ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




ปราสาทกู่กาสิงห์ article

 

ปราสาทกู่กาสิงห์

บ้านกู่กาสิงห์  ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

 

          ปราสาทกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ภายในวัดบูรพากู่กาสิงห์ บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๙๖ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศขอบเขตพื้นที่โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๑๗ ง หน้า ๑๕ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐.๕๖ ตารางวา

           ชื่อ “กู่กาสิงห์” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “กู่” ที่ชาวบ้านใช้เรียกโบราณสถานขอมที่มีลักษณะคล้ายสถูปหรือเจดีย์ ส่วนคำว่า “กา” อาจหมายถึง อีกา ซึ่งในอดีตบริเวณนี้มีอีกาอยู่จำนวนมาก ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าตอนเย็นมักจะมีอีกาจำนวนมาก พากันมานอนที่หนองน้ำเรียกว่า หนองกานอน ส่วนคำว่า “สิงห์” อาจมาจากประติมากรรมรูปสิงห์ ๒ ตัว ที่เคยตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้า ซึ่งประติมากรรมรูปสิงห์ถูกขโมยไป ในช่วง พ.ศ.๒๕๐๓ แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกปราสาทแห่งนี้ว่า “กู่กาสิงห์” สืบมาจนปัจจุบัน

           ปราสาทกู่กาสิงห์ ลักษณะเป็นปราสาทอิฐสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน สร้างหันหน้าไป ทางทิศตะวันออก มีผังการก่อสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๓๕ × ๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาทประธานทั้ง ๔ ด้าน ตั้งอยู่ในแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก ประกอบด้วยกลุ่มปราสาทประธาน ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทประธานอยู่ตรงกลางมีมุขกระสันเชื่อมกับมณฑป มีประตูและบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ถัดเข้าไปเป็นห้องครรภคฤหะ มีประติมากรรมโคนนทิ ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธานองค์กลาง ส่วนปราสาทด้านทิศเหนือและทิศใต้ เป็นเพียงห้องครรภคฤหะสำหรับประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพสำหรับประกอบพิธีกรรม มีบรรณาลัยตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็นอาคาร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกทั้ง ๒ หลัง และมีโคปุระ (ซุ้มประตู) ทั้ง ๔ ด้าน ก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐ แต่สามารถใช้เข้าออกได้แค่ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  แผนกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์    กรมศิลปากร

 

    

อนุสาวรีย์ชาวบ้านและตำนานบรรพชนคนกู่กาสิงห์

อนุสาวรีย์ชาวบ้านและตำนานบรรพชนคนกู่กาสิงห์ การสืบสานรากเหง้าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนทุ่งกุลาร้องไห้

 สร้างเมื่อ: 14 พฤศจิกายน 2559  ฮิต: 6197

อนุสาวรีย์ชาวบ้านและตำนานบรรพชนคนกู่กาสิงห์                                                                                  การสืบสานรากเหง้าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนทุ่งกุลาร้องไห้

monument_resize.JPG

     อนุสาวรีย์  ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525  คือ  “วัตถุสร้างไว้เป็นที่ระลึก”  ส่วนความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะคิดไปถึงรูปปั้นของบุคคลที่มีความสำคัญต่อชาติและบ้านเมือง  ส่วนคนธรรมดาสามัญชนไม่ใคร่จะมีใครให้ความสำคัญถึงขนาดที่ต้องสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา   แต่ที่เทศบาลตำบลกู่กาสิงห์  อำเภอเกษตรวิสัย  จังหวัดร้อยเอ็ด  ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้   ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้าง “อนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งบ้านกู่กาสิงห์”  ขึ้นมา  และอาจถือว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่จารึกตำนานการบุกเบิกทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคอีสาน

