกด้วย

ผลิตภัณฑ์จากขิงนั้นนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง ขิงแช่อิ่ม ขิงเชื่อม ขิงกระป๋อง ขิงแคปซูล น้ำขิงมะนาว เป็นต้น

วิธีทำน้ำขิง

วิธีทำน้ำขิงวิธีทำน้ำขิงขั้นตอนแรกให้เตรียมส่วนผสมดังนี้ ขิงแก่ 1 กิโลกรัม / น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง / น้ำสะอาด 3 ลิตร

นำขิงที่ได้ไปล้างให้สะอาด นำมาทุบให้แตก แล้วนำมาใส่ในหม้อต้ม เติมน้ำสะอาดลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ

เมื่อต้มจนน้ำเดือดแล้วค่อยเบาไฟลง เคี่ยวประมาณ 20 นาทีจนน้ำขิงละลายออกมาจนหมด (น้ำจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ) แล้วยกลงจากเตา

เสร็จแล้วให้ตักน้ำขิงใส่แก้ว เติมน้ำตาลทรายแดงลงไป 1-2 ช้อนชา (ตามความต้องการ) แล้วคนจนเข้ากัน

เรียบร้อยแล้วก็สามารถนำมาดื่มได้ โดยนำมาดื่มแบบร้อน ๆ ได้เลย

หรือจะดื่มแบบเย็น ๆ ด้วยการใส่น้ำแข็งลงไปก็ได้เช่นกัน แต่ควรเติมน้ำตาลมากกว่า 2-3 เท่า (จะช่วยไม่ให้รสจืดมากเกินไป เพราะมีน้ำแข็งผสมอยู่นั่นเอง)

น้ำขิงที่คั้นมานั้นไม่ควรใช้ปริมาณที่เข้มข้นจนเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะจะไประงับการบีบตัวของลำไส้ จนทำให้ลำไส้หยุดการบีบตัว ดังนั้นควรคั้นในปริมาณน้อย ๆ หรือดื่มจนชินก่อน

เรามักจะรู้จักคุ้นเคยกับขิงว่าเป็นอาหารที่นิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารและทำเครื่องดื่ม ซึ่งจริง ๆ แล้วขิงจัดเป็นสมุนไพรไทยที่ช่วยการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆได้สารพัด ถือว่าเป็นตัวช่วยในการรักษาโรคได้เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรจะหวังพึ่งสรรพคุณของขิงเพียงอย่างเดียวในการบำบัดรักษาโรค ควรจะทำอย่างอื่นหรือดูแลสุขภาพของเราร่วมด้วยจะได้ผลดีนักแลเรามักนิยมใช้ขิงแก่ เพราะยิ่งแก่จะยิ่งให้ความเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณทางยาที่มากกว่าขิงอ่อน และยังมีใยอาหารมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้ที่เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง หรือมีไฟในตัวมากกว่าปกติ แต่ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

 แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

       ประโยชน์ของขิงมีมากมาย แต่ก็มีข้อที่ควรระวังเช่นกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะนำไปใช้อย่างไร

         แม้ว่า ขิง จะเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ทำอาหารและมีสรรพคุณในการรักษาโรค แม้ว่าขิงจะมีกลิ่นฉุนและมีรสชาติเผ็ดร้อน เลยทำให้ไม่ถูกปากหลายคนนั้น แต่ขิงก็เป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ทำอาหารและมีสรรพคุณรักษาโรค เรามาดูกันดีกว่าสมุนไพรดีๆ อย่างขิงนั้นมีประโยชน์และโทษอะไร ที่เราคาดไม่ถึงบ้าง

   ประโยชน์ของขิง

       ลดอาการท้องอืด

หากคุณรู้สึกท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อย ให้จิบชาน้ำขิงหรือรับประทานขิงสดจะทำให้คุณรู้ดีขึ้น หรือถ้าหากคุณเกิดอาการท้องอืดจากการรับประทานถั่วละก็ คราวหน้าลองฝานขิงบางๆ ลงไปในอาหารที่มีถั่ว นั่นก็จะช่วยลดอาการท้องอืดได้เช่นกันค่ะ เพราะขิงนั้นเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถช่วยขับลม และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้อาการท้องอืดบรรเทาลงได้

ช่วยบรรเทาอาการไมเกรน

จากการศึกษาพบว่า การรับประทานขิงตอนที่อาการไมเกรนใกล้กำเริบนั้น จะช่วยทำให้ความเจ็บปวดจากอาการไมเกรนลดลงได้ เพราะขิงจะไปช่วยสกัดฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่น แสดงให้เห็นอีกว่าขิงสามารถช่วยรักษาอาการไขข้ออักเสบ โดยพบว่าผู้ที่มีอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรครูมาตอยด์มีอาการลดลงเมื่อบริโภคขิงผงเป็นประจำทุกวัน

ประโยชน์ และโทษที่คาดไม่ถึง

    ช่วยป้องกันมะเร็ง

     ขิง มีคุณสมบัติในการช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยมีการศึกษาพบว่า ขิง ช่วยทำให้เซลล์มะเร็งภายในรังไข่ตาย เพราะในขิงมีสารเคมีธรรมชาติที่ไปช่วยกระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอเรส ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันมะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีขิงเป็นส่วนประกอบยังช่วยลดอาการอักเสบในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

   ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้

     ขิง สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ โดยชาวเอเชียนั้นมักจะใช้ขิงในการช่วยบรรเทาอาการเมารถ หรือเมาเรือ นอกจากนี้ ยังมีหลายการศึกษาพบว่าขิงสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอาเจียนหลังจากการผ่าตัดและยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดได้อีกด้วย

