ReadyPlanet.com
dot dot
bulletซอกมาเว้าสู่ฟัง




เลาะไหว้พระธาตุแดนอีสาน

 

ผาน้ำย้อย

อ. หนองพอก จ. ร้อยเอ็ด

 

        ผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลและซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว แบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดิน 200 เมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเล 380-500 เมตร บนเขาลูกนี้มี วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ภายในบริเวณมี พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นสีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคล นี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ

         ชั้นที่ 1เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โออ่า ใช้เป็นห้อง เอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ

        ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ

        ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถและประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์

         ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ชมทัศนียภาพรอบภูเขาเขียว

          ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์

          ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

                   เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.30 น.

           ประวัติพระใส หรือ หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย

    วัดโพธิ์ชัย   อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย


                  หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย "หลวงพ่อเกวียนหัก" จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธชัย ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอารามหลวงตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทาง หลวงหมายเลข 212 ทางไป อ.โพนพิสัย วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้อล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้วของช่างไม้

                   ประวัติการสร้าง พระใส หลวงพ่อพระใส หรือ หลวงพ่อเกวียนหักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ พระใส  ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนาม พระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

                  การประดิษฐานพระใส เดิมทีนั้นหลวงพ่อพระใสได้ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และ"พระใส"ถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคงล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัด และบริเวณนั้นได้นามว่า "เวินแท่น"

                 การล่องแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวินสุก" และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเหลือแต่พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใส ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

                    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริม จากวัดโพธิ์ชัย หนองคายไปกรุงเทพฯ และอัญเชิญพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้ ได้แต่พระเสริมลงกรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วน"หลวงพ่อพระใส"ได้อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย จนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของ"หลวงพ่อพระใส"จนได้สมญาว่า "หลวงพ่อเกวียนหัก"

 

ตระเวนไหว้พระธาตุ  (อีสาน)