kukasingha2_resize.JPGkukasingha3_resize.JPG

kukasingha4_resize.JPG

     “กู่กาสิงห์”  เป็นชื่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นมงคล โดยยึดเอาตามหลักฐานทางโบราณคดีที่มีปราสาทหินสมัยขอมตั้งอยู่  สันนิษฐานว่าคำว่า กู่ มาจากคำที่ชาวบ้านทั่วไปใช้เรียกโบราณสถานที่เป็นปราสาทหิน  คำว่า  กา ในภาษาอีสานตรงกับคำว่า ตรา ในภาษากลาง ซึ่งมีความหมายเดียวกัน   หมายถึง เครื่องหมาย ส่วนคำว่า สิงห์  มาจากชื่อประติมากรรมรูปสิงห์สองตัวที่ตั้งอยู่ทางเข้าปราสาท   ซึ่งเป็นไปตามคติทวารบาลของศิลปะแบบเขมร  เพราะสิงห์เป็นสัตว์ที่มีอำนาจจึงทำหน้าที่รักษาทวารบาลหรือประตูของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์   เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นมาจึงเอาชื่อของกู่ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นมาใช้เรียกว่า “บ้านกู่กาสิงห์”

 

   ที่มาของ “อนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งบ้านกู่กาสิงห์”

     แนวคิดการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงบรรพชนผู้บุกเบิกถิ่นฐานบ้านกู่กาสิงห์เริ่มขึ้นในราวปี 2540  โดย ครูอำคา แสงงาม ได้เขียนบทความเรื่อง “ประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านกู่กาสิงห์”ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของอำเภอเกษตรวิสัย  จ.ร้อยเอ็ด  มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า...

    “การที่พวกเรามีความอยู่ดีกินดีสมบูรณ์พูนสุขมาเท่าทุกวันนี้  เป็นเพราะภูมิปัญญาของบรรพชนที่ท่านได้เลือกทำเลแห่งนี้ตั้งเป็นบ้านเมืองและมีความเจริญสืบมา  ดังคำกล่าวที่ว่า  ‘กู่กาสิงห์  ถิ่นอารยธรรมขอม ข้าวมะลิหอมทุ่งกุลา มีแหล่งน้ำปูปลาบริบูรณ์ เพิ่มพูนรถไถนา ตระการตางานบุญบั้งไฟ พร้อมผ้าไหมลือชื่อชั้นดี’บัดนี้ลูกหลานท่านเต็มบ้านเต็มเมือง พวกเราพร้อมหรือยังที่จะรวมตัวกันกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีและพระคุณของท่าน ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ ให้เป็นศิริมงคลต่อลูกหลานบ้านเมือง หรืออาจสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แสดงความเป็นมาทางเชื้อชาติ ของบรรพชนไว้ให้เยาวชนได้ศึกษาค้นคว้าในโอกาสต่อไป”

     บทความนี้นอกจากจะเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแล้ว  ต่อมานายปริญญา ประสาร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์  ได้นำมามอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารตลาดเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์ในปี 2540  หลังจากนั้นในปี 2542ครูอำคาได้เสนอแนวคิดในการตั้งกองทุนสร้างอนุสาวรีย์บรรพชนผู้ก่อตั้งบ้านกู่กาสิงห์ โดยมีการตั้งโต๊ะรับบริจาคเงินจากชาวบ้าน  พ่อค้า  และข้าราชการ  ได้เงินจำนวน 10,664 บาท นำมาฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  ชื่อบัญชี “กองทุนอนุสาวรีย์บรรพบุรุษ 100 ปีบ้านกู่กาสิงห์” นอกจากนี้ยังนำเงินที่เหลือจากประเพณีการเลี้ยงปู่ตา (พิธีทำบุญในเดือน 6 ก่อนการทำนา  เพื่อเป็นสิริมงคล ให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์) ปีละ 6,000-7,000 บาทมาฝากรวมกันเพื่อเป็นกองทุนสร้างอนุสาวรีย์ฯ จนถึงปี 2556 มีเงินกองทุนจำนวน 81,402 บาท

      ครูอำคา แสงงาม ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมตำบลกู่กาสิงห์  เล่าว่า  ในการเตรียมสถานที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์นั้น  นายสงบ  ใจสาหัส  กำนันตำบลกู่กาสิงห์ ได้จัดทำประชามติชาวบ้านในปี 2556 นั้นเอง  โดยการลงชื่อ  ผลปรากฏว่าชาวบ้านร้อยละ  99.98  ต่างเห็นด้วย  โดยให้ถมหนองน้ำบางส่วนที่อยู่ติดกับหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอนุสาวรีย์ และได้นายสุริยา นามวงษ์  ศิลปินภาพวาดและงานปั้น  ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านกู่กาสิงห์เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอนุสาวรีย์

