ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




ปราสาททองหลาง

 

ปราสาททองหลาง

ตำบลท่าโพธิ์ศรี  อำเภอเดชอุดม  จังหวัดอุบลราชธานี

             ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

      ปราสาททองหลาง    ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ หน้า ๑๕๓๔ และประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๕๕ หน้า ๓๓ (ฉบับพิเศษ) วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ มีพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่ ๓ งาน ๕๒ ตารางวา

ลักษณะของปราสาท

       ลักษณะเป็นปราสาทอิฐ ๓ หลัง ตั้งเรียงในแนวทิศเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก อยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะเป็นฐานบัว ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ปราสาทหลังกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทด้านข้างทั้งสองหลัง

       ปราสาททั้ง ๓ หลัง บริเวณส่วนกรอบประตูทางเข้าทำจากหินทราย ผนังทั้งสามด้านก่อด้วยอิฐ และทำประตูหลอกเลียนแบบเครื่องไม้ ก่ออกเลาเป็นแกนอยู่ตรงกลาง ลักษณะแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม โดยก่อมุขสั้นๆเป็นประตูหลอก มีเสาประดับผนังยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ที่ฐานและโคนเสารองรับปลายซุ้มหน้าบันทำเป็นลายบัวคว่ำ สลักอิฐเป็นลายลวดบัว เช่นเดียวกับเรือนธาตุที่ส่วนบนที่ทำเป็นลายบัวคว่ำ บริเวณหน้าบันก่อด้วยอิฐขัดเรียบสลักลายเป็นกรอบหน้าบัน สามารถเห็นลายชัดเจนได้ที่หน้าบันด้านทิศเหนือและทิศใต้ โดยสลักเป็นลายคล้ายกลีบบัว ๕ กลีบ ปลายซุ้มสลักรูปสามเหลี่ยม สลักลายเส้นลวดบัวคั่นระหว่างส่วนทับหลังและหน้าบัน หลังคาทำจำลองเป็นรูปเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นขึ้นไปเป็นชั้นๆ

         ด้านนอกรอบตัวปราสาท มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้า คูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร มีขนาดกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกถัดจากคูน้ำออกไปประมาณ ๑๗๐ เมตร มีบารายขนาดใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๔๓๐ เมตร ยาว ๔๕๕ เมตร ลึกประมาณ ๒ เมตร ปัจจุบันตื้นเขินเป็นที่นา บ้านเรือนราษฎร และขอบบารายด้านทิศใต้เป็นถนนเข้าสู่ตัวปราสาท เดิมบารายแห่งนี้รับน้ำมาจากห้วยธาตุที่ไหล มาจากทางด้านทิศตะวันตก ไหลขนานขอบบารายด้านทิศเหนือไปทางอำเภอเดชอุดม การชักน้ำจะชักน้ำเข้าบารายทางด้านทิศตะวันตก โดยการขุดร่องน้ำนำน้ำจากห้วยธาตุในฤดูฝนเข้ามาขังเอาไว้ พื้นบารายเอียงลาดไปทางทิศตะวันออก เมื่อน้ำเต็มแล้วส่วนที่เกินจะไหลไปตามลำห้วยเดิม

          แม้ไม่พบหลักฐานเป็นจารึกหรือเอกสาร แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานในอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณ ที่พบแพร่หลายในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนทับหลัง ๒ ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักลายใบไม้ม้วน และทับหลังแกะสลักลายหน้าบุคคลเห็นเพียง ๒ หน้า มีพวงอุบะกั้นกลาง สันนิษฐานว่าเป็นแถวฤาษีนั่งอยู่ช่วงบนของทับหลังเหนือท่อนพวงมาลัย เป็นลักษณะของทับหลังในช่วงปลายสมัยคลัง - บาปวน อายุราวช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ รวมถึงการศึกษาเศษภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดแต่ง เมื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับภาชนะดินเผาที่พบในแถบภาคอีสานโดยเฉพาะแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเคยมีการศึกษาและกำหนดอายุแล้ว พบว่าลักษณะของเนื้อดิน รูปทรง และน้ำเคลือบของเศษภาชนะดินเผาที่พบ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ ร่วมสมัยกับชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคล ที่นายล้วน ปาซาโร ขุดพบในขณะทำนาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ บริเวณด้านทิศเหนือของปราสาททองหลาง ห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร ลักษณะเป็นชิ้นส่วนเทวรูปทำจากหินทราย ตั้งแต่บั้นพระองค์ลงมาจนเกือบถึงพระชานุ นุ่งผ้าสั้นจีบเป็นริ้ว ลักษณะคล้ายโจงกระเบน ขอบผ้าเว้าลง ที่บริเวณหน้าท้อง และมีชายผ้าชักออกทางด้านข้างทั้งสองข้าง ชายกระเบนด้านหลังมีรูปคล้ายหางปลา ซึ่งลักษณะการนุ่งผ้าแบบนี้สามารถเทียบเคียงได้กับศิลปะเขมร แบบนครวัด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗

        ดังนั้น จากหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และ โบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าปราสาททองหลางสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - พุทธศตวรรษที่ ๑๗

          โบราณสถานแห่งนี้ได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ดำเนินการขุดแต่งเพื่อเขียนแบบบูรณะปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับงบประมาณเพื่อการบูรณะเสริมความมั่นคง และในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์สภาพแวดล้อมโดยรวม รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางการเข้าถึงแหล่ง ปัจจุบันปราสาททองหลางได้รับการดูแลรักษาจากสำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัคร

ท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) และ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ศรี

- อ้างอิงจาก

          อดิศักดิ์ สุทธิรัตน์. รายงานการสำรวจโบราณสถานปราสาททองหลาง บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี, ๒๕๔๕.

           สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการขุดแต่งปราสาททองหลาง ตำลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอนันท์ก่อสร้าง, ๒๕๔๖.

           สำนักงานศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการบูรณะโบราณสถานปราสาททองหลาง บ้านหนองอ้ม ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์, ๒๕๔๘.

           โดย นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 9   อุบลราชธานี

 

    




เลาะเล่นแดนอีสาน

พระธาตุนาดูน article
พระธาตุพนม article
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ article
วัดทุ่งศรีเมือง
ปราสาทจอมพระ
ปราสาทกู่กาสิงห์ article
กู่โพนระฆัง article
ปราสาทปรางค์กู่
ปราสาทบ้านพันนา
พระธาตุภูเพ็ก
ปราสาททามจาน
ปราสาทหนองหงส์
ปราสาทนางพญา
ปราสาทปรางค์กู่
พระธาตุบังพวน
ปราสาทตาเมือนธม
กู่สันตรัตน์ article
น้ำตกถ้ำบอน article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.