             ผมไปตระเวนไหว้พระบรมธาตุในภาคอีสาน ความตั้งใจที่จะไปคือไปไหว้พระบรมธาตุที่ธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิด ของคนเกิดปีลิงหรือปีวอก ซึ่งในปีนี้ปีไทยคือปีวอก (๒๕๔๗) คนเกิดปีวอกจึงน่าไปไหว้อย่างยิ่ง เขาบอกว่าการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดนั้นหากตั้งใจไปให้เแน่วแน่ ไปไหว้เพียงครั้งแรกก็จะอธิษฐานขอได้ แต่หากได้ไปไหว้ติดต่อกันถึง ๗ ปี คือไปปีละครั้งตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ส่วนใครเกิดปีไหนพระธาตุประจำปีเกิดอยู่ที่ไหน คงจะต้องหารหนังสืออ่านเอาก่อน แต่หากไม่ใจร้อนก็รอผม เพราะพอเขียนจบวันนี้ผมก็จะออกตระเวนไหว้พระธาตุประจำปีเกิดอีก ๑๑ ปี ซึ่งล้วนแต่อยู่ทางภาคเหนือทั้งสิ้น ไม่มีพระธาตุประจำปีเกิดทางภาคอื่นเลย รวมทั้งปีเกิดพระธาตุไปอยู่ที่อินเดีย อยู่บนสวรรค์ก็มีแต่มีพระธาตุให้ไหว้แทนได้ในไทย แต่ก็อยู่ในภาคเหนือมี ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน
           เก็บของใส่กระเป๋าไว้เรียบร้อย พอเขียนจบตื่นขึ้นมาก็ ขับไป เที่ยวไป กินไป ได้เลย
           เริ่มแรกจะไปไหว้พระธาตุพนม พระธาตุของคนเกิดปีลิงและปีนี้ ๒๕๔๗ เป็นปีลิงด้วย คนเกิดปีลิงน่าจะไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน ผมออกจากบ้านไปตามถนนพหลโยธินเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ก่อนถึงตัวเมืองนครราชสีมามีทางเลี่ยงเมืองให้แยกซ้ายไป ซึ่งก็เป็นสาย ๒ เช่นกัน เข้าสาย ๒ เส้นนี้แล้ววิ่งตรงไปจนผ่านอำเภอพล อำเภอบ้านไผ่ เลี้ยวเข้าเมืองขอนแก่นที่ขอนแก่นมีพระธาตุสำคัญคู่บ้านคู่เมือง คือ พระธาตุขามแก่น พระธาตุที่ผมพาไปไหว้คราวนี้หรือเล่าในครั้งนี้เรียกว่า พระธาตุก็จริงแต่ความจริงแล้วคือ พระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น และสังเกตว่าพระบรมธาตุของอีสานมักจะเรียกว่า พระธาตุ เช่น พระธาตุบังพวน (หนองคาย)  พระธาตุขามแก่น (ขอนแก่น)  พระธาตุเชิงชุม (สกลนคร)  พระธาตุเรณูนคร (นครพนม)  พระธาตุศรีสองรัก (เลย) เป็นต้น
           ไปถึงขอนแก่นหากมีเวลาพอควร จะไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่นเสียก่อน มองหาป้ายแล้วตามป้ายไป หรือถามชาวบ้านชาวเมืองเขาดูได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวมของดีของขอนแก่นเอาไว้มากรวมทั้งของภาคอีสานอีกหลายจังหวัดด้วย เช่น เสมาแกะสลักเป็นรูปพระพุทธองค์ ประทับห้อยพระบาท วางพระบาทบนเส้นผมที่ยาวสลวยของเทพธิดาที่ลาดผมลงมารองพระบาทงามสุดพรรณาเลยทีเดียว ศิลาแกะสลักแผ่นนี้นำมาจากเมืองฟ้าแดดสูงยางหรือสงยาง จังหวัดกาฬสินธ์ อำเภอกมลาไสย ไปพิพิธภัณฑ์แล้วถามทางเขาว่าไปพระธาตุขามแก่นอยู่ตรงไหน ไปไม่ไกลนักก็ถึงและยังต่อไปปรางค์กู่ หรืออโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้มาเที่ยวสร้างเอาไว้ในภาคอีสาน หากจำไม่ผิดมี ๒๗ แห่ง ท่านสร้างไว้หมดขอใช้คำว่าดูเหมือน ๑๐๒ แห่ง อโรคยาศาลของท่านคือ สุขศาลาดี ๆ นี่เอง มีพราหมณ์ที่เป็นแพทย์อยู่ประจำ รักษาโรคด้วยสมุนไพร พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ คือ ผู้สร้างนครธม ท่านสร้างไปทั่ว สร้างจนหมดแรงหมดยุคของท่าน ขอมจึงค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปด้วย