       “ส่วนแนวคิดในการออกแบบนั้น   ชาวบ้านต้องการให้เป็นบุคลิกของคนในท้องถิ่น  ที่สามารถมองดูก็รู้ว่า “เป็นคนทุ่งกุลาร้องไห้”  เพราะอนุสาวรีย์ของเจ้าเมืองต่างๆ  ที่เคยเห็นนั้น  มีลักษณะเป็นสากลเกินไป  ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหนก็มีบุคลิกท่าทางเหมือนกันหมด  เพราะคนปั้นเน้นรูปแบบของศิลปะแบบตะวันตก   โดยไม่ได้นึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์”  ครูอำคากล่าว

         สำหรับงบประมาณการก่อสร้างอนุสาวรีย์และการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบนั้น  ใช้เงินจากกองทุนที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคจำนวน 81,402  บาท  และงบประมาณจากเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์จำนวน  349,500  บาท  (ไม่รวมการหล่อรูปปั้น)  ทั้งนี้การก่อสร้างอนุสาวรีย์เริ่มตั้งเดือนกันยายน 2559  ที่ผ่านมา   และมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้  หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้จะมีพิธีทำบุญเพื่อบวงสรวงอนุสาวรีย์บรรพชนผู้ก่อตั้งบ้านกู่กาสิงห์kukasingha5_resize.JPG

ตำนานบรรพชนคนกู่กาสิงห์

      พื้นที่ในเขตตำบลกู่กาสิงห์  อ.เกษตรวิสัย  ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำเสียว    ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูล มีแหล่งกำเนิดจากอ่างเก็บน้ำหนองบ่อในเขต อ.บรบือ  จ.มหาสารคาม  ไหลผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด  8 อำเภอ คือ พื้นที่ อ.บรบือ  อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม,อ.ปทุมรัตน์  อ.เกษตรวิสัย  อ.สุวรรณภูมิ  อ.โพนทราย  อ.พนมไพร  จ.ร้อยเอ็ด  และไหลลงสู่แม่น้ำมูลที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  มีความยาวทั้งสิ้น  225  กิโลเมตร 

        ลำน้ำเสียวเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของคนริมฝั่งน้ำให้ทำมาหากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านได้อาศัยประโยชน์จากลำเสียวในการหาอยู่หากินตลอดทั้งปี  นอกจากจะพึ่งพาน้ำเพื่อทำนาปลูกข้าวในฤดูฝนแล้ว ในฤดูแล้ง  น้ำจะแห้ง  ชาวบ้านจะต้อนวัว  ควาย  ไปเลี้ยงข้างลำเสียว  และหาปลาตามวัง  ตามบวก  และกุดในลำน้ำ  หาแย้  กะปอม  แมงกุดจี่  แมงจินูน  และเก็บผักต่างๆ เอามาทำอาหาร   ปัจจุบันในเขตเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์มีพื้นที่ทั้งหมด 8.3  ตารางกิโลเมตร  มี 5 หมู่บ้าน  จำนวน 1,348   ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 6,000 คน

kukasingha6_resize.JPG “หลักบ้าน”ผู้นำชาวบ้านในยุคต่อมานำเสาหินจากปราสาทกู่กาสิงห์มาตั้งเป็นหลักบ้าน ถือเป็นสิ่งมงคลของหมู่บ้าน

 

 