ช่วยลดน้ำตาลในเลือด   มีการศึกษาใหม่พบว่า ขิงผงนั้นสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขิงร่วมกับยา เพราะขิงอาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษาได้ และควรติดตามผลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพราะหากรับประทานขิงมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ระดับอินซูลินลดลงมากเกินไปจนอยู่ในขีดอันตรายได้

     ขิงดอง สรรพคุณดีก็มี เราอาจจะเคยได้ยินกันมาว่าการรับประทานของหมักดองไม่ดีกับสุขภาพ แต่ต้องขอยกเว้นไว้สำหรับขิงดองค่ะ เพราะจริงๆ แล้วแม้ขิงดองจะเป็นอาหารที่ผ่านการหมักด้วยน้ำส้มสายชู แต่เรื่องสรรพคุณและประโยชน์เพื่อสุขภาพ ขิงดองก็มีดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขิงสดๆ ซึ่งประโยชน์ของขิงดองมีดังนี้

    ช่วยแก้อาการเมาเรือ เมารถและอาการแพ้ท้อง

      เนื่องจากขิงดองเป็นอาหารที่มีกลิ่นแรงอีกทั้งยังมีรสชาติเผ็ดอมเปรี้ยว เลยทำให้กลายเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่มีอาการเมาเรือ เมารถ และสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมีอาการแพ้ท้อง เอาไว้รับประทานเวลาที่รู้สึกคลื่นไส้ เพราะจะช่วยบรรเทาอาการได้ ไม่ต้องพึ่งยาแก้เมา หรือยาแก้แพ้ท้อง ลองใช้ขิงดองดู

       ล้างปากเวลารับประทานอาหาร

     สำหรับหลายคนที่สงสัยว่า ทำไมเวลาไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นแล้ว บนจานอาหารญี่ปุ่นจะมีขิงดอง คำตอบก็คือ ขิงดองเหล่านั้นมีไว้รับประทานล้างปาก โดยส่วนใหญ่ในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น จะรับประทานขิงดองตามเข้าไปหลังจากรับประทานอาหารจานนั้นหมดแล้ว เพื่อไม่ให้รสชาติอาหารจานเดิมติดอยู่ในปากจนทำให้รู้สึกเลี่ยนและรับประทานจานต่อไปไม่ไหว อีกทั้งยังทำให้ลิ้มรสอาหารจานต่อไปได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

โซเดียมต่ำ

แม้ขิงดองจะมีรสจัด แต่น่าแปลกที่ขิงดองเป็นอาหารที่มีโซเดียมต่ำมากเมื่อเทียบกับอาหารหมักดองชนิดอื่นๆ เมื่อนำมารับประทานแล้วก็ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปริมาณโซเดียม ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความดันโลหิตสูงลงไปได้อีกเยอะเลย

ข้อควรระวัง ในการรับประทานขิง

อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ได้ มีบางการศึกษาพบว่า ขิงมีความเชื่อมโยงกับภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์และการแท้ง แต่ในการตั้งครรภ์รายอื่นๆ นั้นไม่พบว่าการรับประทานขิงจะทำให้เกิดอาการเหล่านั้นขึ้น แถมยังช่วยลดอาการคลื่นไส้จากการแพ้ท้องได้อีกด้วย ดังนั้น คุณควรไปปรึกษาแพทย์ก่อนจะที่ใช้ขิงในการรักษาอาการแพ้ท้องด้วยตนเอง

    ทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปากได้ ขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณที่มากก็จะสามารถทำให้เยื่อบุภายในช่องปากเกิดการอักเสบ จนเป็นอาการร้อนในได้ ดังนั้น ไม่ควรรับประทานขิงมากจนเกินไป

    ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด การศึกษาหนึ่งในออสเตรเลียพบว่า ขิงนั้นมีสรรพคุณในการต้านการแข็งตัวของเลือดมากกว่ายาแอสไพริน สถาบันสุขภาพของออสเตรเลียได้ออกคำเตือนให้งดการรับประทานขิงในขณะที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอาการห้อเลือดหรืออาการเลือดออกได้ ดังนั้น ถ้าหากคุณมีอาการเลือดออกผิดปกติหรือกำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขิง

      เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว หวังว่าหลายๆ คน ที่กำลังคิดจะใช้ขิงช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ก็คงจะต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นนะคะ เพราะบางทีถ้าหากเราใช้ขิงในการรักษาโรคหนึ่ง แต่ก็อาจจะไปช่วยกระตุ้นให้อีกโรคนั้นอาการกำเริบได้ ดังนั้น ควรจะรับประทานขิงอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าหากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ดีกว่า

 ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.rd.com และ www.livestrong.com 

     วิธีต้มน้ำขิงเพื่อสุขภาพ

1.เตรียมขิง ล้างขิงให้สะอาด

2.ปอกเปลือกขิง นำมาทุบ แต่ไม่ต้องแหลก

3.ต้มน้ำให้เดือด ใส่ขิงลงไปต้ม 10-15 นาที

4.ต้มไฟอ่อนอีก 20-30 นาที

5.ปิดเตา ตั้งน้ำขิงทิ้งไว้ 10-15 นาที ตักเนื้อขิงออก หรือรินน้ำขิงมาใส่ภาชนะพักไว้

6.เติมน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายกรวดเพิ่มรสชาติให้หวานพอประมาณ 

 

 

 

 

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.