           ขอนแก่นยังมีอีกพระธาตุหนึ่งยังไม่โด่งดังเพราะสร้างใหม่ อัญเชิญมาประดิษฐานไม่นานนัก แต่เริ่มรู้จักกันมากแล้ว สร้างสวยงดงาม เป็นเหมือนฉัตร ๙ ชั้น ครอบองค์พระธาตุเอาไว้ ภายใต้ฐานชั้นล่างก็เข้าไปชม ไปไหว้พระธาตุได้รวมทั้งชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามแม้จะเขียนด้วยฝีมือศิลปินรุ่นใหม่ก็ต้องถือว่าสวย และที่ชอบใจมากคือใต้ภาพไม่มีอักษรบอกว่าใครบริจาคเงินมาสร้างภาพเอาไว้ ซึ่งเกือบทุกแห่งที่งดงามถูกทำลายโดยการเอาหน้าของผู้ทำบุญ ผมเคยริเริ่มหาสตางค์เขียนจิตรกรรมฝาผนัง โดยช่างเมืองเหนือแต่มาเขียนไว้ที่วัดคลองเกตุ อำเภอโคกสำโรง ลพบุรี ตอนที่ซ่อมอุโบสถสมัยที่หลวงปู่บุญตาเป็นเจ้าอาวาส เขียนภาพปางทรงโปรด เขียนแล้วไม่ใส่ชื่อผู้บริจาคสตางค์สร้างจึงได้ภาพที่งดงาม
           พระธาตุวัดที่ผมเล่าคือ พระธาตุวัดหนองแวง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทิศทางไปคือหาป้ายไปยังบึงแก่นนครให้ได้แล้ว ตามไปยังบึงแก่นนคร ถ้าจะกินข้าวร้านริมบึงก็กินที่ร้าน วิ่งรถรอบบึงแก่นนครรอบเดียวก็หาร้านเจอ แล้วมองไปฝั่งตรงข้ามจะเห็นพระธาตุหนองแวง หาทางไปเอาเองก็แล้วกัน ร้านอาหารอีกร้านที่เคยแนะไปแล้วในตัวเมืองหากเข้ามาจากถนนสาย ๒ เส้นที่ป้ายบอกเข้าเมืองขอนแก่น วิ่งตรงมาจนมาผ่านโรงแรมโฆษะ ถึงสี่แยกเลี้ยวเข้าถนนหน้าเมือง วิ่งมาผ่านตลาดสด เลยตลาดสดไปผ่านธนาคารกรุงเทพ ฯ เลยไปอีกคือ ร้านที่ว่าอาหารอร่อยทุกอย่าง ขาหมู ของเขาแปลกดี เบอร์เกอร์รี่ก็อร่อยขายขนมตั้งแต่เช้า
           จากขอนแก่น ไปยังจังหวัดกาฬสินธ์พักนอนคืนแรกที่จังหวัดนี้ ไปกาฬสินธ์ทีไรก็จะนอนที่โรงแรม ราคาพอสมควรคือ ๑,๔๐๐ บาท ข้าราชการลดราคาให้เหลือ  ๑,๒๐๐ บาท แต่การบริการและมรรยาทของพนักงานดีเยี่ยมเลยนอนกันทุกทีไป เดี๋ยวนี้ถนนในอีสานตัดใหม่มากมายโดยเฉพาะเลี่ยงเมืองมีมากแทบจะทุกเมืองกระมัง บางทีเลยงง ๆ ๒ - ๓ ปีไปทีจะงง เช่นถนนที่ผ่านหน้าโรงแรม เมื่อก่อนนี้ตรงไปอำเภอกมลาไสยได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ต้องตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายไปก่อน ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาอีกที ตามป้ายที่บอกว่าไปร้อยเอ็ด ไป ๑๓ กม. จะถึงอำเภอกมลาไสย เลยตัวอำเภอไปนิดหนึ่ง จะพบวัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม อยู่ทางซ้ายมือ ภายในวัดนี้แหละ เดิมเคยเก็บเสมาแกะสลักและเสมาศิลา ที่ไม่ได้แกะสลักเอาไว้ เวลานี้สังเกตว่าเสมาแกะสลักที่งาม ๆ ไปยู่ตามพิพิธภัณฑ์หมดแล้วคงจะกลัวหาย แต่เสมาศิลาที่ไม่ได้แกะสลักมีแยะ เป็นในเสมาหินสมัยทวารวดี และเสมาแกะสลักจำลองมีไว้ไให้ชม