       คนเฒ่าคนแก่ในตำบลเล่าว่า  ผู้บุกเบิกตั้งหมู่บ้านกู่กาสิงห์กลุ่มแรกเป็นคนเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาได้พากันอพยพไปตั้งเมืองจตุรพักตรพิมานกับขุนพรมพิทักษ์ (ภายหลังได้เป็นพระธาดาอำนวยเดช ต้นสกุลสุวรรณธาดา) อยู่ที่เมืองจตุรพักตรพิมานได้ 7-8 ปี  ราวปี 2446  (สมัยรัชการที่  5 )  พ่อใหญ่ตาแสงลือ (ต้นสกุลศรีกู่กา) พ่อใหญ่พระจันทร์ (ต้นสกุลศรีเที่ยง) พ่อใหญ่เพียราช     (ต้นสกุลอุป วงษา) และพ่อใหญ่สักขา (ต้นสกุลบัวเบิก ภายหลังพ่อใหญ่สักขาได้กลับไปอยู่ที่เมืองจัตุรพักตรพิมานเช่นเดิม) ได้พากันอพยพย้อนกลับมาตั้งภูมิลำเนาที่ทุ่งกุลาร้องไห้  บริเวณคุ้มน้อย(หมู่ที่ 3) ในปัจจุบัน  โดยอ้างว่าได้รับการกดขี่ข่มเหงจากเจ้านายที่ปกครองไม่เป็นธรรม  และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามโบราณสถานขอมที่ตั้งอยู่  ณ  ที่นั้นว่า  “บ้านกู่กาสิงห์” 

        ต่อมาชาวเมืองสุวรรณภูมิ  เมื่อทราบว่าที่บ้านกู่กาสิงห์มีคนจากสุวรรณภูมิมาอยู่  เป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์  มีน้ำเสียวไหลผ่าน  หาอยู่หากินไม่ลำบาก  จึงได้อพยพตามเข้ามาอยู่อาศัยที่คุ้มน้อยด้วย  เมื่อมีครัวเรือนหนาแน่นขึ้นกลุ่มคนที่มาจากเมืองจตุรพักตรพิมานจึงย้ายไปอยู่คุ้มหนองกกหรือคุ้มใหญ่ (หมู่ที่ 2)  ส่วนกลุ่มที่มาจากบ้านจานทุ่ง  บ้านดงมัน  ตำบลสิงห์โคก อำเภอเกษตรวิสัย ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คุ้มตะวันตก ซึ่งเดิมเป็นที่โล่งไม่มีต้นไม้  เป็นที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้าน  ส่วนที่มาจากบ้านจานทุ่งเป็นคนโคราช เรียกว่า “ไทยเบิ้ง” มีภาษาสำเนียงพูดเป็นเอกลักษณ์แบบคนโคราช    บ้านกู่กาสิงห์เดิมขึ้นกับเขตปกครองของตำบลหนองแวง  และตำบลเมืองบัวตามลำดับ จนกระทั่งปี 2518 ทางราชการจึงแยกตั้งเป็นตำบลกู่กาสิงห์ ต่อมาในปี 2540  จึงยกฐานะการปกครองเป็นเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์ 

       ส่วนการก่อสร้างอนุสาวรีย์ผู้ก่อตั้งบ้านกู่กาสิงห์นั้น  ที่ประชุมของชาวบ้านได้ข้อสรุปว่าจะต้องเอาผู้บุกเบิก  3 คนแรก  คือ    พ่อใหญ่ตาแสงลือ  พ่อใหญ่พระจันทร์  และ พ่อใหญ่เพียราช  มาสร้างเป็นอนุสาวรีย์   โดยสื่อให้เห็นถึงการ “บุกเบิกหักร้างถางพง”  เพราะบริเวณรอบๆ กู่กาสิงห์ในขณะนั้นยังเป็นป่ารก  มีสัตว์ต่างๆ  ชุกชุม  บรรดาพ่อใหญ่เหล่านี้จึงต้องถือหอก  ขวาน  และมีดพร้ามาด้วย   และต้องมีบุคลิกของคนในท้องถิ่น  ที่สามารถมองดูก็รู้ว่า “เป็นคนทุ่งกุลาร้องไห้”

         พ่อใหญ่ผู้บุกเบิกบ้านกู่กาสิงห์เหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกันมาก่อน คือ พ่อใหญ่ตาแสงลือ มีพี่น้องสายเลือดด้วยกัน 4 คนคือ  1.พ่อใหญ่ตาแสงลือ ศรีกู่กา  2.แม่ใหญ่โง้น ศรีกู่กา  3.พ่อใหญ่ที ศรีกู่กา และ 4.แม่ใหญ่หล้า ศรีกู่กา ความสัมพันธ์เครือญาติที่เกิดขึ้น  คือ  พ่อใหญ่เพียราช (ต้นสกุลอุปวงษา)ได้มาแต่งงานกับแม่ใหญ่โง้น ซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อใหญ่ตาแสงลือ  พ่อใหญ่ เพียราชจึงมีศักดิ์เป็นน้องเขยของพ่อใหญ่ตาแสงลือ

