กู่คันทนาม อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด
กู่คัฒทนาม (กู่คันธนาม, กู่บ้านด่าน)
กู่คันธนาม (กู่บ้านค่าน) ตั้งอยู่ที่บ้านคันธนาม ตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นปราสาทที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อเป็นอโรคยาศาลตามแบบวัฒนธรรมเขมรแห่งหนึ่งใน ๑๐๒ แห่ง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗(พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑) ตามจารึกปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา ชื่อกู่คันธนามเป็นชื่อที่เรียกขึ้นในภายหลัง ตามนิทานชาดกนอกนิบาตเรื่องคันธนโพธิสัตว์ชาดกที่นิยมเล่ากันในกลุ่มชนเชื้อสายลาวโดยผูกเรื่องพุทธประวัติเข้ากับสถานที่ในท้องถิ่น ให้บริเวณกู่คันธนามและโดยรอบเป็นพื้นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์
บริเวณกู่คันธนามประกอบด้วยอาคาร ๒ หลังในกำแพง ได้แก่ ปราสาทประธาน ๑ หลังตอนกลางและอาคารบรรณาลัยอีก ๑ หลังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท ด้านนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำที่มีผังเช่นเดียวกับผังภู่โพนระฆัง ลักษณะสถาปัตยกรรมคันธนาม เป็นปราสาทแบบเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ตั้งบนฐานสูงในผังสี่เหลี่ยมย่อเก็จ สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าปราสาทก่อมุขยื่นออกมาเชื่อมกับลานหิน ส่วนบรรณาลัยเป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าบรรณาลัยพบศิลาจารึกหินทราย จารึกอักษรเขมรโบราณภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างอโรคยาศาลให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับประชาชน การแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ใน อโรคยาศาล และการพระราชทานสิ่งของตามขนาดของโรงพยาบาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนกำแพงก่อด้วยศิลาแลงมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู (โคปุระ) รูปกากบาท ก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนที่เป็นคานใช้หินทรายสีชมพู ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ทำจากหินทรายในลักษณะศิลปะเขมรแบบบายนที่ปัจจุบันสูญหายแล้ว นอกจากนี้กายในปราสาทยังพบพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาและพระวัชรธร กึ่งกลางกำแพงด้านทิศเหนือและใต้มีห้องเล็กๆ ที่สามารถเปิดสู่ภายในได้ ส่วนสระน้ำนอกกำแพงกรุด้วยศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด
นายประสม บุญป้อง ที่อยู่ : เลขที่ 30/1 หมู่ที่ 11 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33110 มือถือ : 081-5939651 อีเมล : prasom99@gmail.com เว็บไซต์ : www.p-esan.com