           เยื้องวัดโพธิ์ชัยจะมีป้ายบอกว่าไปเมืองฟ้าแดดสูงยาง ๔๐๐ เมตร เลี้ยวรถวิ่งเข้าไปได้ เป็นถนนแคบ ๆ หรือบางทีก็เรียกว่า เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณแบบทวารวดี แต่เหลือให้ชมน้อยเต็มที แต่ที่สำคัญคือ มีพระธาตุคือ พระธาตุยาคู เดิมเรียกว่า "ธาตุใหญ่" เป็นพระสถูปสมัยทวารวดี เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ (ไม่ใช่พระบรมอัฐิ) และได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว และที่น่าชมเชยคือ ได้สร้างสุขาเป็นสากลไว้เป็นอย่างดี เรียกว่าโถสุขานั้นขนาดใหญ่ที่เดียว แต่น่าเสียดายคงจะเป็นเพราะ ไม่มีน้ำทำความสะอาดเลยใช้ไม่ได้ จึงเป็นสุขามหาสกปรกที่เปิดเข้าไปชมได้อยู่หลังศาลาที่สร้างเอาไว้ใกล้ ๆ พระธาตุ
           ร้านอาหารในเมืองกาฬสินธ์ที่พบและชิมไว้ แห่งแรกคือตลาดราตรีปิดถนนขายกันที่ถนนตรงข้ามศาลากลาง ปิดขายทั้งสายเลยทีเดียว รถเข็นอาหารที่ชิมไว้หายไปแล้ว คงจะรวยไปเปิดร้านทีไหนแล้ว อีกร้านเป็นร้านข้าวต้มยามเย็นไปยันดึก ร้านนี้ราคาถูก อร่อยรวดเร็ว อยู่ข้างอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร หรือท้าวโสพะมิตร เจ้าเมืองคนแรก ซึ่งหากจะไปร้านข้าต้ม ไปวัดกลางที่มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธรูปทองคำ จากวัดกลางจะมาผ่านหลักเมืองแล้วมาอนุสาวรีย์ท่านเจ้าเมืองคนแรก ร้านข้าวต้มจะอยู่ทางซ้ายมือของท่านเจ้าคุณ
           จากกาฬสินธ์ผมตั้งใจจะไปไหว้พระธาตุ (พระบรมธาตุ) เชิงชุมที่สกลนคร ก่อนจะไปยังพระธาตุพนม จึงออกจากกาฬสิธ์แล้วมุ่งตรงไปทางสกลนคร ไปผ่านอำเภอสมเด็จ (ถนนสาย ๒๑๓) ก่อนถึงผาเสวยจะผ่านทางแยกเข้าน้ำตกแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย น้ำตกแห่งนี้มีแก่งที่งดงาม
          ผาเสวย  อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ๑๗ กม. เดิมชาวบ้านเรียกว่า "ผารังแร้ง" แต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ที่ผานี้จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า "ผาเสวย" ลักษณะของผา ตั้งอยู่บนเหวสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า "เหวหำหด" (โปรดแปลเอาตามใจชอบ) บนหน้าผาเสวยเหนือเหวหำหดนี้ชมวิวได้สวยงามมาก และถ่ายรูปจะได้ภาพตัวคนตัดกับขอบฟ้างามนัก บริเวณผาเสวยเป็นเสมือนวนอุทยานที่สำคัญคือ จำลองตัวไดโนเสาร์เอาไว้ จังหวัดกาฬสินธ์นั้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมากที่วัดสักกะวัน อำเภอสหัสขันธ์ ไปตามเส้นทางไปอำเภอสหัสขันธ์ ตามถนนสาย ๒๒๗ ประมาณ ๒๘ กม. แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก ๒ กม. จะถึงวัดสักกะวัน จะพบกองกระดูกไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก ของไดโนเสาร์ชนิดโรพอทยุคจูแรสสิคคือประมาณ ๑๕๐ ล้านปีมาแล้ว