        สายสกุล  ศรีเที่ยง  มีพระละคร ศรีเที่ยง เป็นพี่ชาย และมีพ่อใหญ่พระจันทร์  ศรีเที่ยง  เป็นน้อง  ลูกชายของพ่อใหญ่พระละคร ศรีเที่ยง  คือ นายสอน  ศรีเที่ยง  ได้ไปแต่งงานกับ แม่ใหญ่หล้า ศรีกู่กา ซึ่งเป็นน้องสาวคนสุดท้องของพ่อใหญ่ตาแสงลือ     พ่อใหญ่สอน  ศรีเที่ยง  จึงมีศักดิ์เป็นน้องเขยของพ่อใหญ่ตาแสงลือ  ดังนั้นสายสกุลอุปวงษาและศรีเที่ยงจึงมีความสัมพันธ์เครือญาติกับสายสกุลศรีกู่กา   และกลายเป็นโครงสร้างเครือญาติรุ่นแรกของบ้านกู่กาสิงห์ที่มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น   ส่งผลมาถึงปัจจุบันที่มีลูกหลานของผู้บุกเบิกบ้านกู่กาสิงห์สืบทอดวงษาคณาญาติต่อกันมา  ทำให้สังคมของบ้านกู่กาสิงห์มีความเป็นพี่เป็นน้อง  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พึ่งพาซึ่งกันและกัน  เป็นชุมชนที่สงบสุขและร่มเย็นมาจนถึงปัจจุบัน

มรดกจากแผ่นดิน

      กู่กาสิงห์เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  มีหลักฐานเป็นภาชนะดินเผาขนาดใหญ่สำหรับใส่กระดูกซึ่งใช้ในพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 (การนำศพไปฝัง ณ ที่ใดที่หนึ่งก่อน เพื่อให้ศพเหลือแต่โครงกระดูก จากนั้นจึงขุดกระดูกมาใส่ในไหดินเผาขนาดใหญ่  แล้วนำไปฝังอีกครั้ง คาดว่าจะมีอายุประมาณ 2,500 ปี) ต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ในสมัยวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณ   โดยมีกลุ่มโบราณสถานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน  คือ  กู่กาสิงห์   กู่โพนวิจ  และกู่โพนระฆัง  โดยกู่กาสิงห์มีขนาดใหญ่ที่สุด  สันนิษฐานว่าก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ.1560-1630  เพื่ออุทิศแด่พระอิศวรตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์  บริเวณที่เป็นหมู่บ้านในปัจจุบันเดิมเป็นป่ารกทึบไม่มีคนอยู่อาศัย  บริเวณปรางค์กู่เป็นเนินดินและมีป่าไผ่ขึ้นปกคลุมรกทึบ   บางฤดูกาลจะมีนายพรานมาสร้างเพิงดักยิงสัตว์  หรือเป็นที่หลบซ่อนของโจรผู้ร้ายที่มาจากเขตแดนจังหวัดสุรินทร์       kukasingha7_resize.JPG       คุณยายบุญยืน     เหนือโท  อายุ  78 ปี  เล่าว่า  ยายเกิดที่กู่กาสิงห์ในปี 2481  ปู่ย่าตายายก็อพยพมาจากจตุรพักตรพิมานรุ่นเดียวกับผู้บุกเบิกตั้งหมู่บ้าน  ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำนา  ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าลอย  เพราะข้าวพันธุ์นี้เมื่อถึงฤดูน้ำมาต้นข้าวจะลอยหรือยืดตัวพ้นน้ำ  ส่วนข้าวเหนียวปลูกไม่ได้  เพราะข้าวเหนียวจะจมน้ำ  เมื่อได้ข้าวก็เอามาตำกิน  ส่วนฟืนต้องเอาเกวียนไปขนมาจากสุวรรณภูมิ  เนื่องจากบ้านกู่กาสิงห์พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งนา  ไม่มีแหล่งไม้หรือฟืน

