ReadyPlanet.com
dot dot




ประเพณีกินดอง (การแต่งงาน)

 ประเพณีกินดอง(แต่งงาน)

 

      การสู่ขอ ภาษาพื้นเมืองเรียกกันว่า “การขอเมีย” คือนับตั้งเเต่เมื่อชายหญิงรักใคร่ตกลงปลงใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นสามีภรรยากัน ฝ่ายชายก็จะบอกกล่าวพ่อแม่ให้จัดญาติผู้ใหญ่เป็นเถ้าแก่และพ่อล่ามอีกคนหนึ่ง ถือดอกไม้ธูปเทียนไปร้องขอต่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่บ้าน เพื่อให้เป็นที่ตนลงกันแต่ในกรณีที่กำหนดงานวันแต่งงานเนิ่นนานออกไป ก็อาจจะทำพิธีหมั้นกันไว้ก่อนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในตัวกันและกันทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายชายจะต้องหาทองหมั้นมาวางประกันไว้ คือจะเป็นทองรูปพรรณหรือเงินตามจำนวนที่ตกลงกันก็ได้ การเลี้ยงดูแขกจะแยกกันเลี้ยงคนละฝ่าย หรือจะเลี้ยงรวมกันก็ได้ หรือให้ฝ่ายใดเลี้ยงแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ได้ วันแต่งงานตามที่นิยมกัน ก็คือวันใดวันหนึ่งในเดือนคู่ข้างขึ้นคือ วันที่ ๒๔ และ ๖ เดือนยี่ ๔๖ และ ๑๒ เว้นแต่เดือนในระหว่างเข้าพรรษา คือ เดือน ๘-๑๑ ไม่มีธรรมเนียม แต่งงานกัน

       เมื่อได้ฤกษ์กำหนดนัด หากเป็นที่ตกลงในเรื่องสินสอดทองหมั้นซึ่งเรียกว่า “ค่าดอง” แล้วก็กำหนดวันแต่งงานกันเลยทีเดียว แต่ถ้าตกลงในเรื่องสินสอดกันไม่ได้ ก็จะต้องเพียรต่อรองกันอีก ในรายที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็จะมีการหมั้นหรือไม่ต้องหมั้นก็ได้ นั่นคือ ในระหว่างที่รอพิธีการแต่งงาน ฝ่ายหญิงก็จะเตรียมเครื่องที่นอนหมอนมุ้งและเครื่องไหว้ผู้ใหญ่ให้พร้อมเพรียง ส่วนฝ่ายชายก็จะต้องเตรียมเงินทองเอาไว้ ระยะนี้ชายจะไปมาหาสู่หญิงบ่อยๆ ได้

       พิธีแต่งงานนั้น จะต้องเริ่มก่อนวันกำหนดแต่งจริงที่บ้านหญิงโดยกำหนด “วันมื้อเต้า” เป็นวันเตรียมสิ่งของถัดไปอีกวันหนึ่งเป็น “วันมื้อโฮม” บางแห่งเรียก “มื้อสุกดิบ” วันนี้ญาติพี่น้องจะมาพร้อมกันและช่วยกันเตรียมงานโดยในตอนเย็นมีพระสงฆ์มาทำพิธีสวดมนต์ มีการฟังเทศน์ร่วมกันทั้งเจ้าบ่าว และจ้าสาวเพื่อนำหลักธรรมไปปฏิบัติในการครองเรือนกัน เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันแต่งงาน

      อนึ่งในกรณีที่มีอุปสรรคของการแต่งงานจะเกิดขึ้นเช่นไม่มีเงินค่าสินสอดก็ดี พ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมก็ดี หากหญิงรักและเป็นใจกับชายแล้ว ชายก็จะนัดแนะเข้าหาหญิงการกระทำเช่นนี้เรียกว่า “ภารซู” ตกกลางคืนเมื่อชายเข้าหาหญิงแล้ว ฝ่ายหญิงก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้ฝ่ายชายหนีได้ จนจวนสว่างฝ่ายหญิงก็จะต้องรีบไปบอกพ่อแม่ของตน

      เมื่อบิดามารดาของฝ่ายหญิงทราบ ก็จะต้องรีบไปปิดประตูขังฝ่ายชายไว้ แล้วให้หาเถ้าแก่ฝ่ายชายไปตกลงพูดจากัน ถ้าฝ่ายชายตกลงมั่นเหมาะยอมรับเลี้ยงดูฝ่ายหญิงเป็นภรรยาแล้ว ฝ่ายหญิงก็จึงจะปล่อยให้ฝ่ายชายกลับบ้าน แล้วการสู่ขวัญวันแต่งงานจึงจะเกิดขึ้นในภายหลังพิธีแต่งงาน ถ้าเจ้าบ่าวไปอยู่บ้านเจ้าสาว เขาเรียกว่า“ดองสู้” ตรงกับภาคกลางที่เรียกว่าวิวาหมงคล โดยทำพิธีแต่งงานที่บ้านหญิง ถ้าเป็น“ดองต้าน” ก็เรียกว่าอาวหมงคลคือฝ่ายหญิงไปอยู่กับฝ่ายชาย คือทำพิธีที่บ้านของหญิงก่อนแล้วไปทำพิธีที่บ้านของฝ่ายชายอีกครั้งหนึ่ง