กำลังขุดแต่งโดยเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณี ผมไปครั้งสุดท้ายสองปีมาแล้ว เชื่อว่าคงจัดนิทรรศการเรียบร้อยแล้ว ตอนที่ไปนั้นขนเอากองกระดูกไดโนเสาร์ไปกองไว้บนศาลาวัด ทำให้ดี ๆ เถอะแล้วประชาสัมพันธ์ คนทั้งโลกจะมาชมกัน ที่ประเทศคานาดาเขาพบตัวเดียวเขาทำอย่างดี คนแห่กันมาชม ของเราตั้งหลายตัวมีมากกว่าที่ขอนแก่นซึ่งอยู่ที่อำเภอภูเวียง แต่ที่ขอนแก่นค้นพบก่อน กระดูกไดโนเสาร์ฝังอยู่ที่เชิงกุ้มข้าว สำหรับกาฬสินธ์นั้นยังพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์อีกแห่งที่ภูผาวัว วัดบ้านนาไคร้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ กำลังพัฒนาเช่นกัน
           ที่ผาเสวยซึ่งไม่เคยมีประวัติว่าค้นพบขุดเจอไดโนเสาร์เลย แต่ได้จำลองไดโนเสาร์ไว้หลายตัว ตัวโตที่สุดเขาว่าเท่าของจริงเรียกว่าตัวสุงใหญ่เลยทีเดียว ควรจะตั้งป้ายตั้งป้ายห้ามขึ้นไปบนตัวไดโนเสาร์ เพราะได้มีการพยายามตะกายขึ้นไปเพื่อยืนถ่ายรูปบนตัวไดโนเสาร์ ส่วยอ้ายตัวเล็กที่อยู่ข้าง ๆ อ้ายตัวใหญ่นั้นขึ้นไปนั่งสะดวก จึงมักจะขึ้นไปขี่กันเพื่อถ่ายรูป ตอนนี้ได้ผลจากการให้ขึ้นไปขี่คือ ส่วนหางเริ่มพังจนมองเห็นโครงเหล็กแล้ว
           หากมีเวลาและตั้งใจว่าจะไปให้ถึงสกลนคร นอนพักที่สกลนคร ให้ออกจากกาฬสินธ์แล้ววิ่งไปตามถนนสาย ๒๒๗ จะได้ไปชมฟอสซิลไดโนเสาร์ที่วัดสักกะวัน ต่อจากนั้นไปยังพระพุทธไสยาสน์ที่ภู่ดาวซึ่งอยู่บนเชิงเขา พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ต่างกับองค์อื่น ๆ ประทับในซอกเขาแต่ตะแคงซ้าย ปกติแล้วพระพุทธไสยาสน์จะตะแคงขวา องค์โบราณองค์นี้ตะแคงซ้าย เป็นพระโมคคัลานะ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๕ และใกล้ ๆ กันยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่ง เช่น แหลมโนนวิเศษ เป็นแหลมยื่นเข้าไปในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปาว เป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่งดงามนัก มีพุทธสถานภูสิงค์ อยู่บนยอดเขาภูสิงห์ เป็นสถานที่ชมวิวและพักผ่อน และยังมีพระพุทธรูปพระพรหมภูมิปาโล ปางมารวิชัย ที่มีหน้าตักกว้าง ๑๐.๕ เมตร
           จากสหัสขันธ์ จะมีทางแยกขวาไปยังอำเภอสมเด็จ หรือยังขยันขับรถก็ให้ขับต่อไปก่อน ไปตามสาย ๒๒๗ นี่แหละ ไปยังอำเภอคำม่วง เพื่อไปบ้านโพน อำเภอคำม่วง ที่มีกลุ่มทอผ้าไหมแพรวา ซึ่งเป็นผ้าทอจากผ้าไหมด้วยลายมัดหมี่ที่ละเอียด มีลายเฉพาะตัว เป็นงานฝีมือทอผ้าของชาวภูไทยที่แสนสวย
           แต่หากไม่ไปบ้านคำโพนไปซื้อไปชมผ้าไหมแพรวา ก็ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนสาย ๒๐๔๑ ไปยังอำเภอสมเด็จ ไปผาเสวยได้ จากอำเภอสมเด็จก็วิ่งไปบนเทือกเขาภูพาน มุ่งไปยังอำเภอภูพาน จากนั้นก็จะไปผ่าน "ภูพานราชนิเวศน์" จะเห็นทางเข้าพระตำหนักอยู่ทางซ้ายมือ ขอเข้าไปชมได้หากไม่เสด็จมาประทับ ตรงข้ามทางเข้าพระตำหนัก ก็เป็นสวนสวยแะลมีหลัก