        “ตอนยายยังเป็นเด็กก็เคยเห็นเนินดินที่ทับถมกู่กาสิงห์  ซึ่งตอนนั้นกรมศิลปากรยังไม่ได้มาขุดค้นปราสาท   แต่เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมามีคนจากที่อื่นมาร่วมกับคนในตำบลลักลอบเข้ามาขุดหาของมีค่าในปราสาทซึ่งในตอนนั้นยังถูกทับถมด้วยเนินดิน  รวมทั้งมาขุดลอกสระน้ำ (บาราย) ที่อยู่ในบริเวณกู่กาสิงห์  แล้วได้ของมีค่าไปหลายอย่าง  เช่น  รูปหล่อพระนารายณ์มีสี่มือ  สิงห์   วัวขนาดเล็กที่ทำด้วยทองสำริด”  คุณยายบุญยืนฟื้นความหลัง  และเล่าเพิ่มเติมว่า  พอมีข่าวกระจายออกไปว่ามีคนในตำบลขุดได้ของมีค่าจากกู่กาสิงห์  จึงมีผู้ร้ายจากที่อื่นเข้ามาบุกปล้นบ้านของคนที่ไปขุดสมบัติในตอนกลางคืน  แต่คนร้ายขึ้นปล้นบ้านผิด  จึงไม่ได้ของมีค่าไป  จนในตอนหลังกรมศิลปากรจึงเข้ามาดูแล  ทำให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา

         โดยในช่วงปลายปี 2534 กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดบูรณะกู่กาสิงห์ ขุดพบโบราณวัตถุหลายร้อยชิ้น  เช่น  ศิวลึงค์  รูปแกะสลักหินทรายเป็นรูปต่างๆ  เช่น  พระ  เทวดา  ยักษ์ สิงห์  ทับหลัง  หน้าปราสาท  เครื่องประดับทำด้วยทองคำ  ฯลฯ  โดยวัตถุโบราณที่มีค่ากรมศิลปากรได้นำไปจัดเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดร้อยเอ็ด  บางส่วนนำมาจัดแสดงในห้องจัดแสดงที่กู่กาสิงห์  นอกจากนี้ยังขุดพบแหล่งโบราณคดีในช่วงสมัยก่อนปราสาทตอนปลาย  เป็นแหล่งฝังศพครั้งที่ 2  โดยคนในสมัยนั้นจะนำกระดูกของผู้ตายมาใส่ลงในไหขนาดใหญ่สูงประมาณ 1 เมตรแล้วฝังดิน  สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ  2,500 ปี

kukasingha8_resize.JPGkukasingha9_resize.JPG

 

                                           ไหใส่กระดูกเป็นพิธีกรรมฝังกระดูกครั้งที่ 2

      ต่อมาในปี 2545 จังหวัดร้อยเอ็ดได้ร่วมกับท้องถิ่นจัดงานเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตรในทุ่งกุลาร้องไห้ ชื่องาน “กินข้าวทุ่งฯ นุ่งผ้าไหม” ในปี 2547  คณะนักวิจัยชุดหนึ่งได้รับงบประมาณจัดทำการวิจัยท้องถิ่น เรื่องการศึกษารูปแบบกิจกรรมและการจัดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เหมาะสมศักยภาพชุมชน  เมื่องานวิจัยเสร็จสิ้นชาวบ้านจึงได้จัดตั้งเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมา มีบ้านพักโฮมสเตย์ประมาณ 30 หลัง  มีการฝึกอบรมให้เด็กนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์น้อยคอยแนะนำให้ความรู้เรื่องกลุ่มปราสาทหินแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน

       มานะ  เหนือโท  สื่อมวลชนท้องถิ่น  ลูกหลานชาวกู่กาสิงห์  กล่าวว่า  ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด  มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้านไร่  มีแหล่งโบราณสถานต่างๆ ประมาณ 270 แห่ง โดยกู่กาสิงห์ถือเป็นโบราณสถานที่ยังเหลือร่องรอยที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่ที่สุด  ขณะเดียวกันในเขตทุ่งกุลาก็ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ   ที่สำคัญคือ การยึดถือและปฏิบัติตาม “ฮีต 12  คอง 14”  ซึ่งเป็นประเพณีที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานที่ดำรงชีพอยู่ในสังคมเกษตรกรรม  ตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แห้งแล้งกันดาร เป็นความเชื่อในการดำเนินชีวิตให้มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองเกิดแก่ครอบครัวและบ้านเมือง  จึงต้องมีการประกอบพิธีกรรม   มีการเซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  และร่วมทำบุญตามประเพณีทางพุทธศาสนาทั้ง 12 เดือน  เช่น  เดือนยี่มีงานบุญคูนลาน ทำบุญที่วัด  พระสงฆ์เทศน์เรื่องแม่โพสพ  ทำพิธีปลงข้าวในลอมและฟาดข้าวในลาน ขนข้าวเปลือกขึ้นเล้าหรือยุ้งฉาง  เป็นความเชื่อในการบำรุงขวัญและสิริมงคลทางเกษตรกรรม  ฯลฯ

       “นอกจากแหล่งโบราณสถาน  วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ แล้ว  ทุ่งกุลาฯ ยังมีข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก  ดังนั้นในฐานะลูกหลานของคนทุ่งกุลา พวกเราจึงต้องสืบทอดมรดกเหล่านี้เอาไว้  โดยการสืบสานงานประเพณีต่างๆ  และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  รวมทั้งพัฒนาเรื่องการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพ  ซึ่งตอนนี้เราก็ได้เริ่มไปแล้ว  เช่น  การรวมกลุ่มกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิดั้งเดิม  และจะต้องพัฒนาเรื่องการแปรรูปข้าว  หรือเพิ่มมูลค่าของข้าว  เพิ่มช่องทางการขาย โดยการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ  ทำให้คนรุ่นใหม่หรือลูกหลานชาวนาสืบทอดวิถีชีวิตคนทุ่งกุลาเอาไว้”  มานะกล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  จัดงาน “กินข้าวใหม่  ปลามัน  ปั่นชมทุ่งกุลา” ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้  โดยมีขบวนจักรยานจำนวนหลายร้อยคันเข้าร่วม  เริ่มจากจุดสตาร์ทที่บริเวณโบราณสถานกู่กาสิงห์ไปยังนาแปลงใหญ่ตำบลครั่งน้อย  อ.เกษตรวิสัย  จากนั้นจะมีกิจกรรมเกี่ยวข้าวใหม่  สีข้าวสด  จับปลาในนา  และรับประทาน “ข้าวใหม่  ปลามัน”   และจะมีการจัดงาน “วันข้าวหอมมะลิโลก  ครั้งที่ 17”  ประจำปี 2559  ระหว่างวันที่  26-28 พฤศจิกายน  ที่บึงพลาญชัย  อ.เมือง  จ.ร้อยเอ็ด  โดยในงานจะมีการแสดง  นิทรรศการ  สัมมนาวิชาการ  เช่น นวัตกรรมข้าวเพื่อร้อยเอ็ด 4.10, การพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์สู่ตลาดโลก  ฯลฯ  รวมทั้งการเจรจาการค้าข้าวระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองกรชุมชน(องค์การมหาชน) https://ref.codi.or.th/public-relations/news/15147-2016-11-14-11-00-10

 

 

 

 

 

 




เลาะเล่นแดนอีสาน

พระธาตุนาดูน article
พระธาตุพนม article
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ article
วัดทุ่งศรีเมือง
ปราสาทจอมพระ
กู่โพนระฆัง article
ปราสาทปรางค์กู่
ปราสาททองหลาง
ปราสาทบ้านพันนา
พระธาตุภูเพ็ก
ปราสาททามจาน
ปราสาทหนองหงส์
ปราสาทนางพญา
ปราสาทปรางค์กู่
พระธาตุบังพวน
ปราสาทตาเมือนธม
กู่สันตรัตน์ article
น้ำตกถ้ำบอน article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.