     เมื่อถึงวันงาน พวกญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงก็จะมาช่วยเหลือกันตั้งแต่เช้า พร้อมกับนำข้าวปลาอาหาร สุราสิ่งของหรือเงินทองติดไม้ติดมือไปช่วยตามแต่ฐานะของตนนอกจากจะช่วยด้วยสิ่งของแล้ว พวกเขาอาจจะช่วยด้วยแรงอีกด้วย เช่น ช่วยกันตักน้ำ ทำอาหาร ทำพาขวัญจีบหมาก และมวนบุหรี่ ฯลฯ ตามถนัด

     เมื่อได้ฤกษ์ พิธีแห่ตามที่อาจารย์ได้กำหนดไว้แล้วก็จัดเป็นขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าสาวทันที ขบวนแห่เจ้าบ่าวซึ่งเพรียบพร้อมไปด้วยพาขวัญ โดยการนำขันหมากและสินสอดไปด้วย อนึ่งพิธีแห่ของเจ้าบ่าวได้จัดเป็นขบวนแบ่งออกไว้เป็นอย่างๆดังนี้

     กลุ่มหน้าเป็นพวกดนดรีพื้นเมือง พวกร้องพวกรำสนุกสนานรื่นเริงกันเต็มที่ ต่อมาเป็นเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว ถัดไปเป็นพาขวัญ ขันหมาก เครื่องบริวารและติดตามด้วยญาติพี่น้อง เถ้าแก่ พ่อล่าม ฯลฯ ครั้นในเมื่อถึงประตูบ้านเจ้าสาว

      ญาติฝ่ายหญิงจะปิดประตูบ้านไม่ยอมให้เข้าไปได้ง่าย จะมีการซักถามเพื่อเอาเคล็ดเอาฤกษ์ตามธรรมเนียมพร้อมกับมีการถามว่า

     “มาทำไม?”    มาแต่ไส  มาหยังนอหลายคนแท้

      “มาขอลูกสาวบ้านนี้ เขาว่าเป็นคนดีคนร่ำรวย และคนขยันทำมาหากิน….”  มาแต่บ้านมั่นเมืองคง  มาขอลูกสาวบ้านนี้  เขาเล่าลือว่าเป็นคนดี มั่งมีดีได้  ร่ำรวยเงินทอง ดุหมั่นขยันในการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน บ่อึดบ่อยากแนวได๋ ฯลฯ     พวกญาติฝ่ายชายตอบไป

     “เออ…ช่างสมกันเหลือเกินเน้อ”   เออ  มาคือสมกันแท้  คักหลายได้กันสิมั่งมีศรีสุข  ญาติทางฝ่ายเจ้าสาวรีบตอบเพื่อให้สิริมงคลแก่งานด้วย และพูดต่อไปอีกว่า

   “ขอให้รวยทั้งคู่ เงินทองไหลมาเทมา เชิญ…เชิญ ข้างในบ้าน ฤกษ์งามยามดีเหลือเกิน…”  ขอให้เทิงสองคนมั่งมีดีได้ มีเงินมีทอง บ่อึดบ่อยาก   ข้าวของเงินทองไหลมาเทมา ล้นเหล้าล้นเยีย    เชิญ..เชิญ ขึ่นมาเทิงเฮือนได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว

     ครั้นแล้วฝ่ายหญิงก็จะรีบเปิดประตูยอมให้ฝ่ายชายเข้าไป ในการนี้ฝ่ายชายจะต้องให้รางวัลแก่ฝ่ายหญิงด้วยมีธรรมเนียมอยู่ว่า เจ้าบ่าวก่อนจะขึ้นเรือนต้องล้างเท้าของตนบนใบตองกล้วยตีบและบนแผ่นหินซึ่งถือเคล็ดว่าให้ฝ่ายชายมีใจหนักแน่นเหมือนแผ่นหิน และให้มีความสนิทเสน่หากันเหมือนผลกล้วยตีบซึ่งชิดกันมาก) จากนั้นญาติผู้หญิงที่มีการครองเรือนดี ก็จะมารับพร้อมกับจูงมือเขยขึ้นบ้าน นำไปนั่งรอที่พาขวัญของตน ซึ่งตั้งเคียงคู่กับของหญิงท่ามกลางญาติมิตรสหาย ระหว่างนี้เถ้าแก่และพ่อแม่ก็จะนำขันหมากไปมอบให้แก่เถ้าแก่ฝ่ายหญิง เมื่อตรวจดูสินสอดว่าครบถูกต้องแล้วก็จะรีบนำเจ้าสาวมาเข้าพาขวัญ เจ้าสาวจะต้องนั่งทางซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ

   ต่อจากนี้ ก็ทำพิธีสู่ขวัญแต่งงาน โดยใช้วิธีแบบ “ประเพณืสู่ขวัญ” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วเป็นหลัก แต่ไม่มีการพายเหล้า โดยหมอสูตรหรือพราหมณ์ชาวบ้านจะกล่าวคำสวดคำขวัญอวยพร เสร็จแล้วหมอสูตรได้ป้อนไข่ คือนำไข่ต้มจากพาขวัญมาปอกแบ่งครึ่ง ให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินคนละครึ่งใบ โดยใช้มือขวาป้อนไข่ท้าว มือซ้ายป้อนไข่นาง เสร็จแล้วก็ใช้ฝ้ายผูกข้อมือของคู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร

    ด้วยพวกญาติๆ และแขกที่มาร่วมในงานทุกคนจะต้องผูกข้อมืออวยพรให้ทุกคน ต่อจากนี้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็นำขันดอกไม้ ธูปเทียน ไปกราบไหว้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ทุกๆฝ่ายและพร้อมกันนี้ท่านก็จะอวยพรให้คู่สมรสจงมีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไป

      เสร็จพิธีตอนนี้แล้ว ญาติฝ่ายหญิงก็จะจูงมือเจ้าบ่าวไปยังห้องที่เตรียมไว้ให้สำหรับคู่บ่าวสาวเป็นการบอกว่านับแต่คืนนี้เป็นต้นไปเจ้าบ่าวจะต้องมานอนกับเจ้าสาวที่ห้องนี้ ส่วนญาติฝ่ายชายที่เป็นผู้หญิงก็จะจูงมือเจ้าสาวไปยังอีกห้องหนึ่งเพื่อเป็นการสู่พิธีรับขวัญต่อไป

      ต่อมาอีก ๒-๓ วัน คู่สมรสจะต้องนำดอกไม้ ธูป เทียนไปไหว้ญาติพี่น้องวงศาคณาญาติชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับหน้าถือตาทั้งสองฝ่าย พิธีไหว้ระยะนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ไหว้สมา” ซึ่งพวกญาติผู้ใหญ่ก็จะให้ทรัพย์สินเงินทองและอวยพรคู่สมรสให้มีความสุขความเจริญและยั่งยืนตลอดไป

      อนึ่ง คู่สมรสเมื่ออยู่นานวันเข้าถ้าเกิดทะเลาะวิวาทกัน ก็จะมีประเพณีอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เขิง-ขอบ” แปลว่า “ร่อนและมัด” หมายถึงการพิจารณาตัดสิน โดยจะเชิญญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาพิจารณาและปรึกษากันว่าการบกพร่องในรื่องนั้นๆ เป็นความผิดของผู้ใดเมื่อพิจารณาได้ความเป็นประการใดแล้ว ก็ให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นผู้ว่ากล่าวให้ประนีประนอมคืนดีกัน ตลอดจนแนะนำกลอุบายที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเข้าใจกันต่อไป เช่น ถ้าภรรยาผิดต่อสามี ผู้น้อยผิดต่อผู้ใหญ่ก็ให้นำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ขอโทษขอโพย และรับรองที่จะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

      ในกรณีถ้าพ่อแม่ทำผิด ก็จะต้องรับที่จะแก้ไขไม่ให้ผิดซ้ำอีก บางทีก็จะมีการสู่ขวัญเลี้ยงดูเถ้าแก่พ่อแม่ก็ได้เพื่อผูกน้ำใจซึ่งกันและกัน และถ้าปรากฏว่ายังมีการแตกร้าวกันอยู่อีก ก็จะมีการพิจารณาดังนี้ทุกๆคราวไป ถ้าไม่อาจที่จะระงับได้ก็ให้ออกเหย้าออกเรือนหย่าขาดกันไปแล้วแต่กรณี ดังนี้การหย่าร้างจึงเกิดขึ้นน้อยมาก เว้นแต่ว่าจำเป็นจริงๆเพราะ “เขิง-ขอบ” กันหลายครั้งหลายหนแล้วไม่ได้ผลหรือคู่สมรสบกพร่องมีปมด้อยต่าง ๆ เช่นไม่มีลูกด้วยกัน และเกียจคร้านต่อการงานเช่นนี้เป็นต้น

       อนึ่ง ทุกคราวที่ให้ผู้ใหญ่ทำการเขิง-ขอบนี้จะต้องมีดอกไม้ธูปเทียนไปขมาท่าน ถ้ามีการปรับไหมสู่ขวัญเลี้ยงดูก็จะฟ้องให้ท่านรู้เห็นเป็นพยานด้วยทุกครั้งไป




ประเพณีอีสาน

เลาะเบิ่งพระธาตุแดนอีสานเหนือ article
เลาะเบิ่งแดนอีสาน article
ประเพณีลอยกระทง
ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก
ประเพณีบุญเข้ากรรม
ประเพณีการลำผีฟ้า (แถน)
ประเพณีพิธีสู่ขวัญ
ประเพณีเลี้ยงผีปู่ตา
ประเพณีถวายเทียนพรรษา
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง
ประเพณีการผูกเสี่ยว
ผาชะนะได
ประเพณีเข้ากรรม
ภูลังกา
พระธาตุเรืองรอง
ประเพณีฮดสรง
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ทุ่งดอกกระเจียว article
วรรณกรรมอีสาน
ธรรมชาติแดนอีสาน



Copyright © 2010 All Rights Reserved.