กม. ที่บอกว่าใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ จากหน้าพระตำหนักภูพาน ก็จะไปยังตัวเมืองสกลนคร และก่อนที่จะเข้าสู่ย่านชุมชนของเมือง เยื้องทางเข้าศูนย์ราชการซึ่งอยู่ทางซ้ายของถนน เยื้อง ๆ คือทางขวามีป้ายบอกทางไว้ว่าไปยัง วัดป่าสุทธาวาส วัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ของยอดเกจิอาจารย์คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส เข้าไปในวัดที่ร่มรื่นมีอุโบสถที่งดงาม ทางด้านหน้าเยื้อง ๆ กันหน่อยคือ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ซึ่งประดิษฐานอยู่บนแท่นและมีครอบแก้วที่บรรจุ "อัฐิธาตุ" ของพระอาจารย์มั่นเอาไว้ จะเห็นเป็นเหมือนแก้วใส ไม่ขุ่นขาวเหมือนกระดูกมนุษย์ทั่วไปเรียกว่า พระธาตุ พระเกจิอาจารย์หลายองค์ที่เมื่อท่านมรณภาพแล้ว และได้รับพระราชทางเพลิงศพไปแล้ว พอเอาอัฐิมาเก็บไว้จะค่อย ๆ กลายเป็นอัฐิธาตุ เช่นพระอาจารย์มั่น เป็นต้น ภายในพิพิธภัณฑ์มีเครื่องอัฐบริขาร หรือสมณบริขารของหลวงปุ่มั่น ท่านเป็นบูรพาจารย์และเป็นยอดอาจารย์ของพระสายวิปัสสนา ดังนั้นสมณบริขารของท่านมีครบ แต่ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้อะไร ที่จะอำนวยความสะดวกสบายให้ท่านอีก เป็นพระที่สมถะและพระป่าจริง ๆ และภายในวัดป่าสุทธาวาส เมื่อเข้ามาแล้ว หากไปทางซ้ายหรือผ่านอุโบสถไป แล้วเลี้ยวซ้ายไปจะไปยังพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่หลุย ซึ่งเป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น
          สกลนคร  เป็นเมืองแห่งแสงธรรม มีพระเกจิอาจารย์สำคัญ ๆ หลายองค์ เช่นพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แต่วัดของท่านอยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และยังมีอัฐิธาตุของท่านอยู่ที่จังหวัดราชบุรี หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่วัน อุตตโม ทุกองค์ละสังขารไปหมดแล้ว เหลือแต่ศรัทธาของประชาชน
          พระธาตุเชิงชุม  เป็นพระบรมธาตุของพระพุทธองค์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของสกลนคร พระธาตุเชิงชุมอยู่ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ไม่ไกลกันกับวัดป่าสุทธาวาส วัดป่าสุทธาวาสก็อยู่ในพื้นที่ของตำบลเชิงชุม ภายในวัดพระธาตุมีพื้นที่กว้างขวางแต่ออกจะขาดความร่มรื่น พระบรมธาตุอยู่ติดกับพระวิหาร ซึ่งในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ "หลวงพ่อองค์แสน" ไปสกลนครต้องไปนมัสการพระธาตุเชิงชุมให้ได้
          พระธาตุนารายณ์เจงเวง  อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแต่ไปยากเพราะขาดแคลนป้าย ถามชาวเมืองดูจะง่ายกว่าผมบอกแต่คงต้องถามกันหลายที และน่าไปมากด้วย ออกจากเมืองไปทางจะไปอุดรธานี ๔ กม. ผ่านปั๊ม ปตท. ที่อยู่ทางขวา เลยปั๊มไปอีก ๑ กม. จะถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๒๓๓ ที่จะไปกาฬสินธ์ ทีนี้ต้องระวังขับรถช้า ๆ เลี้ยวซ้ายมาประมาณ ๔๐๐ เมตร มีทางแคบ ๆ อยู่ทางซ้ายมือ มีป้ายบอกว่า วัดพระธาตุ ๒๐๐ เมตร (หากเปลี่ยนป้ายแล้วก็ขออภัยด้วย) เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายจะพบกำแพงวัด ประตูวัดไม่มีชื่อวัด ชื่อวัดอยู่ประตูอีกด้านหนึ่ง ส่วนหน้าวัดทางนี้มีป้ายชื่อโรงเรียน เลี้ยวเข้าประตูรถยนต์ที่มีป้ายชื่อวัดรถเข้าประตูไม่ได้ จึงต้องเข้าประตูไม่มีชื่อวัด เมื่อเข้าไปแล้วองค์พระธาตุอยู่ทางซ้ายมือและน่าจะเป็นพระบรมธาตุเพราะมีประวัติว่าเมื่อเกือบพันปีมาแล้ว นางนารายณ์เจงเวง โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอังคารหรือเถ้าถ่านของพระพุทธเจ้า พระธาตุมีขนาดเล็กแต่งดงามและสมบูรณ์มาก
          พระธาตุอุดม  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปอีก ๕ กม. ถามชาวบ้านชาวเมืองดูก็น่าจะไปถูกเพราะขาดแคลนป้าย ถ้าใกล้ ๆ กรุงเทพ ฯ ละก็มีป้ายชี้ทางของการท่องเที่ยวสีเขียว มีมากเกินความต้องการ และมีประโยชน์น้อยไม่บอกระยะทาง และบางทียกไว้ห่างจากจุดที่บอกตั้งสองร้อยกิโลเมตร คนรู้อย่างผมไม่เป็นไร รู้ว่าป้ายนี้ยกส่งเดช ห่างที่หมายหลายร้อยกิโลเมตร แต่คนไม่รู้เห็นชื่อตามป้ายถูกใจเพราะเคยได้ยิน ไม่เคยไป วิ่งตามป้ายไปและจะไม่พบป้ายอีก จนกว่าจะไปสักเกือบสองร้อยกิโลเมตร นั่นแหละจึงจะเจอบอกทางกันใหม่แต่ก็จะไม่บอกว่ากี่ กม.
          หนองหาน  เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นทะเลสาปน้ำจืด ใหญ่เป็นลำดับ ๓ ของประเทศ รองจากบึงบรเพ็ดและกว๊านพะเยา เป็นต้นน้ำของลำน้ำด่ำ ที่ไหลลงสู่แม่โขงที่อำเภอธาตุพนม ในหนองหานมีเกาะแก่งมากมาย บางแห่งที่เกาะพ้นน้ำมีวัดร้าง ต้องนั่งเรือเที่ยวจึงชมได้มาก ที่ขอบหนองน้ำประมาณสัก ๑๐๐ เมตร มองแทบไม่เห็นพื้นน้ำเพราะมีแต่วัชพืชเต็มไปหมด หากได้มีการพัฒนา (ขอทหาร เลี้ยงข้าวน่าจะดี) มากำจัดวัชพืชจะมองเห็นท้องน้ำที่ใสสะอาดเป็นอย่างยิ่ง ผมถึงบอกว่าต้องนั่งเรือเที่ยว
           อาหาร คนมาสกลนครกลัว " กินเนื้อสุนัข" รวมทั้งผมด้วย แต่ที่มีอาหารจากเนื้อสุนัขแน่ ๆ คือ ที่ ท่าแร่ และสกลนครยังเป็นแหล่งส่งสุนัขหรือทางผ่านของรถสุนัขเพื่อส่งเป็นสินค้าออกไปขายฝั่งลาว แล้วลาวก็ส่งต่อไปขายในเวียดนามและจีน ถือว่าเป็นยาบำรุงกำลังอย่างดี กินแล้วเตะช้างตายผมก็ไม่กิน
           ไปสกลนครอย่าไปมัวชมแต่วัดของพระพุทธศาสนา ให้ไปชมโบสถ์คาทอลิค เซนปอลสกลนครด้วย สร้างสวยมากแม้จะเป็นโบสถ์รุ่นใหม่ก็ตาม อยู่ในเส้นทางที่จะเข้าเมืองเมื่อมาจากอุดรธานี
           ผมพักนอนที่สกลนครหนึ่งคืน นอนที่โรงแรมห้องระดับเดอลุกซ์ ราคา ๑,๒๐๐ บาท ลดเหลือ ๗๙๐ บาท มีอาหารเช้าแถมให้ด้วย แต่ผมสองคนยอมสละสิทธิ์เพราะค้างคืนเดียวเ ดี๋ยวไม่รู้จักอาหารเช้าเมืองสกลนคร เลยขอแนะนำอาหารไว้ ๓ มื้อเลย
           มื้อเช้า ตั้งต้นที่ประตูเมืองสกลนคร ซึ่งทางซ้านมีถนนผ่าน (หันหน้าเข้าประตูเมือง) ตรงไปผ่านสี่แยกที่ ๑ - ๒ แล้วเลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมถนนคือ ร้านมีอาหารเช้า
           ตั้งต้นที่หน้าโรงแรมดุสิต หากหันหน้าเข้าหาโรงแรม มาทางซ้ายจะถึงสี่แยก ให้เลี้ยวซ้าย ร้านอยู่หัวมุมสี่แยกนี้ ผมตั้งชื่อให้ว่าสี่แยกหมอรัฐพงศ์ เพราะป้ายหมอใหญ่มาก อาหารเช้าของร้านคือ อาหารเวียดนาม ไข่กะทะ กาแฟ ไอศกรีม
           มาสกลนครต้องได้กินแกงหวายจึงจะได้ชื่อว่ามาสกลนคร เส้นทางถนนที่มาจากประตูเมืองตรงเข้ามาเรื่อย ๆ ร้านจะอยู่ทางขวาตรงข้ามธนาคาร ธกส. แกงหวายอร่อยนัก อาหารอื่น ๆ ก็อร่อยทุกอย่าง ราคาไม่แพง มีข้อแม้ว่าอย่าไปกินกำลังหิวจัด อาจจะไปพังร้านของเขาเข้าให้เพราะช้า เหมาะมื้อกลางวัน
           ตั้งต้นจากศูนย์ราชการวิ่งผ่านหน้าศูนย์ทางเข้าเมือง พอถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้ามาสัก ๑๕๐ เมตร ร้านอยู่ทางขวามือ เป็นสวนอาหารใหญ่โต สั่งเป็ดย่างอบน้ำผึ้ง ทอดมันกุ้ง เนื้อย่างเกาหลีจานนี้ต้องสั่งเพราะเป็นเนื้อวัวโพนคำ เนื้อชั้นยอดของอีสาน หรือระดับประเทศกันเลยทีเดียว หากจะเทียบชั้นกัน (คงจะห่าง ๆ หน่อย) ก็เปรียบเหมือนเนื้อโกเบของญี่ปุ่น เป็นเนื้อชั้นยอดจริง ๆ ใครไม่กินเนื้อก็บอกได้คำเดียวว่าเสียใจ
           ขอเชียร์รุ่นน้องจากอำนวยศิลป์เพราะเขาจัดงานช้าง ครั้งแรกจัดที่สวนลุมพินี ๖ - ๑๔ มีนาคม ร่วมกับ กทม. ณ งานสำเร็จไปด้วยดี ครั้งที่ ๒ งาน "THAILAND FAIR ๒๐๐๔" ๑๕-๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ ริมทะเลสาปเมืองทองธานี มีงานตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. ไปยันเที่ยงคืน ที่ผมเชียร์เพราะเขามาขอให้ผมช่วยหาร้านอาหารไปออกในงานให้ด้วย เอาร้านที่ผมเคยเขียนลงในต่วยตูน ในไทยรัฐ ในหนังสือที่ผมเขียน บูธที่ออกร้านของเขานั้นมีมากหลายพันบูธ เพราะเขามีทั้งมหกรรมดนตรี ตลาดนัดรถยนต์ มหกรรมสินค้า เกษตร อุตสาหกรรม ตลาดนัด คอนโดมิเนียม เครื่องดื่มนานาชนิด มราอยู่อาสัย มหกรรมการศึกษาทั่วประเทศ "มหกรรมท่องเที่ยวทั่วไทย ทั่วโลก"  "งานศิลปาชีพ ตลาดนัด โอท๊อป" และที่สำคัญคือ อาหารอร่อยจากทุกภาค แถมด้วยงานประกวดต่าง ๆ และเฉลิมฉลอง ๗๒ พรรษา มหาราชินี ด้วยการจุดพลุดอกไม้ไฟทุกคืน และที่เชียร์เหมือนที่เชียร์ภูเก็ตแฟนตาซี หรือซาฟารี หรือเมืองโบราณ ฯ ก็เพราะเขาจัดงานนี้แล้วเขาจะหอบหิ้วร้านที่มาออกงาน และที่สมัครใจไปเดินโรดโชว์ในอเมริกา ในยุโรป ในตะวันออกกลาง ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หากทำสำเร็จอาหารไทยที่ผมเขียนเชียร์ ชวนชิมมาในต่วยตูนเป็นปีที่ ๒๘ ก็จะดังไปทั่วโลกด้วย




เลาะเลียบแดนอีสาน

น้ำตกห้วยจันทร์ article
ปราสาทหินพิมาย article
;วัดภูพร้าว
หอโหวด
วัดถ้ำชาม
ปราสาทสร้างปี่
วัดป่าวิเวกวัฒนาราม
จุดชมวิวผาเสวย article
กู่คันทนาม
ปราสาททองหลาง article
สิมโบราณวัดแจ้ง
สะพานเทพสุดา
ส่องข้ามลำน้ำของ
พระธาตุยาคู
วัดทุ่งเศรษฐี



Copyright © 2010 All Rights Reserved.